วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สงครามอานามสยามยุทธ






ขอขอบคุณภาพจาก tumtoilet3.tarad.com



เมื่อประเทศญวนเกิดกบฏไกเซิน
ต่อมาพระยาชลบุรีอยู่เป็นผู้นำองเชียงสือเจ้าเมืองญวนซึ่งถูกกบฏไกเซินล้มล้างราชบัลลังก์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยองเชียงสือขอเป็นบุตรบุญธรรมพระยาชลบุรี

องเชียงสือได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาททั้งในราชการสงครามและได้นำเอาประเพณีการแสดงต่าง ๆ ของญวนมาเผยแพร่ จนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๔         องเชียงสือสามารถปราบกบฏไกเซินได้ด้วยความช่วยเหลือด้านอาวุธและอาหารของกองทัพไทย จึงตั้งตนเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าเวียดนามยาลอง ส่งต้นไม้ทองเงินมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก


ภาพวาดของกษัตริย์ยาลอง(องเซียงสือ) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหวียน ของเวียตนาม
วาดตอนที่อยู่ในไทยปี ค.ศ .1783

ขอขอบคุณภาพจากhttp://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7677562/K7677562.html

อย่างไรก็ดีฝ่ายญวนเองต้องการทรัพยากรจากลาวและเขมรเพื่อเลี้ยงตัวเองและสร้างความเข้มแข็ง จึงต้องขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรและลาวด้วย ฝ่ายไทยเองถึงแม้จะไม่พอใจ แต่ไม่ต้องการทำศึกหลายด้าน จึงทำเป็นไม่รับรู้ ทำให้ญวนขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรได้อย่างเปิดเผยและมีท่าทีขยายเข้าไปในลาว

การขยายอิทธิพลและท่าทีไม่เป็นมิตรของญวน ดังประจักษ์จากการที่ญวนมีส่วนสนับสนุนอย่างลับ ๆ ในกรณีกบฏเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ รวมทั้งกรณีกษัตริย์เขมรต่อต้านอำนาจของไทย ทำให้ไทยไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป




จักรพรรดิ์ญาลอง หรือ Kia Long หรือ องเชียงสือ จักรพรรดิ์ราชวงศ์เหวียนองค์แรก...ณ พระราชวังหลวงเมืองเว้
ขอขอบคุณภาพจากhttp://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7677562/K7677562.html


ต่อมาพม่าต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประกอบกับไทยเลือกไม่ปะทะกับอังกฤษด้วยการขยายอิทธิพลลงไปในแหลมมลายู ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ สามารถเลือกเผชิญหน้ากับญวนทางตะวันออกได้อย่างเต็มที่ โดยทำสงครามกับญวนที่เรียกว่า สงครามอานามสยามยุทธ หรือสงครามไทยญวน ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๖- ๒๓๙๐ ซึ่งเป็นสงคราม ใช้เวลานาน ๑๔ ปี ระหว่างสองชนชาติใหญ่ที่เหลืออยู่ในขณะนั้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในเขมร อันเป็นดินแดนกั้นกลางระหว่างไทยกับญวน สงครามที่เนิ่นนานเช่นนี้ก่อความเสียหายให้ทั้ง ๒ ฝ่ายอย่างมาก


ใน พ.ศ.๒๓๗๖ เมืองไซง่อนก่อการจลาจลโดยฝ่ายกบฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็น แม่ทัพบกยกกองทัพไปตีเขมรและหัวเมืองญวนลงไปถึงเมืองไซง่อนเพื่อช่วยฝ่ายกบฏ และให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายฝั่งทะเล โดยไปสมทบกับกองทัพบกที่เมืองไซง่อน ในส่วนของกองทัพเรือต้องยกกำลังไปหลายครั้งเช่นเดียวกับการรบทางบก



พระเจ้ามินมาง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://salakohok.freeforums.org/2-t11-75.html

http://dlxs2.library.cornell.edu/s/sea/

จากหนังสือ La Cochinchine en 1859 : notes extraits d'une correspondance inedite




เรือรบมีชื่อของสยาม คือเรือสำเภาจีนที่เป็นแบบ "เรือสำเภาปากปลา" กว้าง ๙ ศอก ยาว  ๑๑ วา ติดปืนใหญ่ ๔-๖ กระบอก
ขอขอบคุณภาพจากhttp://salakohok.freeforums.org/2-t11-270.html

ใน พ.ศ.๒๓๘๔พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพเรือยกกองทัพเรือ ไปตีเมืองโจดก เรือรบไทยที่เดินทางไปร่วมรบในครั้งนี้มี
 เรือกำปั่นพุทธอำนาจ
เรือเทพโกสินทร์
เรือราชฤทธิ์
เรือวิทยาคม
เรืออุดมเดช เรือค่าย
เรือปักหลั่น และ
เรือมัจฉานุ

ซึ่งใช้บรรทุกเสบียงอาหาร อย่างไรก็ดีการรบทางเรือครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทหารไทยไม่ชำนาญภูมิประเทศ และเรือไทยมีสมรรถนะที่ด้อยกว่า เรือญวน (ดูรายละเอียดใน พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์, ๒๕๐๘ ) ทั้งในเรื่องของขนาดและประสิทธิภาพ




ภาพขุนนางญวน นั่งเปลญวน
จากหนังสือ The French in Indo-China : with a narrative of Garnier's explorations in Cochin-China, Annam, and Tonquin
ขอขอบคุณภาพจากhttp://salakohok.freeforums.org/2-t11-75.html

ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อเรือรบใหม่เป็นเรือป้อมอย่างญวน สามารถติดตั้งปืนใหญ่ได้หลายกระบอก ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็น แม่กอง อำนวยการต่อเรือป้อมแบบญวนไว้ใช้ในราชการ  ๘๐ ลำ ในที่สุดการรบระหว่างญวนกับไทยที่ยืดเยื้อมาถึง ๑๔ ปี ก็ต้องยุติลง

โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ยกเลิกการศึกครั้งนี้และมีการเจรจาสงบศึกใน พ.ศ. ๒๓๙๐ เพราะทรงพิจารณาเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองทรัพยากรและกำลังคน เปรียบเหมือนว่ายน้ำท่าม กลางมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง


หอสังเกตการณ์ญวน ริมน้ำ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://salakohok.freeforums.org/2-t11-75.html


ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรบชนะอีกฝ่ายได้เด็ดขาด ทำให้ต้องทำสนธิสัญญาสงบศึกกัน โดยไทยยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร แต่เขมรก็ยังต้องส่งเครื่องบรรณาการแก่ญวนทุก ๆ ๓ ปี ถือเป็นข้อตกลงที่น่าพอใจทั้ง ๒ ฝ่าย สงครามจึงยุติลง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/อานัมสยามยุทธ

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๑๐ อดีตกาลที่ผ่านมา ๖



ขอขอบคุณภาพจากhttp://salakohok.freeforums.org/topic-t78-90.html


นอกจากความสำคัญในทางเศรษฐกิจแล้ว ลุ่มน้ำบางปะกงยังมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์
เนื่องจากเวลาเกิดศึกสงครามหรือปราบปรามหัวเมืองทางภาคตะวันออกที่คิดกบฏ หรือจะแยกตนออกไปจากการปกครองของไทย เช่น ลาว เขมร ญวน เป็นต้น จะใช้เส้นทางเดินทัพจากเมืองหลวงผ่านไปยังปราจีนบุรี ทั้งทางบกและทางน้ำไปสู่หัวเมืองนั้นด้วย

