แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ...พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน...
วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557
ลมประจำถิ่น...ปากอ่าวบางปะกง
ป่าชายเลนบริเวณเกาะกลางปากแม่น้ำบางปะกง
ขอขอบคุณภาพจากinfo.dla.go.th
ลมประจำถิ่น
ชาวบางปะกงได้สังเกตเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ได้เรียกชื่อ “ลมประจำถิ่น” ที่ง่ายต่อการจดจำของลูกหลาน เป็นภูมิปัญญาไทยไว้ด้วย
ทิศทางเคลื่อนของลมจะเปลี่ยนไปตามทิศทางการหมุนของเข็มนาฬิกาเลื่อนเวลาทิศทางการพัดพาไปตามฤดูถ้าลมเงียบแสดงว่าลมกำลังจะเปลี่ยนทิศทางใหม่
ลมตะวันออก
อีกชื่อเรียกลมบก หรือ ลมล่อง ลมนี้จะพัดราวออกพรรษาแล้วราวเดือนธันวาคม ถึงมกราคมจากทิศตะวันออกพัดมาพร้อมลมหนาว ใกล้ฝนจะหมดจะมีฝนชุดสุดท้าย (ฝนชะลาน) จะมีกุ้งเคยเข้าที่ปากอ่าว มีโลมา กางอวนกลางคืนในแม่น้ำและปากอ่าวไม่ออกทะเลลึก กุ้งตะกาด ลักษณะเป็นกุ้งตัวเล็กเปลือกแข็งปนเขียวเรื่อ ๆ พวกโป๊ะ พวกรั้วจะได้ผลผลิตจากทะเลจำพวกปลาทู ปลากระตัก จำนวนมาก
ลมเซิง
จะพัดราวหลังตรุษจีน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม พัดเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวกับฤดูร้อน ลมนี้จะพัดมาพร้อมกับฝนตกเล็กน้อยจากเขาทางด้านตอนบนแม่น้ำพร้อมชาวประมงก็จะเริ่มออกทะเลหาปลาตอนกลางวัน ได้กุ้ง ได้เคย กัน
ลมหัวเขา
จะพัดตอนบ่าย ๆราวเดือนเมษายน จากทางตะวันออกเฉียงใต้เข้าฝั่งตรงกับช่วงน้ำจืดน้อยชาวบ้านจะหาจับหอยกิน โดยเฉพาะช่วงน้ำลงบ่าย ๆ จนถึงหัวน้ำขึ้นและเคย กุ้ง ปลา เป็นเดือนที่หากินได้ตลอดเป็นฤดูที่ได้คราวละมาก ๆ ลมชนิดนี้จะมาเพียงระยะสั้น ๆ สลับไปมากับลมตะเภา
ลมตะเภา
อีกชื่อเรียก ลมเข้าอ่าวพัดเราเข้าบ้านทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทิศใต้ ลมนี้จะพัดราวช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน การออกทะเลชาวประมงจะทำกันเป็นร่ำเป็นสัน ทั้งโป๊ะ โดยเฉพาะกลางคืน ในอดีตอาชีพประมงในแม่น้ำถึงปากอ่าวจะใช้โพงพาง จะจับได้ปลาเล็กปลาใหญ่ทุกชนิดตลอดจนเคยที่ใช้ทำกะปิจะได้ดี
ลมสลาตัน
จะพัดจากตะวันตกเฉียงใต้เข้าฝั่งราว ๆ เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ช่วงเข้าพรรษาจะมีฝนตกชุก มีพายุตอนเย็น ๕-๖ โมงเย็น น้ำขึ้นเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำเริ่มจืด หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลมเรียกน้ำ ช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคมลมพัดแรงมาก ชาวประมงไม่ค่อยได้ออกทะเล ออกๆหยุดๆ เนื่องจากลมแรง คนที่หากินด้วยโพงพางจะหยุด เคยจะมีน้อยมาก มีพวกกุ้งน้ำจืด กุ้งแห (ลักษณะเดียวกับกุ้งก้ามกรามแต่ตัวเล็กกว่า)
ลมตะวันตก
จะพัดราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนมาเพียงชั่วขณะหนึ่ง ก่อนออกพรรษาพัดจากทิศตะวันตกเข้าฝั่งมักจะมาพร้อมพายุแรง มาตอนกลางคืนหลัง ๔ ทุ่ม ประมงทะเลลึกจะออกหาปลาลำบาก เป็นช่วงที่คนเลี้ยงหอยแมลงภู่ตามกล่ำหอยจับหอยขายได้ แต่จำพวกปลาจะจับได้น้อย
ลมตะโก
ไม่มาบ่อย เป็นลมที่พัดออกจากฝั่ง จะมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะเดือนกันยายน – ตุลาคม ระยะก่อนออกพรรษา พัดพาพร้อมกับน้ำขึ้นมาก น้ำจากตอนบนของแม่น้ำจะเอ่อล้นในจังหวะที่ลมมา น้ำก็จะแรง กุ้งปลาจะไม่ค่อยมี
ลมว่าว
จะพัดหน้าหนาว ออกพรรษาแล้ว ราวเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงทางใต้ น้ำเค็มเริ่มเข้าปากอ่าวเริ่มทำประมงปากอ่าวและในแม่น้ำ โพงพางก็เริ่มทำได้ กุ้ง ปลา เคย ระยะนี้จะมีน้ำสอด
ลมอุกา
จะพัดมาจากอีสาน ไปทางทิศใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือน ธันวาคม เป็นลมพัดมาชั่วขณะหนึ่ง ไม่นานพัดจากฝั่งออกไป ในช่วงแดดออกจัด สีท้องฟ้าจะออกสีเหลือง บางคนเรียกลมพัดเหลือง หรือ อุกาฟ้าเหลือง พัดแรง เรือมักจะแล่นใบเข้าบ้านไม่ไหว ชาวบ้านจะไม่ค่อยออกเรือกัน เรือลากจะไม่ได้ของ จะได้พวกปลาทูที่ว่ายทวนน้ำเข้าไปในโป๊ะมากขึ้น โลมาเริ่มมา พร้อมกับปลาดุกทะเล
ที่มาของข้อมูล ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น