วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วารวัน....กับต้นรากสามสิบ


   ดอกต้นรากสามสิบ


ต้นรากสามสิบ เป็นพืชประจำสวนของเมืองฉะเชิงเทรา เป็นพืชที่ทนแล้งมากไม่ต้องรดนำพรวนดินก็สามารถเจริญเติบโตอยู่ภายในสวนได้ ในสมัยที่เป็นเด็ก ๆ ยังอาศัยอยู่กับคุณยายที่บ้านริมน้ำตำบลบางกรูดอำเภอบ้านโพธิ์ ซึ่งหลานยายหลานย่า แม้แต่เหลน ๆ เรียกท่านว่ายายขาหรือชวดขา นั้น เด็ก ๆ จะต้องลงไปเก็บหญ้าในสวน เสาร์เว้นเสาร์ โดยวิธีการแบ่งร่องสวนคนละร่องสวน บางคนต้องเก็บคันรอบสวนซึ่งจะมีพื้นที่กว้างยาวกว่าร่องสวนธรรมดา คันรอบสวนนี้โอบล้อมร่องสวนทั้งสี่ด้าน กลางร่องสวนจะเป็นพืชพันธุ์ผลไม้ต่าง ๆ นานา เช่น มะม่วงหลากพันธุ์ มะปรางเปรี้ยวหวาน ขนุน ละมุด มะละกอ และอื่น ๆ หรือบางร่องปลูกพริกขี้หนู กระเพรา โหระพา ครึ่งร่องสวน



       
                     คันรอบร่องสวน

สำหรับต้นกล้วยจะมีมากในทุกร่องสวนปลูกตามพื้นที่ว่างเหลือจากไม้ยืนต้นอื่น (ผลไม้ ) ต้นกล้วยก็จะปะปนไปด้วยต้นเท้ายายม่อมขึ้นกระจายเป็นกอ ๆ บางส่วนคือกระชาย ดังนั้นพื้นที่กลางร่องสวนจึงไม่มีที่ว่างสำหรับต้นรากสามสิบนักเพราะที่เหลือก็เป็นเพียงทางเดินเท่านั้น ริมร่องสวนจะปลูกหมากทั้งสองด้านทุกร่อง เว้นระยะห่างพอ ๆ กัน สิ่งที่จะขึ้นตามริมร่องสวนก็คือต้นรากสามสิบและผักกระเฉดบก (หมายถึงผักกระเฉดที่ปลูกในร่องสวนที่เก็บน้ำ ต่อมาผักกระเฉดไต่เลื้อยขึ้นมาบนริมขอบร่องสวน และแผ่กระจายเป็นกออยู่บนริมร่องสวน นั่นเอง ) ผักกระเฉดบกก็จะแบ่งพื้นที่กับต้นรากสามสิบ บางกอก็ก่ายเกยกันโดยต้นผักกระเฉดบกทอดนอนไปตามพื้นดิน เวลาต้องการผักกระเฉดบกก็ต้องสอดมือไปใต้กอรากสามสิบเด็ดผักกระเฉดขึ้นมา

 
   ต้นเท้ายายม่อม และกล้วยมักจะปลูกปะปนกัน


   ชาวสวน(เบญจพรรณ) มักนิยมปลูกต้นหมากไว้ริมร่องสวน
 
 
                    ต้นรากสามสิบมักอยู่ตามริมร่องสวน

โดยปกติต้นรากสามสิบก็ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญใจให้พวกเด็ก ๆ นัก การแผ่ขยายกิ่งใบของรากสามสิบก็มีส่วนดีที่ไม่มีหญ้าขึ้นในแถบนั้น ยกเว้นว่าหญ้าจะขึ้นตามชายร่องสวนซึ่งไม่ได้ตั้งชัน แต่เป็นชายร่องที่ลาดชัน และเป็นที่เติบโตของวัชพืชรวมเรียกว่าหญ้า ต้นกูดเขากวาง (เฟิร๋นชนิดหนึ่ง) ซึ่งลำต้นอวบน้ำถอนทิ้งได้ง่าย และน่าจะเป็นวัชพืชที่เด็กๆ ออกจะพอใจชอบใจอยู่ กว่าวัขพืชอื่น



