ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314615743&grpid=no&
ลุ่มน้ำบางปะกง กับจีนตั้วเหี่ย
สินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างหนึ่งคือน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย เป็นสิ่งที่ชาวจีนนำเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย เริ่มปรากฏหลักฐานการปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาลส่งออกประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๓ ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งนั้นส่งออกได้กว่า ๖,๐๐๐ หาบ ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ พ.ศ. ๒๓๖๙ ตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการส่งออกน้ำตาลในปริมาณมากขึ้น เช่น ปี พ.ศ. ๒๓๘๗ มีปริมาณส่งออกถึง ๑๑๐,๐๐๐ หาบ ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก โดยมีลูกค้าสำคัญคืออเมริกาและอังกฤษ
การปลูกอ้อยเพื่อสามารถผลิตน้ำตาลส่งออกปริมาณมหาศาลเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่และแรงงานผลิตจำนวนมาก
แหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีเมืองสำคัญคือสมุทรสาคร นครชัยศรี ในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเมืองสมุทรสงคราม ราชบุรี ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://soclaimon.wordpress.com/2013/08/02/เล็งเปลี่ยนนาข้าวเป็นไ/
ไม่เพียงเท่านั้น บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งรุ่งเรืองด้วยไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีเมืองฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำตาลของพื้นที่แห่งนี้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญทางเศรษฐกิจจากการเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล ข้าว ผลเร่ว ใบจาก และพืชผลอื่นๆ ส่วนการเมืองนั้น เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันชายฝั่งทะเลตะวันออกเนื่องมาจากสงครามระหว่างไทยและเวียดนาม หรือสงครามอานามสยามยุทธ ที่กินเวลาถึง ๑๔ ปี ทำให้มีการสร้างป้อมปราการและขุดคลองจากหัวหมากไปบางขนาก ที่อยู่บริเวณเมืองฉะเชิงเทราเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกองทัพ เมืองแห่งนี้จึงเป็นค่ายพักระหว่างทางของกองทัพไทย
ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นโดยมีชาวจีนเป็นจักรกลสำคัญ แต่เวลาเดียวกันทางการต้องประสบปัญหาจากบรรดาจีนตั้วเหี่ยเกือบตลอดรัชกาล และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การจลาจลของจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่าครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
ข้อมูลของเหตุการณ์นี้พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ระบุว่า อ้ายจีนเสียงทอง จีนบู๊ คบคิดกันตั้งตัวเป็นจีนตั้วเหี่ยเข้าปล้นเมืองฉะเชิงเทรา สังหารพระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองตายในที่รบ ก่อนจีนกลุ่มนี้จะถูกทางการปราบปรามในที่สุด โดยมิได้กล่าวถึงสาเหตุของเหตุการณ์ไว้
แต่จากวิทยานิพนธ์ของ ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล เรื่อง สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๔๕๓ อาศัยข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วยเติมเต็มลำดับเหตุการณ์จากพระราชพงศาวดารให้สมบูรณ์มากขึ้น
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากชนวนความบาดหมางระหว่างจีนเสียงทองและแขวงจันเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ครั้งนั้นอำแดงส้มจีนจัดงานศพนายเที่ยงสามี จีนสินทองเอาคณะงิ้วไปแสดงช่วยในงาน เมื่อชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทราทราบข่าวจึงพากันไปดูงิ้ว ขณะเดินทางมาถึงหน้าบ้านแขวงจัน จะข้ามสะพานตรงไปยังวัด บริวารของแขวงจันออกมาชักไม้กระดานสะพานออกเสีย พวกคนจีนไม่ยอมจึงพากันไปหยิบไม้มาทอดสะพานข้ามอีกครั้ง แต่บริวารของแขวงจันรีบเข้ามาแย่งไม้กระดานนั้นจนเกิดการวิวาทกันขึ้น เหตุการณ์สงบลงเบื้องต้นเนื่องจากหลวงยกกระบัตรซึ่งเข้ามาช่วยงานศพได้มาไกล่เกลี่ยจนเลิกรากันไป
