วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒ ตอน บ้านเรา บ้านโพธิ์ บ้านแสนสุข ตอนที่ ๒






นิทรรศการมีชีวิต






แล้วก็ได้เวลาเปิดงาน หลังจากมีพิธิกรมาจับไมค์



ซ้อมเพลงมาหลายเที่ยวแล้ว ได้เวลาร้องจริงละ
“แม่น้ำบางปะกงที่ใสสะอาด
มีปลามากมาย มีต้นไม้ เรือผีหลอก
ลมเย็น ๆ น้ำใส ๆ ทำให้เราสุขใจ...”

แต่งเองร้องเองเพื่อ แม่น้ำของเรา






หลังจากนั้นท่านปลัดอำเภอบ้านโพธิ์ คุณสายสิญจน์ วงษ์ชะอุ่มกล่าวเปิดงานบางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒ บ้านเรา บ้านโพธิ์ บ้านแสนสุข





ศึกษานิเทศก์เปี่ยมจิต  ประชาสัมพันธ์ชมรมลำพูบ้านโพธิ์ กล่าวขอบคุณท่านปลัดอำเภอสายสิญจน์ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน บางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒  บ้านเรา บ้านโพธิ์ บ้านแสนสุข

แล้วเชิญ ศึกษาธิการสมนึก ประธานชมรมลำพูบ้านโพธิ์  มอบของที่ระลึกให้ท่านปลัดสายสิญจน์  และเชิญท่านปลัดเข้าสู่รายการบางปะกงชวนชิม





ใต้ร่มไทรใหญ่เริ่มครึกครื้นกับบรรยกาศ ถามไปชิมไป   ชิมไปชมไป    ชิมไปชอบใจไป ( มิใช่ชิมไปบ่นไป ดังรายการของท่านนายกสมัคร สุนทรเวช )
ทั้งโต๊ะอาหารหลัก (เชิญกินตามใจชอบ) โต๊ะอาหารบางปะกงชวนชิม ซึ่งมีมากมายหลายชนิด ผู้มาร่วมงานก็เวียนเข้าเวียนออกตักอาหาร ถูกใจหม้อไหน อย่างไหนก็เวียนมารอบสอง รอบสามได้ตามอัธยาศัย

คำถามที่คล้ายกันคือ นี่เรียกว่าอะไร กินได้เหรอเพิ่งรู้ ทำอย่างไร เมื่อถามมาก็ตอบไป ฟังคำตอบแล้วก็ตักไป เดินไปกินไป สบายอารมณ์ ชื่นชมกับธรรมชาติ ชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง

ฝั่งชายน้ำบางปะกง ...ยามแสงอาทิตย์อัสดง..ใกล้จะค่ำลงแล้วหนา   แต่บางปะกง นั้นยังคงสวยงามตา คราใกล้สนธยา  ยิ่งพาให้ใจสุขสันต์...
แดดจวนลับลงรำไร......
สุขสันต์หรรษา  กับธรรมชาติ และโภชนาอาหาร

กระหายน้ำ ก็มีน้ำดื่มให้เลือกหลายชนิดตามใจชอบ ทั้งน้ำเปล่า น้ำตะไคร้ น้ำอัญชันผสมมะนาว  น้ำฝาง
ที่สำคัญ ฟรีทุกอย่าง ยกเว้นซื้อกะปิลุงสายยันกลับบ้าน





ตะวันคล้อย  ลอยเคลื่อน  เย็นเยือนหล้า
ท้องนภา  เมฆหม่น  แต่ยลสวย
สุพรรณสาย  ฉายไม่แรง  แสงระทวย   (อ่อน ,อ่อนกำลัง )
เหมือนกับช่วย  ชาวบ้านโพธิ์ โอ้ขอบคุณ

แสงตะวันฉายฉาน ที่สะพานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)