                    ต้นกูดเขากวาง
แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง ต้นรากสามสิบ หลังจากให้ผลลูกรากสามสิบ เมื่อผลสุกก็หล่นที่พื้นสวนใต้กอรากสามสิบบ้าง ถูก นกกิน และไปถ่ายมูลนกแพร่พันธุ์ต้นรากสามสิบให้เจ้าของสวนและสวนใกล้เคียง เมื่อผลวายหมดแล้ว ใบฝอย ๆ ของต้นรากสามสิบก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากใบสีเขียวเป็นเหลือง และค่อย ๆ หลุดร่วงลงหมด เมื่อ หมดฝน ต้นหนาว และหมดหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ต้นรากสามสิ จะเหลือเป็นลำต้นปนลำกิ่งแห้ง ๆ แผ่ขยายกิ่งรอบกอ และมีหนามเล็ก ๆ มากมายตามลำกิ่งก้าน





 รากสามสิบในฤดูแล้ง

ในช่วงเวลาที่ต้องสอยหมากลงมาจากต้นจะพบอุปสรรคสำคัญของคนที่จับมุมกระสอบรับทะลายหมากที่ถูกกระชากดึงลงมา บางครั้งทะลายหมากก็ไม่หล่นลงมาตามทิศทางที่ตั้งรับด้วยกระสอบ (กระสอบใส่ข้าวและเป็นกระสอบป่าน) พลพรรคคนถือสี่มุมกระสอบ เนื่องจากคนถือมุมกระกอบก็เป็นล้วนเป็นเด็ก ๆ ทั้งนั้นจึงต้องจับมุมกระสอบมุมละหนึ่งคน เพราะหมากอยู่สูงเมื่อทิ้งตัวลงมาจากที่สูง ก็มีแรงกระแทกแรง บางครั้งก็เป็นหมากทะลายใหญ่ ๆ ด้วย คนจับกระสอบต้องแหงนเงยมองทะลายหมากและต้องเอี้ยวกระสอบรอรับทะลายหมากที่ผ่านการคำณวนแล้วว่าทะลายหมากจะหล่นลงกระสอบแน่นอน มีหลายครั้งโชคไม่ดี เขยิบที่ยืนให้เหมาะเหม๋งขยับ ซ้ายขวา หน้าหลัง ไป ๆ มา ๆ  ก็เข้าไปใกล้กอรากสามสิบ ฤดูอื่นก็ไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเป็นฤดูแล้ง ต้นรากสามสิบ ก็เป็นพิษภัยสำหรับเด็ก ๆ หากความโชคร้ายบังเกิดกับคนที่ถูกหนามรากสามสิบเกี่ยว หรือตำเอา แม้จะเป็นหนามเล็ก ๆ แต่ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับเด็ก ๆ เพราะสมัยนั้นเราเดินเท้าเปล่าไปไหน ๆ กัน (แม้แต่ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน คือโรงเรียนวัดผาณิตาราม ) เป๋็นความเจ็บปวดชนิดต้องจดจำกันไว้นาน ขยาดแหยงกับต้นรากสามสิบจนเด็ก ๆ รุ่นนี้เติบโด เป็นผู้ใหญ่ แค้นนี้ก็ต้องชำระ ความจำในวัยเด็กทำให้คนพากันฟันต้นรากสามสิบทิ้งอย่างไม่อาลัยไยดี แถมบางคนใช้เสียมหรือพลั่วขุดรากถอนโคนต้นรากสามสิบขึ้นมา ทั้งที่บางบ้านเลิกทำสวนแล้ว เปลี่ยนเป็นบ่อกุุ้งบ่แปลา มีต้นรากสามสิบขึ้นประปราะบนคันบ่อพบเมื่อไรก็รีบกำจัดเสียสิ้น เพราะความแค้นฝังใจและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นรากสามสิบแล้ว


                            การสอยหม่าก ในปัจจุบัน
      ขอขอบคุณภาพจากคุณยุ้ย ทีมงานบางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต

(ภาพนี้เนื่องจากคนรับทะลายหมากเป็นสุภาพบุรุษ จึงสามารถใช้แค่สองคนจับมุมกระสอบสองมือสองมุมได้ แต่หากนึกถีงเด็ก ๆ  วัย เรียนชั้นประถม จึงต้องใช้แรงงานเด็กถึง สี่คน)


