วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ละคร สายน้ำแห่งมังกร


ละคร สายน้ำแห่งมังกร



ละคร สายน้ำแห่งมังกร เป็นการแสดงของ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์

กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ได้มาลงพื้นที่ก่อนเขียนบทละครซึ่งใช้เวลานานหลายเดือนในการเก็บข้อมูลจริงที่พบเห็นและเรื่องเล่าจากคนในชุมชน แล้วช่วยกันสร้างสรรค์เขียนบทละคร พัฒนาบทละคร เป็นลำดับ และนำละครนี้แสดงตามชุมชนริมแม่น้ำบางปะกงเพื่อร่วมรณรงค์ผลักดันให้ขึ้นทะเบียนแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมซาร์ไซต์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ กับชาวลุ่มน้ำบางปะกง

"ละครเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นทั้งประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำที่กำลังถูกคุกคามและทำให้เปลี่ยนแปลงไปด้วยน้ำมือมนุษย์ กับความพยายามที่จะปกป้องสิ่งเหล่านั้นไว้ของผู้คน “



เนื้อหาสาระของบทละครสื่อความหมายดังนี้

๑. ความเป็นมาของบางปะกงสายน้ำแห่งมังกร ซึ่งบอกเล่าความเชื่อของบรรพชน ประวัติศาสตร์ของเมืองและแม่น้ำ

ที่มาของชื่อบางปะกง

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เคยอธิบายในหนังสือชีวิตและงานของสุนทรภู่ โดยสันนิษฐานว่ามาจากเสียงเรียกที่เพียนมาจากคำเรียกปลาอีกง หรือปลามังกงซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง คำว่าบางปะกงอาจเรียกย่อมาจากบางปลามังกง เป็นบางปะกง ก็เป็นได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปลาที่มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำนี้คือปลาอีกงซึ่งเป็นปลาแขยงสายพันธุ์หนึ่งนั่นเอง ปลาอีกงจะออกหากินเป็นฝูงใหญ่ตามชายฝั่งเป็นปลาที่รักษาความสะอาดให้แก่แหล่งน้ำได้ดีมาก

หรือว่า.....บางปะกงอาจมาจากคำภาษาจีน ว่า มัง-ก๋า-กง

เล่ากันว่า ในอดีตที่อำเภอบางปะกง ในเวลาพลบค่ำมียุงชุกชุมมาก ถึงขนาดต้องกินข้าวกันในมุ้ง เคยมีเรือสำเภาจีนมาจอดทอดสมอถูกยุงรุมตอมกัดได้พูดเป็นภาษาจีนว่า "มัง-ก๋า-กง " ชาวบ้านได้ยินก็ขบขัน ต่อมาเวลาที่ยุงมาก ๆ ชาวบ้านก็จะพูดคำว่า มัง-ก๋า-กง และยุงเพิ่งลดปริมาณลงเมื่อไม่นานมานี่เอง มัง-ก๋า-กง คำนี้ใช้ได้ใช้ได้ทุกวันวันละหลายรอบสำหรับชาวอำเภอบางปะกง

( ที่มาของข้อมูล ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙ พ.ศ.๒๕๕๐ )




การเป็นสายน้ำเมืองมังกรอ้างอิงมาจากประวัติการสร้างวัดเล่งเนียยี่

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว ทรงพระราชทานที่ดินสร้างวัดจีนแห่งหนึ่งขึ้นบริเวณเยาวราช คือ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ในปัจจุบัน ตามหลักฮวงจุ้ยของคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร (สกเห็ง) ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นโดยถือว่า


ขอขอบคุณภาพจากwww.manager.co.th

วัดเล่งเน่ยยี่เปรียบเป็น ตำแหน่งหัวมังกร



ขอขอบคุณภาพจากwww.muangthai.com

และกำหนด ตำแหน่งท้องมังกร ไว้ที่ วัดเล่งฮกยี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาส แล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดจีนประชาสโมสร”)

สำหรับ ตำแหน่งหางมังกร อยู่ที่ วัดเล่งฮัวยี่ หรือ วัดมังกรบุปผาราม จังหวัดจันทบุรี