ริ้้วคลื่นบนผืนน้ำบางปะกง  คงกำลังเตรียมส่งเสียง ร้อยเรียงเรื่องเล่าแล้ว


ใครอิ่มแล้วก็ตามอัธยาศัย




สุรีย์ฉัน วันนี้ จะลี้ลับ
แสงเลือนดับ   ดูสลัว  ทั่วเวหา
ประกายทอง  ส่องหาย  สายธารา
ตะวันลา  แล้วหนอ   ขอพักเอย


ผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนแม่น้ำบางปะกง เพื่อส่งเสียงร้อยเรียงเรื่องราวเล่าสู่ มีดังนี้

๑.. ศึกษานิเทศก์เปี่ยมจิต เมธาวศิน
ชาวบ้านโพธิ์ที่เกิดและเติบโตมากับแม่น้ำบางปะกง

๒.. ลุงสายยัน ศรีจนพัน
ชาวประมงพื้นบ้าน ที่หาอยู่หากินกับแม่น้ำบางปะกงมากว่า ๕๐ ปี

๓.. คุณวัธนา บุญยัง
นักเขียนเรื่องป่ากับผลงานหนังสือ ๔๓ เล่ม ผู้ที่เกิดและโตริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง

๔. ตัวแทนน้องเยาวชนคนบ้านโพธิ์  น้องมานะศักดิ๋ บุญสุุข (น้องมังกร )

๕.. คุณทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา
เจ้าของเพจ Adventura ผู้ทำสารคดีปลากระเบนราหู และ พิธีกรรายการท่องเที่ยว Escape ทางช่อง ๕



ตัวอย่างการตีโปงที่แม่น้ำปิง ขอขอบคุณภาพจาก
http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E9896115/E9896115.html

ศึกษานิเทศก์เปี่ยมจิต เมธาวิศิน  เล่าว่า

ท่านเป็นชาวชาวบ้านโพธิ์ที่มีึความผูกพันแน่นแฟ้นลึกล้ำกับแม่น้ำบางปะกงมาตั้งแต่เกิด มีความสนุกสนานกับชีวิตวัยเด็กที่อยู่ริมแม่น้ำมาก ชอบลงเล่นน้ำในแม่น้ำ นุ่งผ้าถุงแล้วตีโปงเล่นน้ำกับเพื่อนเด็กผู้หญิงด้วยกัน  แข่งกันว่าโปงใครจะใหญ่จะอยู่ได้นานที่สุด ดังนั้นผู้เข้าแข่งก็จะพยายามทำโปงคนอื่นให้แฟบและรักษาโปงของตนเองไว้ อีกทั้งยังมีการละเล่นหลากหลายซึ่งเล่นกันบนบกก็สามารถเล่นได้ในน้ำ เช่นว่ายน้ำแข่งกัน วิ่งเปี้ยว (ด้วยการว่ายน้ำ)  ดำน้ำแข่งกันใครจะดำนานดำทน  ทำเป็นหมาเน่าลอยน้ำ คือนอนหงายเหยียดเท้าขนานน้ำ ลอยตัวเอาผ้าขาวม้าคลุมไว้ต้องรักษาระดับการลอยตัวให้ดีให้นาน พอลอยผ่านเพื่อน ๆ เพื่อนก็แกล้งทำท่าปิดจมูกเหม็นหมาเน่าผลักหมาเน่าออกไปไกล ๆ  ตัว คนเป็นหมาเน่าก็แกล้งลอยไปหาคนอื่น

หรือบางทีก็เอาแชมพูสระผมขยี้ฟองจนหัวขาวโพลนเป็นการบวชชี ว่ายไปอีกที่ แล้วดำน้ำเอาแชมพูออกเป็นการสึกจากชีแล้วเป็นต้น ส่วนใหญ่ก็ว่ายไปสึกชีที่ท่าน้ำวัดสนามจันทร์



น้ำในสมัยนั้นสะอาดสามารถใช้ดื่มกินได้ คนโบราณนั้นพอถึงกลางคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองเราจะออกไปตักน้ำจากกลางแม่น้ำ มาหยอดใส่ตุ่มเพราะเชื่อว่าเป็นเสมือนน้ำมนต์จากแม่พระคงคา หลังจากลอยกระทงขอขมาแม่คงคาแล้วก็ขอพรเป็นน้ำมนต์เอากลับบ้าน

