แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ...พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน...
วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557
หลวงพ่อพุทธโสธร ๒
จากลำห้วย ลำธาร และลำน้ำหลายสาย ได้ไหลมารวมกัน เป็นแม่น้ำสายใหญ่ ในภาคตะวันออก ลำน้ำบางปะกงนับเป็นแหล่งชีวิตที่สำคัญของผู้คนริมฝั่งน้ำทุกจังหวัดที่ลำน้ำไหลผ่าน แม้ปัจจุบัน การเรียกชื่อแม่น้ำจะเรียกตามจังหวัดที่ สายน้ำไหลผ่าน แต่ในความเป็นจริงก็คือสายธารหนึ่งเดียวกัน เป็นลุ่มน้ำที่กว้างใหญ่ อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางน้ำโดยตรง และเอื้อประโยชน์ต่อทรัพยากรอื่นๆ ของมวลมนุษย์ และกลายเป็นแหล่ง อารยะธรรม วัฒนธรรม ของชาวภาคตะวันออกที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา เป็นที่ทราบว่าวิถีไทยมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความผูกพันกับสายน้ำ มาเนิ่นนาน แต่ครั้งบุรพกาล
เศรษฐกิจชาวแปดริ้วเจริญรุ่งเรืองด้วยอานุภาพหลวงพ่อโสธร
สถานที่วัดโสธรตั้งอยู่เดิมภายแรกนั้นทางบกเป็นป่ามีหมู่บ้านคนน้อยมากการคมนาคมไม่ค่อยสะดวก เมื่อหลวงพ่อโสธรมาประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรแล้ว ประชาชนชาวเรือนับถือว่า ถ้าได้บอกขอต่อหลวงพ่อโสธรแล้ว สินค้าก็ซื้อง่ายขายคล่องเป็นเทน้ำเทท่า เรือแพที่ผ่านไปมาในแม่น้ำพอถึงที่ตรงกับโบสถ์หลวงพ่อโสธรแล้ว ผู้ที่นิยมนับถือและเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร ก็วักเอาน้ำในแม่น้ำซึ่งนับถือว่าเป็นน้ำมนต์หลวงพ่อดื่มบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ล้างหน้าประพรมเรือสินค้าในเรือ ดังได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ครั้นต่อมาการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น จึงมีผู้คนไปนมัสการหลวงพ่อกันมากขึ้น ผู้ใดเจ็บป่วยก็มาขอความคุ้มครองจากหลวงพ่อโสธร และก็ได้รับสมความปรารถนาเป็นส่วนมาก กิติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรได้แผ่ไพศาลไปในถิ่นต่าง ๆ
พระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับหลวงพ่อโสธร
มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับหลวงพ่อโสธร ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. ๒๔๕๑ ไว้ดังนี้
“กลับมาแวะวัดโสธร” ซึ่งกรมหลวงดำรงคิดจะแปลว่า ยโสธรจะให้เกี่ยวข้องแก่การที่ได้สร้างเมื่อเสด็จกลับจากการไปตีเขมรแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ หรือเมื่อใดนั้นเป็นที่สงสัยด้วยเห็นไม่ถนัด พระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเป็นหมอดีนั้น คือ องค์ที่อยู่กลาง ดูรูปตักและเอวงามเป็นทำนองเดียวกันกับพระพุทธรูปเทวปฏิมากร แต่ตอนบนกลายเป็นด้วยฝีมือผู้ปั้น ไปว่า ลอยน้ำมาก็เป็นความจริงเพราะเป็นศิลาคงจะไม่ได้ทำในที่นี้”
นอกจากพระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ยังมีนักโบราณคดีอีก 2 ท่าน ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับพระพุทธโสธร ดังต่อไปนี้คือ
หลวงรณสิทธิพิชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้บันทึกไว้ในเรื่องการสำรวจของโบราณในเมืองไทย เกี่ยวกับ พระพุทธโสธรนี้
“หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๑.๙๘ เมตร เป็นพระพุทธรูปที่บูรณะขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์ และช่างผู้บูรณะนั้นเข้าใจว่าจะเป็นฝีมือช่างผู้มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคอีสาน ประวัติที่ข้าพเจ้าพึงกล่าวได้นั้นมีเพียงเท่านี้ และที่กล่าวนี้โดยอาศัยวัตถุที่เห็นเท่านั้น ”
เหตุผลที่สันนิษฐานว่าพระพุทธโสธรได้บูรณะหรือสร้างขึ้น ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ในฐานะที่ นายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอกของกรมศิลปากรในสมัยนั้นได้ร่วมเดินทางไปสำรวจโบราณวัตถุกับหลวงรณสิทธิพิชัย ในครั้งนั้นด้วย ได้ชี้แจงว่าที่สันนิษฐานเช่นนั้นก็สังเกตจากวงพระพักตร์ ชายสังฆาฏิ ทรวงทรง และลีลาในการสร้างโดยเฉพาะช่างฝีมือในภาคอีสาน การสร้างพระพุทธรูปไม่สู้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
นายมนตรี อมาตยกุล อดีตหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้ให้ทรรศนะไว้ในเรื่องนำเที่ยวฉะเชิงเทรา กล่าวความไว้ตอนหนึ่งว่า
”…พระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ลงรักปิดทอง มีขนาดสูง ๑ เมตร ๙๘ เซนต์ หน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๖๕ เซนต์ เท่าที่ตรวจดูรูปภายนอกซึ่งลงรักปิดทองไว้ ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างแบบลานช้าง หรือซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า “พระลาว” พระพุทธรูปแบบนี้นิยมทำกันมากที่เมืองหลวงพระบางในประเทศอินโดจีนฝรั่งเศสและทางภาคอีสานของประเทศไทย”
พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และความเห็นของนักโบราณคดีอีกสองท่าน ที่ได้กล่าวนามมาแล้ว พอจะสรุปได้ว่า
หลวงพ่อโสธรไม่ได้ทำขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ได้นำมาจากที่อื่น เพราะพระพุทธโสธรทำด้วยศิลาแลง พระพุทธรูปเป็นฝีมือแบบชาวลานช้างหรือที่เรียกว่า ”พระลาว” ได้บูรณะหรือสร้างขึ้นในปลายกรุงศรีอยุธยาหรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์
อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร มีมากเหลือที่จะเล่าสู่กันฟังให้หมดได้ เพราะหลวงพ่อโสธรเปรียบเสมือนเป็นต้นโพธิ์ไทรอันใหญ่ ให้สรรพสัตว์ได้พำนักอาศัย หลวงพ่อโสธรเป็นร่มใหญ่กางกั้นสรรพภัยอันตราย ความเดือดร้อนลำเค็ญให้สรรพสัตว์ได้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นแพทย์วิเศษพยาบาลผู้อาพาธให้หายขาดไม่กลับคืน เป็นสรณะที่พึ่งพิงของหมู่บริษัทที่ถูกภัยคุกคาม เป็นนิธิบ่อบุญกุศลของทายกทายิกาผู้ใฝ่หาบุญกุศล เป็นหมอดูพยากรณ์ทายโชคชะตาวาสนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ให้ทุกท่านผู้ต้องการทราบ หลวงพ่อเป็นสัพพัญญูสำเร็จวิชาทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ไม่มีผู้ใดยิ่งไปกว่าหลวงพ่อ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น