วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รากสามสิบแช่อิ่ม


รากสามสิบแช่อิ่ม



ผลของต้นรากสามสิบนำมาทำเป็นอาหารคาวที่อร่อยได้รสชาติคือนำมาปรุงเป็นแกงคั่ว แต่ทั้งนี้รากของต้นรากสามสิบยังสามารถนำไปทำของหวานที่อร่อยได้อีกอย่าง คือรากสามสิบแช่อิ่ม นับเป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษชาวสวนทั้งหลายซึ่งเป็นที่รู้จักและทำกันโดยทั่วไปของชาวสวนหลาย ๆ จังหวัด



ขอเล่าความเป็นมาของการทำรากสามสิบแช่อิ่มของผู้คนในตำบลบางกรูด

ที่ตำบลบางกรูดดังที่เล่าเรื่องมามากมาย ส่วนใหญ่เป็นบ้านของชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาตั้งรกราก บางครอบครัวมาทั้งสามีภรรยา เมื่อมีบุตรหลาน จึงมีการแต่งงานปะปนกับคนไทย บางคนมาคนเดียวก็แต่งงานกับคนไทยในรุ่นนั้นเลย และสืบต่อเชื้อสายจีนปนไทย



ความเป็นเครือญาติของคนในตำบลบางกรูดและตำบลท่าพลับ คือ ทั้งสองฝั่งของลำน้ำบางปะกงโยงใยกันจากการแต่งงานแตกเชื้อสาย เป็นความเกี่ยวพันกันของคนสองฝั่งลำน้ำ ขนบธรรมเนียมประเพณี ก็เป็นลักษณะจีนปนไทย มีการไปทำบุญถือศีลวันพระต่าง ๆ ไหว้สิ่งศักดื๋สิทธิ์ที่ศาลเจ้า โรงเจ มีเทศกาลตรุษจีน และตรุษไทย สารทจีน สารทไทย ทำบุญเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว







ศาลเจ้าที่ตำบลบางกรูด

น่าแปลกใจ ที่บรรดาบรรพบุรุษจีนที่มาตั้งรกรากที่บางกรูดและท่าพลับ และสืบทอดสายตระกูลต่อมาสี่ห้าชั่วคน ไม่นิยมฝังศพ ทำสุสาน แต่ใช้การเผาศพ และตั้งป้ายชื่อบรรพบุรุษ อยู่ที่บ้านบ้าง อยู่ตามศาลเจ้าโรงเจบ้าง พลอยโพยมไม่เคยมีวันเชงเม้งไหว้บรรพบุรุษจีนเลย แต่มีวันไปทำบุญสงกรานต์ เอารายชื่อบรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้วไปใส่ในภาชนะที่วัดจัดไว้ให้ใส่ชื่อ โดยทางวัดจัดเตรียมดินสอและกระดาษไว้ให้แต่ละคนไปเขียนชื่อบรรพบุรุษนำมาหย่อนใส่ในภาชนะ มีตู้ใส่เงินตั้งไว้ให้บริจาคการทำบังสกุล ซึ่งในวันสุดท้ายของการทำบุญสงกรานต์ก็เป็นการเผากระดาษรายชื่อ เป็นการทำบุญบังสกุลรวม และบางครอบครัวที่มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสกุลที่เจดีย์ของแต่ละครอบครัว บริเวณหน้าเจดีย์ก็จัดของเซ่นไหว้ด้วยอาหารของคาวหวานและผลไม้ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะทำกันในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์นั่นเอง หากจะถือว่าเป็นวันเชงเม้ง ก็น่าจะพอได้



(หมายเหตุ คงเป็นเพราะพื้นที่ ที่ดินที่แต่ละครอบครัวครอบครองกรรมสิทธื์ มีฮวงจุ้ยไม่เหมาะในการทำฮวงซุ้ย กระมัง พลอยโพยมคิดเอาเอง เพราะไม่มีใครตอบได้)




แต่ในวันครบรอบวันตาย ซึ่งใช้ตามกำหนดขึ้นแรมเป็นวันกำหนด ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์นิยมนิมนต์พระสงฆ์ที่บิณฑบาตจะโดยการพายเรือหากบ้านเรือนอยู่คนละฝั่งกับวัด หากอยู่ฝั่งเดียวกับวัด ก็เป็นการเดินบิณฑบาต โดยจะนิมนต์ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้พระคุณเจ้าได้มีการบอกกล่าวกับญาติโยม คนอื่น ๆว่า วันนั้นวันนี้รับนิมนต์สังฆทานที่บ้านอื่นแล้ว ญาติโยมจะได้ไม่รอใส่บาตรเก้อ เมื่อถึงวันรับกิจนิมนต์ พระคุณเจ้าก็จะรับบิณฑบาตบ้านต้นทางก่อนถึงบ้านที่นิมนต๋ไว้ และจะมาบ้านที่นิมนต์เป็นบ้านสุดท้าย เจ้าของบ้านก็จะนิมนต์พระคุณเจ้าขึ้นจากเรือหากเป็นการพายเรือบิณฑบาต ขึ้นมารับถวายภัตตาหารคาวหวาน สวดมนต์ สวดบังสกุล ให้พร เจ้าของงาน นำภัตตาหารที่ได้รับการถวาย กลับไปฉันที่วัดตามปกติ มิได้ฉันที่บ้านที่นิมนต์



