บางปะกง...นามนี้ได้แต่ใดมา
" บ้านบางมังกง "
ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น
ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน
เหม็นแต่กลิ่นคาวอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่
ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพสไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย
ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย
จากนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่
อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เคยอธิบายในหนังสือชีวิตและงานของสุนทรภู่ โดยสันนิษฐานว่าบ้านบางมังกง อาจหมายความถึงบ้านที่มีปลามังกง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง คำว่าบางปะกงอาจเรียกย่อมาจากบางปลามังกง เป็นบางปะกง ก็เป็นได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปลาที่มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำนี้คือปลาอีกงซึ่งเป็นปลาแขยงสายพันธุ์หนึ่งนั่นเอง ปลาอีกงจะออกหากินเป็นฝูงใหญ่ตามชายฝั่งเป็นปลาที่รักษาความสะอาดให้แก่แหล่งน้ำได้ดีมาก
หรือว่า.....บางปะกงอาจมาจากคำภาษาจีน ว่า มัง-ก๋า-กง
เล่ากันว่า ในอดีตที่อำเภอบางปะกง ในเวลาพลบค่ำมียุงชุกชุมมาก ถึงขนาดต้องกินข้าวกันในมุ้ง เคยมีเรือสำเภาจีนมาจอดทอดสมอถูกยุงรุมตอมกัดได้พูดเป็นภาษาจีนว่า "มัง-ก๋า-กง " ชาวบ้านได้ยินก็ขบขัน ต่อมาเวลาที่ยุงมาก ๆ ชาวบ้านก็จะพูดคำว่า มัง-ก๋า-กง และยุงเพิ่งลดปริมาณลงเมื่อไม่นานมานี่เอง
( ที่มาของข้อมูล ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙ พ.ศ.๒๕๕๐ )
ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามีชาวจีนอพยพมาจากประเทศจีนที่เรามักเรียกกันสมัยก่อนว่าจีนแผ่นดินใหญ่มาประเทศไทยกันมาก เฉพาะที่เมืองฉะเชิงเทรานั้นเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากเมืองท่าเช่นกรุงเทพ ฯ จันทบุรี และชลบุรี และชาวจีนที่มาจากประเทศจีนโดยตรง
ใน พ.ศ. ๑๘๒๒ เมื่อสิ้นราชววงศ์ซ้องชาวจีนก็พากันหลบหนีพวกมองโกล ไปสู่ที่ต่าง ๆ เช่นเกาะไหหลำและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (วิลเลียมจี,สกินเนอร์ ( ๒๕๒๙ ) หน้า ๓๑ )
และใน พ.ศ. ๒๑๘๗ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์หมิง ชาวจีนก็หลบหนีพวกแมนจูอีก ชาวจีนเหล่านี้ส่วนมากหนีไปตั้งรกรากทางหมู่เกาะทะเลใต้ เช่นเกาะไหหลำ ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ ( ๒๕๑๗ )ชาวจีนในประเทศไทย หน้า ๒ )
นอกจากนี้ยังเกิดกบฏและสงครามหลายครั้ง เช่นสงครามฝิ่น ระหว่างจีนกับอังกฤษ (จำนงค์ ทองประเสริฐ ( ๒๕๑๐ ) บ่อเกิดลัทธิประเทศจีน ภาค ๕ หน้า่ ๔๘
กบฏไต้เผ็ง (จำนงค์ ทองประเสริฐ แแหล่งเดิม หน้า ๓๗-๘๕ )
ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยให้ประชาชนชาวจีนอพยพออกจากประเทศ ชาวจีนเดินทางภายในประเทศจีนเองก่อนมุ่งมายังเมืองต่าง ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ และลงเรืออีกทอดหนึ่งไปยังประเทศที่ต้องการ
เจิ้งเหอ จ้าวแห่งท้องทะเล
ขอขอบคุณภาพจากhttp://kaeake.blogspot.com/2013/01/blog-post.html
นอกจากการอพยพหนีภัยสงครามและความอดอยากแล้ว
เส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนนั้น เส้นทางการค้าจากจีนมาไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง อันเป็นภาระกิจของมหาขันทีเจิ้งเหอจ้าวแห่งท้องทะเล (ในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิหมิงเฉิ่งจู่ หรือ จักรพรรดิหย่งเล่อ กษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์หมิง ทรงครองราชย์ ในปี พ.ศ. ๑๙๔๕ - ๑๙๖๗ ) ได้รับมอบหมาย