เช่นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราว ปี พ.ศ ๒๓๑๔ นั้นนักพระโสทัตบิดาเลี้ยงนักองตน (สมเด็จพระนารายณ์ราชา)ของเขมร ได้เกณฑ์ไพร่พลมาตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี กวาดต้อนครอบครัวไทยไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เป็นแม่ทัพยกไปตีเขมรทางเมืองปราจีนบุรี

หรือเหตุการณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้ก่อกบฏในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พระองค์ทรงเกณฑ์ทัพไปปราบปราม ทรงใช้เส้นทางนี้ในการเดินทัพกล่าวคือ โปรดเกล้าให้จัดกองทัพบกไปทางเมืองปราจีนบุรี ซึ่งมีทัพของพระยาราชสุภาวดี (เจ้าพระยาบดินทร์เดชา) เป็นแม่ทัพขึ้นไปทางบ่อโพงยกไปเมืองปราจีนบุรี ไปสบทบกับทัพอื่นอีก ๓ ทัพ ที่เดินทางไปทางคลองสำโรงขึ้นไปตามลำน้ำบางปะกงไปขึ้นที่เมืองปราจีนบุรี และยกทัพพร้อมกันโดยตั้งค่ายที่เมืองประจันตคามก่อน แล้วจึงเดินทัพไปทางเมืองนครราชสีมาทางช่องเรือแตก ไปปราบปรามกบฏต่ออไป

นอกจากนั้นแล้วในรัชกาลเดียวกันได้โปรดเกล้าให้ขุดคลองแสนแสบหรือคลองบางขนาก เพื่อความสพดวกในการคมนาคมและขนส่งเสบียงอาหาร และลำเลียงทหารในคราวทำสงครามกับเขมรและญวน ซึ่งไทยได้ทำสงครามกับหัวเมืองดังกล่าวเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี คั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๖ - ๒๓๙๐ ก็ได้ใช้เส้นทางดังกล่าวในการทำสงครามด้วย หรือที่เราเรียกกันว่า

สงครามอานามสยามยุทธ หรือสงครามไทยญวน ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๖ - ๒๓๙๐ ซึ่งเป็นสงคราม ๑๔ ปี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในเขมร อันเป็นดินแดนกั้นกลางระหว่างไทยกับญวน สงครามที่เนิ่นนานเช่นนี้ก่อความเสียหายให้ทั้ง ๒ ฝ่ายอย่างมาก



ขอขอบคุณภาพจากwww.reurnthai.com

หมายเหตุ

ช่องเรือแตกนี้ เป็นหนึ่งในสามของช่องเขาบรรทัดที่จะขึ้นจากปราจีนบุรีไปมณฑลลาวพวน ลาวกาว (มณฑลนครราชสีมา) โดยที่สมัยต่อมาไม่ได้เรียกว่าช่องเรือแตก เพราะช่องเขาของเทือกเขาบรรทัด มีช่อง สะแกราด ช่องบุกขนุน และช่องตะโก เข้าใจว่า ที่เรียกว่าช่องเรือแตก คงจะเป็นช่องใดช่องหนึ่งในสามช่องนี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มณฑลปราจีนบุรี สมัยเริ่มแรกถึงสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
ปริญญานิพนธ์ของ สุดใจ พงศ์กล่ำ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๙ อดีตกาลที่ผ่านมา ๕





อาคารมณฑลปราจีนบุรีต่อมาเป็นศาลาจังหวัดฉะเชิงเทรา
ขอขอบคุณภาพจากhttp://region2.dld.go.th/th/index.php/2014-01-16-09-28-01/27-resumu


หัวเมืองในมณฑลปราจีนบุรี เป็นเสมือนสะพานเชื่อมหัวเมืองอื่น ๆ กับเมืองหลวงมณฑลปราจีนบุรีจึงมีความสำคัญในด้านการปกครองและเศรษฐกิจ

ทางด้านการปกครองนั้น บรรดาคำสั่ง สารตรา ใบบอก ที่มีไปมาระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวเมืองมณฑลเขมร ก็จะใช้เส้นทางนี้ โดยออกจากเมืองหลวงผ่านขึ้นไปตามลำน้ำบางปะกง ไปต่อทางบกอีกทอดหนึ่ง เช่นจากเมืองหลวงไปพระตะบอง ก็จะผ่านลำน้ำบางปะกงขึ้นบกที่เมืองปราจีนบุรี และเดินทางผ่านป่าเข้าไปยังเมืองกบินทร๋บุรี วัฒนานคร มงคลบุรี อรัญประเทศ และถึงพระตะบองอีกทีหนึ่ง

การส่งส่วยจากหัวเมืองทางตะวันออกและหัวเมืองขึ้น ใช้เส้นทางนี้ ส่วยที่ส่งผ่านที่สำคัญได้แก่ พวกเร่ว กระวาน พริกไทย งาช้างเป็นต้น




ปัจจุบันเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://region2.dld.go.th/th/index.php/2014-01-16-09-28-01/27-resumu


การส่งส่วยจำเป็นต้องแวะพักระหว่างทาง เพื่อเคิมเสบียงอาหาร หรือเปลี่ยนยานพาหระ เมืองที่เป็นศูนย์กลางในการลำเลียงส่วยทางแถบนี้คือ ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี วัฒนานคร มงคลบุรี อรัญประเทศ

อย่างเช่นการส่งส่วยของเมืองสีทันดร ในปี พ.ศ ๒๓๘๑ ก็ส่งผ่านมาด้านเมืองปราจีนบุรี ส่วนส่วยที่ส่งมาทางด้านเขมรก็มักมาแวะพักที่เมือง มงคลบุรี
(จากจดหมายรัชกาลที่ ๓ จ.ศ. ๑๒๐๖ เลขที่ ๗ ใบบอกหลวงราชสุเรนทร ส่งส่วยศรีผึ้ง)

และผ่านมาตามลำน้ำบางปะกงเข้าสู่เมืองหลวง จากการส่งส่วยของหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือและทางตะวันออกนั้น มักจะมาแวะพักที่ปากน้ำเมืองกบินทร์บุรีมากกว่าแห่งอื่น และส่งถึงเมืองหลวงโดยทางแม่น้ำบางปะกงตามลำดับ
สาเหตุที่การส่งส่วยดังกล่าวผ่านเส้นทางนี้มากกว่าเส้นทางอื่นซึ่งอาจจะผ่านทางสระบุรีก็ได้

หากดูตามแผนที่แล้ว เส้นทางเดินทางเรือถึงปากน้ำเมืองกบินทร์บุรี สะดวกกว่าการเดินทางบกที่ต้องผ่านป่าเขาและมาทางสระบุรี ประกอบกับหัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไม่มีแม่น้ำที่จะติดต่อโดยตรงกับเมืองหลวงโดยตรงจึงทำให้เส้นทางผ่านมณฑลปราจีนบุรีมีความสำคัญอย่างมากในการติดต่อระหว่างเมืองหลวงคือกรุงเทพกับหัวเมืองอื่น ๆ ที่อยู่รอบนอกออกไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มณฑลปราจีนบุรี  สมัยเริ่มแรกถึงสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
ปริญญานิพนธ์ของ สุดใจ พงศ์กล่ำ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ



วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๘ อดีตกาลผ่านมา ๔




ปาหนันอ่างฤาไน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.nanagarden.com/ปาหนันอ่างฤาไน%5E1-11.html


ตำนานสานสืบธรรมชาติป่าดงพงไพร เขาอ่างฤาไน ป่าสมบูรณ์สุดท้ายของภาคตะวันออก

เป็นป่าลุ่มต่ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ไม้ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่า คือไม้ตะแบกใหญ่ ซึ่งมีฤดูกาลที่จะออกดอกสีสันสดใส สวยสะพรั่งไปทั้งป่า