บ้านที่นิมนต์พระคุณเจ้าไว้ ก็จัดเตรียมอาหารสำหรับถวายพระ และจัดวางหน้าโกศอัฐิบรรพบุรูษ เมื่อพระคุณเจ้ากลับวัด ก็ลาของเซ่นไหว้มารับประทานกันในครอบครัวเป็นมงคล วันทำบุญครบรอบวันตายของบรรพบุรุษนี้ที่บ้านพลอยโพยม และเครือญาติบ้านอื่น ๆ เรียกว่าวันโจ้กี่

การจัดเตรียมของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และเป็นภัตตาหารสำหรับมื้อเช้าและมื้อเพลของพระคุณเจ้า แต่ละครอบครอบจะจัดทำอย่างพิถีพิถันประณีตบรรจงเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเก็บเกี่ยวผลบุญในการถวายภัตตาคารพระคุณเจ้าด้วย อีกทั้งต้องทำในปริมาณที่ต้องเผื่อแผ่บ้านญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง เป็นธรรมเนียมที่จะต้องนำของคาวหวานไปแจกบ้านญาติพี่น้อง ซึ่งเด็ก ๆ มักจะจดจำได้ว่า ประมาณ เดือนนั้นเดือนนี้จะมีอาหารคาวหวานมาหนึ่งสำรับจากบ้านโน้นบ้านนี้ รวมถึงบ้านเราเองจะต้องจัดของคาวหวานกี่สำรับไปให้ญาติ ๆ โดยเดินไปบ้างพายเรือไปบ้าง อยู่ฝั่งแม่น้ำเดียวกันบ้าง คนละฝั่งแม่น้ำบ้าง

การตระเตรียมอาหารคาวหวานบางอย่างต้องใช้เวลาหลายวันก็มี ตัวอย่างเช่น รากสามสิบแช่อิ่ม




เนื่องจากรากสามสิบแช่อิ่มต้องใช้เวลานานทำ ประมาณ สิบวัน จึงเป็นรายการที่มักไม่ทำสำหรับเป็นขนมปกติกินกันในบ้าน พลอยโพยมจะได้กินจาก บ้านพี่อุทัยวรรณ กุลสตรีศรีบางกรูด บ้านพี่อัมพร วงศ์พยัคฆ์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกปี แต่ก็เรียกได้ว่ามีความคุ้นเคยกับรสชาติ หน้าตาของรากสามสิบแช่อื่ม อย่างดี แล้วก็กังขาว่าบ้านพลอยโพยมเอง จำได้ว่าไม่เคยทำเลย แม่ละม่อมก็ไม่อยู่ไขข้อข้องใจให้ แต่คุณน้า นายแพทย์วิจิตร พัวพันธุ์ บอกว่า บ้านเราก็ทำบ่อย ๆ ในช่วงที่บ้านมีสาว ๆ เยอะ นับแต่ ป้าละออ อุดมพงษ์ แม่ละม่อม สงวนสัตย์ น้าเอนก น้าอนันท์ น้าอนงค์ น้าสุภาพ (เจริญวงษ์) แค่นี้ ก็หกสาว แล้วไม่รวมผู้ใหญ่ เช่นคุณยายสองท่านในสมัยน้า ( นายแพทย๋วิจิตร ยังไม่เข้าไปเรียนชั้นมัธยมปลาย ในกรุงเทพ ฯ ) คุณน้าบอกว่า น้าคุ้นเคยกับรากสามสิบแช่อิ่มดี แต่น้าเป็นผู้ชาย เห็นแต่บรรดา พี่สาวเหล่านี้นั่งลอกเปลือก ดึงไส้ รากของต้นรากสามสิบ ก็รอกินอย่างเดียว ทำนานหลายวันกว่าจะได้กิน





