วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รากสามสิบแช่อิ่ม


รากสามสิบแช่อิ่ม



ผลของต้นรากสามสิบนำมาทำเป็นอาหารคาวที่อร่อยได้รสชาติคือนำมาปรุงเป็นแกงคั่ว แต่ทั้งนี้รากของต้นรากสามสิบยังสามารถนำไปทำของหวานที่อร่อยได้อีกอย่าง คือรากสามสิบแช่อิ่ม นับเป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษชาวสวนทั้งหลายซึ่งเป็นที่รู้จักและทำกันโดยทั่วไปของชาวสวนหลาย ๆ จังหวัด



ขอเล่าความเป็นมาของการทำรากสามสิบแช่อิ่มของผู้คนในตำบลบางกรูด

ที่ตำบลบางกรูดดังที่เล่าเรื่องมามากมาย ส่วนใหญ่เป็นบ้านของชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาตั้งรกราก บางครอบครัวมาทั้งสามีภรรยา เมื่อมีบุตรหลาน จึงมีการแต่งงานปะปนกับคนไทย บางคนมาคนเดียวก็แต่งงานกับคนไทยในรุ่นนั้นเลย และสืบต่อเชื้อสายจีนปนไทย



ความเป็นเครือญาติของคนในตำบลบางกรูดและตำบลท่าพลับ คือ ทั้งสองฝั่งของลำน้ำบางปะกงโยงใยกันจากการแต่งงานแตกเชื้อสาย เป็นความเกี่ยวพันกันของคนสองฝั่งลำน้ำ ขนบธรรมเนียมประเพณี ก็เป็นลักษณะจีนปนไทย มีการไปทำบุญถือศีลวันพระต่าง ๆ ไหว้สิ่งศักดื๋สิทธิ์ที่ศาลเจ้า โรงเจ มีเทศกาลตรุษจีน และตรุษไทย สารทจีน สารทไทย ทำบุญเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว







ศาลเจ้าที่ตำบลบางกรูด

น่าแปลกใจ ที่บรรดาบรรพบุรุษจีนที่มาตั้งรกรากที่บางกรูดและท่าพลับ และสืบทอดสายตระกูลต่อมาสี่ห้าชั่วคน ไม่นิยมฝังศพ ทำสุสาน แต่ใช้การเผาศพ และตั้งป้ายชื่อบรรพบุรุษ อยู่ที่บ้านบ้าง อยู่ตามศาลเจ้าโรงเจบ้าง พลอยโพยมไม่เคยมีวันเชงเม้งไหว้บรรพบุรุษจีนเลย แต่มีวันไปทำบุญสงกรานต์ เอารายชื่อบรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้วไปใส่ในภาชนะที่วัดจัดไว้ให้ใส่ชื่อ โดยทางวัดจัดเตรียมดินสอและกระดาษไว้ให้แต่ละคนไปเขียนชื่อบรรพบุรุษนำมาหย่อนใส่ในภาชนะ มีตู้ใส่เงินตั้งไว้ให้บริจาคการทำบังสกุล ซึ่งในวันสุดท้ายของการทำบุญสงกรานต์ก็เป็นการเผากระดาษรายชื่อ เป็นการทำบุญบังสกุลรวม และบางครอบครัวที่มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสกุลที่เจดีย์ของแต่ละครอบครัว บริเวณหน้าเจดีย์ก็จัดของเซ่นไหว้ด้วยอาหารของคาวหวานและผลไม้ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะทำกันในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์นั่นเอง หากจะถือว่าเป็นวันเชงเม้ง ก็น่าจะพอได้



(หมายเหตุ คงเป็นเพราะพื้นที่ ที่ดินที่แต่ละครอบครัวครอบครองกรรมสิทธื์ มีฮวงจุ้ยไม่เหมาะในการทำฮวงซุ้ย กระมัง พลอยโพยมคิดเอาเอง เพราะไม่มีใครตอบได้)