 
    ผลรากสามสิบที่ไดระยะเวลานำมาปรุงเป็นแกงคั่ว อร่อย ไม่อ่อน แก่  เรียกว่ากำลังดี


อนึ่งในช่วงที่ต้นรากสามสิบให้ผลในระยะยี่สิบกว่าวันหลังออกดอกและเกิดเป็นผลแล้ว ไม่ถึงเดือน  บางครั้งพวกผู้ใหญ่ ก็จะเก็บผลรากสามสิบเอามาทำแกงคั่วกับปูทะเล การไปขุดปูทะเลนับเป็นของง่าย ๆ ของเด็กผู้ชายเพราะปูทะเลมีทั้งในท้องร่องสวน ริมคลองใกล้บ้าน ถ้าเป็นปูทะเลตัวใหญ่ เด็ก ๆ จะขอให้ผู้ใหญ่ไม่ทุบก้ามใหญ่เพื่อจะนำก้ามใหญ่มาแขวนเป็นกระดิ่ง กรุ๋งกร๋ง เวลาลมโชยพัด แถว ๆ นอกชานบ้าน เมนูที่เด็ก ๆ ชอบ คือปูทะเลผัด 



  ปูทะเลที่นำก้ามใหญ่ไปทพหระดิ่งแขวนได้

ครั้นเมื่อนำปูทะเลตัวเอ้แบบนี้มาแกงคั่วกับลูกรากสามสิบ  ความขมของลูกรากสามสิบที่ไม่มีเด็กคนใดชอบหากจะเทียบรสชาติกับปูทะเลผัดธรรมดากับไข่และต้นหอม   จึงทำให้เมนูแกงคั่วลูกรากสามสิบที่ผู้ใหญ่ยอมลำบ่ากเก็บลูกสามสิบมาจากต้นแม้คนปรุงจะมีฝีมือรสเลิศปานใดเด็ก ๆ ก็หาใส่ใจไม่ กินกันแบบ กินไปบ่นไปว่า ไม่อร่อยเลยแม่จ๋า น้าจ๋า การปรุงแกงคั่วปูทะเลใ่ลูกรากสามสิบ กับ การผัดปูทะเล นั้น ขั้นตอนและความยากง่ายต่างกันมาก ดังนั้นเมนูแกงคัวลูกสามสิบปูทะเลก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากครัวที่บ้านของพลอยโพยม เพราะความเตตาของผู้ใหญ่มีให้เด็ก ๆ นั่นเอง รวมทั้ง ต้นรากสามสิบเองก็ค่อย ๆ ลับหายไปจากสวนในยุคเด็ก ๆ รุ่นนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ครอบครองสวนต่อมา


ส่วนผลสุกรากสามสิบที่ร่วงหล่นรายกระจายทั่วพื้นสวนแบบนี้ก็จะมี ทูตเจริญพันธุ์พืช มาดำเนินการนำพาส่งออกไปขยายพันธ์ุ  โดยไม่ต้องมีรายการสั่ง (ออร๋เดอร๋์ )แต่ก็พร้อมส่ง  (โดยไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากของกระบวนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ) ทำให้รากสามสิบได้มีโอกาสไปแพร่พันธุ์  ดำรงพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไป (หมายถึงสถานที่ใกล้เคียง)

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รากสามสิบ สาวร้อยผัว





ในด้านสมุนไพร ยาโบราณจะระบุว่า จะมีผู้เรียกรากสามสิบว่า สาวร้อยผัว เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี จึงมีชื่อว่า สาวร้อยผัว กล่าวคือไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังสามารถมีลูกมีผัวได้ โดยจะใช้รากมาต้มกิน หรือปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง แต่ชื่อสาวร้อยผัวในปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว ยกเว้นลูกหลานหมอยาบางคนที่เคยได้ยินปู่ที่เป็นหมอยาและพ่อพูดถึงต้นนี้อยู่ แต่หลังจากที่ผู้คนหันมาสนใจสมุนไพร ทำให้ชื่อของสมุนไพร สาวร้อยผัว ได้กลับมาเป็นที่รู้จัก