เมื่อพลอยโพยมจะริเริ่มรื้อฟื้นรากสามสิบแช่อิ่ม ในคราวโรงเรียนดัดดรุณีจะรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พลอยโพยมก็เริ่มต้นถามจากบรรดา พี่สาวรุ่นใหญ่ของตนเองคือลูกสาวคุณป้าละออ ที่มาอยู่บ้านริมแม่น้ำที่บางกรูด หลายคน พี่ ๆ บอกว่าทำไม่เป็น ไปถามทายาทพี่อุทัยวรรณ น้องต้องใจซึ่งมีอายุห่างกับพลอยโพยม สิบปี ตอบว่า รุ่นของต้องใจ แม่เลิกทำแล้ว ไปถามทายาท พี่อัมพร น้องนฤมล บอกว่า ไม่เคยหัดทำถ่ายทอดวิชาของแม่เรื่องนี้ไว้ ไปถาม น้องพันทิพา บุตรสาวน้าทวี วิไลพันธ์ ก็คือคำตอบเหมือนกับสองบ้าน





รู้สึกว่า เอทำไมไม่มีใครฝึกไว้หนอ สืบไปมา ก็ได้ความว่าคุณน้าประนอม วัฒนสินธุ์ ยังทำให้หลาน ๆ กินอยู่ไม่สักกี่ปีมานี้เอง และเคยทำไปแสดงงานเกี่ยวกับผลงานของชุมชนต่าง ๆ ด้วย พลอยโพยม ก็หมายใจไปหาท่าน ทั้งนี้หลานชายคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่ทำงานธนาคารตั้งแต่ยังเป็นธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา เพื่อนบอกว่าตอนนี้ อี๊นอม ข้อมือไม่ดี ถ้าอี๊ทำให้ก็ไม่ชอบให้คนอื่นมาวุ่นวายในการทำ ขนาดทำให้ลูกหลานในบ้านกิน อี๊ ก็ทำคนเดียว ลูก ๆ หลาน ๆ ไปขุดรากสามสิบมาเท่านั้นพอ หลังจากนั้นก็รอกินอย่างเดียว ต้องขอบคุณ คุณครูประโยชน์ เกษมวงศ์จิตร ที่เป็นธุระไปขอร้อง คุณน้าประนอม จนท่านยอมรับจะทำสำหรับนำทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่ก็นับว่างานเข้า พลอยโพยมแล้ว เพราะจะต้องถ่ายภาพการทำโดยนักเรียนเป็นผู้ทำเพื่อติดเป็นภาพในนิทรรศการด้วย และหากถูกถามเด็ก ๆ จะต้องกราบบังคมทูล วิธีทำได้

เมื่อเป็นผู้หญิงเรี่ยวแรงน้อย ยกจอบอันใหญ่ ๆจ้วงขุดดินไม่ไหว ก็ต้อง ค่อย ๆ แซะหารากของต้นรากสามสิบดังภาพ

พลอยโพยม ก็ถามไถ่ไปอีกหลายบ้าน ทั้งคำบอกต่อว่า คนโน้นคนนี้ บ้านโน้นบ้านนี้เคยทำกันมา เช่นกำนันสมภพ วงศ์พยัคฆ์ และอีกหลายบ้าน จนอ่อนระอาใจ แต่ในที่สุดก็ได้ข้อพิสูจน์ว่าไม่มีอะไรเกินความพยายามหากเราตั้งใจจริง โดยเฉพาะ เรื่อง ดี ๆ ประเภท ทำเรื่องชอบประกอบด้วยธรรม



ในที่สุดพลอยโพยมก็ได้อาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้แบบหมดเปลือก ทั้งข้อปลีกย่อยที่เรียกว่าเคล็ดลับวิชาการทำรากสามสิบแช่อิ่ม จาก พลอากาศโท สุเทพ นาคะพงศ์ พี่ชายของพีสุกัลยานั่นเอง หลังจากจดบันทึกถ้อยคำสอนแล้ว พลอยโพยมก็เริ่มต้นฝึกทำ เอาการบ้านไปส่งพี่สุกัลยา ซึ่งพลอากาศโท สุเทพ บอกว่า พี่ก็เรียนต่อมาจากสุกัลยานั่นแหละเขาอยู่กับแม่ถ่ายทอดจดจำมาจากแม่ได้หมด มันเป็นการรื้อฟื้นความหลังที่พี่สองคนเล่าไปสอนไป รำลึกถึงคุณแม่สงวนวงษ์ นาคะพงศ่ ไป การบ้านที่เอาไปส่ง ผ่านการตรวจสอบ ทุกขั้น จนเสร็จสำเร็จออกมาเป็นรากสามสิบที่สามารถนำไปวางโชว์ในนิทรรศการได้ และพลอยโพยมก็สามารถนำวิธีการไปสอนต่อน้องนักเรียนให้ฝึกหัดทำ จนผ่านงานรับเสด็จไปด้วยดี ส่วนรากสามสิบแช่อิ่มชุดของคุณน้าประนอม ทูลเกล้า ฯ ถวาย รวมในกระเช้าอีกหลายอย่าง




การหาวัตถุดิบรากสามสิบส่วนหนึ่งได้จากสวนของพี่สุกัลยานั่นเอง แต่ไม่เพียงพองานนี้ต้องไปขุดมาจากบริเวณป่าจังหวัดเพชรบุรี