ป่าผืนนี้รอดพ้น วิกฤติมาได้อย่างไร เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อยที่ฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ฯ ไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตร และเป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว (จนปัจจุบันเป็นกึ่งเมืองอุตสาหกรรมไปแล้ว ) จะเป็นดินแดนที่มีป่าไม้กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคตะวันออก

ป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า "พนมสารคาม " ซึ่งในอดีตเคยมีอาณาเขตไพศาล ติดต่อกับป่าในประเทศกัมพูชา ป่าเขาสอยดาวของจังหวัดจันทบุรี และป่าเขาชะเมาจังหวัดระยอง จึงอุดมด้วยไม้มีค่าและได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุดในประเทศ





เคยมีเรื่องเล่าจากพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกงเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว ว่า กลุ่มพ่อค้าไทยที่ไปซื้อควายและสินค้าอื่น ๆ จากกัมพูชาต้องเดินทางผ่านป่าผืนนี้ โดยเริ่มเข้าป่าที่พนมสารคาม (ชื่ออำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา) ผ่านวังน้ำเย็น และคลองหาด (เดิมเป็นอำเภอในจังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดสระแก้ว) กว่าจะเข้าเขตกัมพูชาได้ ต้องใช้เวลาถึงเดือนครึ่ง ป่าในขณะนั้นหนาทึบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเบียดเสียดหนาทึบ และตลอดเส้นทางที่พักแรมต้องจัดเวรยามตลอดเวลาเพื่อระแวดระวังภัยจากสัตว์ร้าย ที่มักลอบมาทำร้ายผู้เดินทาง




คุณค่าของป่าแห่งนี้เหลือคณานับ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงเส้นเลือดใหญ่ของชาวฉะเชิงเทรา ลำธารที่ไหลลงแม่น้ำบางปะกงคือ คลองระบม คลองสียัดและคลองตะเกรา ทางตะวันออกของบริเวณเทือกเขาสิบห้าชั้นเป็นต้นน้ำลำธารคลองของคลองพระสะทึงใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง ส่วนด้านจันทบุรีมีคลองโตนด ต้นน้ำที่เกิดจากเทือกเขาสิบห้าชั้นแล้วไหลลงสู่ทะเล ด้านชลบุรีและระยองก็มีลำห้วยหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำประแสร์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดระยอง ในฤดูฝน ป่าแห่งนี้จะดูดซับน้ำไว้มิให้ไหลลงสู่แม่น้ำมากเกินไปจนเกิดอุทกภัย และพอถึงหน้าแล้งก็จะปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำลำธาร ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและบำรุงพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม



ขอขอบคุณภาพจากwww.thailandbestway.com

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทึบแห่งนี้เริ่มแปรเปลี่ยนไปเมื่อมีการก่อสร้างทางหลวงสายอู่ตะเภา-กบินทร์บุรี-โคราช ในปี ๒๕๐๖ ซึ่งแบ่งแยกป่าภาคตะวันออกกับป่าภาคอีสานออกจากกัน ตามด้วยเส้นทางจากสระแก้วไปโป่งน้ำร้อน (ปัจจุบันคืออำเภอสอยดาว) ซึ่งตัดพื้นที่ป่าไทยออกจากป่ากัมพูชาอีก ถนนหลวง ได้นำพาผู้คนจากภาคต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานและถางป่าเพื่อทำกิน ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือพื้นที่ป่าภาคตะวันออกได้มีผู้รับสัมปทานทำไม้เป็นเวลานาน ป่าไม้จึงถูกทำลายลงจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม สัตว์ป่าถูกล่าจนเหลือน้อยลงทุกที ป่าพนมสารคามหมดสภาพ และถูกแบ่งออกเป็น อำเภอสนามชัยเขต ในวันนี้ พื้นที่ป่าในอำเภอพนนมสารคามและสนามชัยเขตได้สูญสลายไปแล้วอย่างสิ่นเชิง

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้รายงานว่า ในเขตสัมปทานป่าไม้ของบริษัทเอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด บริเวณป่าโครงการคลองตะเกรา (ฉช.๒ ) ส่วน ก. ตอนที่ ๘ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสนามชัยเขต ๖๙ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา ๑๒๐ กิโลเมตร ได้สำรวจ พบน้ำตกแห่งหนึ่งมีความสวยงามและบริเวณดังกล่าวเป็นป่าดงดิบ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นานาชนิด เห็นควรจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป


ขอขอบคุณภาพจากwww.thaimtb.com

กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และได้พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเสนอมานั้นให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และได้ดำเนินการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าโครงการคลองตะเกรา (ฉช.๒) ส่วน ก. ตอนที่ ๗,๘,๙ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๐ กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน รวมเนื้อที่ ๖๗,๕๖๒.๕ ไร่ มีหน่วยพิทักษ์ป่า ๔ หน่วย ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้นและหมดไป





โชคดีที่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐบาลได้กันพื้นที่กิ่งอำเภอท่าตะเกียบ ( ปัจจุบันยกขึ้นเป็นอำเภอ) ซึ่งแบ่งแยกออกอำเภอสนามชัยเขต ไว้เป็นป่าอนุรักษ์ได้ทันท่วงที และประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในชื่อว่า "เขาอ่างฤาไน "

และใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ประกาศพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นป่ารอยต่อห้าจังหวัด เพราะมีอาณาเขตครอบคลุมต่อถึงห้าจังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ขณะนี้พื้นที่ป่าในจังหวัดปราจีนบุรี คือส่วนที่เป็นจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน และวังน้ำเย็นไม่มีป่าเหลืออยู่แล้ว อำเภอบ่อทองของชลบุรีก็เช่นเดียวกัน ส่วนเขตเขาชะเมาของระยองก็ถูกตัดขาดด้วยไร่อ้อยที่รายรอบ



ขอขอบคุณภาพจากbbznet.pukpik.com

ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาขยายพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน เพิ่มอีก ๕ แสนกว่าไร่ รวมเป็น ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ โดยผนวกพื้นที่รอยต่อของจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี บางส่วนเข้ามาร่วมอยู่ด้วยและพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อรักษาป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธารของรอยต่อ ๕ จังหวัด โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่รอยต่อ ๕ จังหวัด

เขาอ่างฤาไน มีเนื้อที่ ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ ทิศเหนือครอบคลุมอำเภอท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันออกครอบคลุมอำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดสระแก้วและอำเภอโป่งน้ำร้อน (ปัจจุบันคืออำเภอสอยดาว) จังหวัดจันทบุรี ทิศตะวันตกอยู่ในอำเภอบ่อทองจังหวัดชลบุรี และทิศใต้อยู่อำเภอแกลงจังหวัดระยอง กิ่งอำเภอหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

" เขาอ่างฤาไน" จึงเป็นผืนป่าสมบูรณฺ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออกจริง ๆ



ขอขอบคุณภาพจากwww.siamfishing.com

ตำนานป่าเขาอ่างฤาไนจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีการเริ่มต้นจากพ่อเมืองแปดริ้ว ขอแสดงความขอบคุณมายังอดีตพ่อเมืองทั้งสามท่าน ที่มาดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาของ ตำนานป่าเขาอ่างฤาไน

พลตรีวิทย์ นิ่มนวล ๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ - ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๗
นายสุจินต์ กิตยารักษ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ -  ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๒
นายสุกิจ จุลละนันทน์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๒ -  ๒ ตุลาคม ๒๕๒๖
แต่ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าสุจินต์ กิตยารักษ์ ท่านเป็นชาวแปดริ้ว เป็นลูกแม่น้ำบางปะกงโดยตรงของแท้แน่นอน



