แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ...พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน...
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557
ลุ่มน้ำบางปะกง ๘ อดีตกาลผ่านมา ๔
ปาหนันอ่างฤาไน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.nanagarden.com/ปาหนันอ่างฤาไน%5E1-11.html
ตำนานสานสืบธรรมชาติป่าดงพงไพร เขาอ่างฤาไน ป่าสมบูรณ์สุดท้ายของภาคตะวันออก
เป็นป่าลุ่มต่ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ไม้ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่า คือไม้ตะแบกใหญ่ ซึ่งมีฤดูกาลที่จะออกดอกสีสันสดใส สวยสะพรั่งไปทั้งป่า
ป่าผืนนี้รอดพ้น วิกฤติมาได้อย่างไร เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อยที่ฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ฯ ไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตร และเป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว (จนปัจจุบันเป็นกึ่งเมืองอุตสาหกรรมไปแล้ว ) จะเป็นดินแดนที่มีป่าไม้กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคตะวันออก
ป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า "พนมสารคาม " ซึ่งในอดีตเคยมีอาณาเขตไพศาล ติดต่อกับป่าในประเทศกัมพูชา ป่าเขาสอยดาวของจังหวัดจันทบุรี และป่าเขาชะเมาจังหวัดระยอง จึงอุดมด้วยไม้มีค่าและได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุดในประเทศ
เคยมีเรื่องเล่าจากพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกงเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว ว่า กลุ่มพ่อค้าไทยที่ไปซื้อควายและสินค้าอื่น ๆ จากกัมพูชาต้องเดินทางผ่านป่าผืนนี้ โดยเริ่มเข้าป่าที่พนมสารคาม (ชื่ออำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา) ผ่านวังน้ำเย็น และคลองหาด (เดิมเป็นอำเภอในจังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดสระแก้ว) กว่าจะเข้าเขตกัมพูชาได้ ต้องใช้เวลาถึงเดือนครึ่ง ป่าในขณะนั้นหนาทึบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเบียดเสียดหนาทึบ และตลอดเส้นทางที่พักแรมต้องจัดเวรยามตลอดเวลาเพื่อระแวดระวังภัยจากสัตว์ร้าย ที่มักลอบมาทำร้ายผู้เดินทาง
คุณค่าของป่าแห่งนี้เหลือคณานับ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงเส้นเลือดใหญ่ของชาวฉะเชิงเทรา ลำธารที่ไหลลงแม่น้ำบางปะกงคือ คลองระบม คลองสียัดและคลองตะเกรา ทางตะวันออกของบริเวณเทือกเขาสิบห้าชั้นเป็นต้นน้ำลำธารคลองของคลองพระสะทึงใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง ส่วนด้านจันทบุรีมีคลองโตนด ต้นน้ำที่เกิดจากเทือกเขาสิบห้าชั้นแล้วไหลลงสู่ทะเล ด้านชลบุรีและระยองก็มีลำห้วยหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำประแสร์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดระยอง ในฤดูฝน ป่าแห่งนี้จะดูดซับน้ำไว้มิให้ไหลลงสู่แม่น้ำมากเกินไปจนเกิดอุทกภัย และพอถึงหน้าแล้งก็จะปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำลำธาร ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและบำรุงพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม
ขอขอบคุณภาพจากwww.thailandbestway.com
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทึบแห่งนี้เริ่มแปรเปลี่ยนไปเมื่อมีการก่อสร้างทางหลวงสายอู่ตะเภา-กบินทร์บุรี-โคราช ในปี ๒๕๐๖ ซึ่งแบ่งแยกป่าภาคตะวันออกกับป่าภาคอีสานออกจากกัน ตามด้วยเส้นทางจากสระแก้วไปโป่งน้ำร้อน (ปัจจุบันคืออำเภอสอยดาว) ซึ่งตัดพื้นที่ป่าไทยออกจากป่ากัมพูชาอีก ถนนหลวง ได้นำพาผู้คนจากภาคต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานและถางป่าเพื่อทำกิน ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือพื้นที่ป่าภาคตะวันออกได้มีผู้รับสัมปทานทำไม้เป็นเวลานาน ป่าไม้จึงถูกทำลายลงจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม สัตว์ป่าถูกล่าจนเหลือน้อยลงทุกที ป่าพนมสารคามหมดสภาพ และถูกแบ่งออกเป็น อำเภอสนามชัยเขต ในวันนี้ พื้นที่ป่าในอำเภอพนนมสารคามและสนามชัยเขตได้สูญสลายไปแล้วอย่างสิ่นเชิง
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้รายงานว่า ในเขตสัมปทานป่าไม้ของบริษัทเอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด บริเวณป่าโครงการคลองตะเกรา (ฉช.๒ ) ส่วน ก. ตอนที่ ๘ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสนามชัยเขต ๖๙ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา ๑๒๐ กิโลเมตร ได้สำรวจ พบน้ำตกแห่งหนึ่งมีความสวยงามและบริเวณดังกล่าวเป็นป่าดงดิบ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นานาชนิด เห็นควรจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป
ขอขอบคุณภาพจากwww.thaimtb.com
กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และได้พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเสนอมานั้นให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และได้ดำเนินการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าโครงการคลองตะเกรา (ฉช.๒) ส่วน ก. ตอนที่ ๗,๘,๙ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๐ กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน รวมเนื้อที่ ๖๗,๕๖๒.๕ ไร่ มีหน่วยพิทักษ์ป่า ๔ หน่วย ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้นและหมดไป
โชคดีที่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐบาลได้กันพื้นที่กิ่งอำเภอท่าตะเกียบ ( ปัจจุบันยกขึ้นเป็นอำเภอ) ซึ่งแบ่งแยกออกอำเภอสนามชัยเขต ไว้เป็นป่าอนุรักษ์ได้ทันท่วงที และประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในชื่อว่า "เขาอ่างฤาไน "
และใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ประกาศพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นป่ารอยต่อห้าจังหวัด เพราะมีอาณาเขตครอบคลุมต่อถึงห้าจังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ขณะนี้พื้นที่ป่าในจังหวัดปราจีนบุรี คือส่วนที่เป็นจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน และวังน้ำเย็นไม่มีป่าเหลืออยู่แล้ว อำเภอบ่อทองของชลบุรีก็เช่นเดียวกัน ส่วนเขตเขาชะเมาของระยองก็ถูกตัดขาดด้วยไร่อ้อยที่รายรอบ
ขอขอบคุณภาพจากbbznet.pukpik.com
ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาขยายพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน เพิ่มอีก ๕ แสนกว่าไร่ รวมเป็น ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ โดยผนวกพื้นที่รอยต่อของจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี บางส่วนเข้ามาร่วมอยู่ด้วยและพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อรักษาป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธารของรอยต่อ ๕ จังหวัด โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่รอยต่อ ๕ จังหวัด
เขาอ่างฤาไน มีเนื้อที่ ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ ทิศเหนือครอบคลุมอำเภอท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันออกครอบคลุมอำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดสระแก้วและอำเภอโป่งน้ำร้อน (ปัจจุบันคืออำเภอสอยดาว) จังหวัดจันทบุรี ทิศตะวันตกอยู่ในอำเภอบ่อทองจังหวัดชลบุรี และทิศใต้อยู่อำเภอแกลงจังหวัดระยอง กิ่งอำเภอหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
" เขาอ่างฤาไน" จึงเป็นผืนป่าสมบูรณฺ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออกจริง ๆ
ขอขอบคุณภาพจากwww.siamfishing.com
ตำนานป่าเขาอ่างฤาไนจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีการเริ่มต้นจากพ่อเมืองแปดริ้ว ขอแสดงความขอบคุณมายังอดีตพ่อเมืองทั้งสามท่าน ที่มาดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาของ ตำนานป่าเขาอ่างฤาไน
พลตรีวิทย์ นิ่มนวล ๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ - ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๗
นายสุจินต์ กิตยารักษ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ - ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๒
นายสุกิจ จุลละนันทน์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๒ - ๒ ตุลาคม ๒๕๒๖
แต่ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าสุจินต์ กิตยารักษ์ ท่านเป็นชาวแปดริ้ว เป็นลูกแม่น้ำบางปะกงโดยตรงของแท้แน่นอน
และขอขอบคุณอดีตท่านนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาสำคัญของป่าเขาอ่างฤาไน ทั้งสองท่านคือ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ระหว่าง ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
และขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยถึงอธิบดีกรมป่าไม้และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งล้วนมีส่วนในการผลักดันคำเสนอขอจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินต่อ
ท่านทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เรามีภาพสวยงามของป่าเขาอ่างฤาไน อ่่างเก็บน้ำแควระบมสียัด น้ำตกบ่อทอง
ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.facebook.com/bangpakongramsar
ติดตามอ่านความอุดมสมบูรณ์ของ ป่าเขาอ่างฤาไนเพิ่มเติมได้ที่
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_04.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_05.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_06.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_09.html
http://bangkrod.blogspot.com/2011/10/blog-post_10.html
รุ่งอรุณโณทัยในลำน้ำบางปะกง
ขณะนี้มีชาวเมืองแปดริ้วส่วนหนึ่งจากหลาย ๆ อำเภอรวมพลังกันจากหลายภาคส่วน ที่จะผลักดัน แม่น้ำบางปะกง ซึ่งปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของชาตินั้น ให้ยกระดับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ Ramsar Site โดยจะสืบสานตามท่านพ่อเมืองผู้ผลักดันป่าเขาอ่างฤาไน เป็น
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน.
จากวันนั้นมาจนบัดนี้ จึงมีภาพสวยงามอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ สัตว์ป่า นานาชนิด นกมากมายหลายชนิด สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ ยั่งยืนมาจนทุกวันนี้.
อาทิตย์อัสดงในลำน้ำบางปะกง
คณะผู้ผลักดันแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมชาร์ไซต์ ก็มุ่งหวังจะเก็บความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำบางปะกงให้คงอยู่่เป็นมรดกทางธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน แม้ว่าขณะนี้ได้ถูกทำลายไปหลาย ๆ ส่วนแล้ว หากไม่สามารถอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกงไว้ ..วันหน้า ก็คงเกิดประโยคว่า
ความอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ชายเลน สัตว์น้ำนานาขนิด สัตว์ที่อยู่เหนือน้ำขี้นมาในป่าชายเลน และภาพอาทิตย์แรกอรุโณทัย อาทิตย์อัสดง และอาทิตย์ที่ลับลงกับสายน้ำ จะเหลือเป็นเพียงตำนานเล่าขานเพราะ สูญสลายไปไม่อาจจะได้พานพบอีกแล้วด้วยคนในรุ่นนี้เอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เป็นป่าผืนสุดท้าย ของชาวบูรพาแห่งสยามอย่างแท้จริง
ตอบลบ