จักรพรรดิหย่งเล่อทรงโปรดให้ต่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เป็นเรือสำเภา เรียกว่า "เป่าฉวน" แปลว่า "เรือมหาสมบัติ" แล้วทรงโปรดให้เจิ้งเหอ เป็นผู้บัญชาการเรือออกเดินทางทางทะเล ด้วยภาระกิจ ๔ ภาระกิจ โดยภาระกิจหนึ่งในสี่นั้นคือบุกเบิกการค้าทางทะเล
เจิ้งเหอเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยารวม ๔ ครั้ง จากจำนวนการออกเดินทางทะเลทั้งหมด ๗ ครั้ง
ครั้งแรก และครั้งที่สอง ในรัชสมัย พระรามราชาธิราช
ครั้งที่สามและครั้งที่สี่ ในรัชสมัย สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์)
มีบทความของเจิ้งเหอที่ http://bangkrod.blogspot.com/2011/11/blog-post_11.html
ดังนั้นการที่มีชาวจีนมาอยู่ที่อำเภอบางปะกง ทั้งมาโดยเรือสำเภาเพื่อค้าขาย และชาวจีนที่มาตั้งหลักแหล่งในอำเภอบางปะกง จนมีคำว่า มัง-ก๋า-กง ก็นับว่าเป็นเหตุผลที่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำของอำเภอบางปะกง
ขอขอบคุณภาพจากwriter.dek-d.com
เรื่องที่อำเภอบางปะกงมียุงชุกชุมมากนี้ ยังเป็นตำนานที่มาของตำบลท่าสะอ้านของอำเภอบางปะกงด้วย
กล่าวคือการเดินทางในสมัยก่อนที่อำเภอบางปะกงยังไม่มีการสร้างถนน ต้องใช้การลัดเลาะมาทางป่าจากและป่าแสม ทางส่วนใหญ่พุเป็นโคลนมียุงชุกชุมมาก กว่าจะมาถึงบริเวณท่าข้ามแม่น้ำตรงที่ตั้งตำบลท่าสะอ้านในปัจจุบัน ผู้เดินทางมาถึงกับสะอื้นเพราะความยากลำบากในการเดินทาง จึงพากันเรียกท่าข้ามนี้ว่า “ท่าสะอื้น” ต่อมาคงเห็นว่าคำว่า “สะอื้น” เป็นคำไม่ไพเราะจึงเรียกเพี้ยนไปเป็น “ท่าสะอ้าน” ต่อมามีชุมชนหนาแน่นขึ้นทางการจึงได้ตั้งเป็นตำบลเรียกว่าตำบลท่าสะอ้าน
ส่วนข้อสันนิษฐานของอาจารย์ ธนิต อยูโพธิ์เรื่องปลามังกง หรือปลาอีกงนั้น ก็มีน้ำหนักไม่แพ้กัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ มักใช้เหตุผลนี้ในการอ้างถึงที่มาของชื่อ "บางปะกง"
ขอขอบคุณภาพจากlegendtheworld.blogspot.com
ขอเสนอรายละเอียดของปลามังกงหรืออีกง ซึ่งคือพรรณปลาแขยงนั่นเอง
ในครั้งกรุงศรีอยุธยา ปลาแขยง เรียกกันว่าปลาชะแวง นับเป็นปลาที่มีชุกชุมตามลำน้ำทั่วไป
แม้แต่ในเส้นทางเสด็จทางชลมารคของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี โดยมีเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้งพระราชโอรสตามเสด็จ
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ทรงนิพนธ์กาพย์เห่เรือขึึ้นสำหรับเห่เรือส่วนพระองค์ที่ตามเสด็จ
ขอขอบคุณภาพจากwww.manager.co.th
กาพย์ยานี ๑๑
ชะแวงแฝงฝั่งแนบ ชะวาดแอบแปลบปนปลอม
เหมือนพี่แนบแอบถนอม จอมสวาทนาฎบังอร
กาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
ปลาแขยงปรากฏฃื่อในกาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ว่าปลาชะแวง
ปลาชะแวงหรือปลาแขยงมีหลายชนิด เช่น ปลาแขยงข้างลาย ปลาแขยงหิน ปลาแขยงหมู ปลาแขยงนวล ปลาแขยงใบช้าว ปลาแขยงกง และปลาแขยงธง ซึ่งในปัจจุบันจะไม่ค่อยได้พบเห็นปลาแขยงธงกันแล้ว
ซึ่งโดยรวมแล้วปลาชะแวงหรือปลาแขยงจัดเป็นปลาขนาดเล็ก เป็นปลาหนัง (ไม่มีเกล็ด )
อยู่ในวงศ์ปลากด มีหนวดยาว ๔ คู่ ครีบหลังมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคม ครีบหูมีเงี่ยงคมข้างละอัน
ปลาแขยงโดยทั่วไปชอบอพยพไปที่น้ำท่วม ในช่วงฤดูน้ำหลาก
สำหรับปลาชะแวงหรือปลาแขยงที่เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับแม่น้ำบางปะกง คือ ปลาแขยงกง
ขอขอบคุณภาพจากจ้าวน้อยฟิชชิ่ง
ปลาแขยงกง อีกง มังกง
ปลามังกง หรือปลาอีกง หรือปลาแขยงกง
ชื่อ (อังกฤษ: Long-whiskered catfish)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mystus gulio
อยู่ในวงศ์ปลากด (Bagaridae)
.