ต่อมานายลอย บุตรแขวงจันเข้าฟ้องร้องต่อพระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวหาจีนเสียงทองและพรรคพวก ๒ ประการ คือ จีนเสียงทองและพรรคพวก ๖๐ คน วิวาททุบตีพวกแขวงจัน อีกทั้งจีนเสียงทองและพรรคพวกเป็นตั้วเหี่ยมีสมาชิกประมาณ ๑๙๐ คน ส่วนทางฝ่ายพระยาวิเศษฦาไชย มีคำสั่งให้จับจีนเสียงทองและพรรคพวกอีก ๑๐๐ คน แต่จีนเสียงทองไม่อยู่จึงส่งหลานชายมาแทน ในบรรดาชาวจีนที่ถูกจับนั้นบางคนไม่ได้รู้เห็นกับการวิวาทเลย ปรากฏว่าพระยาวิเศษฦาไชยและกรมการกลับใช้อำนาจเรียกขู่เอาเงินจากชาวจีนที่ถูกจับมาคนละ ๕-๑๐ ตำลึง ชาวจีนที่เสียเงินให้ก็จะถูกปล่อยตัว ส่วนที่ไม่มีเงินจะเสียก็ถูกจำตรวนกักขัง จีนเสียงทองต้องเสียเงินจากคดีครั้งนี้ไปถึง ๔ ชั่ง จึงยุติคดี
จีนเสียงทองและพรรคพวกโกรธแค้นการกระทำของพระยาวิเศษฦาไชยจึงไปเกลี้ยกล่อมชาวจีนกลุ่มต่างๆให้เข้าร่วมต่อต้านขุนนางเหล่านี้ ดังในคำพูดกล่าวว่า กรมการข่มเหงหนักเหลือทน จะเป็นตายอย่างไรก็ตามทีเถิด เรามาคิดกันทำตั้วเหี่ยหาพวกให้มาก เล่นกับกรมการสักครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าจีนเสียงทองสามารถชักชวนจีนทุกกลุ่มภาษาในเมืองฉะเชิงเทราทั้งจีนแต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ มาเป็นกำลังของตน หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการทันที
ตอนเช้าวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๙๑ จีนเสียงทองให้จีนบู๊ลูกน้องคนสนิทคุมชาวจีนประมาณ ๕๔๐ คน เข้าตีโรงน้ำตาลของหลงจู๊ฮี สังหารจีนฮอซึ่งมีตำแหน่งทางราชการที่ขุนกำจัดจีนพาล และเป็นพี่ชายของหลงจู๊ฮี และตอนเย็นของวันเดียวกันจีนเสียงทองสั่งให้จีนเอียง จีนตู จีนบู๊ จีนเสง และจีนซุนเตีย เป็นหัวหน้าคุมกำลังพลจำนวน ๑,๒๐๐ คน เข้าตีเมืองฉะเชิงเทรา ในเวลานั้นพระยาวิเศษฦาไชยกับกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ติดราชการที่เมืองกระบิล เหลือแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองไว้แต่แพ้พวกจีนตั้วเหี่ยจึงหลบหนีทิ้งเมืองไป
เมื่อจีนตั้วเหี่ยเข้าเมืองได้แล้วก็จุดไฟเผาบ้านหลวงยกกระบัตร กรมการ และเผาบ้านเรือนราษฎรอีกหลายหลัง จากนั้นหัวหน้าจึงจัดกองลาดตระเวนทั้งสี่มุมเมือง พอวันรุ่งขึ้นจีนเสียงทองได้เข้าเยี่ยมบรรดาลูกน้องของตนพร้อมกับให้จัดกองกำลังไปป้องกันเมืองด้านนอกบริเวณบ้านบางคล้าและบ้านสนามจัน และสั่งให้จีนบู๊นำปืนใหญ่จำนวน ๓๕ กระบอก มาติดตั้งบนกำแพงเมืองอีกด้วย อีกทั้งยังส่งลูกน้องที่เหลือไปประจำการตามโรงหีบอ้อยต่างๆ นอกกำแพงเมือง ไม่เพียงเท่านั้น จีนเสียงทองยังมีแผนการที่จะหาคนมาเพิ่มขึ้นอีก จากนั้นจะไปตีเมืองชลบุรีเพื่อใช้เป็นทางหลบหนีออกท้องทะเลหากทางกรุงเทพฯ ส่งกองทัพมาปราบปราม
การบุกโจมตีเมืองครั้งนี้ราษฎรชาวไทยหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ตามป่าเป็นอันมาก แต่มีราษฎรบางส่วนที่บ้านไทรมูลซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา นำกำลังเข้าโจมตีจีนตั้วเหี่ย สามารถเผาโรงน้ำตาลของหลงจู๊ไตและหลงจู๊ตั้วเถา จนกระทั่งพวกจีนบริเวณนี้บ้างต้องหลบหนีไปอยู่ในเมือง บางส่วนก็หลบหนีไปอยู่ทางตอนเหนือของเมือง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
ขอขอบคุณภาพจากth.wikipedia.org
ทางฝ่ายรัฐบาลที่กรุงเทพฯ มีคำสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นติดราชการที่เมืองสาครบุรีดำเนินการปราบปรามโดยเร็ว เจ้าพระยาพระคลังมีคำสั่งให้พระอินทรอาสา เจ้าเมืองพนัสนิคม นำไพร่พลล่วงหน้าไปก่อนและได้ปะทะกับฝ่ายของจีนเสียงทอง และสามารถขับไล่พวกจีนเหล่านี้ได้พร้อมกับเผาโรงงานน้ำตาลบางส่วนของพวกจีนตั้วเหี่ยไปด้วย แต่ทางทัพของพระอินทรอาสาก็ถูกฝ่ายหลงจู๊อะหนึ่งในจีนตั้วเหี่ยนำกำลังเข้าโจมตีจนต้องถอยหนีไปตั้งมั่นที่โคกพนมดีที่เมืองพนัสนิคม ส่วนทางฝ่ายจีนเสียงทองได้เตรียมรับมือกองทัพของทางการด้วยการขุดสนามเพลาะในเขตเมืองฉะเชิงเทรามีความยาวประมาณ ๑๐ เส้น พร้อมทั้งตระเตรียมอาวุธเป็นอย่างดี