ท่านยืนยันหนักแน่นว่าจะรักษาแม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ให้คงอยู่อย่างดีที่สุด
“แม่น้ำบางปะกงคือชีวิตจิตใจ  ทำให้เราได้ อยู่ดี กินดี มีสุข สนุกสนานมีชีวิตชีวา สดชื่นรื่นเริงในวัยเด็กเราเติบโตมาด้วยอาหารที่มาจากแม่น้ำทั้งสิ้น ชาวบ้านที่เลี้ยงหมูก็ ใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงเลี้ยงหมู ทั้งให้หมูกินน้ำทั้งทำอาหารหมูเอาผักตบชวา ( ที่ได้จากแม่น้ำนั่นเอง ) มาหั่นคลุกกับรำข้าว  ใช้น้ำทำความสะอาดโรงหมู ตัวหมู
นอกจากสารพัดสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา  ผักที่ปลูกกันก็ใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองรด แม้ไก่หรือหมูก็ล้วนเอาน้ำแม่น้ำมาใช้ในการเลี้ยง แล้วเราก็หวัง..อยากให้แม่น้ำของเรายั่งยืนตลอดไป คงอยู่ในสภาพที่ดี ทำให้เรามีแหล่งอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ วันนี้วิถีชีวิตริมน้ำไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากเดิม เราจะพยายามรักษาแม่น้ำบางปะกงของเราไว้ให้คงอยู่ อยากให้พวกเรามีความหวัง และอยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาช่วยสืบทอดความพยายาม  ความหวังนี้ไว้”



ลุงสายยัน

“สายยัน ศรีจนพัน” เฒ่าทรนงแห่งลุ่มน้ำบางปะกง

ลุงสายยันเป็นผู้ที่หาอยู่หากินเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวด้วยการจับปลา หาปู ดักกุ้ง เรียกว่าถ้าไม่มีแม่น้ำบางปะกงก็คงไม่มีลุงสายยันในวันนี้ ลุงสะท้อนให้เห็นมุมมองของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คนเมืองมีเงินแต่ก็ซื้อไม่ได้ทุกอย่าง ลุงสายยันบอกว่า

“เอาง่าย ๆ เลยนะ วันนี้ถ้าคุณมีเงินหมื่นนึงคุณเดินเข้าร้านทองคุณซื้อทองมาใส่ได้ แต่ถ้าคุณอยากกินปลาอีกง มีเงินหนึ่งหมื่นคุณอาจจะไม่ได้กินก็ได้นะ”



อาจารย์วัธนา บุญยัง

“วัธนา บุญยัง” นักคิดนักเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่ป่าต้นน้ำมาจนถึงปากอ่าวไทย

อาจารย์วัธนามองแม่น้ำบางปะกงในวันนี้ว่าเหมือนคนที่ไร้วิญญาณ ยังไม่ตายแต่ก็อาจจะไม่มีความสุขเพราะชีวิตชีวานั้นหายไป

“แม่น้ำยังคงอยู่ แต่จิตวิญญาณหายไป คำว่าแม่น้ำยังอยู่คือไม่เน่าเสีย ที่แม่น้ำไม่เน่าเสียเพราะเมื่อถึงหน้าฝน หน้าน้ำ น้ำจากป่าต้นน้ำไม่ว่าอ่างฤาไน ปราจีนบุรี นครนายกล้วนไหลลงมา ก็สามารถขับไล่น้ำเสียออกไป แต่จิตวิญญาณที่ว่าหายไปเพราะไม่มีการคมนาคมสัญจรในแม่น้ำ ไม่มีการใช้เรือ แพ เมื่อไม่มีวิถีชีวิต แม่น้ำก็เงียบสงัด เหมือนแม่น้ำได้ตายแล้ว สัตว์น้ำก็ลดน้อยลงเพราะพฤติกรรมของคน ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ การทำเกษตรที่ใช้สารเคมี หรือแม้กระทั่งการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนเส้นทางน้ำ เปลี่ยนระบบนิเวศ