และขอขอบคุณอดีตท่านนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาสำคัญของป่าเขาอ่างฤาไน ทั้งสองท่านคือ

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ระหว่าง ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

และขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยถึงอธิบดีกรมป่าไม้และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งล้วนมีส่วนในการผลักดันคำเสนอขอจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินต่อ

ท่านทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เรามีภาพสวยงามของป่าเขาอ่างฤาไน อ่่างเก็บน้ำแควระบมสียัด น้ำตกบ่อทอง


ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.facebook.com/bangpakongramsar

ติดตามอ่านความอุดมสมบูรณ์ของ ป่าเขาอ่างฤาไนเพิ่มเติมได้ที่

http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_04.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_05.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_06.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_09.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_10.html



รุ่งอรุณโณทัยในลำน้ำบางปะกง


ขณะนี้มีชาวเมืองแปดริ้วส่วนหนึ่งจากหลาย ๆ อำเภอรวมพลังกันจากหลายภาคส่วน ที่จะผลักดัน แม่น้ำบางปะกง ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของชาตินั้น ให้ยกระดับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ Ramsar Site   โดยจะสืบสานตามท่านพ่อเมืองผู้ผลักดันป่าเขาอ่างฤาไน เป็น
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน.

จากวันนั้นมาจนบัดนี้ จึงมีภาพสวยงามอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ สัตว์ป่า นานาชนิด นกมากมายหลายชนิด  สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ ยั่งยืนมาจนทุกวันนี้.


 
อาทิตย์อัสดงในลำน้ำบางปะกง

คณะผู้ผลักดันแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมชาร์ไซต์ ก็มุ่งหวังจะเก็บความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำบางปะกงให้คงอยู่่เป็นมรดกทางธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน  แม้ว่าขณะนี้ได้ถูกทำลายไปหลาย ๆ ส่วนแล้ว  หากไม่สามารถอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกงไว้ ..วันหน้า ก็คงเกิดประโยคว่า

ความอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ชายเลน สัตว์น้ำนานาขนิด สัตว์ที่อยู่เหนือน้ำขี้นมาในป่าชายเลน และภาพอาทิตย์แรกอรุโณทัย อาทิตย์อัสดง และอาทิตย์ที่ลับลงกับสายน้ำ จะเหลือเป็นเพียงตำนานเล่าขานเพราะ สูญสลายไปไม่อาจจะได้พานพบอีกแล้วด้วยคนในรุ่นนี้เอง



วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๗ อดีตกาลผ่านมา ๓





พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยทั่วไป สภาพภูมิศาสตร์ เป็นที่ราบลุ่มมีที่ดินดอนเป็นบางส่วน เฉพาะในเขตอำเภอราชสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ดอนประกอบด้วยภูเขาเตี้ย ๆ หลายลูกป่าไม้ขึ้นปกคลุม

ลักษณะภูทมิประเทศของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำแนกออก เป็น ๓ เขต

๑. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นบริเวณที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้เพราะเป็นที่ราบเรียบ ดินอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำเพื่อการชลประทานอย่างเพียงพอ เขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณร้อยละ ๓๗.๗ ของพื้นที่จังหวัด อยู่ใน่ขตพื้นที่ อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาสน์ อำเภอคลองเขื่อน บางส่วนของอำเภอแปลงยาว และอำเภอพนมสารคาม มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านและออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง และสาขานี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ที่ราบฉนวนไทย"ที่ราบลุ่มผืนนี้เคยเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อการค้าที่สำคัญของภาคตะวันออกและของประเทศ




๒.เขตที่ดอนหรือที่ราบลูกฟูก เขตพื้นที่นี้อยู่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกและทางเหนือที่ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ประมาณร้อยละ ๕๑.๑ อยู่ในเขตอำเภอสนามชัยเขต อำเภอท่าตะเกียบ บางส่วนของอำเภแพนมสารคาม และอำเภอแปลงยาว

๓. เขตที่ราบสูงและภูเขา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไปสิ้นสุดในเขตจังหวัดชลบุรีครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ ๑๑.๒ อยู่ในเขตพื้นที่ ของอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ เทือกเขาที่สำคัญในเขตนี้ ได้แก่เขาตะกรุบ เขาใหญ่ เขาระบบบ้าน เขาชะมูน เขาอ่างฤาไน





เขาตะกรุบ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/cool/2007/08/06/entry-1

ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา

มีลักษณะเป็นดินเหนียว ดินตะกอน และดินเหนียวปนลูกรังดินทราย หรือดินร่วนปนทราย ซึ่งประชากรใช้ประกอบเกษตรกรรมได้ในพื้นที่ราบ ดินจะมีลักษณะเป็นดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึง
สูง เหมาะในการทำนา ยกร่องปลูกผัก และผลไม้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรียว อำเภอแปลงยาว อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาสน์ และอำเภอคลองเขื่อน


บริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงมีลักษณะเป็นดินตะกอนที่มีการทับถมของอินทรีย์วัตถุค่อนช้างสูง อย่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอบางคล้า และอำเภอคลองเขื่อน เหมาะสำหรับปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ดินเหนียวปนลูกรัง ดินทราย หรือดินร่วนปนทราย อยู่ในเขตพื้นที่ค่อนข้างสูงบริเวณเนินเขาเนื่องจากเป็นเขตป่าไม้เดิม สามารถปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นและพืชไร่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ


อาคารมณฑลปราจีนบุรี และต่อมาเป็นเทศบาลเมืองหลังเก่า
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tbmccs.go.th/index.php/information/35-2012-11-08-16-20-32

แต่ก่อนจะลงมาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำ อันเป็นพื้นที่สำคัญมากของเมืองฉะเชิงเทรา ตามข้อ ๑.ขอไปที่ข้อ ๒.คือ เขตที่ดอนหรือที่ราบลูกฟูก เสียก่อน เพราะว่าปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของบริเวณนี้ เหลือเป็นเพียงตำนานให้กล่าวขาน หรือเล่าสู่เด็กรุ่นหลังเสียแล้ว โดยขอสืบเนื่องยุคที่เราเรียกขานพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราสมัยที่อยู่ในมณฑลปราจีนบุรี (อาจมีพื้นที่บางส่วนอยู่ใน เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำด้วย)


แต่เดิมจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนมีการแบ่งพื้นที่ปกครองเป็นอำเภอต่าง ๆ นั้น แบ่งเขตการปกครอง เป็น ๒ เมือง โดยอาศัยตามลำน้ำบางปะกง เป็นเขตแดนแบ่งพื้นที่เมือง ได้แก่

๑.เขตเมืองพนมสารคาม มีพื้นที่ปกครองคือ อำเภอหัวไทร ( ต่อมา อำเภอหัวไทรถูกยกเลิกไปรวมกับอำเภอบางคล้า)อำเภอพนมสารคาม กิ่งอำเภอสนามชัยเขต อำเภอบางคล้าและอำเภอสนามจันทร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเขาดิน และเปลี่ยนอีกครั้งเป็นอำเภอบ้านโพธิ์)

๒.เขตเมืองฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ปกครองคือ อำเภอเมือง อำเภอบางปะกงและอำเภอบางน้ำเปรี้ยว


ทั้งนี้ขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ของอำเภอที่เกี่ยวข้องกับเขาอ่างฤาไน เท่านั้น

ในรัฃสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินท๋เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีลาวและเขมร ในคราวนี้นได้กวาดต้อนชาวลาวและชาวเขมรเข้ามาเป็นจำนวนมาก และกำหนดพื้นที่ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง พื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราโชบาย ยกหมู่บ้านที่เป่็นชุมชนหนาแน่นขึ้นเป็นเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม มีศาลากลางเมือง มีเรือนจำ มีเจ้าเมืองปกครอง พระพนมสารนรินทร์เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้้าย ก่อนที่จะยุบเป็นอำเภอพนมสารคาม ต่อมาตำบลคู้ยายหมี ตำบลท่ากระดาน ตำบลท่าตะเกียบ ได้แยกออกจากอำเภอพนมสารคามเป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต


ภาพการบุกรุกป่าของราษฎร ในปี พ.ศ.๒๕๓๒
หนังสือฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์


พื้นที่อำเภอพนมสารคาม เคยปกคลุมด้วยป่่าใหญ่ มีบริษัทได้สัมปทานทำป่าคลองท่าลาด ซึ่งเดิมเรียก แม่น้ำพนม ฯ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมล่องแพซุงที่ได้จากป่าใหญ่ทั้งของเขตพนมสารตามและสนามชัยเขต ของป่าและไม้มีค่าเป็นสินค้าออกที่สำคัญน้ำมันยางเป็นสินค้าที่สำคัญล่าสุด ตามด้วยไม้แดงจีน ไม้หอมและเร่ว หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ บริเวณนี้ยังเป็นดินแดนที่ผู้คนหวาดกลัวเรื่อง ไข้ และยาเบื่อ เพราะเป็นป่าดงดิบ ปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกแผ้วถางไปจนหมดลักษณะดังกล่าว ทุกวันนี้จึงมีสภาพเป็นเพียงที่ราบสูง เท่านั้น (ชั่วเวลาไม่กี่สิบปี ป่าพพนมสารคามก็สูญสิ้นอย่างสิ้นเชิง ในหนังสือ ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์ มีภาพขาวดำการตัดไม้ใหญ่ในป่า เป็นหย่อม ๆต้นไม้ล้มกองพื้นระเกะระกะซึ่งใต้ภาพระบุว่าปัจจุบัน ( พ.ศ. ๒๕๓๔ สภาพป่าดังกล่าวไม่มีหลงเหลือแล้ว น่าเศร้าใจมาก)



ภาพเขาหินซ้อน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tbmccs.go.th/index.php/information/35-2012-11-08-16-20-32



ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ ในปัจจุบัน


สภาพป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากการบุกรุกทำลายป่าที่เชาหินซ้อน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=12&chap=6&page=t12-6-infodetail06.html



บ้านยางแดง ต.คู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขตในปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.greennet.or.th/portfolio/1469


อำเภอสนามชัยเขต เดิมเคยมีฐานะเป็นเมืองชื่อว่าเมืองสนามไชยเขตร (ซึ่งเดิมเป็นบ้านพระราม) มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่ และให้ขึ้นกับเมืองฉะเชิงเทรา มีหมู่บ้านเก่าแก่เป็นชุมชนดั้งเดิมของคนไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีชาวลาวมาตั้งรกราก เช่นบ้านซ่อง (ปัจจุบันอยู่อำเภอพนมสารคาม)
ปรากฎมีร่องรอยของถนนและวัดโบราณที่เรียกว่าวัดท้าวอู่ทองและท้าวอุทัย มีเรื่องเล่ากันว่าเป็นถนนและวัดของท้าวอู่ทองและท้าวอุทัย อันเป็นนิทานที่แตกต่างไปจากนิทานชาดกเรื่องพระรถเมรี นิทานเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เล่าสืบมาในหมู่คนไทยที่ตั้งชุมชนอยู่ในละแวกนี้มาแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา วัดท้าวอุทัยตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านชำปางามซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่แต่ชำรุดมาก วัดนี้คงเคยเป็นวัดที่มีความสำคัญในแถบนี้ เพราะปรากฎมีลายแทงเล่าสืบ ๆ กันมาว่า " ฝนตกกึกก้อง ฟ้าร้องได้ยินหน้าพระภูมินทร์ หลังพระราชา เดินเข้าไปแทงตา เดินกลับมากาขี้รดหัว "

ต่อมามีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งอำเภอสนามไชยเขตร ต่อมายุบเป็นตำบลของอำเภอพนมสารคาม แล้วต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอสนามไชย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต และได้ยกฐานะเป็นอำเภอสนามชัยเขต

อำเภอสนามชัยเขต มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แควระบมและแควสียัด หนองกระทิง หนองยาง และมีอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น คืออ่างลาดกระทิง อ่างระบม อ่างบ้าน กม ๗ และอ่างคลองตาผึ้ง สภาพป่าในขตอำเภอเป็นป่าดงดิบ เนื่องจากฝนตกชุกจึงมีพันธุ์ไม้ขึ้นหนาแน่น


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.h2th.com/


อำเภอท่าตะเกียบ เดิมอยู่ในปกครองของอำเภอสนามชัยเขต ต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ และต่อมายกฐานะเป็นอำเภอ ท่าตะเกียบ

ความเป็นมาของท่าตะเกียบ มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีพระดำริการก่อสร้างเสาชิงช้าบริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ได้มีหนังสือแจ้ง ตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ให้หาไม้แดงเพื่อนำไปทำไม้ตะเกียบเสาชิงช้า พบว่าในป่าที่ ท่าตะเกียบ มีไม้แดงต้นงาม ๒ ต้น บริเวณห่างจากบ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้น ประมาณ ๑ ก ม. ได้ล่องไม้แดงดังกล่าวไปตามคลองสียัด เนื่องจากไม้มีขนาดใหญ่มาก บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัด จึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ท่าลงไม้ตะเกียบ " และเพี้ยนมาเป็น " ท่าตะเกียบ"



พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอ เป็นทิวเขาและป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออก ชื่อป่าสงวนแห่งชาติ " แควระบบม- สียัด " เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่อุดมไปด้วยไม้กระยาเลยอันมีค่าทางเศรษฐกิจ เช่นไม้ตะแบก ไม้มะค่า ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของชาวอำเภอท่าตะเกียบ และชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยทั่วไปสภาพท้องที่บางส่วนเป็นป่าดงดิบ มีภูเขาและลำธารหลายแห่ง ที่สำคัญ คือ แควสียัด นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่ยังคงความสวยงามและมีชื่ิอเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา คือน้ำตกเขาอ่่างฤาไน ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตำบลคลองตะเกรา

ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำสียัดเป็นอ่างเก็บน้ำที่ล้อมไปด้วยภูเขาหลายลูกด้วยกัน อ่างเก็บน้ำสียัดนี้กินเนื้อที่หลายตารางกิโลเมตร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นบนคลองเก่าจึงมีปลาอยู่ชุกชุมมาก


พื้นที่รอยต่อ ๕ จังหวัด
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dnp.go.th/planing/special_project/2545/Central/RoyToa.htm


ดินแดนป่าดงดิบเขตรอยต่อ ๕ จังหวัด อันมีสนามชัยเขตเป็นแกนกลางได้ซ่อนธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ไว้ให้สรรพสัตว์ได้พึ่งพิง ดินแดนดังกล่าว สื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและของจังหวัดฉะเชิงเทรา นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร.ต. กิตติ ประทุมแก้ว เข้าไปถึงบริเวณนำตกอ่างฤาไน อำเภอสนามชัยเขต เขาอ่างฤาไน อันเป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า คณะเดินทางเข้าไปเมื่อวันที่ ๒๗ ธีนวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ น้ำตกยังบริบูรณ์ สอบถามเจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ประจำอยู่ ยืนยันว่ามีน้ำตกตลอดปี มีการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงเสียชีวิตไปหลายคนในเขตบริเวณดังกล่าวนี้ พวกเรารู้สึกสำนึกในบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นเสียสละปกป้องมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้พวกเราได้รู้เป็นบุญตา ระยะทางจากฉะเชิงเทราถึงน้ำตกประมาณ ๑๒๑ กิโลเมตร แบ่งระยะทางเป็น ๔ ระยะ...................




