กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา
" กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา "
ขอขอบคุณกรมประมงที่จัดทำสื่อวรรณศิลป์เรื่องกาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา ชุดนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ
พรรณปลาในวรรณคดีไทย
กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา
พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
กาพย์เห่เรือ (กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
" บทเห่ชมปลา
โคลง
พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์ แจ่มหน้า
มัตสยาย่อมพัวพัน พิศวาส
ควรฤพรากน้องช้า ชวดเคล้า คลึงชม
กาพย์
พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัตสยายังรู้ชม สาสมใจไม่พามา
นวลจันทร์ เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือน เบือนหน้าม ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย
เพียนทอง งามดั่งทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย ดั่งสายสวาทคลาดจากสม
แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกกรม เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง
น้ำเงินคือเงินยวง ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี
ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร
หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
ปลาสร้อยลอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
ปลาเสือเหลือที่ตา เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง ดูแหลมล้ำขำเพราคม
แมลงภู่คู่เคียงว่าย เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง
หวีเกศเพศชื่อปลา คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม
ชะแวงแฝงฝั่งแนบ ชะวาดแอบ แปบปนปลอม
เหมือนพี่แอบแนบถนอม จอมสวาทนาฏบังอร
พิศดูหมู่มัจฉา ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร มาด้วยพี่จะดีใจ
นอกจากสื่อวรรณศิลป์ชุดนี้จะสื่อถึงความจงรักภักด่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยแล้ว
ยังทำให้ซาบซึ้งกับบทร้อยกรองคำประพันธ์ของโคลงและกาพย์
อีกทั้งยังได้ความรู้เกี่ยวกับพรรณปลาน้ำจืดต่าง ๆ ๑๗ ชนิด ซึ่งสื่อวรรณศิลป์ชุดนี้ได้แยกพรรณปลาแต่ละชนิดออกมาเป็นบทย่อย อีก ๑๗ บท ให้เป็นความรู้เชิงวิชาการ
ทำให้รู้สึกต้องรักษา คู คลอง หนอง บึง แม่น้ำทุก ๆ สาย ทะเลและมหาสมุทรทุกแห่งไว้ให้เป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยของปลาน่ารัก ๆ ทั้งหลายดังที่ปรากฏชื่อในบทเห่ชมปลานี้ และพรรณปลาทั้งมวลที่มีในโลกใบนี้ของเรา รวมไปถึงสัตว์น้ำ อื่น ๆ ไม่ว่า กุ้ง หอย ปู ฯลฯ
สำหรับแม่น้ำบางปะกง เท่าที่ติดตามพันธุ์ปลาในบทพระนิพนธ์นี้ แม่น้ำบางปะกงไม่มีปลานวลจันทร์
ส่วนปลาหวีเกศ เคยเป็นปลาที่มีในลุ่มน้ำบางปะกงตอนเหนือไปทางต้นน้ำทางจังหวัดปราจีนบุรี แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากลำน้ำทุกสายในเมืองไทยแล้ว
แต่ก็มีการพบปลาหวีเกศพันธุ์ใหม่ เรียกกันว่า ปลาหวีเกศพรุ
ปลาหวีเกศพรุ
ขอขอบคุณภาพจากวิิกิพีเดีย
"ปลาหวีเกศพรุ" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudeutropius indigens
"ปลา" ซึ่ง ถูกค้นพบในโครงการสำรวจพันธุ์ปลาในป่าพรุจากแหล่งน้ำคลองปลักปลา ใกล้กับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และคลองรอบๆ พรุโต๊ะแดง ังหวัดนราธิวาส โดยเป็นการทำงานร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ นั้น เป็นปลาพรุชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า "ปลาหวีเกศพรุ" ซึ่งได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudeutropius indigens และได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสารนานาชาติ Zootaxa เมื่อปลายปี พ.ศ ๒๕๕๔
หลังจากใช้เวลาตรวจสอบอนุกรมวิธานนาน ๑๖ ปี
"ปลาหวีเกศพรุ" มีลักษณะ คล้ายปลาสังกะวาด แต่มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวเล็ก มีซี่กรองเหงือกจำนวน ๓๓- ๓๕ อันที่โครงแรก และมีครีบก้นค่อนข้างยาว มีก้านครีบก้น ๓๗ - ๔๑ ก้าน ปากเล็ก มีฟันแหลมซี่เล็กๆ จำนวนมาก มีหนวดเส้นยาวเรียว ๔ คู่ โดยหนวดยาวเลยครึ่งของลำตัว ถือเป็นปลาหนังขนาดเล็ก มีความยาวลำตัวประมาณ ๗ เซนติเมตร
ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้เป็นคำภาษาละตินที่หมายความว่า "มีน้อยกว่า" จาก ลักษณะของจำนวนซี่กรองเหงือกและก้านครีบก้นซึ่งมีน้อยกว่าปลาที่มีรูปร่าง คล้าย ๆ กัน ชนิดที่พบทางเกาะสุมาตรา และนั่นทำให้เจ้าปลาหวีเกศพรุจัดเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก
"ปลาหวีเกศพรุเป็นปลาที่พบน้อย แต่ก็ถูกจับไปขายเป็นปลาสวยงามเป็นครั้งคราวรวมกับปลาพรุชนิดอื่นๆ หรือถูกจับปนไปกับปลาที่กินได้ขนาดเล็กต่างๆ พบอาศัยอยู่ตามบริเวณลำน้ำสาขารอบๆ ป่าพรุโต๊ะแดง และในแม่น้ำโก-ลก นอกจากนั้นยังพบในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำตาปี และอาจพบในแม่น้ำกลันตันของมาเลเซียด้วย"
"ปลาหวีเกศพรุเป็นปลาหนังขนาดเล็กที่ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความสนใจนัก มักถูกเรียกรวม ๆ ว่าปลาผี หรือปลาก้างพระร่วง
ที่ป่าพรุที่ยังเหลือ ปลาอย่างน้อย ๒๙ วงศ์ ๑๐๑ ชนิด สัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น กุ้ง ปู มากกว่า ๕ ชนิด และหอย ๓ ชนิด บริเวณพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับโลก หรือ "แรมซาร์ ไซต์" (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) พบปลาอย่างน้อย ๙๔ ชนิด จากการสำรวจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีปลา ๒ ชนิดที่เคยได้รับการรายงานว่าพบเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ คือ ปลาสร้อยนกเขาพรุ หรือ Osteochilus spilurus และปลาพังกับ หรือ Channa melasoma ล่าสุดคือ "ปลาหวีเกศพรุ" ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ว่าเป็นปลาพรุชนิดใหม่ของโลก แต่น่าเสียดายว่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลาที่ใกล้สูญพันธุ์มากด้วย
ปลาหวีเกศที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วีดีทัศน์กรมประมง
ปลาหวีเกศพรุ จาก http://www.prachathon.org/forum/index.php?topic=4415.0
ปลาหวีเกศ จาก วิกิพีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น