แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ...พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน...
วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557
ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๑
ชาติภูมิกำเนิด
พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยะพาหะ เจ้ากรมพระอาลักษณ์และองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นามเดิมน้อย ต้นสกุลอาจารยางกูร เป็นบุตรคนที่ ๖ ของนายทองดีและนางบัว ท่านเกิด ณ บ้านบิดามารดาของท่านในคลองโสธร แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อ วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๔๑ (วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ ) ในปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ทรงครองราชสมบัติ ปีพ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๓๖๗ )
คลองโสธรในปัจจุบัน
๒. การศึกษา
เมื่ออายุได้ประมาณ ๖ หรือ ๗ ปี เรียนหนังสือไทยกับหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ (ไทย) กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายคนใหญ่ ในเวลานั้นหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดโสธร
เมื่ออายุ ๑๓ ปี ท่านได้เข้าไปศึกษาต่อในพระนครอยู่กับสามเณรน้าชายชื่อ ทัด ณ วัดสเกษ (วัดสระเกศราชวรวิหาร )
เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรเป็นเวลา ๘ ปี ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและคัมภีร์ต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจ วิริยะ อุตสาหะ ดังนี้
๑. เรียนหนังสือไทยกับพระกรรมวาจาจารย์ (จัน)
๒. เรียนหนังสือขอมกับพระครูวิหารกิจานุการ (กรรมวาจาจีน)
๓. เรียนคัมภีร์สารสงเคราะห์ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
๔. เรียนคัมภีร์มงคลทีปนีในสำนักพระอุปัชฌาย์ (ศุข)
๕. เรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน)
๖. เรียนคัมภีร์กังขาวิตะระณี ในสำนักอาจารย์เกิด (วัดแหลม)
๗. เรียนคัมภีร์มหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง
๘. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ ในสำนักพระครูปาน
๙. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ กับพระใบฎีกาแก้ว
๑๐. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ กับพระอาจารย์คง
๑๑. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ กับอาจารย์ด้วง
๑๒. เรียนวิภัตติกะถาคัณฐาภรณ์สัตถสาร วชิรสารในสำนักอาจารย์แสง (เป็นคฤหัสถ์ )
๑๓. เรียนวุตโตไทย ในสำนักหม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก ( เป็นคฤหัสถ์ )
๑๔. เรียนพระปริยัติธรรม เรียนคัมภีร์วิสุทธิมรรคกับพระวิเชียรปรีชา (กลิ่น) เจ้ากรมราชบัณฑิตที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
๑๕. ศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชโดยฝากตัวเป็นสานุศิษย์ฝ่ายอันเตวาสิก มีพระธรรมการบดี (ศุก) เมื่อยังบวชเรียนเป็นธุระสั่งสอน
วัดโสธร
ในปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ ( พ.ศ. ๒๓๘๕ )เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทที่วัดสเกษ หลังจากการอุปสมบทได้ ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระอาจารย์อื่น ๆ ต่ออีก ๓ พรรษา
ท่านได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะที่ วัดราชบูรณะ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ในขณะ บวชได้ ๓ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยินดี ด้วยวัดสเกษสมัยนั้นขาดเปรียญเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่ รื้อกุฏิเก่าฝาจากฝาไม้ไผ่ออก แล้วก่อสร้างกุฏิตึกใหม่ให้เป็นที่เสนาศนอันงดงามและก่อสร้างภูเขาทองในปีนั้นด้วย
วัดสเกษ (วัดสระเกศราชวรวิหาร )
ในพรรษาที่ ๖ ท่านได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สอบได้เปรียญเอก ๗ ประโยค
ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
ใน พ.ศ. ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระมหาน้อยเป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิสุตคุณ” เป็นพระราชาคณะ(ชั้นสามัญ) อยู่ในวัดสระเกษ (สระเกศราชวรวิหาร) พระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ มีฐานานุกรม ๓ องค์คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา
ต่อมา พระประสิทธิสุตคุณขอถวายพระพรลาสิกขาบท เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ. ศ. ๒๓๙๖
ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ๘ ปี (พ.ศ. ๒๓๗๘ – พ.ศ. ๒๓๘๕)
รวมเวลาการอุปสมบท ๑๑ ปี
สำหรับเรื่องราวของพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)ในขณะได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิสุตคุณ” นั้น หากค้นหาเรื่องราวของอดัีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศจะพบข้อมูลดังนี้
พระราชาคณะ ที่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศมาแต่ก่อนนั้น ที่มีจดหมายเหตุ และพอที่จะสืบทราบความได้มีลำดับดังนี้ คือ
๑. สมเด็จพระวันรัต (อาจ) เป็นพระราชาคณะมาแต่ในรัชกาลที่ ๑
๒. สมเด็จพระวันรัต (ด่อน) เห็นจะเป็นพระราชาคณะมาแต่ในรัชกาลที่ ๑
๓. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) อยู่วัดสระเกศ มาแต่เดิม ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณวิริยะ เมื่อรัชกาลที่ ๒ จนถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่ พระ พรหมมุนี แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระพุฒาจารย์ เมื่อปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ พุทธศักราช๒๓๘๖ ถึง รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลื่อนยศเป็นสมเด็จ พระพุฒาจารย์เมื่อปีกุญ ตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ พุทธศักราช ๒๓๙๔ อยู่มาจนปลายรัชกาลที่ ๔ ในเวลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) เป็นเจ้าอาวาสนั้น มีพระราชาคณะอีกองค์หนึ่ง คือ พระประสิทธิสุตคุณ (น้อย) เป็นเปรียญเอกอยู่วัดสระเกศมาแต่เดิมลาสิกขาเมื่อรัชกาลที่ ๔ไปทำราชการในกรม
พระอาลักษณ์ ได้เลื่อนยศโดยลำดับจนเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้เป็นอาจารย์ของเจ้านายแลข้าราชการเป็นอันมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://watsrakesa.makewebeasy.com/customize-อดีตเจ้าอาวาส-4463-1.html
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น