แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) คืออะไร?
แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งอนุสัญญาแรมซาร์
พื้นที่ชุ่มน้ำหมายถึง พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะพื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ดักจับสารพิษ เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ เช่น กาบอ้อย ปากงาช้าง นกกระสา นกยาง เป็นต้น
อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ
คือ อนุสัญญาที่จัดขึ้นที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลกซึ่งจะต้องมีการจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ปัจจุบันมีภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน ๑๖๘ ประเทศ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ ๑๑๐ มีพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Site) ได้แก่
๑. พื้นที่ชุ่มน้ำ พรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ประมาณ ๓,๐๘๕ ไร่
๒. พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ประมาณ ๕๔๖,๘๗๕ ไร่
๓. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๘๓๗ ไร่
๔.พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๕,๖๒๕ ไร่
๕. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ประมาณ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๗๑๒ ไร่
๖. พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๓,๑๒๐ ไร่
๗. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง – ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ประมาณ ๕๑๕,๗๔๕ ไร่
๘. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี – ปากคลองกะเปอร์จังหวัดระนอง มีพื้นที่ประมาณ ๖๗๗,๖๒๕ ไร่
๙. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีพื้นที่ประมาณ ๖๓,๗๕๐ ไร่
๑๐. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา มีพื้นที่ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ไร่
๑๑. พื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ ๔๓,๐๗๔ ไร่
๑๒. พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ประะมาณ ๑๖,๕๐๐ ไร่
๑๓. พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๖๘.๗๕ ไร่
1๑๔. พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระเกาะพระทอง จังหวัดพังงา มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๒,๘๐๐ ไร่
ทั้งนี้ การประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์มีข้อบังคับให้ภาคีแต่ละประเทศต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ ต้องกำหนดและวางแผนการดำเนินงานการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด โดยสามารถขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากประเทศในภาคีด้วยกันได้ และต้องรายงานความคืบหน้าของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทุกๆ 3 ปี
ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (Red Tide)
หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ปรากฏการณ์ ขี้ปลาวาฬ เหตุที่เรียกเช่นนั้นเพราะชาวบ้านสังเกตเห็นแผ่นน้ำสีแดงแบบช้ำเลือดช้ำหนอง จนชาวบ้านที่พบเห็นจินตนาการไปว่าอาจจะเป็นขี้ของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งในทะเล
แต่แท้ที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าแพลงก์ตอนบูม และทำให้น้ำทะเลหรือน้ำกร่อยเปลี่ยนสีอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งนี้การบูมของแพลงก์ตอนเกิดขึ้นเมื่อธาตุอาหารจากแผ่นดิน อาทิ ฟอสฟอรัสและไนเตรต ถูกชะล้างลงสู่ทะเลในปริมาณหนึ่งภายใต้สภาพแสงและอุณหภูมิที่เหมาะสม จำนวนของแพลงก์ตอนก็จะเพิ่มขึ้น น้ำทะเลที่มองเห็นก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีน้ำตาลแดง เหลือง หรือเขียว ตามแต่ชนิดของแพลงก์ตอน
ปรากฏการณ์นี้นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบต่อคนได้ผ่านทางห่วงโซ่อาหาร กล่าวคือ เมื่อหอยและสัตว์น้ำกินแพลงก์ตอนบางชนิดที่เป็นพิษ แล้วคนไปกินหอยอีกทอดหนึ่ง ก็จะได้รับสารพิษเข้าไปด้วย ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยหรือถึงตายได้ถ้าเป็นพิษที่ร้ายแรง เช่นพิษอัมพาต
ในประเทศไทยเคยมีรายงานการตายเนื่องจากการได้รับพิษอัมพาต โดยในปี ๒๕๒๖ ที่ปากแม่น้ำปราณ เขตอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย และมีอาการป่วยเนื่องจากได้รับพิษ ๖๓ ราย เหตุเพราะกินหอยแมลงภู่ในบริเวณนั้นเข้าไป
REDD
REDD ย่อมาจาก Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries หมายถึง นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเด็นเรื่อง REDD มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ จากการเสนอเข้าสู่เวทีเจรจาปัญหาโลกร้อนในปีพ.ศ. 2548 โดยประเทศปาปัวนิวกินีและคอสตาริกา โดยมีแนวคิดว่าการดูแลรักษาป่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก ดังนั้นผู้ที่ดูแลรักษาป่าควรจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อเป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการรักษาป่า
ทั้งนี้ โครงการ REDD จึงเป็นโครงการที่ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนารักษาป่า ซึ่งการเข้าร่วมโครงการของประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นการเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยขอบเขตของการรักษาป่าคือ เป็นกิจกรรมลดการทำลายป่า ลดความเสื่อมโทรมของป่า รวมถึงกิจกรรมการปลูกป่าหรือฟื้นฟูป่าเพิ่มเข้าไป จนปัจจุบันนี้เรียกกันว่าเป็น REDD-Plus (REDD+)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการดำเนินการภายใต้โครงการ REDD ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาถกเถียงบนเวทีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อหาข้อสรุป โดยเฉพาะประเด็นว่าการสนับสนุนกิจกรรม REDD ควรจะใช้กลไกตลาด คือให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือใช้กลไกกองทุน หรือผสมกันทั้งสองรูปแบบ เนื่องจากมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน กล่าวคือ
หากใช้กลไกตลาด คนที่ทำงานด้านอนุรักษ์และชนพื้นเมืองบางกลุ่มก็มองว่า อาจนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่ป่า ที่ดินปลูกป่า รวมไปถึงปัญหาเรื่องข้อตกลงสิทธิชุมชนในการดูแลป่า แต่หากเป็นกลไกกองทุน เงินที่มาช่วยเหลือส่วนนี้อาจจะไปกองรวมอยู่ที่ภาครัฐ ไม่ได้กระจายลงถึงชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องหาจุดยืนของประเทศว่าจะเข้าร่วม REDD หรือไม่ ถ้าเข้าร่วมจะสนับสนุนให้เป็นระบบการจัดการแบบใด (กลไกตลาด กองทุน หรือผสม) หรือหากไม่เข้าร่วม จะมีแนวทางอย่างไรต่อไป รวมทั้งจะแสดงบทบาทอย่างไรบนเวทีเจรจาระหว่างประเทศในอนาคต
อนึ่ง ในปัจจุบันมีการขยายเรื่อง REDD สู่ REDD+ (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation, and the Role of Conservation, Sustainable Management of Forests and Enhancement of Forest Carbon Stocks in Developing Countries) ซึ่งมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม แต่ให้ครอบคลุมถึงกิจกรรมที่มีการกักเก็บคาร์บอนด้วย อันได้แก่ การอนุรักษ์ การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการเพิ่มพูนปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ โดยแนวคิดยังคงเดิม คือการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสนับสนุนด้านการเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่มีข้อตกลงว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่ควรจะได้รับการจ่ายค่าชดเชยภายใต้ REDD+ อย่างไรก็ดี การขยายกิจกรรมของ REDD+ ทำให้มีปรเทศที่เข้าข่ายสามารถมาร่วมด้วยมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น