แต่ในวันครบรอบวันตาย ซึ่งใช้ตามกำหนดขึ้นแรมเป็นวันกำหนด ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์นิยมนิมนต์พระสงฆ์ที่บิณฑบาตจะโดยการพายเรือหากบ้านเรือนอยู่คนละฝั่งกับวัด หากอยู่ฝั่งเดียวกับวัด ก็เป็นการเดินบิณฑบาต โดยจะนิมนต์ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้พระคุณเจ้าได้มีการบอกกล่าวกับญาติโยม คนอื่น ๆว่า วันนั้นวันนี้รับนิมนต์สังฆทานที่บ้านอื่นแล้ว ญาติโยมจะได้ไม่รอใส่บาตรเก้อ เมื่อถึงวันรับกิจนิมนต์ พระคุณเจ้าก็จะรับบิณฑบาตบ้านต้นทางก่อนถึงบ้านที่นิมนต๋ไว้ และจะมาบ้านที่นิมนต์เป็นบ้านสุดท้าย เจ้าของบ้านก็จะนิมนต์พระคุณเจ้าขึ้นจากเรือหากเป็นการพายเรือบิณฑบาต ขึ้นมารับถวายภัตตาหารคาวหวาน สวดมนต์ สวดบังสกุล ให้พร เจ้าของงาน นำภัตตาหารที่ได้รับการถวาย กลับไปฉันที่วัดตามปกติ มิได้ฉันที่บ้านที่นิมนต์



บ้านที่นิมนต์พระคุณเจ้าไว้ ก็จัดเตรียมอาหารสำหรับถวายพระ และจัดวางหน้าโกศอัฐิบรรพบุรูษ เมื่อพระคุณเจ้ากลับวัด ก็ลาของเซ่นไหว้มารับประทานกันในครอบครัวเป็นมงคล วันทำบุญครบรอบวันตายของบรรพบุรุษนี้ที่บ้านพลอยโพยม และเครือญาติบ้านอื่น ๆ เรียกว่าวันโจ้กี่

การจัดเตรียมของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และเป็นภัตตาหารสำหรับมื้อเช้าและมื้อเพลของพระคุณเจ้า แต่ละครอบครอบจะจัดทำอย่างพิถีพิถันประณีตบรรจงเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเก็บเกี่ยวผลบุญในการถวายภัตตาคารพระคุณเจ้าด้วย อีกทั้งต้องทำในปริมาณที่ต้องเผื่อแผ่บ้านญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง เป็นธรรมเนียมที่จะต้องนำของคาวหวานไปแจกบ้านญาติพี่น้อง ซึ่งเด็ก ๆ มักจะจดจำได้ว่า ประมาณ เดือนนั้นเดือนนี้จะมีอาหารคาวหวานมาหนึ่งสำรับจากบ้านโน้นบ้านนี้ รวมถึงบ้านเราเองจะต้องจัดของคาวหวานกี่สำรับไปให้ญาติ ๆ โดยเดินไปบ้างพายเรือไปบ้าง อยู่ฝั่งแม่น้ำเดียวกันบ้าง คนละฝั่งแม่น้ำบ้าง

การตระเตรียมอาหารคาวหวานบางอย่างต้องใช้เวลาหลายวันก็มี ตัวอย่างเช่น รากสามสิบแช่อิ่ม




