วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๗ อดีตกาลผ่านมา ๓





พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยทั่วไป สภาพภูมิศาสตร์ เป็นที่ราบลุ่มมีที่ดินดอนเป็นบางส่วน เฉพาะในเขตอำเภอราชสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ดอนประกอบด้วยภูเขาเตี้ย ๆ หลายลูกป่าไม้ขึ้นปกคลุม

ลักษณะภูทมิประเทศของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำแนกออก เป็น ๓ เขต

๑. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นบริเวณที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้เพราะเป็นที่ราบเรียบ ดินอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำเพื่อการชลประทานอย่างเพียงพอ เขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณร้อยละ ๓๗.๗ ของพื้นที่จังหวัด อยู่ใน่ขตพื้นที่ อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาสน์ อำเภอคลองเขื่อน บางส่วนของอำเภอแปลงยาว และอำเภอพนมสารคาม มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านและออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง และสาขานี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ที่ราบฉนวนไทย"ที่ราบลุ่มผืนนี้เคยเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อการค้าที่สำคัญของภาคตะวันออกและของประเทศ




๒.เขตที่ดอนหรือที่ราบลูกฟูก เขตพื้นที่นี้อยู่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกและทางเหนือที่ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ประมาณร้อยละ ๕๑.๑ อยู่ในเขตอำเภอสนามชัยเขต อำเภอท่าตะเกียบ บางส่วนของอำเภแพนมสารคาม และอำเภอแปลงยาว

๓. เขตที่ราบสูงและภูเขา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไปสิ้นสุดในเขตจังหวัดชลบุรีครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ ๑๑.๒ อยู่ในเขตพื้นที่ ของอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ เทือกเขาที่สำคัญในเขตนี้ ได้แก่เขาตะกรุบ เขาใหญ่ เขาระบบบ้าน เขาชะมูน เขาอ่างฤาไน





เขาตะกรุบ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/cool/2007/08/06/entry-1

ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา

มีลักษณะเป็นดินเหนียว ดินตะกอน และดินเหนียวปนลูกรังดินทราย หรือดินร่วนปนทราย ซึ่งประชากรใช้ประกอบเกษตรกรรมได้ในพื้นที่ราบ ดินจะมีลักษณะเป็นดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึง
สูง เหมาะในการทำนา ยกร่องปลูกผัก และผลไม้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรียว อำเภอแปลงยาว อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาสน์ และอำเภอคลองเขื่อน


บริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงมีลักษณะเป็นดินตะกอนที่มีการทับถมของอินทรีย์วัตถุค่อนช้างสูง อย่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอบางคล้า และอำเภอคลองเขื่อน เหมาะสำหรับปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ดินเหนียวปนลูกรัง ดินทราย หรือดินร่วนปนทราย อยู่ในเขตพื้นที่ค่อนข้างสูงบริเวณเนินเขาเนื่องจากเป็นเขตป่าไม้เดิม สามารถปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นและพืชไร่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ


อาคารมณฑลปราจีนบุรี และต่อมาเป็นเทศบาลเมืองหลังเก่า
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tbmccs.go.th/index.php/information/35-2012-11-08-16-20-32

แต่ก่อนจะลงมาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำ อันเป็นพื้นที่สำคัญมากของเมืองฉะเชิงเทรา ตามข้อ ๑.ขอไปที่ข้อ ๒.คือ เขตที่ดอนหรือที่ราบลูกฟูก เสียก่อน เพราะว่าปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของบริเวณนี้ เหลือเป็นเพียงตำนานให้กล่าวขาน หรือเล่าสู่เด็กรุ่นหลังเสียแล้ว โดยขอสืบเนื่องยุคที่เราเรียกขานพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราสมัยที่อยู่ในมณฑลปราจีนบุรี (อาจมีพื้นที่บางส่วนอยู่ใน เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำด้วย)


