วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๑๓ ..อดีตกาลที่ผ่านมา ๙






จากสภาพเศรษฐกิจทางการเกษตรที่ได้จากพืชผลพวก ผลเร่ว อ้อย ข้าว ยังมีพืชผลที่ทำรายได้คือพวกผลไม้ต่าง ๆ เช่นหมาก มะพร้าว มะม่วง กล้วย สับปะรด ฯลฯ ซึ่งทำการปลูกกันมากในเมืองฉะเชิงเทราและชลบุรี




จากข้อสังเกตของ ชัย เรืองศิลป์ ที่ว่าในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเดินสำรวจต้นไม้ที่จะต้องเรียกอากรส่วนใหญ่ รัฐบาลได้ตั้งข้าหลวงเดินสวนในเมืองต่าง ๆ เช่นเมืองสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครไชยศรี ราชบุรี เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งต้นไม้ที่สำรวจนั้นมี ๗ ชนิด คือ หมาก มะพร้าว พลู มะม่วง ทุเรียน มังคุด และลางสาด และแหล่งทำสวนไม้ยืนต้นที่ต้องเสียค่าอากรส่วนใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วย




แสดงให้เห็นว่า ในเขตเมืองฉะเชิงเทรา ได้ทำการปลูกพืชผักผลไม้จนขึ้นหน้าขึ้นตา จนรัฐบาลในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการจัดเก็บอากรส่วนใหญ่จากพืชผลไม้ดังกล่าว
แหล่งที่ทำการปลุกพืชผลไม้และผักมากที่สุดก็คือบริเวณสองฟากฝั่งของแม่น้ำบางปะกงในเขตเมืองฉะเชิงเทราขึ้นไปจนถึงปราจีนบุรี และในเขตเมืองชลบุรีด้วย
เขตเมืองฉะเชิงเทราและปราจีนบุรีมีหลักฐานอยู่ในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่สองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่มีถึงเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร มีความว่า





"ตั้งแต่พ้นวัดลงมา เริ่มถึงสวนเมืองฉะเชิงเทรา มีคลองลัดแห่งหนึ่งอยู่ฝั่งขวา ดูฝั่งทั้ง ๒ ฟาก ค่อยงดงามเพลิดเพลิน และสวนจาก  ส่วนใหญ่งามบริบูรณ์ตลอดทาง แวะเข้าปากน้ำโจ้โล้ ซึ่งเป็นลำน้ำไปเมืองพนมสารคาม และเมืองสนามไชยเขตร ตอนข้างนอกราวกับแม่น้ำนครนายก ต่อเข้าไปจึงจะแคบลงเป็นสวนไร่บริบูรณ์ดีมาก ไร่สับปะรดแลดูสุดตา ทั้ง ๒ ฟาก ต้นมะม่วง งาม ๆ.... "




ในมณฑลปราจีนบุรี นอกจากพืชผลดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีผลผลิตที่ได้จากป่า นอกจากผลเร่วแล้ว ก็ยังมีพวกไม้กระยาเลย ซึ่งประกอบด้วยด้วยจำพวก ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ประดู่ สีเสียด และอื่น ๆ ซึ่งพวกนี้นอกจากจะให้น้ำมันยาง หรือใช้ทำสีย้อมผ้า เช่นไม้ฝาง และสิ่งอื่น ๆ  ซึ่งสามารถผลิตได้ในราคาถูกและมีปริมาณมาก ส่วนไม้เนื้อแข็งนั้นก็นำไปทำท้องเรือสำเภา สิ่งเหล่านี้นอกจากใช้กันในหัวเมืองแล้วยังส่งไปจำหน่ายที่อื่น ๆด้วย


ส่วนไม้เนื้อหอมเช่นไม้กฤษณา ซึ่งมีอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกในเขตเมืองชลบุรี แต่ยังสู้เขตอื่น ๆไม่ได้ และในเขตนี้ยังมี พวกเขาสัตว์ หนังสัตว์ กระดูก งา ซึ่งส่งออกไปขายยังหัวเมืองอื่น โดยอยู่ในมือชาวจีนเกือบทั้งหมด

การเกษตรของราษฎรในหัวเมืองปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ซื้อขายกันภายในหัวเมือง ส่งไปขายต่างเมืองบ้าง และส่งเข้าเมืองหลวง แต่ยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร เนื่องจากการประกอบอาชีพทางการเกษตรของราษฎรยังไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังในด้านการผลิต ราษฎรขาดความรู้ทางการเกษตร อาศัยธรรมชาติเป็นหลักใหญ่ ราชการในสมัยนั้นยังไม่มีหน่วยงานที่จะแนะนำความรู้แก่ราษฎร การคมนาคม   ยังไม่สะดวก ตลาดการค้ายังอยู่ในวงแคบ



ดอกประดู่แดง


หมายเหตุ

ไม้กระยาเลยหมายถึง  ไม้ที่ได้จากต้นไม้ที่มีแก่น ไม้ที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่ ไม้เต็ง (เป็นไม้เนื้อแข็งส่วนใหญ่ใช้ทำเสาเรือน ) ไม้แดง (ส่วนใหญ่ใช้ทำเครื่องเรือน) ไม้ประดู่ (มีหลายชนิดเช่นประดู่แดง ประดู่ลาย ประดู่แขก เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน) และไม้อื่น ๆ อีก

สีเสียด เป็นต้นไม้ขนิดหนึ่ง ยางและเปลือกมีรสฝาดขม  ใช้กินกับหมากและใช้ย้อมผ้าได้เช่นเดียวกับไม้ฝาง



 น้ำฝาง

ไม้กฤษณา  เป็นไม้เนื้ออ่อนยืนต้นขนาดใหญ่ มีมากทางภาคตะวันออกของไทย ลำต้นและกิ่งก้านมักคดงอ นิยมใช้ทำไม้เท้า  ถ้าจะทำให้ไม้กฤษณามีสีดำและมีกลิ่นหอม มักจะนำไปฝังดินไว้  นอกจากนี้แล้วในเนื้อไม้มีชัน และน้ำหอม ใช้ทำยาได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มณฑลปราจีนบุรี สมัยเริ่มแรกถึงสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
ปริญญานิพนธ์ของ สุดใจ พงศ์กล่ำ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น