เขาตะกรุบ อ.วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=34&topic_no=230323&topic_id=233359

ลักษณะภูมิประเทศของน้ำตกอ่างฤาไน มีภูขาอยู่ทางทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศตะวันออก ส่วนตรงกลางและตอนใต้สุดเป็นที่ราบต่ำ ทางทิศตะวันตกมีเทือกเขาใหญ่กั้นเป็นแนวเขตยาวจากเหนือไปใต้ มียอดเขาที่สำคัญคือ เขาอ่างฤาไน สูง ๖๗๙ เมตร เป็นต้นน้ำของนำตกบ่อทอง ยอดเขาใหญ่สูงถึง ๗๖๓ เมตร เป็นต้นน้ำคลองตะเกรา บนเทือกเขาใหญ่มีสันเขาเดินถึงกันได้ตลอดปีมีไผ่ปล้องยาวสลับด้วยพันธุ์ไม้ป่าดงดิบขึ้นอยู่บนยอดเขาและตามไหล่เขาอย่างหนาแน่น ตามเชิงเขาที่เป็นหุบเขาลึกชันยากที่จะเข้าไปถึง จึงเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ป่าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หายาก เช่น วัวกระทิง วัวแดง ช้างป่า และเลียงผาเป็นต้น


ขอขอบคุณภาพจากhttp://chm-thai.onep.go.th/chm/PA/Detail/wildlife.html


สภาพป่าและไม้สำคัญมีฝนตกชุกจึงมีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น มีไม้มีค่าและของป่าหลายชนิด ราชการได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดเป็นเขตพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตั้งแต่ พ.ศ.2520 นอกจากนี้พื้นที่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแควระบม ป่าสียัด ได้ผ่านการทำไม้มาแล้วโดยบริษัท เอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด ผู้รับสัมปทาน ทำไม้ ไม้ที่มีความสำคัญ เช่น ยาง ตะเคียนทอง กะบาก เคียนคะนอง พันจำ มะค่าโมง ประดู่แดง ชิงชัน สมพง กะท้อน มะกอก ฯลฯ



น้ำตกบ่อทอง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=18&topic_no=57666&topic_id=58004


ในส่วนของ แควระบบสียัด ที่ทำเก็บอ่างเก็บน้ำ และเข่าอ่างฤาไน ได้รอดพ้นมหันตภัยมาเพราะ อะไร บทความนี้ยาวไปเสียแล้ว ขอไปขึ้นบทใหม่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปริญญานิพนธ์ของอังคณา แสงสว่าง เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
หนังสือความรู้เรื่องเมืองฉะเชิงเทรา ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์
หนังสือฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์
หนังสือจังหวัดฉะเชิงเรา

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๖ อดีตกาลผ่านมา ๒





ขอขอบคุณภาพจากhttp://nongbua.kru.ac.th/


เพื่อเสริมความเข้าใจว่าก่อนที่ข่าวจะเป็นพืชเศรษฐกิจของลุ่มน้ำบางปะกง โดยเฉพาะเมืองฉะเชิงเทรานั้น ลุ่มน้ำนี้เคยมีอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาก่อนดังนี้


อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณไม่เพียงแต่นำมาผลิต เป็นน้ำตาลเท่านั้น แต่จากประวัติศาสตร์พบว่าอ้อยมีบทบาทหลายอย่างในอตีดกาล เช่น ใช้ในพิธีกรรมต่างๆแสดงถึงความสมบูรณ์ และความหวานแสดงถึงปัญญา

โดยมักจะนำอ้อยและกล้วยเป็นของใช้ประกอบในพิธีคู่กัน เช่นใช้ในพิธีมงคล หรือเทศกาลต่างๆ ทั้งเพื่อประดับ หรือมีความหมายในทางที่เป็นสิริมงคล เช่น ในขบวนแห่ขันหมาก เป็นต้น และที่ไม่ค่อยทราบกันก็คือน้ำอ้อยผสมกับปูนขาวใช้สอปูนและฉาบผนัง ในการประกอบ เป็นประติมากรรมและสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตลอดจนยังปราก เป็นบทเพลงไทยต่างๆ มากมาย นอกจากนั้นอ้อยยังเป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณได้อีกด้วย




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.ocsb.go.th/th/webboard/detail.php?ID=1948&

สำหรับการทำน้ำตาลจากอ้อยในประเทศไทยนั้น มีหลักฐานว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยทำเป็นน้ำตาลงบ แหล่งผลิตอยู่ที่ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบันยังมีการผลิตน้ำตาลงบอยู่ในบางจังหวัด ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๑๙๕๑ และ พ.ศ. ๑๙๕๕ ได้มีการส่งออกน้ำตาลทรายแดงไปยังประเทศญี่ปุ่น การผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ดำเนินกิจการด้วยดีโดยมีแหล่งผลิตใหม่ที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และ จังหวัดชลบุรี เมื่อปริมาณการผลิตมีมากกว่าความต้องการบริโภค จึงมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ก่อนที่แหล่งผลิตจะย้ายมายังลุ่มน้ำท่าจีน และบริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีการส่งออกอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ (พ.ศ. ๒๓๕๒- ๒๓๗๕ )

ในอดีต จากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา อ้อยเป็นพืชไร่ที่สำคัญที่สุดของชาวจีนแต้จิ๋วที่มาตั้งถิ่นฐานได้นำอ้อยเข้ามาเป็นพืชทางการค้าในสยามทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ พ.ศ. ๒,๓๕๓ และภายในระยะเวลาสิบปี อ้อยได้เป็นสินค้าที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของไทย แหล่งเพาะปลูกอ้อยที่ใหญ่อยู่ในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและนครปฐม




ขอขอบคุณภาพจากwww.reurnthai.com


เมืองฉะเชิงเทราเดิมราษฎโรได้ปลูกอ้อยอยู่ในขอบเขต คือเป็นการผลิตพอเลี้ยงชีพได้ บริโภคในครัวเรือนและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ใน พ.ศ. ๒๓๕๐ อุตสาหกรรมน้ำตาลได้ก่อตัวขึ้น ดังนั้นเมืองฉะเชิงเทราจึงมีการตั้งโรงหีบอ้อยเพื่อทำน้ำตาลขึ้นและทำให้น้ำตาลกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองนี้

จากหลักฐานพบว่าชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทรา ทำไร่อ้อยขนาดใหญ่ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๓๙๘ เช่นหลักฐานจากบันทึกเล่าเรื่องกรุงสยามของปาลเลกัวร์ กล่าวถึงเมืองฉะเชิงเทราไว้ดังนี้
"เหตุรัชกาลที่ ๓ พบว่า การเก็บผลประโยชน์จากอากรสมพัตสร พ.ศ. ๒๓๙๘ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยได้ ๗,๓๖๐ บาท "

ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบใหญ่อุดมไปด้วยนาข้าว สวนผลไม้และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน...

