วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ ๙ พระอุโบสถวัดโสธร ๑


 Photo Credit : MRK360@taklong.com

พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร : สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๑

ด้วยมุ่งหมายให้พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร... งดงาม ยิ่งใหญ่ สมฐานะบารมีของพระพุทธโสธร และมีเอกลักษณ์เหมาะสมกับเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเป็นตัวแทนของพุทธศาสนสถาปัตยกรรมแห่งรัชสมัย พระอุโบสถหลังนี้จึงออกแบบอย่างประณีต งดงาม พิถีพิถัน โดยใช้เวลาในการออกแบบและเขียนแบบเพียงอย่างเดียวถึง  ๖ ปี (พ.ศ.   ๒๕๓๐ -พ.ศ.  ๒๕๓๖ ) ได้รวบรวมผู้มีอัจริยภาพทางศิลปะระดับศิลปินแห่งชาติ ในหลากหลายสาขามาร่วมกันสร้างสรรค์ เต็มเปี่ยมด้วยความหมายและสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นสถาปัตยกรรมแห่งรัชกาลที่  ๙ ทั้งเชิงนามธรรมและรูปธรรม

โดยคำนึงถึงคุณลักษณะ ที่ยึดถือเป็นหลักปรัชญาในการออกแบบ  ๓  ประการ คือ
๑.ความศักดิ์สิทธิ์และสง่างาม สมฐานานุศักดิ์ของพระพุทธโสธรสอดคล้องตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น จึงออกแบบโดยเน้นให้มีโครงสร้างขนาดใหญ่แบบปราสาทราชวังโบราณ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสง่างาม น่าเกรงขาม ขณะเดียวกันก็รักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไว้ครบถ้วนทั้งพุทธศิลป์ สถาปัตยศิลป์ และวิจิตรศิลป์


๒.ความมั่นคงถาวร เพื่อให้เป็นพุทธศาสนสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติสืบไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน จึงออกแบบโดยคำนึงถึงอายุการใช้งานของวัสดุเป็นหลัก โดยใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมดและคัดสรรวัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องความคงทนถาวร อาทิ หินแกรนิต หินอ่อน และเซรามิก มาใช้ในการก่อสร้าง ไม่ใช้วัตถุที่เสื่อมสลายง่าย เช่น ไม้ เพื่อให้อาคารหลังนี้มีอายุยืนยาวนับพันปี

๓. ความร่วมสมัย สมเป็นตัวแทนของพุทธศาสนสถาปัตยกรรมแห่งรัชกาลที่ ๙ ด้วยการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่สร้างสรรค์ โดยมิได้ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิม แต่คำนึงถึงความจำเป็น ประโยชน์ใช้สอย และบริบทแวดล้อมเป็นหลัก โดยการรวมประโยชน์ใช้สอยของอาคารสำคัญในเขตพุทธาวาส อันได้แก่ พระอุโบส พระวิหาร และพระเจดีย์ เข้าไว้ในอาคารหลังเดียว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในอดีต นอกจากนี้ยังได้นำศิลปะแบบไทยประเพณีมาผสมผสานกับศิลปะแบบตะวันตกได้อย่างประณีต งดงาม มีดุลยภาพ ถือเป็นนวัตกรรมที่ล้ำค่ายิ่งของวงการสถาปัตยกรรมไทย



รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอก

ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ หลังคาประกอบเครื่องยอดชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ตรงกลางเป็นพระอุโบสถต่อเชื่อมด้วยพระวิหารทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ต่อเชื่อมด้วยอาคารมุขเด็จรูปทรงเดียวกับพระวิหาร เมื่อประกอบเข้าด้วยกันมีลักษณะเป็นอาคารที่มีหลังคาแบบจตุรมุขอย่างอาคารปราสาทแบบไทย

มีโครงสร้างหลัก ๒  ชั้น- ตัวอาคาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่ส่วนฐานราก ตัวอาคาร โครงสร้างหลังคา จนถึงส่วนยอด- ชั้น  ๒ ส่วนมุขด้านข้างยื่นเป็นระเบียง มีพนักระเบียง และลูกกรงตามแบบตะวันตก
หลังคา... มุงด้วยกระเบื้องเซรามิกสี่ด่อน (สีขาวอมเทา) ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสอดรับกับสีของตัวอาคารอันเป็นสีธรรมชาติของหินอ่อนไวท์คาร์ราร่า ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จ ฯ ไปทรงเลือกถึงเหมืองหินอ่อนในประเทศอิตาลีด้วยพระองค์เอง

องค์ประกอบเด่นส่วนตัวอาคาร รูปแบบโดยรวมของอาคารมีลักษณะเป็นศิลปะแบบไทยประเพณีผสมผสานศิลปะแบบตะวันตก เส้นสายโดยรวมมีลักษณะค่อนข้างแข็งเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของตัวอาคาร และแนวคิดเรื่องความคงทน

ฐานอาคาร มีลักษณะเป็นบัวฐานปัทม์แบบประยุกต์ สูงจากระดับพื้นดินเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับพื้นชั้นล่างและบันไดทางขึ้น พนักบันไดแบบพนักพลสิงห์ ลูกกรงพนักระเบียงคล้ายกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในสมัยรัชกาลที่  ๔- รัชกาลที่   ๕  คั่นด้วยเสาสี่เหลี่ยมเตี้ย หัวเสารูปทรงคล้ายพานพุ่ม

ผนังและเสา ของอาคารบุด้วยหินอ่อนไวท์คาร์ราร่า มีเสาลอยสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่บริเวณมุขโถงทั้ง 4 ด้าน

ซุ้มประตู ทางเข้าชั้นล่างเป็นศิลปะแบบตะวันตก ลักษณะเป็นซุ้มประตูติดกัน ๓ ซุ้ม ซุ้มตรงกลางด้านบนเป็นซุ้มโค้ง (Arch) ชั้นบนมีลักษณะ 3 ฃุ้มติดกันเป็นซุ้มเรือนแก้วแบบไทยลักษณะเดียวกับพระวิมาน บานประตูมีกรอบเป็นสำริดรมดำลูกฟักกระจกสีชา

ซุ้มหน้าต่าง เป็นซุ้มเรือนแก้วขนาดใหญ่ กรอบบานเป็นสำริดเนื่องจากต้องการความคงทนถาวรตามแบบพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยสุโขทัยซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

ลวดลายแกะสลักปูนปั้น ที่ใช้ประดับตกแต่งส่วนต่างๆ ทำด้วยเซรามิกเคลือบน้ำทอง ประยุกต์ให้มีความเรียบง่าย ลดทอนลวดลายให้มีความเหมาะสมกลมกลืนกับรูปแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น