ต่อมากองทัพของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกออกจากเมืองสาครบุรีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ มาถึงนอกเมืองฉะเชิงเทราอีก ๒ วันต่อมา และเข้าปราบปรามจีนตั้วเหี่ยจนแตกทัพกระจัดกระจาย ทำให้จีนเสียงทองหาทางผ่อนหนักเป็นเบาด้วยการซัดทอดความผิดให้จีนบู๊ว่าเป็นตัวการแต่ผู้เดียว ดังนั้นตอนเย็นของวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ จีนเสียงทองกับพรรคพวกจึงจับกุมจีนบู๊ที่เมืองฉะเชิงเทรา แล้วนำมากักขังที่โรงน้ำตาลของหลงจู๊โป๊ที่บ้านใหม่
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ขอขอบคุณภาพจาก th.wikipedia.org
วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ จีนเสียงทองได้วานให้ท่านหญิงหุ่น ภรรยาพระศรีราชอากร มากราบเรียนต่อเจ้าพระยาพระคลังว่า จะนำตัวจีนบู๊ตั้วเหี่ยใหญ่มาให้ลงโทษ ภายหลังจีนเสียงทองได้นำจีนบู๊มาส่งมอบให้ตามที่กล่าวไว้ เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) คุมตัวจีนบู๊ พร้อมกับจับกุมจีนตั้วเหี่ยระดับหัวหน้าคือ จีนเสียงทอง หลงจู๊โป๊ หลงจู๊ตัด หลงจู๊ยี่ หลงจู๊ชี ลงเรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพระยาพระคลังคงอยู่ในพื้นที่เพื่อปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่หลบซ่อนอยู่ต่อไป
ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กลับจากราชการทางเมืองเขมรได้ผ่านมายังเมืองฉะเชิงเทราเมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ จึงช่วยเจ้าพระยาพระคลังปราบพวกจีนตั้วเหี่ย ส่วนพระยาวิเศษฦาไชยซึ่งไปราชการที่เมืองกระบิล ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็รีบเดินทางมาช่วยปราบจลาจล และถูกพวกจีนตั้วเหี่ยสังหารระหว่างการสู้รบที่บางคล้า
ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยเมื่อสูญเสียแกนนำแล้วก็พากันหลบหนีออกจากเมืองฉะเชิงเทราในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ กองทัพไทยได้เข้าโจมตีและสามารถจับกุมหัวหน้าระดับรองได้หลายคน เช่น จีนห้วยเสียว จีนเน่า จีนเสง จีนตู จีนเกา จีนกีเฉาเอย จีนโผ จีนหลงจู๊อะ จีนกีเถ้าแก่สวนอ้อย และจีนลก เป็นต้น
ฝ่ายราษฎรชาวไทยที่หลบหนีอยู่ตามป่าได้ออกมาช่วยต่อสู้กับพวกจีนตั้วเหี่ยและสังหารพวกจีนเหล่านี้เป็นอันมาก รวมทั้งเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้เคียงคือ เมืองพนัสนิคมและเมืองชลบุรี ได้เข้าช่วยปราบปรามระหว่างที่พวกจีนตั้วเหี่ยหลบหนี ประมาณกันว่ามีชาวจีนเสียชีวิตกว่า ๓,๐๐๐ คน
ทรงมีพระราชโองการว่า"อันการกระทำของตั้วเหี่ยคราวนี้เป็นขบถต่อแผ่นดิน และยังกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการฆ่าเจ้าเมือง อันเป็นตัวแทนต่างพระเนตรพระกรรณให้มาปกครองเมือง ให้ลงโทษประหารเชลยทุกคนและผู้ให้ความร่วมมือทั้งหมด และให้ไล่ตามจับกุมตั้วเหี่ยที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อยกลับมาประหารชีวิตทั้งหมด"
สถานที่ประหารชีวิตพวกตั้วเหี่ย ณ เวลานั้น ก็คือ บริเวณโคน "ต้นจันทน์" ใหญ่ของวัดเมือง เล่ากันว่าเหตุการณ์ชวนสยดสยองให้เวทนาน่าสงสารและแม้ว่าเหล่าตั้วเหี่ย จะส่งเสียงร้องร่ำไห้ขอชีวิตอย่างไร เหล่าเพชฌฆาตก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปโดยจับนักโทษมามัดติดกับหลักประหารและผลัดเปลี่ยนกันลงดาบนักโทษนับร้อย ๆ คน จนเลือดสาดกระจายเนืองนองไปทั่วหลักประหารในวัดเมืองส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งน่าสะอิดสะเอียนเป็นยิ่งนัก ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.matichon.co.th บทความของคุณ นนทพร อยู่มั่งมี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น