ขอขอบคุณภาพจากwww.unseentravel.com

ตำแหน่งต่าง ๆ ที่พระอาจารย์สกเห็งได้วางไว้นั้น เป็นตำแหน่งของความอุดมสมบูรณ์ทั้ง ทรัพย์สิน เงินทอง การค้าขาย และความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในบริเวณนั้นอย่างมีความสุข

และการที่มีมังกรตัวเล็กซ่อนตัวอยู่ในสายน้ำมังกรข้างต้น มาจาก ความเห็นของชาวฉะเชิงเทรา โดยรวบรวมความเชื่อมาจากตำนาน เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ทำให้เกิดการเรียกขานแม่น้ำบางปะกงว่า สายน้ำแห่งมังกร โดยมี มังกรตัวเล็ก พาดอยู่ตามสายน้ำเมืองมังกร (มังกรตัวใหญ่)


ตำแหน่งหัวมังกรตัวเล็กนี้ อยู่บริเวณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อพุทธโสธร อันศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพ นับถือของชาวไทยทั่วประเทศ


วัดโสธรวรารามวรวิหาร
ขอขอบคุณภาพจากwww.biogang.net

ตำแหน่งท้องมังกร อยู่ตำแหน่งเดิมที่ วัดเล่งฮกยี่ (วัดจีนประชาสโมสร) ซึ่งภายในวัดนั้นมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย องค์พระประธาน และ ๑๘ อรหันต์ ที่เป็นประติมากรรมโบราณ ทำจากกระดาษอายุกว่า ๑๐๐ปี (ลักษณะเปเปอร์ - มาเช่) ภูมิปัญญาชาวจีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้ เทพเจ้าไฉ้เซ่งเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) , ระฆังศักดิ์สิทธิ์ใบใหญ่หนึ่งในสามใบในโลก และ พระสำเร็จร่างสังขารเจ้าอาวาสที่มรณภาพแล้วไม่เน่าเปื่อย
ซึ่งสอดคล้องกับท้องมังกรของมังกรตัวใหญ่


ตำแหน่งหางมังกร คือตำแหน่งที่พระเจ้าตากสินได้เดินทัพผ่านสู่เมืองจันทบุรี เพื่อระดมไพร่พลในการกู้กรุงศรีอยุธยา และเมื่อเดินทัพถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ จึงได้เจอทัพพม่าซุ่มโจมตี และสู้รบกันจนได้รับชัยชนะ จึงได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบริเวณแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และพักทัพ ณ บริเวณวัดโพธิ์ อำเภอบางคล้า (สถานที่ชมค้างคาวแม่ไก่)

บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ประกอบ “พระราชพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย

แม่น้ำบางปะกงเป็นหนึ่งใน “เบญจสุทธิคงคา” (คือแม่น้ำสายสำคัญ ๕ สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง



คราวก่อนย้อนสมัย แต่งบทละคร


แยกย้ายกันหางานทำ ห่างหายการแสดงจึงต้องซักซ้อมกันอีกครั้งกับการแสดงสุดท้ายของเวอร์ชั่นนี้

๒. ความสัมพันธ์ระหว่าง คน พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม ผ่านการเล่าเรื่องของสัตว์น้ำและวัยรุ่น

ละครจะสื่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในลำน้ำบางปะกงที่พบเห็นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมาเนิ่่นนาน และสัตว์น้ำที่พบเห็นได้เพียงบางพื้นที่แต่เป็นมนต์เสน่ห๋อย่างหนึ่งของลำน้ำนี้ที่เป็นจุดดึงดูดความสนใจให้ผู้คนมาเยี่ยมเยือนสายน้ำมากมายกลายเป็นจุดดึงดูดใจนักท่องเที่ยว คือปลาโลมาอิรวดี เกิดเป็นกิจการล่องเรือชมปลาโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง 

และปลากระเบนราหูที่ไม่ค่อยปรากฎตัวให้คนทั่วไปเห็นนักนอกจากกลุ่มคนที่สนใจการตกปลากระเบนราหู ทั้งที่ปลากระเบนราหูนี้มีชุกชมในลำน้ำบางปะกงและบางครั้งพบการอยู่รวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่

