วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๖ อดีตกาลผ่านมา ๒





ขอขอบคุณภาพจากhttp://nongbua.kru.ac.th/


เพื่อเสริมความเข้าใจว่าก่อนที่ข่าวจะเป็นพืชเศรษฐกิจของลุ่มน้ำบางปะกง โดยเฉพาะเมืองฉะเชิงเทรานั้น ลุ่มน้ำนี้เคยมีอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาก่อนดังนี้


อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณไม่เพียงแต่นำมาผลิต เป็นน้ำตาลเท่านั้น แต่จากประวัติศาสตร์พบว่าอ้อยมีบทบาทหลายอย่างในอตีดกาล เช่น ใช้ในพิธีกรรมต่างๆแสดงถึงความสมบูรณ์ และความหวานแสดงถึงปัญญา

โดยมักจะนำอ้อยและกล้วยเป็นของใช้ประกอบในพิธีคู่กัน เช่นใช้ในพิธีมงคล หรือเทศกาลต่างๆ ทั้งเพื่อประดับ หรือมีความหมายในทางที่เป็นสิริมงคล เช่น ในขบวนแห่ขันหมาก เป็นต้น และที่ไม่ค่อยทราบกันก็คือน้ำอ้อยผสมกับปูนขาวใช้สอปูนและฉาบผนัง ในการประกอบ เป็นประติมากรรมและสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตลอดจนยังปราก เป็นบทเพลงไทยต่างๆ มากมาย นอกจากนั้นอ้อยยังเป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณได้อีกด้วย




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.ocsb.go.th/th/webboard/detail.php?ID=1948&

สำหรับการทำน้ำตาลจากอ้อยในประเทศไทยนั้น มีหลักฐานว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยทำเป็นน้ำตาลงบ แหล่งผลิตอยู่ที่ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบันยังมีการผลิตน้ำตาลงบอยู่ในบางจังหวัด ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๑๙๕๑ และ พ.ศ. ๑๙๕๕ ได้มีการส่งออกน้ำตาลทรายแดงไปยังประเทศญี่ปุ่น การผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ดำเนินกิจการด้วยดีโดยมีแหล่งผลิตใหม่ที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และ จังหวัดชลบุรี เมื่อปริมาณการผลิตมีมากกว่าความต้องการบริโภค จึงมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ก่อนที่แหล่งผลิตจะย้ายมายังลุ่มน้ำท่าจีน และบริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีการส่งออกอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ (พ.ศ. ๒๓๕๒- ๒๓๗๕ )

ในอดีต จากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา อ้อยเป็นพืชไร่ที่สำคัญที่สุดของชาวจีนแต้จิ๋วที่มาตั้งถิ่นฐานได้นำอ้อยเข้ามาเป็นพืชทางการค้าในสยามทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ พ.ศ. ๒,๓๕๓ และภายในระยะเวลาสิบปี อ้อยได้เป็นสินค้าที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของไทย แหล่งเพาะปลูกอ้อยที่ใหญ่อยู่ในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและนครปฐม




ขอขอบคุณภาพจากwww.reurnthai.com


เมืองฉะเชิงเทราเดิมราษฎโรได้ปลูกอ้อยอยู่ในขอบเขต คือเป็นการผลิตพอเลี้ยงชีพได้ บริโภคในครัวเรือนและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ใน พ.ศ. ๒๓๕๐ อุตสาหกรรมน้ำตาลได้ก่อตัวขึ้น ดังนั้นเมืองฉะเชิงเทราจึงมีการตั้งโรงหีบอ้อยเพื่อทำน้ำตาลขึ้นและทำให้น้ำตาลกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองนี้

จากหลักฐานพบว่าชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทรา ทำไร่อ้อยขนาดใหญ่ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๓๙๘ เช่นหลักฐานจากบันทึกเล่าเรื่องกรุงสยามของปาลเลกัวร์ กล่าวถึงเมืองฉะเชิงเทราไว้ดังนี้
"เหตุรัชกาลที่ ๓ พบว่า การเก็บผลประโยชน์จากอากรสมพัตสร พ.ศ. ๒๓๙๘ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยได้ ๗,๓๖๐ บาท "

ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบใหญ่อุดมไปด้วยนาข้าว สวนผลไม้และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน...

จากหลักฐาน ร่างสารตรา กล่าว่า "พวกจีนที่ตั้งบ้านเรือนทำสวนใหญ่ไร่อ้อยชุกชุม " ร่างสารตรานี้เป็นหลักฐานทำให้ทราบว่า ผู้ที่ริเริ่มบุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลในจังหวัดฉะเชิงเทรา คือชาวจีน







จากงานวิจัยของ ม.ล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ เรื่อง "การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ใน คริสต์ศตวรรษ ที่ ๑๙ " มีความตอนหนึ่งว่า " เมืองฉะเชิงเทราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลทรายที่สำคัญ มีโรงหีบตั้งอยู่กว่า ๓๐ โรง"

ในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนสนธิสัญญาบราว์ริ่ง ที่เมืองฉะเชิงเทรามีการตั้งโรงหีบอ้อยประมาณ ๒๘ โรง ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพฯ ออกไปตรวจตราดูแลไร่อ้อยที่เมืองฉะเชิงเทราอยู่เสมอ โดยให้หมั่นตรวจไร่อ้อยทั้งอ้อยต่อและอ้อยปลูกใหม่ แล้วต้องรายงานเข้าไปในกรุงเทพ ฯ อยู่เนือง ๆ หากเจ้าเมืองฉะเชิงเทราละเลยไม่รายงาน ทางเมืองหลวงก็จะทวงถามถึงการสำรวจเหล่านี้ เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละปีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของเมืองฉะเชิงเทราเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร จะได้ปรับปรุงส่งเสริมให้ถูกต้อง
ดังความตอนหนึ่งว่า

" มีตราโปรดเกล้า ฯ ออกมาว่าราษฎรไทย จีน ในแขวงเมืองฉะเชิงเทรา ผู้ใดจะทำสวนอ้อย ตั้งโรงหีบขึ้นอีก ก็ให้พระยาวิเศษฤาไชย กรรมการ จัดแจงหาที่ให้ราษฎรไทย จีน ตั้งโรงหีบ สวนอ้อย ขึ้นให้ได้มาก " (สังฆราช ปาลเลกัวร์ – ๒๕๐๖ เล่าเรื่องเมืองไทย หน้า ๗๔ )

จากหลักฐานร่างสารตราที่ทางการแจ้งไปยังเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา มีความว่า
" ให้พระยาวิเศษฤาไชย คิดอ่านจัดแจงให้ราษฎรไทย จีน ลาวและเขมร ทำไร่อ้อยขึ้นให้ได้มาก ถ้ามีแห่งใด ตำบลใดควรจะทำไร่อ้อยได้ หากที่ดินบริเวณนั้นมีผู้จับจองไว้ก่อน แต่ปล่อยทิ้งให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ ก็ให้พระยาวิเศษฤาไชยหาตัวราษฎรผู้จับจองที่นั้นไว้มาไต่ถามว่าจะทำนา ทำสวน ในที่ดินหรือไม่ หากเกินกำลังที่จะทำได้ก็อย่าให้หวงที่ไว้ ให้พระยาวิเศษฤาไชยจัดแจงให้ราษฎรคนอื่นทำไร่อ้อยให้เต็มพื้นที่นั้น" (จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ จ.ศ. ๑๒๐๑ )





นอกจากนั้นทางการ (รัฐบาล) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังลงทุนตั้งโรงงานทำน้ำตาลทรายด้วยตนเอง มีการตั้งโรงหีบอ้อยหลวงที่นครไชยศรี ๒ โรง ที่ฉะเชิงเทรา ๑ โรง และที่พนัสนิคม ๑ โรง

(พนัสนิคมตั้งขึ้นเป็นเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคและจัดระเบียบการปกครองใหม่เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงโปรดเกล้าฯให้เมืองพนัสนิคม เมืองบางละมุง และเมืองบางปลาสร้อยรวมกัน และเมืองพนัสนิคมจึงเป็นอำเภอของชลบุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ตั้งแต่นั้นมา )





โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นการลงทุนตั้งโรงหีบอ้อยหลวงขนาดใหญ่ ใน พ.ศ. ๒๓๘๐- ๒๓๘๒ ใช้เงินถึง ๓๐,๗๑๒ บาท ใช้เนื้อที่เพาะปลูกอ้อย ๒๒๓ ไร่ มีการจ้างแรงงานชาวจีนปลูกอ้อยและเป็นแรงงานในโรงหีบอ้อยเกือบทุกอย่าง โดยมอบหมายให้พระยาวิเศษฤาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทราเป็นผู้ดูแลใช้จ่ายเงิน

นับจากต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมาอุตสาหกรรมน้ำตาลตกอยู่ในภาวะซบเซา และผลิตเพื่อการบริโภคภายในเท่านั้น โรงงานที่ผลิตน้ำตาลขนาดเล็กอาศัยแรงงานคนและสัตว์ใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก มีปริมาณส่งออกสูงสุดใน พ.ศ. ๒๔๐๒ ส่งออกประมาณ ๒๐๔,๐๐๐ หาบต่อปี หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดปริมาณการส่งออก

อุตสาหกรรมน้ำตาลเริ่มตกต่ำอย่างมากตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นต้นมา เพราะยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญซื้อน้ำตาลจากไทย สามารถผลิตน้ำตาลได้เพียงพอไม่ต้องซื้อจากไทยอีก รวมทั้งไทยไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลที่ผลิตในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ คิวบา และชวาได้ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ การปลูกอ้อยใน จังหวัดฉะเชิงเทราลดลงไป

นอกจากนี้ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยขึ้นมา พื้นที่ ที่เคยปลูกอ้อย ค่อย ๆ ลดลง ราษฎรหันมาปลูกข้าวทดแทน เพราะมีกำไรดีกว่าและพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะในการปลูกข้าว
จนในที่สุดต้องมีการนำเข้าน้ำตาลในปี พ.ศ. ๒๔๓๖




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://report-easy.blogspot.com/2009/07/blog-post_3413.html

ปริญญานิพนธ์ เรื่อง บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๗๕ ของ อังคณา แสงสว่าง เสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น