วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเตรียมการ รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง



เถาหัวลิงที่บ้านคุณทองหยิบ โรจนพร

และจากรายการอาหารพื้นบ้านผลิตผลจากป่าชายเลนนี้เอง ทีมงานได้มีการประสานงานกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ รายการภัตตาคารบ้านทุ่งซึ่งมี คุณจรงค์ศักดิ์ รองเดช (สตังค์)เป็นพิธีกร โดยเริ่มต้นรายการอาหารคาวคือแกงส้มใบหัวลิง และของหวานคือแกงบวดรุ่ย

มีการนัดหมายวันที่จะมาถ่ายทำในเบื้องต้น แต่มีการเลือนการมาถ่ายทำ และลงตัวได้ในวันที่ ๑๖-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยมีหมายกำหนดการในแต่ละวัน คือ

๑. การสำรวจสถานที่
๒.การไปเก็บฝักรุ่ย และขั้นตอนการทำรุ่ย
๓.ถ่ายทำการปรุงอาหารในวันที่ ๑๘ มิถุนายน

ซึ่งรายการแกงส้มใบหัวลิง เปลี่ยนรายการเป็นแกงคั่วรุ่ยและดอกจาก ส่วนรุ่ยแกงบวดคงเดิมไว้



เนื่องจากใบหัวลิงซึ่งเป็นพรรณไม้เถาที่ชอบขึ้นพาดพันต้นไม้อื่นอยู่กับป่าชายเลน ป่าจาก อยู่ในแนวขั้นบนของป่า อยู่ได้ในสภาพน้ำสองน้ำ คือทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงหน้าแล้ง และน้ำกร่อย ทำให้ต้นหัวลิงแคะแกรนไม่ค่อยมีการแตกยอดอ่อน ไม่มีผล ใบหัวลิงที่พบอยู่จะเป็นใบแก่เป็นสาวนใหญ่รวมทั้งมีปริมาณน้อย

จากคำบอกกล่าวของผู้ใหญ่ที่บอกกันต่อ ๆ มา คือต้องรอหัวน้ำขาวใบหัวลิงจะมียอดอ่อนมาก ให้กินใบหัวลิงตอนน้ำขาวเพ๊ะ ความหมายของน้าขาวเพ๊ะ หรือหัวน้ำขาว หมายถึงน้ำจืดไหลงลงมาจากทางต้นน้ำเพราะฝนตกน้ำในแม่น้ำจะออกสีไปทางขาว เป็นน้ำฝนที่ลงมาปนน้ำในแม่น้ำ และจะค่อย ๆ ดันน้ำกร่อยให้ถอยร่นไปเรื่อย ๆ จนถึงปากอ่าว ในขณะที่หน้าแล้งช่วงน้ำในแม่น้ำไหลงน้ำจะออกสีขุ่นน้ำตาล แต่ถ้าเป็นช่วงน้ำไหลขึ้นน้ำก็ออกสีค่อนข้างเขียวใส

ดังนั้นถ้าจะกินใบหัวลิงให้อร่อยจริงๆ ก็ต้องรอให้น้ำในแม่น้ำเป็นหัวน้ำจืด หมายถึงตอนน้ากร่อยกลายเป็นน้ำจืดใหม่ๆ เพราะฝนตก

อีกทั้งคุณสตังค์พิธีกร ประสงค์จะให้ฝักรุ่ยเป็นส่วนประกอบในเมนูทั้งคาวและหวาน จึงเกิดเป็นเมนูอาหารชนิดใหม่ให้คนแปดริ้วด้วย คือแกงคั่วรุ่ยและดอกจาก



เถาหัวลิงในป่านนี้กำลังมีดอก

ซึ่งเมื่อทราบว่ารายการภัตตาคารบ้านทุ่งจะมาถ่ายทำรายการ ชมรมลำพูบ้านโพธิ์ ก็มีการเตรียมการ โดยคุณทองหยิบ โรจนพร เป็นผู้ประกอบรายการแกงส้มใบหัวลิงซึ่งที่บ้านของคุณทองหยิบเองอยู่ในตำบลบางซ่อนก็มีเถาใบหัวลิงอยู่แล้ว แต่มีปริมาณน้อย  และได้เก็บไปทำรายการอาหารงานบางปะกงส่งเสียงเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ครั้งหนึ่งปล้ว
ดังภาพที่ ๑ และ ๒  ซึ่งถ่ายภาพก่อนการจัดงานบางปะกงส่งเสียง

คุณพีระศักดิ์จึงเริ่มออกสำรวจเถาหัวลิง เพิ่มเติม พบใน ๒ สถานที่ คือแถบตำบลสนามจันทร์ ซึ่งมีมากเพียงพอกับการนำไปประกอบอาหาร อีกทั้งการเดินเข้าไปเก็บใบหัวลิง ซึ่งเป็นป่า แสม ลำพูจาก ชั้นบนลึกไกลจากแม่น้ำ แต่มีคลอง เล็ก ๆ ขวางกั้นให้ต้องเดินข้ามไม้สะพานที่ทอด และการเดินในป่าท่ามกลางรากแสมรากลำพู บางแห่งเป็นเลนค่อนข้างเหลวจะต้องตัดไม้อื่นเช่นลำพูหรือตัดทางจากปูเดินเข้าไป หากจะคิดในแง่สนุกสนานตื่นเต้นผจญความลำบากเล็กน้อยเช่นเหยียบทางจากหรือต้นลำพูขนาดเล็ก พลาดลงไปในโคลน แต่ก็จะทำให้ได้บรรยากาศป่าชายเลนจริง ๆ