เนื่องจากรากสามสิบแช่อิ่มต้องใช้เวลานานทำ ประมาณ สิบวัน จึงเป็นรายการที่มักไม่ทำสำหรับเป็นขนมปกติกินกันในบ้าน พลอยโพยมจะได้กินจาก บ้านพี่อุทัยวรรณ กุลสตรีศรีบางกรูด บ้านพี่อัมพร วงศ์พยัคฆ์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกปี แต่ก็เรียกได้ว่ามีความคุ้นเคยกับรสชาติ หน้าตาของรากสามสิบแช่อื่ม อย่างดี แล้วก็กังขาว่าบ้านพลอยโพยมเอง จำได้ว่าไม่เคยทำเลย แม่ละม่อมก็ไม่อยู่ไขข้อข้องใจให้ แต่คุณน้า นายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ บอกว่า บ้านเราก็ทำบ่อย ๆ ในช่วงที่บ้านมีสาว ๆ เยอะ นับแต่ ป้าละออ อุดมพงษ์ แม่ละม่อม สงวนสัตย์ น้าเอนก น้าอนันท์ น้าอนงค์ น้าสุภาพ (เจริญวงษ์) แค่นี้ ก็หกสาว แล้วไม่รวมผู้ใหญ่ เช่นคุณยายสองท่านในสมัยน้า ( นายแพทย๋วิจิตร ยังไม่เข้าไปเรียนชั้นมัธยมปลาย ในกรุงเทพ ฯ ) คุณน้าบอกว่า น้าคุ้นเคยกับรากสามสิบแช่อิ่มดี แต่น้าเป็นผู้ชาย เห็นแต่บรรดา พี่สาวเหล่านี้นั่งลอกเปลือก ดึงไส้ รากของต้นรากสามสิบ ก็รอกินอย่างเดียว ทำนานหลายวันกว่าจะได้กิน





เมื่อพลอยโพยมจะริเริ่มรื้อฟื้นรากสามสิบแช่อิ่ม ในคราวโรงเรียนดัดดรุณีจะรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พลอยโพยมก็เริ่มต้นถามจากบรรดา พี่สาวรุ่นใหญ่ของตนเองคือลูกสาวคุณป้าละออ ที่มาอยู่บ้านริมแม่น้ำที่บางกรูด หลายคน พี่ ๆ บอกว่าทำไม่เป็น ไปถามทายาทพี่อุทัยวรรณ น้องต้องใจซึ่งมีอายุห่างกับพลอยโพยม สิบปี ตอบว่า รุ่นของต้องใจ แม่เลิกทำแล้ว ไปถามทายาท พี่อัมพร น้องนฤมล บอกว่า ไม่เคยหัดทำถ่ายทอดวิชาของแม่เรื่องนี้ไว้ ไปถาม น้องพันทิพา บุตรสาวน้าทวี วิไลพันธ์ ก็คือคำตอบเหมือนกับสองบ้าน





รู้สึกว่า เอทำไมไม่มีใครฝึกไว้หนอ สืบไปมา ก็ได้ความว่าคุณน้าประนอม วัฒนสินธุ์ ยังทำให้หลาน ๆ กินอยู่ไม่สักกี่ปีมานี้เอง และเคยทำไปแสดงงานเกี่ยวกับผลงานของชุมชนต่าง ๆ ด้วย พลอยโพยม ก็หมายใจไปหาท่าน ทั้งนี้หลานชายคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่ทำงานธนาคารตั้งแต่ยังเป็นธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา เพื่อนบอกว่าตอนนี้ อี๊นอม ข้อมือไม่ดี ถ้าอี๊ทำให้ก็ไม่ชอบให้คนอื่นมาวุ่นวายในการทำ ขนาดทำให้ลูกหลานในบ้านกิน อี๊ ก็ทำคนเดียว ลูก ๆ หลาน ๆ ไปขุดรากสามสิบมาเท่านั้นพอ หลังจากนั้นก็รอกินอย่างเดียว ต้องขอบคุณ คุณครูประโยชน์ เกษมวงศ์จิตร ที่เป็นธุระไปขอร้อง คุณน้าประนอม จนท่านยอมรับจะทำสำหรับนำทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่ก็นับว่างานเข้า พลอยโพยมแล้ว เพราะจะต้องถ่ายภาพการทำโดยนักเรียนเป็นผู้ทำเพื่อติดเป็นภาพในนิทรรศการด้วย และหากถูกถามเด็ก ๆ จะต้องกราบบังคมทูล วิธีทำได้

เมื่อเป็นผู้หญิงเรี่ยวแรงน้อย ยกจอบอันใหญ่ ๆจ้วงขุดดินไม่ไหว ก็ต้อง ค่อย ๆ แซะหารากของต้นรากสามสิบดังภาพ