ละครจึงดำเนินเรื่องเริ่มต้นจากผู้คนกลุ่มหนึ่งเป็นคณะของอาจารย์และลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งที่สนใจจับกลุ่มเสวนาพูดคุยกันด้วยเรื่องต่าง ๆ ของแม่น้ำบางปะกง เริ่มตั้งแต่ที่มาของชื่อ บางปะกง โดยนำบทกวีนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ที่กล่าวพาดพิงบางปะกงเป็นการเปิดฉากได้อย่างน่าสนใจติดตามชม

การบอกเล่าเหล่า สัตว์น้ำ พืชพรรณไม้ชายเลนที่สำคัญของลำน้ำบางปะกง
บอกเล่าและแสดงถึงพฤติกรรมน่ารัก ๆ ของสัตว์น้ำหลายชนิด รวมทั้งตำนานรักแห่งหิ่งห้อยและต้นลำพู




ลุงกระเบนและไมเคิล กับบรรดาพรรณไม้ชายเลน

และเพื่อให้ง่ายในการสื่อความจึงต้องมีตัวละครมนุษย์ที่สามารถสื่อความกับบรรดาสัตว็น้ำที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของพลพรรคเพื่อนพ้องน้องพี่สัตว์น้ำที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยมีลุงปลากระเบนราหูเป็นผู้บอกเล่าตอบข้อสงสัยให้มนุษย์ช่างสงสัยอย่าง ไมเคิล ที่หลงยุคฝันเฟื่องลงไปอยู่เมืองในแม่น้ำ


ปูแสม ที่ไมเคิลรู้จักดีว่าอยู่ในส้มตำ  และปูก้ามดาบที่ชูก้ามตลอดเวลา หรือปูผู้แทน ยกมือกับทุกเรื่องในสภา

และในระหว่างที่ไมเคิลเพลิดเพลินพูดคุุยกระเซ้าเย้าแหย่บรรดาสัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิด เพลิดเพลินกับพรรณไม่้ชายเลนที่สำคัญ ตำนานรักแสนเศร้าของหิ่งห้อยและต้นลำพู ก็มีบางสิ่งเริ่มเปลี่ยนไป


๓. เริ่มมีบางสิ่งเปลี่ยนไป บางสิ่งที่ส่งผลต่อทุกสิ่งในสายน้ำ ด้วยการใช้ชีวิตสนุกสนานของผู้คนบนฝั่งกับลำน้ำ การปล่อยปละละเลยแม่น้ำทิ้งของเน่าเสียจากมนุษย์ จากสิ่งใหม่ที่เข้ามาในวิถีชุมชนคนท้องถิ่นหากินกับลำน้ำและบนบก คือโรงงานอุตสากรรม โครงการท่าเรือริมฝั่งน้ำขนาดใหญ่

ทั้งบรรดาสัตว์น้ำและพืชพรรณไม้กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เป็นหายนะของ พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม และลำน้ำบางปะกง

แล้วในที่สุดความเศร้าโศกก็เข้ามาเยือน จนไมเคิลในโลกฝันนั้น พลันเหลือตัวคนเดียว เคว้งคว้าง อ้างว้าง จนต้องตื่นจากโลกฝันนั้น มาเผชิญกับความจริง ในโลกจริงปัจจุบัน




๔. เราจะมีส่วนช่วยสายน้ำแห่งมังกร ได้อย่างไรบ้าง เราจะทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่ผู้คนชนลุ่มน้ำบางปะกง อันเป็นสายธารที่ทอดตัวจากต้นน้ำ เทือกเขาใหญ่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เทือกเขาสอยดาวจังหวัดจันทบุรี ผ่านสู่ ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา จะทำได้ คือ ช่วยกันผลักดันให้แม่น้ำบางปะกงขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ ๑๕ ของประเทศไทย ลำดับที่ ร้อย กว่า ๆ ใกล้เคียง ลำดับที่ หนึ่งร้อยห้าสิบบวกลบ

