วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

วัดเมือง แดนประหารจีนตั้วเหี่ย



แดนประหารจีนตั้วเหี่ยที่วัดเมืองฉะเชิงเทรา








เมื่อเข้าไปติดตามดูสถานที่ประหารจีนตั้วเหี่ยที่วัดเมือง
ภายในวัดจะแบ่งเป็นสองส่วนโดยชัดเจน ด้านซ้ายเป็นอาคารสมัยใหม่ทั้งศาลาการเปรียญ กูฏิพระสงฆ์ เรือนแม่ชีและอื่น ๆ ส่่วนด้านขวามือเป็นพระอุโบสถเก่า


ด้านขวามือเป็นพระอุโบสถเก่า



เดินไปด้านพระอุโบสถเก่า ก็พบศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร หรือ อดีตพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งชาวแปดริ้วเรียกพระองค์ว่าหม่อมเกสร) ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเมืองนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากได้รับพระราชโองการให้สร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา

เมื่อครั้งที่ญวนเกิดฮึกเหิม หมายจะแย่งชิงอำนาจในการปกครองเขมรและสถาปนากษัตริย์เขมรจากไทย จนเกิดเหตุลุกลามกลายเป็นสงคราม “อานามสยามยุทธ์” ระหว่างไทยกับญวนดำเนินไปได้ราว ๑ ปี คือในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการเมืองฉะเชิงเทราจากเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำโจ้โล้ มาสร้างกำแพงเมืองใหม่ที่บ้านท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ชิดกับลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ป้องกันศัตรูได้อย่างดี หมายให้ช่วยรักษาเมืองหลวงให้พ้นภัยจากข้าศึก



กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระองค์เป็นที่เคารพของชาวบ้านและเหล่าพ่อค้าคนจีน เขื่อกันว่าหากผู้ใดขอประทานสัมผัสถูกต้องพระแสงดาบจะมีบารมีเอาชนะศัตรูคู่แข่งขันต่าง ๆ














เมื่อเดินผ่านศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งอยู่ด้านช้างซุ้มประตูสู่ซุ้มประตูพระอุโบสถเก่าแก่ของวัดเมืองซึ่งมีกำแพงเก่าแก่บ่งบอกว่าน่าจะสร้างพร้อม ๆ กับการสร้างวัดในครั้งแรก




 ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารเล็ก ๒ หลัง ด้านซ้ายและขวา และมีซุ้มวางเสมารอบพระอุโบสถ




ด้านหลังพระอุโบสถ(ทิศตะวันตก) มีต้นอืนจันต้นใหญ่ โคนต้นมีรูปั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ อยู่บนพื้นลานซีเมนต์ยกระดับสูงกว่าลานพื้นรอบพระอุโบสถ









หลังต้นอินจัน มีด้านข้างวิหารรูปทรงคล้ายพระอุโบสถ เมื่อเดินไปหาป้ายชื่อ มีตัวอักษรเขียนด้วยสีขาวบนหน้าบันแผ่นไม้ว่า "พระวิหารกรมหลวงรักษ์รณเรศ "วิหารนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือ จึงมีลักษณะรูปทรงสร้างขวางทิศทางกับพระอุโบสถ



ได้พบว่ามีพระภิกษุ สองสามองค์ เดินหายเข้าไปในพระวิหารหลังนี้ ก็ติดตามเข้าไป



ลักษณะภายในก็คล้ายกับพระอุโบสถ มีแท่นยกสูงจากพื้นวิหาร มีพระประธานและพระพุทรูป เนื้อทองสำริดสมัยสุโขทัย จำนวน ๔ องค์ ตามประวัติว่ามีพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยสำริด และภาพมงคล ๑๐๘ หล่อในสมัยรัชกาลที่สาม ไม่พบเห็น (เพราะไม่ได้สังเกตในเรื่องนี้) .