คุณสตังค์และทีมงานก็น่าจะสนุกสนานไปด้วย ซึ่งทั้งนี้คุณพีระศักดิ์ก็เตรียมอำนวยความสะดวกความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ถือให้กับช่างภาพของคุณสตังค์ อีกทั้งใบหัวลิงก็ไต่ขึ้นยอดไม้สูงก็จะสนุกสนานกับการดึงรั้งเถาหัวลิงลงมาเก็บและผจญภัยกับมดแดงที่อาจแผลงฤทธิ๋กับคนเก็บใบหัวลิง


เพียงหลับตาแล้วจินตนาการภาพ พลอยโพยมรู้สึกตื่นเต้น (เพราะตัวเองก็ตกโคลนไปแล้ว ๒ ครั้ง ) และยังมีเรื่องขำขันที่จะบอกคุณสตังค์ว่า คุณพีระศักดิ์เตรียมน้ำไว้ให้คุณสตังค์ (ล้างเท้าถ้าแค่เหยียบพลาดแต่ทรงตัวได้ หากทรงตัวไม่ได้ก็มีเลอะเทอะประเภทก้นจ้ำเบ้า กางเกงเลอะโคลน) บ่อใหญ่ใช้น้ำได้ตามสบาย เพราะตรงทางออกจากป่านี้มีบ่อเลี้ยงปลาน้ำเต็มบ่่อเลยทีเดียว และผู้สำรวจเองก็ใช้บริการน้ำจากบ่อนี้ไปแล้ว

และถัดไปไม่ไกลก็มีเถาหัวลิงอีกเหมือนกัน แต่ปริมาณน้อยกว่า






และได้พบแหล่งที่ ๓ ที่ตำบลบางกรูด ที่บ้านกำนัน สมภพ วงศ์พยัคฆ์ หรือกำนันมด เก็บได้ง่ายเพราะอยู่บนชายฝั่งแห้งไม่เป็นดินโคลน แต่เถาหัวลิงจะไต่ทางจากบ้าง ต้นแสมบ้าง ต้นลำพูบ้าง ที่เถาไต่ขึ้นไปสูงมากนั้น กำนันมดเล่าว่า แต่เดิม เถาหัวลิงก็ไต่คลุมอยู่กับไม้อื่นระดับพื้นล่าง  แต่ไป ๆ มา ๆ ต้นสาบเสือลามมาขึ้นเป็นดงใหญ่ จึงได้รู้ว่า เถาหัวลิงแพ้ต้นสาบเสือ

ต้นสาบเสือนี้มีชื่อเรียกอื่น ที่ พ่อของพลอยโพยมชอบเรียก คือต้นหมาหลง
ขนาดน้องหมาถ้าอยู่ในดงสาบเสือ ที่ว่ากันว่า จมูกน้องหมาในการดมกลิ่นยอดเยี่ยมมากแม้แต่ตำรวจยังต้องพึ่งพา หากน้องหมาเข้าดงสาบเสือจะหาทางออกไม่ได้  เขาจึงเรียกต้นสาบเสือว่าต้นหมาหลง
หมายังหลง แล้วลิงจะเหลือได้อย่างไรกัน

ต้นหัวลิงที่อยู่ที่ราบก็เลยไม่เหลือหรอ รอลิงที่ว่องไวมุดหาทางไต่ขึ้นต้นไม้ที่อยู่สูงกว่าสาบเสือ จึงมีชีวิตรอดให้พวกเราที่ไปดูแลเห็นซึ่งก็นับว่ามีปริมาณมากพอไม่น้อยหน้าป่าที่ไปดูมา




เถาหัวลิงที่บ้านกำน้นมด


เมื่อเปลี่ยนรายการอาหารใช้รุ่ยและดอกจาก จึงไม่มีภาพบรรยากาศการไปเก็บใบหัวลิงข้างต้นปรากฎในรายการถ่ายทำ

ส่วนฝักรุ่ยนั้นมีสถานที่เก็บทั้งในป่าชายเลนชั้นบนชองชายฝั่งแม่น้ำ และตามเคหะสถานบ้านคนที่ปลูกรุ่ย ซึ่งมีหลายสถานที่

ส่วนผู้เขียนเองไม่อาจเข้าร่วมรายการเพราะไปปฏิบัติธรรม ในช่วงวันที่ ๙-๑๗ มิถุนายน ซึ่งหากไม่มีการเลื่อนครั้งสุดท้ายของการนัดหมายเป็นวันที่ ๑๖-๑๘ ผู้เขียนก็คงไม่สามารถมาเล่าเรื่องราววันถ่ายทำการปรุงอาหารได้



ดอกจากที่มีคุณภาพในการนำมาปรุงอาหารได้ดี คือดอกจากที่เกิดในบริเวณที่น้ำท่วมถึง หากดอกจากเป็นดอกที่ได้จากป่าจากที่ดอนคือน้ำท่วมไม่ถึงจะนำประกอบอาหารได้ไม่ดีเท่า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น