ผู้คนที่ใช้ชีวิต สืบมาจากบรรพชน มาถึงตัวตนของเรา และสืบทอดไปยังลูกหลาน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จาก แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต



และเป็นที่น่าเสียดายที่ละคร "สายน้ำแห่งมังกร" ที่แสดงในค่ำคืนของบางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒ นี้ เป็นการแสดงครั้งสุดท้ายของคนแสดงในคณะหลายคน ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา จำต้องไปสู่ภาวะที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง คือ การทำงาน ดังนั้นจึงไม่สามารถจะรวมตัวกันทุกครั้งที่จะจัดการแสดงเหมือนที่ผ่านมาได้อีก
บทละครยังคงอยู่รอผู้แสดงชุดใหม่นั่นเอง
เปรียบเหมือนแม่น้ำบางปะกงยังคงอยู่ อย่างรอผู้คนที่จะสืบสานงาน อนุรักษ์ดูแลแม่ แม่ของเรา แม่น้ำบางปะกง


อาจารย์เอ๋ คุณตั้ม และคุณอ้อย

ชาวลุ่มน้ำบางปะกงขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์เอ๋ ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ คูณตั้ม (พี่ตั้มของน้อง ๆ)  ทวีวัฒน์ กำเนิดเพ็ชร และน้องๆ ผู้แสดงละคร สายน้ำแห่งมังกรทุกท่าน ที่สละเวลา แรงกาย แรงใจ ทุนทรัพย์  ตั้งแต่มาลงพื้นที่เก็บข้อมูล การตระเวนไปแสดงละครสายน้ำแห่งมังกร มาโดยตลอด ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

เป็นการแสดงที่ไม่มีผลตอบแทน เป็นตัวเงิน

มีแต่ความชื่นชม ความซาบซึ้งประทับใจ ความรู้สึกถึงบุญคุณอย่างใหญ่หลวง ที่คณะอาจารย์ และลูกศิษย์ มาทำคุณประโยชน์เอนกอนันต์ให้พวกเราชาวชนลุ่มน้ำบางปะกง และ แม่ของเรา แม่น้ำบางปะกง หากแม่บางปะกงพูดได้ คงเปล่งวาจาสะท้อนก้องไปทั่วหล้า ว่า  ..ขอขอบคุณยิ่ง..

ขอผลบุญที่จะช่วยแม่น้ำบางปะกง คงคาที่มีคุณค่าของประเทศไทยนี้  ขออาราธนาหลวงพ่อพุทธโสธรได้โปรดอำนวยพรให้อาจารย์เอ๋ คุณตั้ม น้อง ๆ ทุกท่าน ประสบแต่ความสุข ความเจริญ  มีอายุ วรรณะ สุขะ  พละ คิดหวังสิ่งใดขอให้สมความปรารถนา อุดมด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญสุข ตลอดกาลนา เทอญ

ขอให้น้องๆ ได้ทำงานที่ตนเองรักและปรารถนาทุกท่าน



รายนามน้อง ๆ นักแสดง ที่พอค้นหาได้ หากไม่ครบทุกคน พลอยโพยมขออภัยมา ณ ที่นี้

และขอใช้คำนำหน้าชื่อตามหลักสากลดังนี้

นายอรรถพล พรมไธสง (กล้วย)
นายสุวิชาน มีเค้า (เติ้ล)
นายธนวัฒน์ เจี่ยเจริญ (นน)
นายพิชญเณศ นามวิชา (โอ๋)
นางสาวนภัสสร พงษ์พรหม (นิ้ง)
นางสาวบัณฑิตา หลงรัก (เจน)
นางสาวนัทพร ทองประยูร (นัท)
นางสาวปิยวรรณ กันจันวงศ์ (เมย์)
นางสาวแสงมณี ธารีสังข์ (มิ้น)
นางสาวจารุวรรณ ทองคงอ่วม (กิ๊บ)



ขออภัยที่ใช้รูปครั้งแสดงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชครินทร์



ขอขอบคุณข้อมูลจากอาจารย์เอ๋
ขอขอบคุณภาพจากwww.apichokeonline.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น