ปลาอีกง มังกง หรือแขยงกง เป็นปลาน้ำจืด และน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง เป็นปลาหนัง (คือปลาไม่มีเกล็ด )
มีลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมหนา ปกติมีสีเทาอมทอง หรือเทาอมม่วง ท้องมีสีขาว
อาหารของปลาอีกง คือ ลูกกุ้งกุ้ง ลูกปลา ตัวอ่อนของแมลง ตลอดจนสัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนพืชและแพงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร
เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ ๑๒ - ๑๕ เซนติเมตรพบใหญ่สุดถึง ๔๖ เซนติเมตร
ปลาอีกงเป็นปลาที่พบบริเวณแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ติดต่อกับทะเล โดยเฉพาะบริเวณน้ำกร่อย สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย เนื่องจากมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ ระหว่าง ๐-๓๐ ส่วนในพันส่วน
(ปลาแขยงข้างลาย -สื่อการอยู่รวมกันเป็นฝูง)
นิสัย
ชอบว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูง อาศัยอยู่กันเป็นฝูงใหญ่บริเวณน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำ
มีการแพร่กระจายทั่วไปในอินเดีย พม่า ศรีลังกา คาบสมุทรมาเลย์ สุมาตรา บอร์เนียว
สำหรับประเทศไทยพบมากในบริเวณแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำจันทรบูร แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน
ปลาอีกง นั้นมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ปลาแขยง ปลากด หรือ ปลาแขยงกง
ปลามังกง หรือ ปลาอีกง หรือแขยงกง พบชุกชุมที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งกล่าวกันว่าคำว่า "บางปะกง" นั้นก็เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "บางมังกง" นั่นเอง
ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ และนิยมรวบรวมลูกปลาวัยอ่อนขายเป็นปลาสวยงามด้วย มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝน โดยจะว่ายไปวางไข่ในบริเวณน้ำจืด
ปลาอีกงเพาะพันธุ์ได้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ใช้พ่อ-แม่พันธุ์อายุประมาณ ๑ ปีขึ้นไป โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ และนำลูกปลาไปอนุบาลต่อในบ่อดินจนอายุประมาณ ๓๐ วัน จะได้ขนาด ๒- ๓ เซนติเมตร
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาอีกง เพื่อปล่อยตามแหล่งน้ำ และจำหน่ายให้เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน ใช้เวลาเลี้ยง ๘ เดือน ถึง ๑ ปี สามารถเก็บผลผลิตขายได้ราคาดี
เมนูที่นิยมนำไปประกอบอาหาร คือ
ฉู่ฉี่ปลาอีกง ปลาอีกงแดดเดียว แกงป่าปลาอีกง แกงส้มปลาอีกงเป็นต้น
ฉู๋ฉี่ปลาแขยง
ขอขอบคุณภาพจากwww.siamfishing.com
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรีประกาศราคาจำหน่ายลูกปลาอีกง ขนาด ๒- ๓ เซนติเมตร ตัวละ ๑๕ สตางค์ และลูกปลาขนาด ๓-๕ เซนติเมตร ตัวละ ๒๕ สตางค์
ต้นทุนการเลี้ยงปลาอีกงชนิดเดียวในบ่อดินจากการสำรวจในจังหวัดเพชรบุรี โดยเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป มีอัตราการปล่อยอยู่ที่ ๒๐,๐๐๐ ตัว/ไร่ ขนาดลูกปลา ๒- ๓ เซนติเมตร/ตัว ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง ๑๐ เดือน มีอัตรารอด ๘๐% จึงจะได้ขนาด ๓๐ ตัว/กก. ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ ๕๓๓.๓๓ กิโลกรัม ราคาจำหน่าย ๑๒๐ บาท/กก.
แกงส้มปลาอีกง
ขอขอบคุณภาพจาก9leang.com
ปลาอีกงก็นับว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่น่าจะสนับสนุนให้แก่เกษตรกรไทยนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน เนื่องจากเป็นปลาที่มีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจจะเลี้ยงร่วมกับปลากะพงขาว เพื่อลดความเสี่ยงจากการตายของปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง
สำหรับการเลี้ยงปลา ๒ ประเภทในบ่อดินของจังหวัดเพชรบุรีนั้น
เลี้ยงปลากะพงขาวด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป และปลาอีกงจะกินเศษอาหารที่เหลือจากปลากะพงขาวอีกต่อหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปแก่ปลาอีกง
แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของการเลี้ยงทั้ง ๒ ประเภท คือเลี้ยงปลาอีกงประเภทเดียวและการเลี้ยงปลาอีกงร่วมกับปลากะพงขาวนั้นปรากฏว่าการเลี้ยงปลาอีกงชนิดเดียวในบ่อดินให้อัตราผลตอบแทนมากกว่าการเลี้ยงปลาอีกงร่วมกับปลากะพงขาว แต่ตัวเลขก็ไม่แตกต่างมากนัก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี
ปริญญานิพนธ์ของ อังคณา แสงสว่าง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วิกิพีเดีย
ปลามังกง จัดเป็นปลาประจำจังหวัดเพชรบุรี ตามการจัดของกรมประมง (จาก เพื่อนเกษตร, "เช้าข่าว ๗ สี". พุธที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ช่อง ๗)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น