วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เบื้องหลังการถ่ายทำรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ๒




คุณสตังค์

หลักการถ่ายทำรายการภัตตาคารบ้านทุ่งตามความรู้สึกของพลอยโพยม คือ อาหารที่จะเข้ามาเป็นเมนูของภัตตาคารบ้านทุ่งได้นั้นจะต้องเป็นอาหารที่มีวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารอยู่ในพื้นที่  เช่นรายการที่เป็นปลาดุกทะเล คุณสตังค์ก็จะออกไปถ่ายทำขั้นตอนเริ่มต้นตั้งแต่ออกทะเลไปจับปลาดุก หรือรายการอื่น ๆ ที่เป็นพืชผัก ก็ต้องเก็บมาจากต้นที่เป็นแหล่งปลูกจริง ๆ ไม่ใช่รายการไปจ่ายตลาดนำมากลับมาทำ ซึ่งรายการจ่ายตลาดก็มีบ้างเป็นเพียงส่วนประกอบเช่น น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ พริกแห้ง ขิงข่าตะไคร้ใบมะกรูด  ผลมะกรูด

การใช้เตาและเชื้อเพลิง ไม่ใช้เตาแกส ใช้เตาอั้งโล่ เชื้อเพลิงคือ ฟืนหรือถ่านไม้เผา

เครื่องปรุงอื่น น้ำพริก ต่าง ๆ มะพร้าว จะเป็นการนำมาแกงหรือทำของหวาน ต้องตำน้ำพริกเอง  ขูดมะพร้าว คั้นกะทิเอง เป็นต้น


เตาอั้งโล่


รายการแรกคือแกงบวดรุ่ยนั้นมีเบื้องหลังการถ่ายทำที่น่าสนใจดังนี้






คุณสตังค์ได้ มาลงพื้นที่สำรวจสถานที่ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน  ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ก็มีการไปเก็บฝักรุ่ย ซึ่งพลอยโพยมมิได้ไปด้วย แต่ก็ดูตามรายการที่ออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ขั้นตอนของวันที่ ๑๗ จบลงที่นำฝักรุ่ยมาปอกเปลือกและต้มนำน้ำฝาดขมของฝักรุ่ยออกไปแล้ว







โดยมีคุณกัญจน์ ทัตติยกุล และคุณพีระศักดิ์ รวยสำราญ เป็นผู้พาไปพบคุณเอี้ยง เหมือนประสงค์ และด.ญ.ศิตา เฟื่องย้อย บุตรสาวของคุณเอี้ยง  แล้วคุณกัญจน์ คุณพีระศักดิ์ก็แยกไปลงเรืออีกลำ ติดตามเรือลำที่คุณเอี้ยงเป๋็นผู้ขับพาคุณสคังค์ไปเก็บฝักรุ่ย โดยลงเรือติดเครื่องยนต์วิ่งข้ามฝั่งแม่น้ำไปเก็บคนละฝั่ง ได้สัมผัสบรรยากาศสดชื่น  ฟ้าสวยน้ำใส ในลำน้ำบางปะกง ได้ชมค้างคาวแม่ไก่ที่อาศัยอยู่กับต้นแสมริมน้ำที่บ้านท่าไฟไหม้



ฝูงค้างคาวแม่ไก่ที่เกาะบนต้นแสม



ผ่านการกางอวนรอกุ้งกะปิหรือเคยกะปิของลุงสายยัน คุณเอี้ยงพาคุณสตังค์เข้าไปทักทายก่อนพอหอมปากหอมคอก็ต้องไปต่อ เมื่อถึงที่หมายจึงพาเรือจอดเทียบท่าที่ริมฝั่งเพื่อขึ้นไปเก็บฝักรุ่ยในป่าชายเลนธรรมชาติ   เก็บได้สักพักเพียงครึ่งถังที่ถือไปใส่ฝักรุ่ยก็ต้องผจญภัยกับมดแดงแผลงฤทธิ์ จนต้องล่าถอยออกมา  น้องศิตาถูกปูแสมหนีบมือด้วย แต่นั่นแสดงว่า ในป่าชายเลนนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ยังมีปูแสมอยู่อาศัย ให้คุณสต้งค์ได้ล้อเลียนน้องต้า (ศิตา ) ว่า ปูน้อยหนีบมือน้องต้า






การแพร่พันธุ์ของต้นรุ่ยเมื่อหล่นลงจากต้น



มดแดงแรงฤทธิ์ พิชิตผู้บุกรุกถิ่นที่อยู่

ตามโปรแกรมจะพาไปเก็บฝักรุ่ยอีกที่หนึ่งแต่เกิดฝนตกเสียก่อน เลยตัดรายการนี้ไป

คุณกัญจน์ คุณพีระศักดิ์ พาไปเก็บฝักรุ่ยที่มนุษย์ปลูกเองโดยพาไปบ้านคุณลุงสงี่ ที่ปลูกต้นรุ่ยไว้บนบกที่บ้านของตนเอง ในการนี้ต้องขับรถไปเก็บฝักรุ่ย และเก็บจนได้ปริมาณมากพอ






นำฝักรุ่ยที่เก็บมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วจึงปอกเปลือกออก


ฝักรุ่ยที่นำมาใช้วันที่ ๑๘ มิถุนายน จึงเป็นฝักรุ่ยที่ ปอกเปลือกออกแล้วด้วยคัตเตอร์ฝีมือคุณสตังค์ คุณเอี้ยง และ น้องศิตา

และยังผ่านการต้มแล้วด้วย



คุณสตังค์กำลังขมักเขม้นเอาจริงเอาจังกับงานปอกเปลือกฝักรุ่ยที่อยู่ในมือ







ว่ากันว่าน้องศิตาน่าจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการปอกรุ่ยเก่งที่สุดของอำเภอบ้านโพธิ์




การต้มฝักรุ่ยก็มีกรรมวิธีและใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาช่วยการต้มคือใช้ขี้เถ้าจากเตาอั้งโล่ห่อผ้า ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาใส่หม้อต้มฝักรุ่ย เพื่อช่วยให้ฝักรุ่ยคายความเฝื่อนฝาดจนออกรสขมออกมากับน้ำที่ต้มได้เร็วขึ้น และต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ต้มฝักรุ่ยนี้หลายครั้ง ตามจำนวนทีคุณเอี้ยงใช้ในวันนี้คือ หกครั้ง โดยก่อนการต้มครั้งที่หกนำห่อผ้าที่ห่อขี้เถ้าออกจากหม้อต้ม

รวมระยะเวลาในการต้มฝักรุ่ยหกครั้งนี้ แปดชั่วโมง






ขอขอบคุณภาพจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น