ขอกลับมาบอกกล่าวเล่าเรื่องราวในอดีตของลุ่มน้ำบางปะกง หากไม่มีอดีตให้ได้บังเกิดความภาคภูมิใจ ได้รับรู้ตัวตนในอดีต ปัจจุบันที่ไม่รู้เรื่องราวความเป็นมาอาจทำให้ความภาคภูมิใจกับเรื่องราวในปัจจุบันลดน้อยลง และอาจไม่ซาบซึ้งในการที่จะรักษาไว้ให้ถึงในอนาคต ส่งต่อความภาคภูมิใจไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในวันช้างหน้า สมดังวลีของทีมบางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต ว่า พินัยกรรมธรรมชาติ
แต่ทั้งนี้ก็จะบอกกล่าวเล่าเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของแม่น้ำบางปะกงของเราด้วย
จากตำนานหลวงพ่อพุทธโสธร ศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธที่สำคัญองค์หนึ่ง ท่านลอยน้ำมาด้วยกัน ๓ องค์ ตามตำนานเป็นพุทธศิลป์ที่เกิดจากจิตเลื่อมใสศรัทธาสร้างพระพุทธรูปเพื่อเสริมสร้างบารมีและเพิ่มพูนผลานิสงส์แห่งตนของสามพี่น้องทางเมืองเหนือที่หล่อพระพุทธรูป ตามวันเกิดของแต่ละคน อันมีปางสมาธิ ปางมารวิชัย และปางอุ้มบาตร มีการทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดาตามพิธีกรรมทางโหราศาสตร์เพื่อปลุกเสกแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
จึงขอเสนอเรื่องราวของหลวงพ่อที่เป็นเสมือนพี่น้องของหลวงพ่อพุทธโสธร คือหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโตวัดบางพลี อีกทั้งยังมีอีกตำนานที่กล่าวขวัญกันว่า หลวงพ่อที่ลอยน้ำมาและเป็นพี่น้องกันยังมีอีก ๒ องค์ คือหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา และหลวงพ่อวัดไร่ขิง รวมเป็น ๕ องค์
ประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรหล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่งขนาดส่วนสูง ๑๗๐ เซนติเมตรประดิษฐานยืนอยู่บนแท่น ภายในพระอุโบสถวัดบ้านแหลม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามตามประวัติที่จารึกกล่าวไว้ว่า
หลวงพ่อได้ล่องลอยน้ำลงมาจากทางเหนือพร้อมกัน ๓ องค์แสดงอภินิหารให้ผู้คนเห็นมาตลอดลำแม่น้ำเจ้าพระยา และครั้งหนึ่งได้ล่องลอยมาถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสนประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์ที่จะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นบนฝั่งช่วยกันเอาเชือกผูกมัดองค์หลวงพ่อแล้วช่วยกันฉุดลากแต่ก็ไม่สามารถจะนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้และท่านก็จมน้ำหายไปจากที่นั้น
ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้คนเห็นในที่ต่าง ๆ กันเรื่อยมาจนในที่สุดก็ได้มาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่ในพระอุโบสถวัดบ้านแหลมนี้จนถึงปัจจุบัน
ตำนานเดิมกล่าวว่าชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรีได้พากันมาตีอวนจับปลาในทะเลในขณะที่ลากอวนจับปลาอยู่นั้น ได้ลากพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา ๑ องค์ต่างพากันดีใจมากกว่ามาจับปลาแต่กลับมาได้พระพุทธรูปเห็นว่าคงจะเป็นลาภอันใหญ่หลวงแล้วจึงได้อาราธนาพระพุทธรูปนั้นขึ้นบนเรือ
แล้วพากันล่องกลับจากทะเลในระหว่างทางคงจะเป็นด้วยบุญบารมีของชาวบ้านแหลมคนในเรือคนหนึ่งได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปลอยปริ่ม ๆ น้ำอยู่ไม่ไกลจากเรือที่แล่นอยู่เท่าใดนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไปทุกคนต่างปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำได้ต่างพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น
ต่อจากนั้นก็ได้อาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่งแล้วพากันแล่นเรือกลับด้วยความดีใจเป็นที่สุดครั้นเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้าวัดศรีจำปาได้เกิดอาเพศคล้ายกับว่าหลวงพ่อประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้
จึงทำให้ฝนตกหนักลมพายุพัดจัดไม่ลืมหูลืมตาเรือลำที่หลวงพ่อบ้านแหลมประดิษฐานอยู่ทนคลื่นลมไม่ไหวประคองตัวไม่อยู่เรือเอียงวูบไปหลวงพ่อที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายลงไปในแม่น้ำชาวประมงบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายมากต่างช่วยกันเพียรดำน้ำค้นหาอยู่หลายวันจนอ่อนใจ ก็ไม่พบตกลงไม่ค้นหากันต่อไปอีกจึงนำพระพุทธรูปองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตนและนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี
กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างก็ช่วยกันลงดำค้นหาหลวงพ่อที่จมอยู่นั้นเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปาจึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาพบและอาราธนานำไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา
ชาวประมงบ้านแหลมครั้นรู้ข่าวเข้าว่าชาวบ้านศรีจำปาได้พระของตนที่จมน้ำนั้นแล้ว ก็ยกขบวนกันมาขอพระคืนแต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้นแต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อบ้านแหลม และการมีเหตุผลด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายก็ประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ทางฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมก็ยินยอมยกพระพุทธรูปที่ชาวบ้านศรีจำปางมได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีจำปาตามแต่ต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาทีแรกตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปาจึงได้นามว่าวัดบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้
เรื่องชื่อวัดบ้านแหลมยังมีอีกตำนาน ว่า "วัดศรีจำปา"สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา
ตามตำนานเล่าว่า ในปีพ.ศ.๒๓๐๗ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีอพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปาและเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแหลม" ตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตนชาวบ้านแหลมได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปาและเรียกวัดนี้ใหม่ว่า "วัดบ้านแหลม"ต่อมาวัดบ้านแหลมได้ยกฐานะขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร"
ตามประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลมเมื่อคราวที่ไปลอยวนอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน นั้นประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์จะอาราธนานิมนต์หลวงพ่อขึ้นฝั่งช่วยกันเอาเชือกพรวนผูกมัดแล้วช่วยกันฉุดลากก็ไม่สามารถนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้แล้วหลวงพ่อก็แสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปทั้ง ๓ องค์
ต่อมาทราบว่าองค์หนึ่งได้ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร คือหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
อีกองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ในคือ หลวงพ่อโต จังหวัดสมุทรปราการ
ตามที่ท่านแสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปครั้งนั้นหลวงพ่อได้แสดงอภินิหารให้เห็นว่าถ้าท่านไม่ประสงค์จะอยู่ในที่ใดแล้วให้มีคนมากกว่าสามแสนคนมาฉุดดึงท่านก็ไม่รับนิมนต์แต่พอถึงที่หน้าวัดบ้านแหลมท่านก็ยอมขึ้นแต่โดยดีมิต้องใช้เชือกมัดหรือใช้ผู้คนมากมาย ไม่ต้องฉุดดึงเพียงแต่เจ้าอาวาสในสมัยนั้นกับชาวบ้านเพียงไม่กี่คนอาราธนาอัญเชิญหลวงพ่อถูกต้องตามพิธีการท่านก็รับนิมนต์ยอมขึ้นมาประดิษฐานอยู่ประจำวัดเป็นมิ่งขวัญตลอดมา
เมื่อได้หลวงพ่อมาแล้วชาวบ้านก็ได้อาราธนานำท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดบ้านแหลมและทำพิธีจัดงานสมโภชฉลององค์หลวงพ่อกันอย่างครึกครื้นแล้วพากันขอความศักดิ์สิทธิ์จากหลวงพ่อให้ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาไม่เว้นแต่ละวันหลวงพ่อวัดบ้านแหลมมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนความศักดิ์สิทธิ์ประการใดบ้างนั้น เหลือที่จะพรรณนาให้ละเอียด
หมายเหตุ
ประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลม มีอีกหนึ่งตำนาน
สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มี"ตำนานหลวงพ่อบ้านแหลม" อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๗ ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ซึ่งไปลากอวนหาปลาที่ปากน้ำแม่กลอง อวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมา สององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่วัดตะเครา เมืองเพชรบุรี วัดศรีจำปานี้ต่อมาได้ชื่อว่า วัดบ้านแหลม แลต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทวรวิหาร
บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจาก บาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำ ก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลองจึงนับได้ว่า หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม นั้นเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยทั่วประเทศ มีผู้คนไปสักการะกราบไหว้ทุกวัน ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลม ที่ใคร ๆไปกราบไหว้ขอพรแล้วมักสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา
บางข้อมูลกล่าวว่าหลวงพ่อวัดบ้านแหลมส่วนองค์พระสูง ๑๖๗ เซนติเมตร และหลวงพ่อปรากฎองค์หน้าวัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=1423
http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5331501
สารานุกรมวิกิพี้ดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น