แต่เดิมจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนมีการแบ่งพื้นที่ปกครองเป็นอำเภอต่าง ๆ นั้น แบ่งเขตการปกครอง เป็น ๒ เมือง โดยอาศัยตามลำน้ำบางปะกง เป็นเขตแดนแบ่งพื้นที่เมือง ได้แก่

๑.เขตเมืองพนมสารคาม มีพื้นที่ปกครองคือ อำเภอหัวไทร ( ต่อมา อำเภอหัวไทรถูกยกเลิกไปรวมกับอำเภอบางคล้า)อำเภอพนมสารคาม กิ่งอำเภอสนามชัยเขต อำเภอบางคล้าและอำเภอสนามจันทร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเขาดิน และเปลี่ยนอีกครั้งเป็นอำเภอบ้านโพธิ์)

๒.เขตเมืองฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ปกครองคือ อำเภอเมือง อำเภอบางปะกงและอำเภอบางน้ำเปรี้ยว


ทั้งนี้ขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ของอำเภอที่เกี่ยวข้องกับเขาอ่างฤาไน เท่านั้น

ในรัฃสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินท๋เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีลาวและเขมร ในคราวนี้นได้กวาดต้อนชาวลาวและชาวเขมรเข้ามาเป็นจำนวนมาก และกำหนดพื้นที่ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง พื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราโชบาย ยกหมู่บ้านที่เป่็นชุมชนหนาแน่นขึ้นเป็นเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม มีศาลากลางเมือง มีเรือนจำ มีเจ้าเมืองปกครอง พระพนมสารนรินทร์เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้้าย ก่อนที่จะยุบเป็นอำเภอพนมสารคาม ต่อมาตำบลคู้ยายหมี ตำบลท่ากระดาน ตำบลท่าตะเกียบ ได้แยกออกจากอำเภอพนมสารคามเป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต


ภาพการบุกรุกป่าของราษฎร ในปี พ.ศ.๒๕๓๒
หนังสือฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์


พื้นที่อำเภอพนมสารคาม เคยปกคลุมด้วยป่่าใหญ่ มีบริษัทได้สัมปทานทำป่าคลองท่าลาด ซึ่งเดิมเรียก แม่น้ำพนม ฯ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมล่องแพซุงที่ได้จากป่าใหญ่ทั้งของเขตพนมสารตามและสนามชัยเขต ของป่าและไม้มีค่าเป็นสินค้าออกที่สำคัญน้ำมันยางเป็นสินค้าที่สำคัญล่าสุด ตามด้วยไม้แดงจีน ไม้หอมและเร่ว หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ บริเวณนี้ยังเป็นดินแดนที่ผู้คนหวาดกลัวเรื่อง ไข้ และยาเบื่อ เพราะเป็นป่าดงดิบ ปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกแผ้วถางไปจนหมดลักษณะดังกล่าว ทุกวันนี้จึงมีสภาพเป็นเพียงที่ราบสูง เท่านั้น (ชั่วเวลาไม่กี่สิบปี ป่าพพนมสารคามก็สูญสิ้นอย่างสิ้นเชิง ในหนังสือ ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์ มีภาพขาวดำการตัดไม้ใหญ่ในป่า เป็นหย่อม ๆต้นไม้ล้มกองพื้นระเกะระกะซึ่งใต้ภาพระบุว่าปัจจุบัน ( พ.ศ. ๒๕๓๔ สภาพป่าดังกล่าวไม่มีหลงเหลือแล้ว น่าเศร้าใจมาก)



ภาพเขาหินซ้อน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tbmccs.go.th/index.php/information/35-2012-11-08-16-20-32



ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ ในปัจจุบัน


สภาพป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากการบุกรุกทำลายป่าที่เชาหินซ้อน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=12&chap=6&page=t12-6-infodetail06.html



บ้านยางแดง ต.คู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขตในปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.greennet.or.th/portfolio/1469