พลอยโพยม ก็ถามไถ่ไปอีกหลายบ้าน ทั้งคำบอกต่อว่า คนโน้นคนนี้ บ้านโน้นบ้านนี้เคยทำกันมา เช่นกำนันสมภพ วงศ์พยัคฆ์ และอีกหลายบ้าน จนอ่อนระอาใจ แต่ในที่สุดก็ได้ข้อพิสูจน์ว่าไม่มีอะไรเกินความพยายามหากเราตั้งใจจริง โดยเฉพาะ เรื่อง ดี ๆ ประเภท ทำเรื่องชอบประกอบด้วยธรรม



ในที่สุดพลอยโพยมก็ได้อาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้แบบหมดเปลือก ทั้งข้อปลีกย่อยที่เรียกว่าเคล็ดลับวิชาการทำรากสามสิบแช่อิ่ม จาก พลอากาศโท สุเทพ นาคะพงศ์ พี่ชายของพีสุกัลยานั่นเอง หลังจากจดบันทึกถ้อยคำสอนแล้ว พลอยโพยมก็เริ่มต้นฝึกทำ เอาการบ้านไปส่งพี่สุกัลยา ซึ่งพลอากาศโท สุเทพ บอกว่า พี่ก็เรียนต่อมาจากสุกัลยานั่นแหละเขาอยู่กับแม่ถ่ายทอดจดจำมาจากแม่ได้หมด มันเป็นการรื้อฟื้นความหลังที่พี่สองคนเล่าไปสอนไป รำลึกถึงคุณแม่สงวนวงษ์ นาคะพงศ่ ไป การบ้านที่เอาไปส่ง ผ่านการตรวจสอบ ทุกขั้น จนเสร็จสำเร็จออกมาเป็นรากสามสิบที่สามารถนำไปวางโชว์ในนิทรรศการได้ และพลอยโพยมก็สามารถนำวิธีการไปสอนต่อน้องนักเรียนให้ฝึกหัดทำ จนผ่านงานรับเสด็จไปด้วยดี ส่วนรากสามสิบแช่อิ่มชุดของคุณน้าประนอม ทูลเกล้า ฯ ถวาย รวมในกระเช้าอีกหลายอย่าง




การหาวัตถุดิบรากสามสิบส่วนหนึ่งได้จากสวนของพี่สุกัลยานั่นเอง แต่ไม่เพียงพองานนี้ต้องไปขุดมาจากบริเวณป่าจังหวัดเพชรบุรี



รากสามสิบแก่ขนาดนี้ไม่สามารถนำมาทำรากสามสิบแช่อิ่มได้แล้ว

นอกจากนี้ยังได้ทำชุดใหม่ออกงาน บางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒ ตอนบ้านโพธิ์ บ้านเราบ้านแสนสุข ทำเป็นของฝากผู้ใหญ่คนสำคัญของครอบครัวพลอยโพยม และรายการภัตตาคารบ้านทุ่งมาถ่ายทำวิธีการทำ ซึ่งพลอยโพยมได้เชิญ พลอากาศโท สุเทพ นาคะพงศ์ มาเป็นผู้ทำในรายการแต่ท่านปฏิเสธเพราะสุขภาพไม่สู้ดี เวียนเข้าออกโรงพยาบาลตามหมอนัด ส่วนพี่สุกัลยามอบหมายให้พลอยโพยม ออกรายการแทน


พลอยโพยมต้องตระเตรียมทำรากสามสิบสำหรับออกรายการ หลายชุด เพื่อให้สามารถอธิบายขั้นตอนการทำรากสามสิบแช่อิ่ม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการแต่ต้นจนจบ คือรับประทานได้นั่นเอง



เมื่อได้วิชาความรู้มา พลอยโพยมก็ขอนำมาถ่ายทอดต่อ เพื่อเป็นการสืบสานตำนานเรื่องการกินของบ้านชาวสวนตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา



กระบวนการทำรากสามสิบแช่อิ่ม

๑.นำรากสามสิบมาคัดเลือกรากที่ต้องการ




๒.นำไปล้างให้สะอาด แล้วนำลงต้ม จนสามารถลอกเปลือกออกได้





๓..ลอกเปลือกให้หมด




๔.ดึงไส้ออกหมดไม่มีเศษหลงเหลือ







๕. นำรากสามสิบลงแช่ในน้ำต้มที่ปล่อยให้เย็นแล้ว ทิ้งค้างคืน
รุ่งขึ้น เปลี่ยนน้ำแช่รากสามสิบใหม่(น้ำต้มสุกเย็นแล้ว) ทิ้งค้างคืนอีก
เปลี่ยนถ่ายน้ำเช่นนี้๓-๔ ครั้ง เพื่อให้รากสามสิบคลายความขมเฝื่อน
ทดลองขิมรากสามสิบว่ามีรสจืดสนิทไม่มีรสขมแล้วจึงเลิกการเปลี่ยนถ่ายน้ำ

๖.ทำน้ำเชื่อมอย่างอ่อน (น้ำ ๑,๐๐๐ มิลลิลิตร น้ำตาลทราย ครึ่งกิโลกรัม)



๗. เมื่อน้ำเชื่อมเย็น นำรากสามสิบลงแช่ในน้ำเชื่อม ทิ้งค้างคืน




๘.ทำน้ำเชื่อมให้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยนำน้ำเชื่อมเก่าอุ่นไฟ เพิ่มน้ำตาลทุกครั้ง รอน้ำเชื่อมเย็นจึงแช่รากสามสิบลงในน้ำเชื่อม ทำเช่นนี้ประมาณ ๓- ๔ วัน จนรากสามสิบหวาน กรอบได้ที่ แล้วปล่อยให้รากสามสิบแช่ในน้ำเชื่อม นำเข้าตู้เย็น นำมารับประทานได้
วิธีการนี้เรียกว่าการทำแช่อิ่ม





ซึ่งในหนังสือพรรณพฤกษา สัตวาพิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์ ชื่อรากสามสิบ เป็นกาพย์ยานี ๑๑ ในหมู่ไม้ในแม่กม ว่า

ดูหลากรากสามสิบ เมื่อดิบดิบขมสิ้นที
น้ำเชื่อมแช่อิ่มสี เป็นเงาปลาบทราบซึมหวาน


ซึ่งในประวัติของพระยาศรีสุุทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )ท่านเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๔ ปี รวมบรรพชา ๘ ปี และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ อีก ๑๑ ปี ท่านคงคุ้นเคยกับรากสามสิบแช่อิ่ม แต่ครั้งยังบรรพชาและอุปสมบท ละกระมัง (เป็นข้อสันนิษฐานส่วนตัวของพลอยโพยมเอง ) เพราะหลังจากลาสิกขาบทแล้วได้ไปพักอาศัยอยู่ที่วังพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ ซึ่งคุ้นเคยกันในครั้งที่บวชเป็นภิกษุ ต่อมาเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงค์ หรือเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดีในขณะนั้น ได้นำท่านเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก เป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในเวรศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอมคล่องแคล่ว ต้องตามพระราชอัธยาศัยทุกประการ

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แกงคั่วลูกรากสามสิบ


แกงคั่วลูกรากสามสิบ



หลังจากรายการภัตตาคารบ้านทุ่งได้มาถ่ายทำรายการอาหารคาวหวานจากฝักรุ่ยแล้ว ทางรายการได้สนใจที่จะมาถ่ายทำ เรื่องราวของรากสามสิบ สำหรับรายการรากสามสิบ มีเมนูที่จะต้องทำมี ๒ รายการคืออาหารคาวและอาหารหวาน จากการปรึกษากับพี่สุกัลยา นาคะพงศ์ แล้ว ทำให้เมนูแกงคั่วลูกรากสามสิบได้หวนคืนกลับมา และในอดีตบ้านพี่สุกัลยา นาคะพงศ์ ก็แกงคั่วลูกรากสามสิบกับปูทะเลเช่นเดียวกัน พลอยโพยมจึงปรึกษาหารือกับทายาทของพี่อุทัยวรรณ สรรพ์พิบูลย์ คือน้องต้องใจ ขวัญใจพาณิชย์ (สรรพ์พิบูลย์ ) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนในตำบลบางกรูดในปัจจุบันว่าน้องต้องใจสืบทอดฝีมืออาหารความหวานของพี่อุทัยวรรณ กุลสตรีศรีบางกรูด ไว้ได้ครบถ้วน