สมัยก่อนเราใช้เรือ เรามีตลาดน้ำใหญ่มากที่หน้าวัดแหลมใต้ มีแพหลายสิบหลัง มีคนที่กินนอนในเรือ มีเรือค้าขาย มีเรือเมล์แดง เมล์เขียว มีเรือจากทั้งบางคล้า พนมสารคาม บ้านโพธิ์ บางปะกง มารวมกันค้าขายที่ตลาดน้ำแห่งนี้ มีเรือหาปลา มีเรือตกกุ้ง มีคนหาปูทะเล หาหอย เป็นวิถีชีวิตของคนริมน้ำ เป็นแม่น้ำที่มีชีวิตชีวามีสีสัน ผู้คนไม่รีบร้อนมีชีวิตเรียบง่ายอยู่กันอย่างสงบเย็น แม่น้ำบางปะกงจึงเป็นสายน้ำสายชีวิตของผู้คน

ถ้าเป็นไปได้อยากให้คนกลับมาให้ความสำคัญกับแม่น้ำสายนี้  แม่น้ำบางปะกงเคยมีความยิ่งใหญ่ต่อวิถีชีวิตของผู้คน เป็นประวิตศาสตร์ ผมอยากให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำบ้าง ผมอยากให้แม่น้ำบางปะกงกลับมามีชีวิตเหมือนเดิม”



คุณทัพพ์  มีทรัพย์วัฒนา
ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.facebook.com/TupAdventura/notes

ในขณะที่คนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง “ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” ผู้ที่เพิ่งเคยมาสัมผัสแม่น้ำบางปะกงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ปลากระเบนราหูกลับมองว่าแม่น้ำบางปะกงยังคงสมบูรณ์อยู่เพราะนอกจากกระเบนราหูตัวโตแล้วเขายังได้พบกับ Bull Shark หรือฉลามหัวบาตรที่นี่ ในแม่น้ำบางปะกงห่างจากจุดที่จัดงานบางปะกงส่งเสียงไปไม่ไกลนัก

“ฉลามเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบรูณ์ของทะเลและแม่น้ำ ปลาฉลามตัวขนาดนี้ถือว่าพบได้ยากมากในแม่น้ำ ที่ปลาฉลามเข้ามาในแม่น้ำแสดงว่าบางปะกงยังมีปลาพอที่ปลาฉลามจะมาล่าเป็นอาหาร เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่ายังมีฉลามขนาดนี้หลงเข้ามาเพราะคนแถวนี้หรือแม้กระทั้งไต๋เรือที่อยู่ในแม่น้ำมาทั้งชีวิต ก็ไม่เคยพบฉลามตัวขนาดนี้

บางคนอาจจะเปรียบฉลามตัวนี้เป็น Trophy หรือถ้วยรางวัลถ้ามองในมุมนักตกปลา แต่ผมกลับมองว่าปลาฉลามนี้เป็นความหวังและอนาคตของเรา (Sign of Hope and our future)”


สำหรับเยาวชนในพื้นที่ เป็นผู้ส่งเสียงที่เยาว์วัยที่สุดของคณะผู้มาส่งเสียงแทนแม่น้ำบางปะกงในครั้งนี้ คือน้องมานะศักดิ์ บุญสุข (น้องมังกร)



น้องมานะศักดิ์ บุญสุข (มังกร)
น้องมังกรอาจมีประสบการณ์กับแม่น้ำบางปะกงน้อยที่สุดด้วยวัยของตนเอง แต่สิ่งที่น้องบอกกล่าวเล่าเรื่องการใช้ชีวิตชาวลุ่มน้ำบางปะกง มองเห็นธรรมชาติทั่วไปที่พบเห็นจนดูว่าไม่มีอะไรแปลกตา เช่นเห็นปลาตีน ซึ่งมีหัวค่อนข้างโตถ้าเทียบกับลำตัวของตัวเอง ตาโปน หรือตาพอง ปลาตีนนั้นปัจจุบันเป็นของแปลกตาไปเสียแล้วสำหรับบางท้องที่ทั้งที่เป็นลุ่มน้ำบางปะกงเดียวกันกับน้องมังกรนั่นเอง เพราะบริเวณนั้นไ่ม่มีปลาตีนให้เห็นแล้ว