รากสามสิบแก่ขนาดนี้ไม่สามารถนำมาทำรากสามสิบแช่อิ่มได้แล้ว

นอกจากนี้ยังได้ทำชุดใหม่ออกงาน บางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒ ตอนบ้านโพธิ์ บ้านเราบ้านแสนสุข ทำเป็นของฝากผู้ใหญ่คนสำคัญของครอบครัวพลอยโพยม และรายการภัตตาคารบ้านทุ่งมาถ่ายทำวิธีการทำ ซึ่งพลอยโพยมได้เชิญ พลอากาศโท สุเทพ นาคะพงศ์ มาเป็นผู้ทำในรายการแต่ท่านปฏิเสธเพราะสุขภาพไม่สู้ดี เวียนเข้าออกโรงพยาบาลตามหมอนัด ส่วนพี่สุกัลยามอบหมายให้พลอยโพยม ออกรายการแทน


พลอยโพยมต้องตระเตรียมทำรากสามสิบสำหรับออกรายการ หลายชุด เพื่อให้สามารถอธิบายขั้นตอนการทำรากสามสิบแช่อิ่ม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการแต่ต้นจนจบ คือรับประทานได้นั่นเอง



เมื่อได้วิชาความรู้มา พลอยโพยมก็ขอนำมาถ่ายทอดต่อ เพื่อเป็นการสืบสานตำนานเรื่องการกินของบ้านชาวสวนตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา



กระบวนการทำรากสามสิบแช่อิ่ม

๑.นำรากสามสิบมาคัดเลือกรากที่ต้องการ




๒.นำไปล้างให้สะอาด แล้วนำลงต้ม จนสามารถลอกเปลือกออกได้





๓..ลอกเปลือกให้หมด




๔.ดึงไส้ออกหมดไม่มีเศษหลงเหลือ







๕. นำรากสามสิบลงแช่ในน้ำต้มที่ปล่อยให้เย็นแล้ว ทิ้งค้างคืน
รุ่งขึ้น เปลี่ยนน้ำแช่รากสามสิบใหม่(น้ำต้มสุกเย็นแล้ว) ทิ้งค้างคืนอีก
เปลี่ยนถ่ายน้ำเช่นนี้๓-๔ ครั้ง เพื่อให้รากสามสิบคลายความขมเฝื่อน
ทดลองขิมรากสามสิบว่ามีรสจืดสนิทไม่มีรสขมแล้วจึงเลิกการเปลี่ยนถ่ายน้ำ

๖.ทำน้ำเชื่อมอย่างอ่อน (น้ำ ๑,๐๐๐ มิลลิลิตร น้ำตาลทราย ครึ่งกิโลกรัม)



๗. เมื่อน้ำเชื่อมเย็น นำรากสามสิบลงแช่ในน้ำเชื่อม ทิ้งค้างคืน




๘.ทำน้ำเชื่อมให้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยนำน้ำเชื่อมเก่าอุ่นไฟ เพิ่มน้ำตาลทุกครั้ง รอน้ำเชื่อมเย็นจึงแช่รากสามสิบลงในน้ำเชื่อม ทำเช่นนี้ประมาณ ๓- ๔ วัน จนรากสามสิบหวาน กรอบได้ที่ แล้วปล่อยให้รากสามสิบแช่ในน้ำเชื่อม นำเข้าตู้เย็น นำมารับประทานได้
วิธีการนี้เรียกว่าการทำแช่อิ่ม





ซึ่งในหนังสือพรรณพฤกษา สัตวาพิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์ ชื่อรากสามสิบ เป็นกาพย์ยานี ๑๑ ในหมู่ไม้ในแม่กม ว่า

ดูหลากรากสามสิบ เมื่อดิบดิบขมสิ้นที
น้ำเชื่อมแช่อิ่มสี เป็นเงาปลาบทราบซึมหวาน


ซึ่งในประวัติของพระยาศรีสุุทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )ท่านเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๔ ปี รวมบรรพชา ๘ ปี และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ อีก ๑๑ ปี ท่านคงคุ้นเคยกับรากสามสิบแช่อิ่ม แต่ครั้งยังบรรพชาและอุปสมบท ละกระมัง (เป็นข้อสันนิษฐานส่วนตัวของพลอยโพยมเอง ) เพราะหลังจากลาสิกขาบทแล้วได้ไปพักอาศัยอยู่ที่วังพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ ซึ่งคุ้นเคยกันในครั้งที่บวชเป็นภิกษุ ต่อมาเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงค์ หรือเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดีในขณะนั้น ได้นำท่านเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก เป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในเวรศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอมคล่องแคล่ว ต้องตามพระราชอัธยาศัยทุกประการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น