วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บางปะกง สายน้ำแห่งมังกรเมืองแปดริ้ว


ขอขอบคุณภาพจากคุณฐิระวัตร กุลละวณิชย์

แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต

แม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออกที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในผืนป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ ผืนป่ามรดกโลก และเป็นผืนป่ารอยต่อ ห้าจังหวัด ซึ่งเป็นป่าลุ่มต่ำที่เหลืออยู่ผืนสุดท้ายของประเทศไทย จากต้นนำไหลสู่ลำห้วยลำธารสายเล็กสายน้อยหลายสายแล้วไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำจนในที่สุดมารวมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไปสิ้นสุดออกสู่ปากอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกงทำให้เรียกแม่น้ำทั้งสายว่าแม่น้ำบางปะกงตามความนิยมการเรียกชื่อแม่น้ำด้วยชื่อสถานที่สุดท้ายของลำน้ำนั้น ๆ

แม่น้ำบางปะกง เป็นหนึ่งในห้าของแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนบนที่นิยมเรียกกันว่า อ่าว ก.ไก่

แม่น้ำบางปะกงมีความยาว   ๑๒๒กม. * ลำน้ำมีความคดเคี้ยวมาก ซึ่งเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติเกิดในบริเวณพื้นที่ราบที่มีความลาดชันน้อย



ขอขอบคุณภาพจากwww.weekendhobby.com


มีผู็เฒ่าชาวจีนวัย ๙๐ ปี ( ขณะนั้น พ.ศ. ๒๕๐๗ ) เล่าให้ลูกหลานคนรู้จักชอบพอว่า เมื่อครั้งที่ท่านผู้เฒ่าท่านนี้ยังเด็ก ได้ยินผู้ใหญ่ชาวจีน ว่า เมืองแปดริ้วนั้น คนจีนเรียกกันว่า " แป๊ะเลี่ยว" ส่วนคนจีนในยุคปัจจุบัน เรียกออกสำเนียงเป็น " เป๊กลิ่ว"

คำว่า "แป๊ะเลี่ยว" แยกคำ ดังนี้
" แป๊ะ "แปลว่า "ร้อย " เช่น ลั่กแป๊ะ,เจ็กแป๊ะ เป็นต้น
"เลี่ยว" คือ "เลี้ยว" หมายถึงหัวเลี้ยว หัวโค้ง เลี้่ยวโค้ง

เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกัน หมายความว่า เมืองร้อยเลี้ยว
มีผู้ให้เหตุผลยืนยันว่าถ้านั่งเรือจากลำน้ำ(ลำคลอง)จากอำเภอบางคล้า เรื่อยขึ้นไปตามลำน้ำถึงอำเภอพนมสารคาม หากนับเลี้ยวที่เรือเลี้ยวคดวกไปมาตามลำน้ำ ได้ "ร้อยเลี้ยว" พอดี

(ที่มา เฉลียว เชี่ยวชาญ ครูตรีโรงเรียนวัดอินทาราม จากเรื่องน่ารู้ สิบสามผู้เขียน อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ อาจารย์ ทองดี วงศ์ศิริ พ.ศ. ๒๕๐๗)
นี่เพียงเฉพาะจากอำเภอบางคล้า ไปที่อำเภอพนมสารคาม

หากมีภาพถ่ายจากเบื้องบนลงมาก็จะพบความคดเคีี้ยวของลำนำบางปะกง



ระบบนิเวศของน้ำจึงเรียกตามธรรมชาติจริงที่เกิด คือ แหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำเค็ม พื้นที่สองน้ำ ดินแดนสามน้ำ ซึ่งน้ำก็มีธรรมชาติของตัวเองที่จะส่งผลเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของสัตว์น้ำและผู้คนริมฝั่งน้ำ และยังมีเรื่องของความเชื่อถือตามธรรมเนียมไทย ธรรมเนียมจีนที่เกี่ยวพันจนแยกไม่ออกกับวิถีไทยเสมอ ๆ

น้ำ
ส่วนสายน้ำบางปะกงเอง เป็นสายน้ำของแม่น้ำที่ได้รับอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงทำให้น้ำทะเลสามารถหนุนเข้าในตามลำน้ำเกิดเป็นระบบนิเวศ ๓ น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และด้วยความลึกของท้องน้ำที่ไม่ต่างกันมาก ทำให้น้ำทะเลสามารถหนุนเข้าไปได้ราว ๒๐๐ กม. ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำที่น้ำทะเลหนุนเข้าไปได้ไกลที่สุดในประเทศไทย

ดิน
สภาพพื้นที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำและทะเล ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของชาติตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ลม

พื้นที่ติดทะเลทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมบกและลมทะเลอย่างเต็มที่ และด้วยแนวลำน้ำตั้งตามแนวลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีลมพัดเย็นสบายตลอดปี ซึ่งจะมีรายละเอียดของลมประจำถิ่นในบทความต่อไป