จากหลักฐาน ร่างสารตรา กล่าว่า "พวกจีนที่ตั้งบ้านเรือนทำสวนใหญ่ไร่อ้อยชุกชุม " ร่างสารตรานี้เป็นหลักฐานทำให้ทราบว่า ผู้ที่ริเริ่มบุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลในจังหวัดฉะเชิงเทรา คือชาวจีน







จากงานวิจัยของ ม.ล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ เรื่อง "การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ใน คริสต์ศตวรรษ ที่ ๑๙ " มีความตอนหนึ่งว่า " เมืองฉะเชิงเทราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลทรายที่สำคัญ มีโรงหีบตั้งอยู่กว่า ๓๐ โรง"

ในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนสนธิสัญญาบราว์ริ่ง ที่เมืองฉะเชิงเทรามีการตั้งโรงหีบอ้อยประมาณ ๒๘ โรง ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพฯ ออกไปตรวจตราดูแลไร่อ้อยที่เมืองฉะเชิงเทราอยู่เสมอ โดยให้หมั่นตรวจไร่อ้อยทั้งอ้อยต่อและอ้อยปลูกใหม่ แล้วต้องรายงานเข้าไปในกรุงเทพ ฯ อยู่เนือง ๆ หากเจ้าเมืองฉะเชิงเทราละเลยไม่รายงาน ทางเมืองหลวงก็จะทวงถามถึงการสำรวจเหล่านี้ เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละปีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของเมืองฉะเชิงเทราเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร จะได้ปรับปรุงส่งเสริมให้ถูกต้อง
ดังความตอนหนึ่งว่า

" มีตราโปรดเกล้า ฯ ออกมาว่าราษฎรไทย จีน ในแขวงเมืองฉะเชิงเทรา ผู้ใดจะทำสวนอ้อย ตั้งโรงหีบขึ้นอีก ก็ให้พระยาวิเศษฤาไชย กรรมการ จัดแจงหาที่ให้ราษฎรไทย จีน ตั้งโรงหีบ สวนอ้อย ขึ้นให้ได้มาก " (สังฆราช ปาลเลกัวร์ – ๒๕๐๖ เล่าเรื่องเมืองไทย หน้า ๗๔ )

จากหลักฐานร่างสารตราที่ทางการแจ้งไปยังเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา มีความว่า
" ให้พระยาวิเศษฤาไชย คิดอ่านจัดแจงให้ราษฎรไทย จีน ลาวและเขมร ทำไร่อ้อยขึ้นให้ได้มาก ถ้ามีแห่งใด ตำบลใดควรจะทำไร่อ้อยได้ หากที่ดินบริเวณนั้นมีผู้จับจองไว้ก่อน แต่ปล่อยทิ้งให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ ก็ให้พระยาวิเศษฤาไชยหาตัวราษฎรผู้จับจองที่นั้นไว้มาไต่ถามว่าจะทำนา ทำสวน ในที่ดินหรือไม่ หากเกินกำลังที่จะทำได้ก็อย่าให้หวงที่ไว้ ให้พระยาวิเศษฤาไชยจัดแจงให้ราษฎรคนอื่นทำไร่อ้อยให้เต็มพื้นที่นั้น" (จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ จ.ศ. ๑๒๐๑ )





นอกจากนั้นทางการ (รัฐบาล) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังลงทุนตั้งโรงงานทำน้ำตาลทรายด้วยตนเอง มีการตั้งโรงหีบอ้อยหลวงที่นครไชยศรี ๒ โรง ที่ฉะเชิงเทรา ๑ โรง และที่พนัสนิคม ๑ โรง

(พนัสนิคมตั้งขึ้นเป็นเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคและจัดระเบียบการปกครองใหม่เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงโปรดเกล้าฯให้เมืองพนัสนิคม เมืองบางละมุง และเมืองบางปลาสร้อยรวมกัน และเมืองพนัสนิคมจึงเป็นอำเภอของชลบุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ตั้งแต่นั้นมา )





โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นการลงทุนตั้งโรงหีบอ้อยหลวงขนาดใหญ่ ใน พ.ศ. ๒๓๘๐- ๒๓๘๒ ใช้เงินถึง ๓๐,๗๑๒ บาท ใช้เนื้อที่เพาะปลูกอ้อย ๒๒๓ ไร่ มีการจ้างแรงงานชาวจีนปลูกอ้อยและเป็นแรงงานในโรงหีบอ้อยเกือบทุกอย่าง โดยมอบหมายให้พระยาวิเศษฤาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทราเป็นผู้ดูแลใช้จ่ายเงิน

นับจากต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมาอุตสาหกรรมน้ำตาลตกอยู่ในภาวะซบเซา และผลิตเพื่อการบริโภคภายในเท่านั้น โรงงานที่ผลิตน้ำตาลขนาดเล็กอาศัยแรงงานคนและสัตว์ใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก มีปริมาณส่งออกสูงสุดใน พ.ศ. ๒๔๐๒ ส่งออกประมาณ ๒๐๔,๐๐๐ หาบต่อปี หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดปริมาณการส่งออก

อุตสาหกรรมน้ำตาลเริ่มตกต่ำอย่างมากตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นต้นมา เพราะยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญซื้อน้ำตาลจากไทย สามารถผลิตน้ำตาลได้เพียงพอไม่ต้องซื้อจากไทยอีก รวมทั้งไทยไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลที่ผลิตในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ คิวบา และชวาได้ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ การปลูกอ้อยใน จังหวัดฉะเชิงเทราลดลงไป

นอกจากนี้ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยขึ้นมา พื้นที่ ที่เคยปลูกอ้อย ค่อย ๆ ลดลง ราษฎรหันมาปลูกข้าวทดแทน เพราะมีกำไรดีกว่าและพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะในการปลูกข้าว
จนในที่สุดต้องมีการนำเข้าน้ำตาลในปี พ.ศ. ๒๔๓๖




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://report-easy.blogspot.com/2009/07/blog-post_3413.html

ปริญญานิพนธ์ เรื่อง บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๗๕ ของ อังคณา แสงสว่าง เสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๕ อดีตกาลผ่านมา ๑



ปากแม่น้ำบางปะกง
ขอขอบคุณภาพจากwww.thakam.go.th


จากแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรี ทีึ่มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำบางปะกง แต่ในบางพื้นที่ของแม่น้ำตั้งแต่เมืองปราจีนบุรี ลงมาจนออกทะเลนั้นที่อำเภอบางปะกงนั้น เรือเดินได้ตลอดในฤดูน้ำ แต่บริเวณปากน้ำมีสันดอน เวลาน้ำลงเรือใหญ่ที่กินน้ำลึกเพียง ๒ เมตร ก็แล่นเข้าออกไม่ได้ แล้วต้องรอให้น้ำขึ้นจึงจะเข้าออกได้

ความสำคัญของแม่น้ำบางปะกงนอกจากด้านการคมนาคมแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในการเพาะปลูกอีกด้วย บริเวณใดที่ใกล้แม่น้ำทั้งสองฟากก็จะเป็นทุ่งนาอุดมสมบูรณ์ มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอาศัยตลอดเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน ทุกอาชีในการขนส่งสินค้า เช่นหมู่บ้านบริเวณปากน้ำแควหนุมาน ซึ่งพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยะสิริ) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงเทศาจิตรพิจารณ์ ได้เขียนไว้ว่า