อำเภอสนามชัยเขต เดิมเคยมีฐานะเป็นเมืองชื่อว่าเมืองสนามไชยเขตร (ซึ่งเดิมเป็นบ้านพระราม) มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่ และให้ขึ้นกับเมืองฉะเชิงเทรา มีหมู่บ้านเก่าแก่เป็นชุมชนดั้งเดิมของคนไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีชาวลาวมาตั้งรกราก เช่นบ้านซ่อง (ปัจจุบันอยู่อำเภอพนมสารคาม)
ปรากฎมีร่องรอยของถนนและวัดโบราณที่เรียกว่าวัดท้าวอู่ทองและท้าวอุทัย มีเรื่องเล่ากันว่าเป็นถนนและวัดของท้าวอู่ทองและท้าวอุทัย อันเป็นนิทานที่แตกต่างไปจากนิทานชาดกเรื่องพระรถเมรี นิทานเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เล่าสืบมาในหมู่คนไทยที่ตั้งชุมชนอยู่ในละแวกนี้มาแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา วัดท้าวอุทัยตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านชำปางามซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่แต่ชำรุดมาก วัดนี้คงเคยเป็นวัดที่มีความสำคัญในแถบนี้ เพราะปรากฎมีลายแทงเล่าสืบ ๆ กันมาว่า " ฝนตกกึกก้อง ฟ้าร้องได้ยินหน้าพระภูมินทร์ หลังพระราชา เดินเข้าไปแทงตา เดินกลับมากาขี้รดหัว "

ต่อมามีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งอำเภอสนามไชยเขตร ต่อมายุบเป็นตำบลของอำเภอพนมสารคาม แล้วต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอสนามไชย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต และได้ยกฐานะเป็นอำเภอสนามชัยเขต

อำเภอสนามชัยเขต มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แควระบมและแควสียัด หนองกระทิง หนองยาง และมีอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น คืออ่างลาดกระทิง อ่างระบม อ่างบ้าน กม ๗ และอ่างคลองตาผึ้ง สภาพป่าในขตอำเภอเป็นป่าดงดิบ เนื่องจากฝนตกชุกจึงมีพันธุ์ไม้ขึ้นหนาแน่น


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.h2th.com/


อำเภอท่าตะเกียบ เดิมอยู่ในปกครองของอำเภอสนามชัยเขต ต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ และต่อมายกฐานะเป็นอำเภอ ท่าตะเกียบ

ความเป็นมาของท่าตะเกียบ มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีพระดำริการก่อสร้างเสาชิงช้าบริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ได้มีหนังสือแจ้ง ตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ให้หาไม้แดงเพื่อนำไปทำไม้ตะเกียบเสาชิงช้า พบว่าในป่าที่ ท่าตะเกียบ มีไม้แดงต้นงาม ๒ ต้น บริเวณห่างจากบ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้น ประมาณ ๑ ก ม. ได้ล่องไม้แดงดังกล่าวไปตามคลองสียัด เนื่องจากไม้มีขนาดใหญ่มาก บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัด จึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ท่าลงไม้ตะเกียบ " และเพี้ยนมาเป็น " ท่าตะเกียบ"



พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอ เป็นทิวเขาและป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออก ชื่อป่าสงวนแห่งชาติ " แควระบบม- สียัด " เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่อุดมไปด้วยไม้กระยาเลยอันมีค่าทางเศรษฐกิจ เช่นไม้ตะแบก ไม้มะค่า ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของชาวอำเภอท่าตะเกียบ และชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยทั่วไปสภาพท้องที่บางส่วนเป็นป่าดงดิบ มีภูเขาและลำธารหลายแห่ง ที่สำคัญ คือ แควสียัด นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่ยังคงความสวยงามและมีชื่ิอเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา คือน้ำตกเขาอ่่างฤาไน ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตำบลคลองตะเกรา

ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำสียัดเป็นอ่างเก็บน้ำที่ล้อมไปด้วยภูเขาหลายลูกด้วยกัน อ่างเก็บน้ำสียัดนี้กินเนื้อที่หลายตารางกิโลเมตร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นบนคลองเก่าจึงมีปลาอยู่ชุกชุมมาก


