วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๒





 ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์เป็นข้าราชบริพารคนหนึ่งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ


๓. การรับราชการ

พ.ศ. ๒๓๙๖ เมื่อลาลาสิกขาบทแล้วได้ไปพักอาศัยอยู่ที่วังพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์
ต่อมาเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงหรือเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดีในขณะนั้น ได้นำท่านเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก เป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในเวรศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอม

ปี พ.ศ . ๒๓๙๗ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ “ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์” ทำงานเป็นผู้ช่วยของเจ้ากรมพระยารักษ์ ว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมพการ

สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ขุนสารประเสริฐ”ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์

พ.ศ. ๒๔๑๒ ขุนสารประเสริฐได้คิดแบบเรียนภาษาไทย เริ่มต้นแต่หัดอ่าน ต่อเนื่องถึงความรู้ทางไวยากรณ์ เป็นแบบเรียนที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับศึกษาภาษาไทย รวม ๕ เล่ม อันได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับ จะได้จำหน่ายพระราชทานให้แก่ผู้เล่าเรียนต่อไป

พ.ศ. ๒๔๑๓  ขุนสารประเสริฐ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็น “หลวงสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์

พ.ศ.๒๔๑๔ มีพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้ง โรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นโรงเรียนสอนภาษาไทยแห่งแรก ให้หลวงสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์เป็นอาจารย์ใหญ่และเป็นครูสอนหนังสือไทยถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์ คือพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอที่ยังทรงพระเยาว์ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการทั่วไป โดยใช้แบบหนังสือไทยของท่าน

นอกจากนี้ท่านยังคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวนหนึ่งใน ๘ ท่าน ทำหน้าที่ควบคุมจัดการโรงเรียน"โรงเรียนนันทอุทยาน" หรือ "โรงเรียนสวนนันทอุทยาน" โรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ





พ.ศ. ๒๔๑๖ หลวงสารประเสริฐได้คิดแบบเรียนอีกหลายเล่ม เช่น ไวพจน์พิจารณ์ อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา (หนังสือขอม) นิติสารสาธก เล่ม ๑ (ซึ่ง ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ร่วมแต่งนิติสารสาธกตอนปลายด้วย) และโคลงฉันท์อีกหลายเรื่อง
และหนังสือไวพจน์พิจารณ์ได้ถูกนำไปรวมเป็นหนังสือแบบเรียนเดิม ๕ เล่ม เป็น จำนวน ๖ เล่ม

พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นพระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมอาลักษณ์

พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็น“พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยะพาหะ”

พ.ศ. ๒๔๒๕ เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภา


พ. ศ. ๒๔๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกสอนหนังสือที่โรงเรียนหลวงและให้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ต่อมาสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมา คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร พระองค์ที่สอง ) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์

พ. ศ. ๒๔๒๗ เป็นกรรมการการสอบไล่วิชาหนังสือไทยชั้นสูง เพื่อประเมินผลหรือการสอบไล่นักเรียนต่อหน้าคณะข้าหลวงผู้สอบไล่ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม เรียกว่า การไล่หนังสือ
พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นกรรมการของหอพระสมุดวิชรญาณ และเป็นกรรมการในการตีพิมพ์พระไตรปิฎก

พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นเลขานุการที่ประชุมองคมนตรีสภา


๔. บั้นปลายชีวิต
พ.ศ. ๒๔๓๔ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ป่วยด้วยโรคชรา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงรักษา และให้พาหมอเชลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการไม่ดีขึ้น
ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านได้สั่งให้หลวงมหาสิทธิโวหาร บุตรชายของท่าน นำดอกไม้ธูปเทียนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลา เวลาบ่าย ๕โมงเศษ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม รวมอายุได้ ๖๙ ปี เศษ ได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกศมีเครื่องพร้อมให้เป็นเกียรติยศ

พระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วัดสเกษ โดยได้รับพระราชทานเมรุผ้าขาว นับเป็นเกียรติยศอย่างสูงของขุนนางในสมัยนั้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น