ได้เรียนสอบถามแม่ชีลำดวน เทียนวงศ์ ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี มีอายุการบวชเป็นแม่ชีที่วัดเมืองนี้ มา ๖๒ ปี ส่วนอุบาสกชื่อคุณลุงวินัยเป็นมรรคทายกของวัดเมือง








โดยเรียนถามแม่ชีลำดวนด้วยความสงสัยอย่างเหลือประมาณว่า ที่บริเวณต้นอินจันอายุมากกว่า ร้อยเจ็ดสิบสี่ปี( ถึงปีพ.ศ.๒๕๕๖ นี้) ถูกขนาบข้างด้วยพระอุโบสถและพระวิหาร และอีกสองด้านที่เหลือก็มีพื้นที่ไม่มากนักก็ถูกล้อมกรอบด้วยกำแพง ด้วยพื้นที่อย่างนี้ในสมัยที่มีการประหารพวกอั้งยี่ (คำว่าตั้วเหี่ยนั้น คนทั่วไป ๆ จะเรียกตั้วเหี่ยในรุ่นที่ก่อการจลาจล รัชกาลที่สามว่าอั้งยี่กัน) มีข้อมูลว่าประหารที่บริเวณ โคนต้นอินจัน คนจีนที่ถูกประหารมีมากมายก่ายกอง เลือดท่วมนองพื้นไปทั่วบริเวณ ทำไมจึงมาประหารใกล้ ๆ กับพระอุโบสถอย่างที่อ่านพบมา








แม่ชีลำดวนเล่าว่า คุณแม่ของแม่ชีลำดวนเป็นแม่ชีบวชที่วัดเมืองนี้เช่นกันท่านมีอายุ ๙๐ ปี ชื่อแม่ชีไหม เทียนวงศ์ แม่ชีไหมเล่าให้แม่ชีลำดวนฟังว่า ได้รับการบอกเล่าเรื่องการประหารคนจีนที่ก่อจลาจลในครั้งนั้นว่า (แม่ชีเรียกว่าพวกอั้งยี่) ลานประหารไม่ใช่บริเวณโคนต้นอินจันและไม่ใช่บริเวณภายในชั้นในของวัด




วัดมีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันเป็นทางสามแพร่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนการช่างสตรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอาชีวศีกษาและเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาในปัจจุบัน พื้นที่ของวิทยาลัยนี้เป็นรูปสามเหลี่ยมภายในวิทยาลัยมีเจดีย์ใหญ่สีขาวตั้งอยู่บนพื้นที่ มีถนนขนาบหน้าหลัง ด้านหลังของวิทยาลัยซึ่งเป็นทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ซึ่งเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราขอใช้พื้นที่จากวัดเมืองจัดภูมิทัศน์เขื่อนริมน้ำที่ร่มรื่นสวยงามอยู่ในปัจจุบัน






ลานประหารในครั้งนั้นอยู่บริเวณทางสามแพร่งเพราะทรงโปรดว่า ไม่ต้องการให้เลือดพวกกบฏตกต้องบนพื้นดินจึงให้มีการประหารใกล้ริมฝั่งน้ำ เพื่อให้สามารถชะล้างเลือดเหล่าคนจีนลงแม่น้ำไป และการประหารก็มิได้นั่งมัดติดกับหลักประหารแต่เป็นการจับให้นอนเรียงเป็นแถว อาวุธที่ใช้ประหารเป็นง้าวใหญ่ ซึ่งง้าวใหญ่นี้เก็บไว้ที่วัดทันที่แม่ชีไหมเคยพบเห็น ต่อมามีการเรียกง้าวนี้ไปเก็บในกรุงเทพฯ






ส่วนที่บริเวณต้นอินจันในปัจจุบันมีแท่นปูนสี่เหลี่ยมผืนผ้าและขอนหนุนศีรษะปั้นตั้งไว้ที่นักท่องเที่ยวมาพบเห็นแล้วก็งง งง ว่าสิ่งนี่คืออะไรนั้น แม่ชีลำดวนเล่าว่าเป็นการสร้างจำลองขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์การประหารคนจีนในสมัยนั้นว่าเป็นการจับนอนหนุนขอนที่ศีรษะประหารชีวิต