พื้นที่รอยต่อ ๕ จังหวัด
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dnp.go.th/planing/special_project/2545/Central/RoyToa.htm


ดินแดนป่าดงดิบเขตรอยต่อ ๕ จังหวัด อันมีสนามชัยเขตเป็นแกนกลางได้ซ่อนธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ไว้ให้สรรพสัตว์ได้พึ่งพิง ดินแดนดังกล่าว สื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและของจังหวัดฉะเชิงเทรา นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร.ต. กิตติ ประทุมแก้ว เข้าไปถึงบริเวณนำตกอ่างฤาไน อำเภอสนามชัยเขต เขาอ่างฤาไน อันเป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า คณะเดินทางเข้าไปเมื่อวันที่ ๒๗ ธีนวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ น้ำตกยังบริบูรณ์ สอบถามเจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ประจำอยู่ ยืนยันว่ามีน้ำตกตลอดปี มีการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงเสียชีวิตไปหลายคนในเขตบริเวณดังกล่าวนี้ พวกเรารู้สึกสำนึกในบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นเสียสละปกป้องมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้พวกเราได้รู้เป็นบุญตา ระยะทางจากฉะเชิงเทราถึงน้ำตกประมาณ ๑๒๑ กิโลเมตร แบ่งระยะทางเป็น ๔ ระยะ...................




เขาตะกรุบ อ.วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=34&topic_no=230323&topic_id=233359

ลักษณะภูมิประเทศของน้ำตกอ่างฤาไน มีภูขาอยู่ทางทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศตะวันออก ส่วนตรงกลางและตอนใต้สุดเป็นที่ราบต่ำ ทางทิศตะวันตกมีเทือกเขาใหญ่กั้นเป็นแนวเขตยาวจากเหนือไปใต้ มียอดเขาที่สำคัญคือ เขาอ่างฤาไน สูง ๖๗๙ เมตร เป็นต้นน้ำของนำตกบ่อทอง ยอดเขาใหญ่สูงถึง ๗๖๓ เมตร เป็นต้นน้ำคลองตะเกรา บนเทือกเขาใหญ่มีสันเขาเดินถึงกันได้ตลอดปีมีไผ่ปล้องยาวสลับด้วยพันธุ์ไม้ป่าดงดิบขึ้นอยู่บนยอดเขาและตามไหล่เขาอย่างหนาแน่น ตามเชิงเขาที่เป็นหุบเขาลึกชันยากที่จะเข้าไปถึง จึงเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ป่าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หายาก เช่น วัวกระทิง วัวแดง ช้างป่า และเลียงผาเป็นต้น


ขอขอบคุณภาพจากhttp://chm-thai.onep.go.th/chm/PA/Detail/wildlife.html


สภาพป่าและไม้สำคัญมีฝนตกชุกจึงมีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น มีไม้มีค่าและของป่าหลายชนิด ราชการได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดเป็นเขตพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตั้งแต่ พ.ศ.2520 นอกจากนี้พื้นที่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแควระบม ป่าสียัด ได้ผ่านการทำไม้มาแล้วโดยบริษัท เอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด ผู้รับสัมปทาน ทำไม้ ไม้ที่มีความสำคัญ เช่น ยาง ตะเคียนทอง กะบาก เคียนคะนอง พันจำ มะค่าโมง ประดู่แดง ชิงชัน สมพง กะท้อน มะกอก ฯลฯ



น้ำตกบ่อทอง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=18&topic_no=57666&topic_id=58004


ในส่วนของ แควระบบสียัด ที่ทำเก็บอ่างเก็บน้ำ และเข่าอ่างฤาไน ได้รอดพ้นมหันตภัยมาเพราะ อะไร บทความนี้ยาวไปเสียแล้ว ขอไปขึ้นบทใหม่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปริญญานิพนธ์ของอังคณา แสงสว่าง เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
หนังสือความรู้เรื่องเมืองฉะเชิงเทรา ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์
หนังสือฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์
หนังสือจังหวัดฉะเชิงเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น