เนื่องจากลำน้ำบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทราในสมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลำน้ำที่มีคนจีนอพยพได้เข้ามาตั้งรกรากทำหากิน อาชีพที่นิยมมากคือทำไร่อ้อย โรงหีบอ้อย โรงสีข้าว เมื่อสามารถตั้งตัวได้ ก็จะตั้งบ้านเรือนตามสองฟากลำน้ำบางปะกง ดังนั้น จึงมีเรื่องราวความเชื่อตามขนบธรรมเนียมจีนที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำบางปะกง ดังนี้



สายน้ำแห่งมังกร ของ เมืองแปดริ้ว
ได้อ่านพบความเชื่อของชาวจีนที่เปรียบเทียบแม่น้ำบางปะกงเป็นสายน้ำแห่งมังกรตัวเล็ก เลยขอคัดย่อมาดังนี้

สายน้ำแห่งมังกร ของ เมืองแปดริ้ว เป็นชื่อเรียกขานตามการสันนิษฐานที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยหลาย ๆ เหตุผล ประการหนึ่งคือด้วยลักษณะทางกายภาพของสายน้ำบางปะกงที่มีความคดโค้งไปมาดุจดั่ง พญามังกร พาดผ่านเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดจีนแห่งหนึ่งขึ้นบริเวณเยาวราช คือ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ในปัจจุบัน ตามหลักฮวงจุ้ยของคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร (สกเห็ง) ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นโดยถือว่า

วัดเล่งเน่ยยี่เปรียบเป็น ตำแหน่งหัวมังกร
และกำหนด ตำแหน่งท้องมังกร ไว้ที่ วัดเล่งฮกยี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (พ.ศ. ๒๔๕๐ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาส แล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดจีนประชาสโมสร” )

สำหรับ ตำแหน่งหางมังกร อยู่ที่ วัดเล่งฮัวยี่ หรือ วัดมังกรบุปผาราม จังหวัดจันทบุรี

ตำแหน่งต่างๆ ที่พระอาจารย์สกเห็งได้วางไว้นั้น เป็นตำแหน่งของความอุดมสมบูรณ์ทั้ง ทรัพย์สิน เงินทอง การค้าขาย และความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในบริเวณนั้นอย่างมีความสุข



ตำแหน่งท้องมังกรนี้ได้ผสมผสานความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ทำให้เกิดการเรียกขานแม่น้ำบางปะกงว่า สายน้ำแห่งมังกร โดยมี มังกรตัวเล็ก พาดอยู่ตามลำน้ำบางปะกง

ตำแหน่งหัวมังกร อยู่บริเวณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อพุทธโสธร อันศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพ นับถือของชาวไทย ทั่วประเทศ

ตำแหน่งท้องมังกร อยู่ตำแหน่งเดิมที่ วัดเล่งฮกยี่ (วัดจีนประชาสโมสร) ซึ่งภายในวัดนั้นมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย องค์พระประธาน และ ๑๘ อรหันต์ ที่เป็นประติมากรรมโบราณ ทำจากกระดาษ อายุกว่า ๑๐๐ปี (ลักษณะเปเปอร์ - มาเช่) ภูมิปัญญาชาวจีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้ เทพเจ้าไฉ้เซ่งเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) , ระฆังศักดิ์สิทธิ์ใบใหญ่ หนึ่งในสามใบในโลก และ พระสำเร็จ ร่างสังขารเจ้าอาวาสที่มรณภาพแล้วไม่เน่าเปื่อย 

ตำแหน่งหางมังกร คือตำแหน่งที่พระเจ้าตากสินได้เดินทัพผ่านสู่เมืองจันทบุรี เพื่อระดมไพร่พลในการกู้กรุงศรีอยุธยา และเมื่อเดินทัพถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ จึงได้เจอทัพพม่าซุ่มโจมตี และสู้รบกันจนได้รับชัยชนะ จึงได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบริเวณแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และพักทัพ ณ บริเวณวัดโพธิ์ อำเภอบางคล้า (สถานที่ชมค้างคาวแม่ไก่)

บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ประกอบ “พระราชพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย

ซึ่งแม่น้ำบางปะกงเป็นหนึ่งใน “เบญจสุทธิคงคา” (คือแม่น้ำสายสำคัญ ๕ สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.bpkcruise.com




หมายเหตุ
* เป็นความยาวของแม่น้ำบางปะกง จากตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีและตำบลโยธะกาอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำนครนายกกับแม่น้ำปราจีนบุรี จนถึงปากอ่าวไทย

บริเวณการตักน้ำในแม่น้ำบางปะกง มีหลายสถานที่ตามกาลเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น