สาวร้อยผัว มักจะรู้จักในชื่อที่ต่างกันไปในแต่ละภาค ภาคกลางมักจะเรียกว่า รากสามสิบ หรือสามร้อยราก ซึ่งในส่วนของภาคกลางมีของหวานที่ชื่อว่า “รากสามสิบแช่อิ่ม” ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า ผักชีช้าง ส่วนภาคใต้รับประทานเป็นผักเช่นกันเรียกว่า ผักหนาม เพราะลำต้นมีหนามรับประทานเป็นผัก ใช้ยอดอ่อน ผลอ่อน หน่ออ่อน (ซึ่งพืชชนิดนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกับหน่อไม้ฝรั่ง) โดยรับประทานสดๆ ต้ม แกงส้ม แกงกะทิ เป็นต้น


สาวร้อยผัว จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีรากเป็นกระจุกมากมาย (คล้ายรากของกระชาย) ต้นหรือเถาแรกออกจะโผล่แต่เถากลาง (เถาหลัก) ขึ้นไปในอากาศ ตามเถาจะมีหนามงุ้มลงเป็นระยะ ๆ (แต่ละข้อ) หลังจากนั้น ก็จะมีกิ่งแขนงโผล่ขึ้นมาจากเถาหลักดังกล่าวในแต่ละข้อ ส่วนใบก็จะออกรอบ ๆ กิ่งแขนง (ตามข้อ) ลักษณะของใบจะเป็นคล้าย ๆ เข็มเล่มเล็ก ๆ เป็นใบเดียวบ้าง เป็นกระจุกบ้าง บางกระจุกมีมากถึง ๘-๙  เส้น เมื่อใบออกเต็มที่จะมีสีเขียว เป็นพวงรอบกิ่งแขนง มองดูคล้ายพวงหางกระรอก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะออกดอกสีขาวให้ชม (ราวกันยายน – ตุลาคม) ผลกลม มี ๓ พู และมีเมล็ดอยู่ภายในพูนั้น ฉะนั้น จึงสามารถขยายพันธุ์ได้ ทั้งปลูกด้วยเมล็ดและใช้เหง้าหรือหน่อ


และยังมีพืชตระกูลเดียวกันมีลักษณะใกล้เคียงกันมากกับรากสามสิบมีชื่อพฤกษ ศาสตร์ว่า Asparagus filicinus Buch.-Ham. บางท้องที่เรียกรากสามสิบ ต้นนี้ทางเหนือเรียก “ม้าสามต๋อน” ใช้เป็นยาดองเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย ซึ่งทั้งสองชนิดมีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตเหมือนกัน คือ Satavari จึงมีสรรพคุณทางยาคล้ายๆ กัน นอกจากรับประทานเป็นผักแล้วรากของสมุนไพรชนิดนี้ยังสามารถนำมาทุบหรือขูดกับน้ำเพื่อใช้ซักเสื้อผ้าได้อีกด้วย



ในอินเดียมีการเรียกสมุนไพรชนิดนี้คล้ายกับเมืองไทย โดยในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ศตาวรี (Shatavaree) มีความหมายว่า ต้นไม้ที่มีรากหนึ่งร้อยราก หรือบางตำราบอกว่าหมายถึงผู้หญิงที่มีร้อยสามี “Satavari (this is an Indian word meaning 'a woman who has a hundred husbands')” สมุนไพรชนิดนี้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีมาก่อนอายุรเวทด้วยซ้ำ จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มีการใช้มานานหลายพันปีแล้ว และในอินเดียใช้รากสามสิบทำเป็นของหวานเช่นเดียวกับเมืองไทย




รากสามสิบ เป็นสมุนไพรที่ใช้มากที่สุดในอินเดียชนิดหนึ่ง ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ อินเดียใช้สมุนไพรชนิดนี้ถึง ๘,๔๖๐ ตัน เป็นอันดับสองรองจากมะขามป้อมที่ใช้อยู่ที่ ๑๕,๑๔๗ ตัน ปัจจุบันมีสารสกัดด้วยน้ำของรากสามสิบจากอินเดีย ไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ในลักษณะเป็น Dietary supplement กล่าวคือ สามารถขายได้ทั่วไปอย่างอิสระไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์



ใน ตำราอายุรเวทใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรหลักสำหรับบำรุงในผู้หญิง ในการทำให้ผู้หญิงกลับมาเป็นสาว (Female rejuvenation) และนอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ของผู้หญิง เช่น ภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ภาวะมีบุตรยาก ตกขาว ภาวะหมดอารมณ์ทางเพศ ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) บำรุงน้ำนม บำรุงครรภ์ ป้องกันการแท้ง (Habitual abortion)