หากแต่น้องต้องใจกลับแนะนำ คุณป้าสนี่ บุญช่วย ผู้ใหญ่ที่สันทัดกับการทำแกงคั่วลูกรากสามสิบแทน เมื่อพลอยโพยมไปเรียนขอความกรุณา คุณป้าสนี่ ก็เมตตารับเป็นผู้ปรุงเมนูลูกรากสามสิบแกงคั่วกับปูทะเลให้รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง


แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากถึงวันถ่ายทำรายการจริงอีกประมาณเกือบเดือนข้างหน้า พลอยโพยมจึงต้องเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินโดยการทดลองทำแกงคั่วลูกรากสามสิบด้วยตัวเอง



ความที่สมัยเด็กพลอยโยมจะถูกแม่ละม่อมใช้งานให้หั่นโน่น หั่นนี่ สำหรับช่วยแม่ละม่อมปรุงอาหาร ดังนั้นการเตรียมเครื่องปรุงพริกแกงจึงไม่ยากนักสำหรับพลอยโพยม แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่พลอยโพยมไม่เคยอยู่งานหน้าเตาเลย เพราะงานนี้เป็นเรื่องของบรรดาพี่ ๆ สาว ๆ หลานน้า หลานป้าของแม่ละม่อมเป็นผู้ดำเนินการตลอดมา






แต่สิ่งที่ทำให้พลอยโพยมไม่ลังเลใจที่จะทำเมนูแกงคั่วลูกรากสามสิบกับปูทะเลด้วยตัวเอง เพราะค่อนข้างเชื่อมั่นกับตัวเองว่า เมื่อได้เคยลิ้มรสแกงที่ตัวเอง รู้สึก รู้รส ว่าอร่อยแล้ว เราก็พยายามปรุงให้ได้รสอาหารนั้น ไม่มีอะไรเกินความพยายามหากเราตั้งใจทำจริง

เป็นห่วงแต่ว่านอกจากความเป็นมาในช่วงวัยเด็กของพลอยโพยมเองที่ไม่ได้ฝึกงาน เสน่ห์ปลายจวักจากแม่ละม่อมแล้ว พลอยโพยมก็ไม่ได้ใส่ใจกับต้นรากสามสิบว่า จะออกดอกออกผลอย่างไร เมื่อไรจึงจะเป็นผลรากสามสิบที่กำลังดีสำหรับเก็บมาทำแกงคั่ว





ทั้งหมดทั้งปวงก็ได้พี่สุกัลยา นาคะพงศ์ เป็นผู้คอยชี้แนะ ประกอบกับพี่สุกัลยายังเก็บรักษาสภาพสวนดั้งเดิมครั้งพวกเรายังเด็ก ๆ ไว้ เป็นสวนที่สมัยเด็กพลอยโพยมเคยตื่นตาตื่นใจเวลาได้มาสวนคุณพ่อพี่สุกัลยาซึ่งท่านเป็นกำนันของตำบลบางกรูด ท่านชื่อ กำนันสมชาย นาคะพงศ์ เพราะท่านมีบุตรธิดาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งพี่สาวของของพี่สุกัลยา และพี่สุกัลยาเอง ดังนั้นที่สวนนี้จึงมีพันธุ์ไม้ที่แปลกทันสมัยเช่นพุทราผลโต ๆ กรอบอร่อย ส้มโอและอื่น ๆ







