วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ ๙ พระอุโบสถวัดโสธร ๒

สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่ ๙




 พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร : สถาปัตยานุสรณ์แห่งรัชกาลที่  ๙  ตอนที่ ๒

องค์ประกอบเด่นส่วนหลังคา 


หลังคามีลักษณะเป็นจั่วเปิด มุงด้วยกระเบื้องเซรามิกสี่ด่อน ตกแต่งด้วยช่อฟ้าปากปลารวยระกาฝักเพกา และหางหงส์แบบไทย ซึ่งทำด้วยเซรามิกเคลือบน้ำทอง ที่ีมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ด้านข้างมีหลังคาซ้อนกัน  ๔ ชั้น ด้านยาวหลังคาซ้อนกัน  ๕ ชั้น หลังคาคลุมมุขโถงอีก  ๑  ชั้น 

ส่วนหน้าบัน มีทั้งหมด ๘ หน้าบัน  ๕  แบบ ประดิษฐ์ลวดลายมีความหมายแตกต่างกัน

๑.หน้าบันชั้นล่างทิศตะวันออก 

บริเวณมุขด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธโสธร ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วด้านข้างผูกลายประกอบ หมายถึงอุโบสถหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานพระสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

๒.หน้าบันชั้นล่างทิศตะวันตก 

เป็นรูปตราพระลัญจกรประจำรัชกาลที่  ๙  ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว ด้านข้างผูกลายประกอบ หมายถึงพระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๓.หน้าบันชั้นบนทิศตะวันออกและตะวันตก 

เป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎกอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีพานพุ่มประกอบอยู่ด้านข้าง ผูกลายประกอบเป็นทรงเรือนแก้วคลุมด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง หมายถึงที่แห่งนี้มีวิหารพระไตรปิฎกอันแสดงถึงการบูชาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

๔.หน้าบันชั้นล่างทิศเหนือและทิศใต้ 

เป็นรูปอุณาโลมหรือขนระหว่างคิ้วพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในเรือนบุษบก ประกอบด้วยเครื่องฉัตรสูงอยู่  ๒ ข้าง ด้านข้างผูกลายประกอบ

๕.หน้าบันชั้นบนทิศเหนืือและทิศใต้ 

เป็นรูปพระพุทธรูปประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วมีทั้งหมด  ๕ พระองค์ ด้านข้างผูกลายประกอบ หมายถึง การแสดงความรำลึกถึงพระพุทธเจ้า  ๕  พระองค์ ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายหินยาน เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในภัทรกัปในโลกนี้ ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมมะ พระกัสสปะ พระสมณโคดม (สิตธัตถะ) และในอนาคต คือ พระศรีอาริยเมตไตร (พระศรีอาริย์)

องค์ประกอบเด่นส่วนยอด 

มีลักษณะเป็นมณฑป แบบประยุกต์ใหม่ รูปทรง ๘  เหลี่ยม บริเวณสันเหลี่ยมเป็นรวยระกาและหางหงส์แบบนาคสามเศียร แบ่งเป็น ๕  ชั้น บนสุดของยอดมณฑป ครอบด้วยฉัตรทองคำ ๕ ชั้น ปักเหนือเม็ดน้ำค้าง เป็นสัญลักษณ์แทนพระกลดกั้นกางแสงสูรย์ให้กับสิ่งที่มีบารมีสูงสุด หมายถึง สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทองคำหนักทั้งสิ้น  ๗๗  กิโลกรัม




พระอุโบสถ 

มีประตูทางเข้า ๔ ทิศทาง ผนังก่ออิฐ ผิวผนัง เชิงผนัง เชิงเสา และพนักภายในบุด้วยหินอ่อนทั้งหมด ผนังภายในไม่เขียนภาพจิตรกรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากอุโบสถทั่วไป พื้นปูด้วยหินแกรนิตประดิษฐ์เป็นลวดลาย เพดานเป็นรูปทรงโดมแบบตะวันตก เหนือฝ้าเพดานพระอุโบสถขึ้นไปเป็นอาคารทรงมณฑป ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

บริเวณห้องโถงภายใน 

ประดิษฐานพระพุทธโสธรองค์จริงอยู่เหนือฐานชุกชี โดยมีพระประธานประทับอยู่เบื้องหลัง และพระพุทธรูปปางต่างๆประดิษฐานอยู่รายรอบ รวมพระพุทธรูปทั้งหมด ๑๘ องค์ ฐานชุกชีเป็นรูปรี มีลักษณะเป็นรูปดอกบัวลอยอยู่กลางน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับตำนานของพระพุทธโสธรที่ลอยน้ำมา ภายในฐานชุกชีมีช่องระบายอากาศเพื่อป้องกันความชื้น ออกแบบเป็นรูปฝักบัว


พื้นพระอุโบสถ 



ปูด้วยหินแกรนิตประดิษฐ์ ลวดลาย บอกเล่าตำนานพระพุทธโสธร ลอยน้ำมาจากทางเหนือก่อนที่ชาวบ้านจะทำพิธีอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโสธร ( วัดเสาธงทอนในขณะนั้น) และไม่เคยมีการเคลื่อนย้ายอีกเลยนับตั้งแต่นั้น) ศิลปินผู้ออกแบบได้จินตนาการว่ามีปลาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแปดริ้ว มาให้การต้อนรับว่ายหนุนอยู่ใต้ฐานชุกชี (จำนวน ๕  ตัว) และสัตว์ประเภท ต่าง ๆ เช่น ปลา และสัตว์ในวรรณคดี ว่ายวนเวียนชื่นชมบารมีและสักการะตลอดทาง บางตัวเตรียมดอกบัวอันเป็นเครื่องหมายแห่งการสักการะมาด้วย









ฝ้าเพดาน 

โดยทั่วไปทาสีขาว ตกแต่งด้วยดาวเพดาน ขอบคิิ้วเป็นลวดลายปูนปั้นปิดทอง ภาพจิตรกรรม ที่ประดับเพดานเหนือองค์พระ มิได้เป็นลวดลายวิจิตรพิสดารในวรรณคดีหรือสะท้อนความเชื่อทางศาสนาอย่างที่เคยเป็นมา แต่เป็นภาพแสดงตำแหน่งดวงดาวในจักรราศรี ตามวันและเวลากำหนด (รูปแบบเดียวกับภาพจิตรกรรมบนเพดานที่ตำหนักดอยตุง) ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวินิจฉัยให้กำหนดตำแหน่งดวงดาวตรงกับวันสำคัญที่เกีี่ยวกับองค์พระพุทธโสธร ที่สามารถกำหนดได้ชัดเจนที่สุด คือวันเวลาพระฤกษ์ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธียกฉัตรทองคำเหนือยอดมณฑปหลังคาพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อวันที่  ๕ กันยายน พ.ศ.  ๒๕๓๙  เวลา ๑๖.๐๙ น.ซ็ึ่งเป็นมหาฤกษ์มงคลที่โหรหลวงผูกดวงไว้ โดยอาจารย์สาลิน วิรบุตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นผู้กำหนดตำแหน่งทางดาราศาสตร์ และถ่ายทอดเป็นงานศิลปะโดย ศ.เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์คำ ศิลปินแห่งชาติ เป็นภาพเขียนประดับโมเสกสี มองเห็นได้จากโลกตรงตำแหน่งหน้าองค์พระ





งานก่อสร้างพระอุโบสถในครั้งนี้ เป็นงานสถาปัตยกรรมศิลป์ขนาดใหญ่ที่รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต พิถีพิถันตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบ การเลือกใช้วัสดุ การดำเนินการก่อสร้าง ฯลฯ ทุกขั้นตอนมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงและใช้เวลาในการศึกษาวิเคราะห์ กลั่นกรองและดำเนินการยาวนานมาก ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๑,๙๐๐ ล้านบาท(เมื่อมีข่าวจะสร้างพระอุโบสถครั้งแรก เป็นที่กล่าวว่า ราคาก่อสร้างประมาณหนึ่งพันล้านบาท และเป็นเงินที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบริจาคสะสมให้กับหลวงพ่อพุทธโสธร และพลอยโพยมไม่ค้นพบรายละเอียดว่า ราคาก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นงบประมาณจากแหล่งงาน ใด หากมีก็ขออภัย )



ในวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ 
ชาวแปดริ้วทั้งประชาชนและส่วนภาคต่างๆ ต่างมารวมตัวกันที่วัดโสธรฯ เพื่อคอยรับเสด็จ นอกจากจะเป็นช่วงฤดูฝนแล้วยังเป็นช่วงเวลาบ่ายจัด (ผู้คอยรับเสด็จ ต้องมาเตรียมการรอรับเสด็จก่อนเวลาเสด็จจริง หลายชั่วโมง สำหรับประชาชนทั่วไปที่อยากอยู่ใกล้ในแถวหน้า เพื่อคอยชื่นชมพระบารมี ยิ่งต้องมาจับจองพื้นที่เร็วกว่าผู้อื่นเป็นธรรมดา)

พลอยโพยม ก็เป็นผู้หนึ่งที่อยากได้อยู่แถวที่ได้ชื่นชมพระบารมีได้ใกล้ชิดจึงรีบไปยืนเข้าแถวคอย จำได้ว่าอากาศร้อนอบอ้าวมาก แต่ด้วยความจงรักภักดีก็ไม่ย่อท้อถดถอยกำลังใจ วันนั้นไม่มีสายฝนรบกวนให้เคืองระคายใจ พระพิรุณท่านคงตระหนักถึงหน้าที่การปฏิบัติภารกิจว่า วันนี้ ต้องงดภารกิจสำหรับชาวแปดริ้วหนึ่งวัน จนใกล้ถึงเวลาเสด็จแสงแดดที่แผดจ้าร้อนระอุก็คลายลง ศัพท์ชาวบ้านนั้นเรียกกันว่า แดดหุบ นั่นเอง ยิ่งเวลาเสด็จมาถึงก็ไม่เหลือความร้อนระอุอีกเลย อากาศกลับเย็นสบายเป็นที่ปลื้มปิติในพระเดชานุภาพว่านี่เป็นพระบารมีโดยแท้

แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นก็คือ ในขณะประกอบพระราชพิธีได้เกิดปรากฎการณ์ที่ผู้ได้เข้าร่วมในพิธีมิมีวันลืมเลือนเลย คือปรากฏการณ์ พระอาทิตย์ทรงกลด คือ มีวงกลมเป็นสีรุ้งอยู่รายรอบนอกดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนฟากฟ้าชัดเจนมาก และแสงจากดวงอาทิตย์ก็มิได้แผดจ้าทำร้ายสายตาหมู่มวลประชาชนที่แหงนเงยขึ้นไปมองด้วยความตะลึง นึกถึงครั้งไร พลอยโพยมก็รู้สึกซาบซ่านปิติโสมนัส ทุกครั้ง จนต้องขอเล่าสู่ท่านผู้อ่าน...













ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ โสธรวราราววรวิหาร นิมิตแห่งบุญ เมืองแปดริ้ว
ขอขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น