น้องมังกรก็เข้าใจถูกต้องว่าการได้เห็นปลาตีนปีนป่่ายชายเลนบริเวณใด เป็นการบ่งบอกว่า ณที่นั้นยังมีระบบนิเวศที่ดีอยู่ เมื่อปลาตีนเริ่มน้อยลง ก็เป็นการบอกเหตุว่าระบบนิเวศแถบนั้นเริ่มไม่ดี และเมื่อวันหนึ่งไม่มีปลาตีนให้มองเห็นภาพที่ปลาตีนโลดแล่นเหมือนกระโดด หรือไถลตัวไปกับพื้นเลน ให้มองแล้วเพลิดเพลินตากับอาการนั้น ก็หมายความว่า บริเวณนั้นสูญเสียระบบนิเวศไปเสียแล้ว

น้องมังกรได้พบเห็นกุ้ง ปู ปลา ที่มีคนหามาด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามแต่ละคนสันทัด ก็รู้สึกว่า แม่น้ำนี้อุดมสมบูรณ์ดี
น้องมังกรตั้งใจที่จะเป็นส่วนร่วมในการอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกงให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างที่น้องมังกรกำลังเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน้องมังกรไม่มีข้อมูลมองเห็นการเปรียบเทียบว่า จริง ๆ ที่น้องมองเห็นอยู่นั้น บรรดาสัตว๋น้ำลดน้อยลงกว่าในสมัยอดีตมาก แม้แต่พันธุ๋ไม้หลายชนิดที่เคยมีมากมายแต่ปัจจุบันน้องไม่มีโอกาสได้เห็นแล้ว เช่น ต้นใบพายเป็นต้น

ต้นใบพายตามชายฝั่งที่เป็นเลนเคยขึ้นเป็นกอเรียงรายไปทั่ว และที่นั้นจะเป็นที่ปลาตีนอาศัยอยู่มาก และเลนจะเป็นเลนเรียบมีพื้นที่ให้ปลาตีนได้โลดแล่นอย่างสนุกสนาน หากเป็นเลนที่มีรากแสม รากลำพูขึ้นอยู่ ปลาตีนจะไม่สามารถโลดแล่นไถลตัวเหมือนกระโดดเรียดเลน (เรียด แปลว่า เฉียดผิว ๆ ) ให้น่าตื่นตาตื่นใจกับลีลาปลาตีน

ต้นใบพายหายลับไปกับวันวานเสียแล้ว

ปลาเขือ ก็เป็นปลามห้ศจรรย์ในการดำรงชีวิตซ่อนตัวอยู่ในเลน โดยการขุดรู ในช่วงน้ำลงแห้งฝั่ง นับเป็นปลาสถาปนิกได้เลยทีเดียว เปรียบเทียบกับนกคงคล้ายนกกระจาบที่สร้างรังสวยงามมีระบบป้องกันความปลอดภัยไปในตัว   เหมือนได้ร่วมสมัยกับคำว่า safety first

ปัจจุบันอาจยังมีปลาเขืออยู่ตามเลนชายฝั่ง แต่ผู้คนในยุคหลัง ๆ ไม่สนุกสนานกับปลาเขือเสียแล้ว บางทีอาจเป็นเพราะไม่มีรุ่นผู้ใหญ่บอกกล่าวหรือใช้วิธีล่าหาปลาเขือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก็เป็นได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณกอบมณี ทัตติยกุล
ขอขอบคุณภาพจาก
https://www.facebook.com/bangpakongriver
คุณลาวัลย์ จิรเสาวภาตย์
คุณมณฑณี นิสภวาณิชย์
ไลน์จากห้องปฏิบัติธรรมอินเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น