คุณวินัย มรรคทายก ก็เล่าเสริมว่า ผู้คนก็เอาเรื่องการประหารชีวิตไปเขียนกันเองว่าประหารภายในวัดที่โคนต้นจันทน์ (คืออินจัน)




พลอยโพยมคิดว่ามีเหตุผล ที่มีการประหารนอกเขตพระอุโบสถที่มีอุโบสถและวิหารอยู่สองซีกด้านของต้นอินจัน ส่วนอีกสองด้านก็เป็นพื้นที่มีที่ว่างไม่มากเพราะติดกำแพง หากมีการประหารแถวต้นอินจันจริง เลือดของผู้ถูกประหารก็จะเนืองนองอยู่รอบ ๆ พระอุโบสถและพระวิหาร

เมื่อลองเดินดูกำแพงรอบ ๆ พระอุโบสถและพระวิหาร พบว่าอิฐที่ใช้ก่อสร้างกำแพงเหล่านี้เป็นน่าจะเป็นอิฐเก่ารุ่นกรุงศรีอยุธยา





แต่การใช้คำว่าประหารภายในวัดเมืองก็ถูกต้องเพราะอาณาเขตของวัดเมืองกินพื้นที่ไปจดริมแม่น้ำ ลองพิจารณาตามภาพที่พลอยโพยมไปถ่ายมาว่ามีเหตุผลตามที่แม่ชีลำดวนเล่าสู่ให้ฟังหรือไม่





ลานกว้างหน้ากำแพงและประตูเข้าสู่พระอุโบสถ ซึ่งยังอยู่ในกำแพงวัดชั้นนอก คำว่ากำแพงวัดชั้นนอก หมายถึงกำแพงที่สร้างกั้นอาณาเขตวัดทั้งหมดทั้งศาลาการเปรียญ หอระฆัง กุฏิพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีกำแพงชั้นในกั้นพระอุโบสถ พระวิหารกรมหลวงรักษ์รณเรศ วิหารเล็ก สองวิหาร เจเดีย์ พระปรางค์ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านสร้างบรรจุอัฐิคนในตระกูลปะปนกันอยู่ในกำแพงชั้นใน ส่วนพระปรางค์ของเดิมรุ่นสร้างวัด มีเพียงพระปรางค์มุมกำแพงแก้วรอบพระวิหารเพียงสี่องค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น






ในดือน เมษายน  พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ไปถ่ายภาพมา พอถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ บริเวณด้านนอกกำแพงอุโบสถหลังเก่า ภูทิทัศน์ได้เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว  ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ   หมู่เจดีย์ ปรางค์หน้าพระอุโบสถ ทุกอย่างถูกรื้อออก มีสภาพดังปรากฎในภาพข้างล่างสุด แต่สภาพภายในกำแพงชั้นในยังไม่ได้เข้าไปชม




ชอขอบคุณภาพจากtravel.sanook.com




ขอขอบคุณภาพจากwww.reviewthaitravel.com



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.klongdigital.com/webboard3/40717.html+



ถ่ายภาพ เมื่อ เมษายน ๒๕๕๖


ถ่ายภาพเมื่อมิถุนายน ๒๕๕๖

2 ความคิดเห็น:

  1. บูรณะใหม่ทำได้แย่มาก ของสำคัญๆหายไปมากทีเดียว คนที่สร้างศาลเอาไว้น่ะสร้างได้ดีแล้ว ไม่น่ารื้อเลย สร้างแบบจีนปนไทยเข้ากับสมัยมากกว่าเรือนไม้อีก

    ตอบลบ
  2. ตั่วเหี่ยไม่มีนะมีแต่ ตั้วเฮีย หรือ ต้าเกอ

    ตอบลบ