...ที่ปากน้ำหนุมานนี่้เป็นบ้านใหญ่ลูกค้าในหัวเมืองตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือเมืองกบินทร๋ คุมสินค้าลงมาจำหน่ายยังท่าบ้านนี้ทั้งสิ้น ( ท่าบ้านคือตลาดชุมทางการค้าขายทางบกหรือทางน้ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึงตลาดชุมทางค้าขายทางน้ำ riverine port ตามจุดเหล่านี้ในที่สุดจะเกิดเป็นหมู่บ้านหรือพัฒนาเป็นเมือง เล็กใหญ่แล้วแต่ความจำเป็นและความสำคัญเชิงเศรษฐกิจท้องถิ่น ) สินค้ามีข้าวเปลือกเป็นพื้น กับมีไม้ฝาง ไม้แดง ไต้ ชันน้ำมันยาง เรือชะล่า หนังโค หนังกระบือ เร่ว กระวานต่าง ๆ สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าบรรทุกเกวียนมาจากเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองนางรอง และหัวเมืองอื่นเป็นอันมาก..... "



ปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ขอขอบคุณภาพจากwikimapia.org


แสดงให้เห็นว่าสินค้าจากที่อื่น ๆ ชาวเมืองต่าง ๆ ได้บรรทุกขนส่งทางบกและถ่ายลงเรือเดินทางมาตามลำน้ำบางปะกง ส่งต่อไปยังหัวเมืองที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป

แม่น้ำบางปะกงนี้นอกจากใช้ในการคมนาคมภายในหัวเมืองแล้ว ยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับหัวเมืองอื่นด้วย โดยเฉพาะการติดต่อกับเมืองหลวงนั้นจะเดินทางตามลำน้ำบางปะกงออกทะเลอ่าวไทย และแล่นเรือตามชายฝั่งทะเลเข้าปากน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่เมืองหลวงอีกทีหนึ่ง แต่เส้นทางนี้ต้องใช้เวลาในการเดินทางมาก การจะช่วบย่นระยะทางและเวลา จึงจำเป็นต้องมีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำ หรือขุดคลองแยกคลองซอย จากแม่น้ำหนึ่งไปสู่อีกแม่น้ำหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการคมนาคม หรือเพื่อเชื่อมเส้นทางจากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่งที่อยู่ลึกเข้าไปจากแม่น้ำด้วย ด้วยเหตุนี้ในสมัยอยุธยาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีการขุดคลองขึ้นหลายสาย
เป็นการเชื่อมแม่น้ำกับแม่น้ำเพื่อใช้ในการคมนาคม หรือ
เป็นการขุดคลองใช้เพื่อการเกษตรด้วย




แผนที่ตัวเกาะเมืองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวต่างประเทศ ในสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นแม่น้ำที่โอบล้อมเกาะและคลองต่างๆ ที่ขุดผ่านเมืองเป็นจำนวนมาก
ขอขอบคุณภาพจากkanchanapisek.or.th


คลองที่มีการขุดขึ้นนั้นมีหลายคลองด้วยกันดังรายชื่อคลองขนาดใหญ่และสำคัญ เช่น

คลองสำโรง คลองแสนแสบหรือคลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต (หรือคนในพื้นที่เรียกว่าคลองท่าไข่) คลองประเวศน์บุรีรมย์และสาขา

นอกจากนี้ยังมีการขุดคลองที่ขุดเพื่อเชื่อมคลองกับคลองอีก เช่น คลองเปร็ง คลองหลวงแพ่ง และคลองอุดมชลจร ซึ่งคลองเหล่านี้ขุดเพื่อเปิดพื้นที่ในการเพาะปลูกเป็นหลักสำคัญ



ขอขอบคุณภาพจากjumraspcdt51.blogspot.com
คลองแสนแสบเป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางประกงเข้าด้วยกัน และมีพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังเวียดนาม เพราะในสมัยนั้นเราได้ทำสงครามกับเวียดนามอยู่





คลองแสนแสบ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mambyrose&month=19-05-2012&group=29&gblog=16
คลองแสนแสบหรือคลองบางขนาก เริ่มจากคลองมหานาคแล้วผ่านเขต บางกะปิ เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก...



คลองทั้งหมดนี้สามารถจำแนกวัตถุประสงค์และผู้ดำเนินการขุดการได้ว่า

คลองสำโรง คลองแสนแสบ และคลองนครเนื่องเขต เป็นการขุดเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ซึ่งอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง และทางการใช้ในการควบคุมดูแลหัวเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองหลวงได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น การดำเนินการขุดนั้นพระมหากษัตรืย์ทรงมีพระราชดำริ และทรงเห็นชอบให้ดำเนินการขุดทั้งสิ้น


คลองนครเนื่องเขต
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/mainblog.php?id=net-mania&month=15-11-2009&group=1&gblog=12


แต่ต่อมาวัตถุประสงค์และผู้ดำเนิการขุดคลองได้เปลี่ยนไปคือ

ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ข่้าวได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทยแทนน้ำตาล ดังนั้นจึงเป็นการส่งเสริมการปลูกข้าว โดยการขยายพื้นที่การเพาะปลูก การจัดหาน้ำในการทำนา และพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งข้าวมาสู่ตลาดในกรุงเทพ ฯ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ



คลองประเวศบุรีรมย์





ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมราษฎรและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขุดคลองด้วยความยินยอมพร้อมใจ เช่น คลองประเวศน์บุรีรมย์ และคลองเปร็ง พระองค์ได้โปรดเกล้าให้ราษฎรช่วยเสียค่าขุดคลองโดยราษฎรจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ในการจับจองที่ดินทั้งสองฝั่งคลอง




คลองประเวศบุรีรมย์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=22293



ส่วนคลองหลวงแพ่งและคลองอุดมชลจร นั้น ก็มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับคลองประเวศบุรีรมย์ แต่เป็นคลองที่เอกชนขออนุญาตขุดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งระยะต่อมาได้มีกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในกาารลงทุนกิจการขุดคลอง คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระปฎิราชประสงค์ หลวงนานาพิธภาษี หลวงสาธรราชายุกต์ (เจ้าสัวยิ้ม) และนายโยราคิน คราฟี ได้ช่วยกันลงทุนเข้าหุ้นตั้งบริษัทขุดคลองขึ้น เรียกว่า "บริษัทขุดคลองแลดูนาสยาม "
เพื่อดำเนินการขุดคลองตามการเชิญชวนและสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทำการขุดคลองในทุ่งนาฝั้งตะวันออกชองแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า " โครงการขุดคลองแลดูนาในทุ่งหลวงรังสิต"
เป็นบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเมืองนครนายกด้วย โดยเริ่มดำเนินการ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ นับว่าเป็นการดำเนินการของเอกชนอย่างแท้จริง ชึ่งต่างกับในระยะแรก ๆ ที่เป็นของทางการ และ ทางการกับเอกชน ตามที่กล่าวมาแล้ว



คลองหลวงแพ่ง
ขอขอบคุณภาพจากwww.thaisecondhand.com



หมายเหตุ ของพลอยโพยม

น้ำตาลเคยเป็นสินค้้าออกที่สำคัญในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาก่อน ข้าว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมราษฎรและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขุดคลองด้วยความยินยอมพร้อมใจ เป็นพระวิสัยทัศน์กว้างไกลทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาประเทศ ในสมัยนั้นขนบธรรมเนียมไทยเราถือว่ากษัตริย์คือเจ้าของบ้านเมือง กษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศชาติ พระองค์ได้ทรงวางแนวทางการทำประชาพิจารณ์ก่อนการพัฒนาประเทศมาเนิ่นนานแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปริญญานิพนธ์ เรื่อง มณฑลปราจีนบุรี สมัยเริ่มแรกถึงสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ โดย สุดใจ พงศ์กล่ำ เสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร

ปริญญานิพนธ์ เรื่อง บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๗๕ ของ อังคณา แสงสว่าง เสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