นอกจากจะใช้สมุนไพรชนิดนี้สำหรับผู้หญิงแล้ว ในอินเดียยังใช้ในการเพิ่มพลังทางเพศให้กับผู้ชายอีกด้วย ซึ่งก็คล้ายกับทางภาคเหนือของไทยที่ใช้สมุนไพร ม้าสามต๋อน เป็นยาดองเพื่อเพิ่มพลังทางเพศ นอกจากนี้รากสามสิบยังถือว่าเป็นสมุนไพรแห่งการฟื้นฟูพลังชีวิต เหมาะกับผู้สูงอายุที่ท้อแท้ ซึมเศร้าหมดอาลัยตายอยากในชีวิต โดยคั้นน้ำสดๆ รับประทานกับน้ำผึ้ง ในปัจจุบันในบางพื้นที่ยังนำรากสามสิบสดเคี้ยวกินเล่นเพื่อบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่ป่วย ส่วนในอินเดียมักนิยมรับประทานน้ำคั้นสดกับนม ต้มน้ำคั้นสดกับนมหรือผงแห้งกับเนย และในอินเดียยังใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาอื่นๆ อีกมาก เช่น ยาแก้ไอ ยารักษาโรคกระเพาะ ยาแก้บิด แก้ไข้ แก้อักเสบ






รากสามสิบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา คลายกล้ามเนื้อมดลูกสตรี บำรุงหัวใจ แก้อาการอักเสบ แก้ปวด มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเบาหวาน ต้านอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ ลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับและปอดดี




ราก “สามสิบ” ต้มน้ำดื่ม หรือตำผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินเป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า ราก “สามสิบ” เป็นสมุนไพรหลักสำหรับบำรุงสตรี ทำให้ เป็นสาวตลอด ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ชายเห็นชายชอบ สามีรักสามีหลง จึงมีชื่อเรียกอีกว่าต้น “สามร้อยผัว” รสชาติของรากที่ต้มจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นโสมชวนรับประทานยิ่งนัก นอกจากนั้น ยังช่วยแก้ประจำเดือนสตรีมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ภาวะมีบุตรยาก ตกขาว แก้หมดอารมณ์ทางเพศหลังหมดประจำเดือน บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอด บำรุงครรภ์ และ ป้องกันการแท้งลูกดีมาก



สำหรับบุรุษ เอารากสดหรือตากแห้งดองกับเหล้าขาว ๔๐  ดีกรี จนยาออกดื่มครั้งละ ๑ แก้วเป๊ก ก่อนอาหารเช้ากลางวันเย็นและก่อนนอน เป็นยาบำรุงร่างกายทำให้แข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายๆ และยังบำรุงปอด ตับ ลดน้ำตาลในเลือด หรือ ลดเบาหวาน แก้โรคคอพอกได้อีกด้วย




ข้อควรระวัง
เนื่อง จากสมุนไพรชนิดนี้หายไปจากสังคมมานาน การที่จะนำมาใช้เป็นยาอีกครั้งควรระวัง เพราะเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงห้ามใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น ท่านที่เป็นโรค Uterine fribrosis หรือ Fibrocystic breast





สำหรับต้นรากสามสิบสามารถรับประทานสดๆ โดยใช้ยอดอ่อนต้ม แกงส้ม แกงกะทิ
ผล นำมาแกงกับกะทิ
รากทำเป็นของหวานคือรากสามสิบแช่อิ่ม


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Asparagus_racemosus
นิตยสาร เทคโนโลยีชาวบ้าน
http://saoraiphua.blogspot.com/
http://thrai.sci.ku.ac.th/node/942
http://www.thairath.co.th/column/edu/paperagriculturist/274845

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ต้นรากสามสิบ


ต้นรากสามสิบ



ต้นรากสามสิบนี้ คนนิยมเรียกเป็นต้นสามสิบ หากไปค้นหาในพจนานุกรม จะพบคำแปลรากสามสิบว่า

รากสามสิบ น.ชื่อไม้เถาชนิด Asparagus racemosus Willd.ในวงศ์ Asparagaceae เถามีหนาม ใบเป็นใบฝอยเรียงรอบกิ่ง รากอวบใช้ทำยาและแช่อิ่มได้ พายัพเรียก จ๋วงเครือ หรือจั่นดิน

สำหรับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นรากสามสิบมีดังนี้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asparagus racemosus Willd.

วงศ์ : Asparagaceae

ชื่ออื่น : จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ) เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ผักชีช้าง (หนองคาย) ผักหนาม (นครราชสีมา) พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) สามร้อยราก (กาญจนบุรี)





ต้น
เป็น ไม้เลื้อย ปีนป่ายขึ้นที่ต้นไม้ข้างเคียงด้วยหนาม หนามเปลี่ยนมาจากใบเกล็ดบริเวณข้อ หนามโค้งกลับ ยาว   ๑-๔   มม. ลำต้นสีขาวแกมเหลือง ต้นกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง  ๒-๕  มม. ปีนป่ายขึ้นได้สูงถึง ๕   เมตร แตก แขนงเป็นเถาห่างๆ บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อและกิ่งนี้เปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบน รูปขอบขนาน กว้าง    ๐.๕   - ๑  มม. ยาว  ๐.๕ - ๒.๕    มม. ปลายแหลม ทำหน้าที่แทนใบ (cladophyll) ลำต้นผิวเรียบ ลื่นเป็นมัน


หนามของรากสามสิบ



ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ ใบเป็นเกล็ด รูปสามเหลี่ยม ฐานกว้าง  ๐๕   -  ๔  มม. ยาว  ๑-๔   มม.     ใบเกล็ดมี อายุสั้นๆต่อมาแข็งขึ้นและเปลี่ยนเป็นหนามโค้งกลับ(recurved)




ภาพนี้เพื่อแสดงใบเกล็ดสั้น ๆ ของต้นรากสามสิบที่จะเปลี่ยนเป็นหนามโค้งกลับ  เป็นพัฒนาจากใบภาพบน

ดอก










ดอก
เป็นดอกช่อ raceme เกิดที่ซอกกิ่ง (cladophyll) ก้านช่อดอกยาว  ๓- ๑๕   มม. ดอกย่อย เส้นผ่าศูนย์ กลางดอกบาน  ๓-๔   มม. ก้านดอกย่อยยาว ๒-๓   มม. กลีบ (tepals)   ๖  กลีบ สีขาว แยกกันเป็น  ๒  วง วงนอก  ๓   กลีบ วง ใน ๓   กลีบ กลีบกว้าง  ๐.๕  - ๑  มม. ยาว   ๒. ๕ - ๓.๕  มม. กลีบรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน ขอบเรียบ เกสรเพศผู้ จำนวน  ๖   อัน มาก เรียงตัวตรงข้ามกับกลีบ ก้านชูอับเรณูยาวขนานกับกลีบ ก้านชูอับเรณูลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ สีขาวแกมเหลือง ยาว   ๒- ๒.๕   มม. อับเรณูสีน้ำตาลอ่อน ยาว  ๐๓- ๐๕ .3  มม. เกสรเพศเมีย  ๑  อัน รังไข่ superior ovary สีเขียวแกมเหลือง ลักษณะทรงกลม 3 พู เส้นผ่าศูนย์กลางรังไข่   ๑ -๑.๕    มม. ก้านเกสรตัวเมีย  ๑   อัน ยาว   ๐. ๕   มม. ยอดเกสรตัวเมีย แยกเป็น  ๓  แฉก

จากดอกตูม และเป็นดอกบาน จะมีปลายเกสรดอกออกเป็นสีชมพู






พอตกบ่าย ปลายสีชมพูก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล








ผลและเมล็ด ผลสด berry สีแดง หรือแดงงอมม่วง เส้นผ่าศูนย์กลาง   ๕- ๘  5 มม.










ส่วนที่ใช้ : ราก




สรรพคุณ :
มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ หล่อลื่นและกระตุ้น
มีรสเย็น หวานชุ่ม บำรุงเด็กในครรภ์ บำรุงตับปอดให้เกิดกำลังเป็นปกติ
วิธีใช้ :
นำรากมา ต้ม, เชื่อม หรือทำแช่อิ่ม รับประทานเป็นอาหาร กรอบดีมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_12_4.htm