สภาพสวนพี่สุกัลยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕

ดังนั้นพอดอกรากสามสิบเริ่มมีดอก พลอยโพยมก็เข้าไปติดตามเฝ้ารอว่าเมื่อดอกบานแล้ว เมื่อไร เป็นผล ผลที่กำลังเหมาะนำมาทำแกงคั่วเป็นเวลาห่างจากดอกบานเท่าไร และอันที่จริง ต้นรากสามสิบก็มีต้นค่อย ๆ ทยอยเบ่งบานและติดผล และมีผลรากสามสิบที่ได้บานก่อนติดผลก่อนจำนวนหนึ่งพอจะปรุงเป็นแกงคั่วได้




พลอยโพยมก็เริ่มจากขุดผักสวนครัวในส่วนที่ต้องนำมาใช้ในการปรุงน้ำพริกคือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ผลมะกรูด รากกระชาย รวมทั้งมะพร้าวแก่ทำแกงได้ และเก็บผลรากสามสิบกลับมาดำเนินการเองที่บ้าน




ต้นข่า


ข่า


ตะไคร้
 

ต้นมะกรูด



ผลมะกรูด



กระชาย



เครื่องปรุงน้ำพริกพร้อมแล้ว ขาดแค่ พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมกะปิ






ได้ทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ขับรถออกจากสวน พี่สุกัลยา นาคะพงศ์ ตำบลบางกรูด กลับมาบ้านแสนภูดาษ แวะซื้อ ปูทะเล ในตลาดลาว ที่อำเภอบางปะกง




















เสร็จเรียบร้อยแล้ว แกงคั่วลูกรากสามสิบกับปูทะเล ตักไปแจกให้ผู้สันทัดกรณี ชิม แกงคั่วหม้อแรกในชีวิตของพลอยโพยม คำตอบ สองบ้านบอก ใช้ได้ดีแล้ว แต่บ้านเจ้าของส่วนประกอบสำคัญจากสวน บอกว่า อ่อนเครื่องแกงน้ำพริกแกงคั่ว น้ำแกงต้องมีรสชาติเข้มข้นกว่านี้ อันที่จริง ปูทะเลสามตัวนี้มีส่วนช่วยอย่างมากกับแกงคั่วหม้อแรกในชีวิต

พลอยโพยม ก็ต้องจัดทำหม้อที่สองอีกครั้ง คราวนี้ใช้กุ้ง




ลูกรากสามสิบจากสมุทรสงคราม สวนข้างบ้านพักที่แวดล้อมด้วยบ่อกุ้งบ่อปลาและนาเกลือ










ผลครั้งที่สอง รสชาติกำลังดี ได้ รสน้ำพริกแกงเข้มข้นหอมหวนยวนลิ้น แต่ กุ้ง อร่อยสู้ ปูทะเลไม่ได้

ดังนั้นเมนูที่จะนำเสนอในการทำรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง จึง ใช้ ปูทะเลแกงคั่วลูกรากสามสิบ และเป็นอันปลอดกังวล พ้นปัญหา หากคุณป้าสนี่ บุญช่วย ที่พลอยโพยมเรียนเชิญมาเป็นผู้ปรุงแกงคั่วลูกรากสามสิบกับปูทะเลออกรายการ นั้นถ้ามีข้อผิดพลาดคุณป้าสนี่มาทำรายการไม่ได้ ฝีมือตัวแทนรายการ อย่างพลอยโพยม ไม่ทำให้ชาวตำบลบางกรูด อับอายขายหน้า แน่นอน

ทำแกงคั่วสองหม้อนี้ พลอยโพยม ทำคนเดียวทุกขั้นตอนเลยทีเดียว แม่ละม่อมคงพอใจ ว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเป็นแน่แท้เชียวนั่น

หากสนใจวิธีทำแกงคั่วลูกสามสิบอย่างละเอียด ก็ดูได้ที่


ติดตามชมรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง เรื่องรากสามสิบ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๘ ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=Qydza1wUsqU











ขอขอบคุณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง