วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ปราชญ์สยามสามสมัย




วัดสระเกศในสมัยรัชกาลที่ ๔
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net


อันที่จริงแล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดในปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ส่วนพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดในปี พ.ศ. ๒๓๖๕

ในสมัยรัชกาลที่ ๓
เมื่อท่านได้อุปสมบทที่วัดสเกษและสอบได้เปรียญธรรม ๕ ได้ในพรรษาที่ ๓ ก็เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดสเกษปลูกกุฎีตึก สร้างภูเขาทอง และยังมีการสร้าง“เมรุปูนวัดสระเกศ”

“เมรุปูนวัดสระเกศ” เป็นเมรุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายช่างสร้างเมรุด้วยการก่ออิฐถือปูน

เมรุปูนวัดสระเกศ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นนี้ เพื่อใช้สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีการก่อสร้างอย่างปราณีตสมบูรณ์ยิ่งกว่าเมรุปูนของวัดอรุณราชวราราม และวัดสุวรรณาราม ที่ได้สร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว เมรุปูนวัดสระเกศ มีสิ่งก่อสร้างบริเวณรอบเมรุ เช่น พลับพลา โรงธรรม โรงครัว โรงมหรสพ ตลอดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ และระทา (หอสี่เหลี่ยมทรงยอดเกี้ยว ใช้สำหรับจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ในพิธี) ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนทำด้วยการก่ออิฐถือปูนทั้งสิ้น





“เมรุปูน” ถือได้ว่าเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับเมรุราชอิศริยาภรณ์ ที่ตั้งอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสปัจจุบัน




ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนบำรุงเมือง โดยการตัดผ่านของถนนเส้นนี้ ทำให้กุฎีวัดสระเกศกับบริเวณ เมรุปูน แยกออกจากกันคนละฝั่งถนน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการแก้ไขบริเวณเมรุปูนนี้ให้เหมาะสมกับถนนที่ตัดขึ้นใหม่


สภาพของ เมรุปูน มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอยู่ติดกับถนน และมีอาคารบ้านเรือน อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น จึงไม่เหมาะที่จะทำการฌาปนกิจศพ จึงได้ยุบเลิก เมรุปูน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และทางวัดสระเกศก็ได้มอบสถานที่นั้นให้เป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ” และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงมอบพิ้นที่นี้ต่อให้กับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งขึ้นเป็น ”โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร” และยกวิทยฐานะเป็น “วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร” จนปัจจุบัน


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/208625
http://krooair.blogspot.com/2011/05/blog-post.html



ขอขอบคุณภาพจากftpmirror.your.org


วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณ เดิมมีชื่อว่าวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕ มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ ๑๑ ว่า

"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่าๆกันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ'



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.taradnud24.com/ProductDetail.aspx?pid=6744&storeNo=424


แต่เอกสารในสมัยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เขียน วัดสระเกศ ว่า วัดสเกษ

โดยเฉพาะที่วัดสระเกศเอง ตามคำบอกเล่าของ มีกุฎิของมหาน้อยที่สร้างในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมหาน้อยยังได้กราบบังคมทูลเรื่องโยมพี่ชาย ที่รับราชการอยู่หัวเมืองและได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

และเมื่อมหาน้อยไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะทรงผนวช ก็ทรงรับไว้เป็นศิษย์ที่เรียกว่าอันเตวาสิก ทั้งที่ทรงเป็นพระภิกษุธรรมยุติ ส่วนมหาน้อยเป็นพระภิกษุมหานิกาย
เมื่ออุปสมบทได้ ๖ พรรษา มหาน้อยก็สอบเปรียญธรรมเอก ๗ ได้

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต




ในสมัยรัชกาลที่ ๔

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ ก็ทรงโปรดการถวายพระธรรมเทศนาของมหาน้อยและทรงพระเมตตานับมหาน้อยเข้าในสานุศิษย์ข้าหลวงเดิม 

มหาน้อยได้รับการสถาปนาเป็นพระประสิทธิสุตคุณ เป็นพระราชาคณะ(ชั้นสามัญ) อยู่ในวัดสเกษ พระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ มีฐานานุกรม ๓ องค์คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕


เป็นที่กล่าวขวัญว่ามหาน้อยหรือพระประสิทธิสุตคุณ มีกิริยาอัธยาศัยสุภาพเรียบร้อย ได้เทศนาวาการมีโวหารอันไพเราะ เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธา และถูกอัธยาศัย แห่งท่านทายกทั้งปวง เป็นที่ปิติยินดีแก่ผู้ที่ได้สดับตรับฟังรสพระธรรมเทศนาแห่งท่านเป็นอันมาก มีผู้มานิมนต์ไปเทศน์ตามวังเจ้า บ้านขุนนางมิใคร่ขาด กิติศัพท์กิติคุณของท่านเฟื่องฟุ้งไปในหมู่เศรษฐี คฤหบดี ลูกค้าวานิชที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหกลายน ได้พากันนำบุตรหลานมาฝากเป็นสานุศิษย์เป็นอันมาก

เมื่อพระประสิทธิสุตคุณถวายพระพรลาสิกขาบท ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทรงเมตตามีพระราชประสงค์ให้ท่านดำรงสมณะศักดิ๋ต่อไป จึงได้ทรงทัดทานห้ามปรามไว้ ต่่อมาภายหลังได้กราบทูลอ้อนวอนหลายครั้ง จึงทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบท ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ที่วัดสระเกศ


กุฎีพระประสิทธิสุตคุณ ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

เมื่อท่านลาสิกขาบทแล้ว ท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง ครั้งยังเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดีหัวหมื่นมหาดเล็ก ได้นำท่านเข้าไปถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ ทรงได้ใช้สอยการหนังสือไทยหนังสือขอม แคล่วคล่องต้องตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าจะติดขัดในประการใดก็ช่วยเหลือพระองค์ได้เสมอ ท่านรับราชการ ๑ ปี ก็ได้เลื่อนตำแหน่ง


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นขุนประสิทธิอักษรศาสตร์ ผู้ช่วยกรมพระอาลักษณ์ และให้ว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมการที่ว่างอยู่ เป็นที่ทรงพระเมตตาโปรดปรานได้รับพระราชทานรางวัล อยู่เนือง ๆ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เข้าไปรักษาอุโบสถเมื่อเวลาทรงศีลที่หอพระสิหิงค์ โดยเปป็นที่ทรงไว้วางพระราชฟฤทัยในตัวท่าน มิได้ทรงรังเกียจสิ่งหนึ่งสื่งใดเสมอกับศิษย์ กับอาจารย์เหมือนกัน

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ครั้งนั้น ก็ได้ทรงพระกรูณาโปรดเกล้าให้ตามเสด็จด้วย




ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท


ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับดังในประวัติของท่าน เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ได้นำช้างเผือกมาถวายในคราวแรกเป็นช้างสำคัญที่ ๑ ในแผ่นดินรัชกาลนี้ คือพระเสวตรวรวรรณ ทรงโปรดเกล้าให้แต่วฉันท์สำหรับให้พราหมณ์ขับกล่อมเมื่อเวลาสมโภช ท่านก็แต่งขึ้นทูลเกล้าถวายทันพระราชประสงค์ เป็นความชอบในครั้งนั้น ภายหลังมีช้างสำคัญมาสู่พระบรมโพธิสมภารอีกหลายช้าง ท่านได้เป็นผู้ขานนามช้างและแต่งฉันท์กล่อมเสมอทุกครั้ง และทุก ๆ ช้างมา

ความโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อ พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ปรากฎชัดในความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสมยามมกถฎราชกุมาร ทั้ง สองพระองค์ รวมทั้งภาระหน้าที่พิเศษจากงานประจำของกรมพระอาลักษณ์

ท่านเป็นคนมักน้อยถือสันโดษ
พ.ศ. ๒๔๑๘ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงสารประเสริฐขึ้นเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐ (จะทรงตั้งให้เป็นที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ แต่หลวงสารประเสริฐ กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานศักดินาเพียง ๓๐๐๐ เท่านั้น จึงเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร”) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐
จนเมื่อท่านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาก็ยังคงศักดินาเท่าเดืม

เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานไปพระราชวังปะอิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ รับสั่งชวนเจ้านายให้ทรงแต่งโคลงเล่นในเวลาว่าง และพระราชทานกระทู้ความให้แต่ง โคลงที่แต่งเป็นโคลงสุภาษิตซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนิพนธ์ของเจ้านาย นอกจากเจ้านายมีแต่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) คนเดียวที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แต่งด้วย โดยฐานที่เป็นอาจารย์ โคลงสุภาษิตมีจำนวนรวม ๒๐ กระทู้ รวมโคลงทั้งสิ้น ๓๙๘ บท เรียกกันว่าโคลงสุภาษิตใหม่ภายหลังเรียกเป็นโคลงสุภาษิตเจ้านาย






ขอขอบคุณภาพจาก www.webganzter.com

มีข้อความตอนหนึ่งในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ทรงได้รับการสถาปนา เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙)


วันเสาร์ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๘
เราตื่นนอนเช้า ลงมากินข้าวแล้วไปบน เห็นป้าโสมนอนอยู่ข้างสมเด็จแม่ เราดีใจ แล้วเราไปอาบน้ำที่ชาลา กินข้าวแล้วไปเรียนหนังสือ กลับจากเรียนหนังสือเที่ยงนาน เล่นตุ๊กตาในหลังแดง บ่ายไปบนเฝ้าในที่ ทูลหม่อมบนทรงเครื่องแล้วเสด็จออกพระที่นั่งจักรี เจ้านครจัมปาศักดิ์เฝ้าถวายต้นไม้ทองเงิน เสด็จขึ้นแล้วประทับเสวยที่สวนสวรรค์ เราเข้าถ้ำเล่นสนุก ทูลหม่อมบนกับสมเด็จแม่รับสั่งชมพระยาศรีสุนทรมาก สองทุ่มนานเรากลับมาเรือนนอน

ทูลหม่อมบนคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จแม่คือสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูล) มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโต๊ะทอง และพระยาพานทอง


พระยาโต๊ะทอง คือ ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานโต๊ะทอง (พานก้นตื้น) เป็น เครื่องสำหรับยศ, ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีบรรดาศักดิเสมอตำแหน่งที่ได้รับโต๊ะทอง

พระยาพานทอง คือ ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานพานทอง เป็นเครื่องสำหรับ ยศ, ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป มีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับพานทอง


จะเห็นได้ว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์ หากท่านมีชีวิตยืนยาวต่อมา ก็เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่งด้วย


สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

มงคลอนุสรณ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ชาวฉะเชิงเทราได้สร้างมงคลอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของท่านไว้ ดังนี้
๑. อนุสาวรีย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งอยู่บนถนนศรีโสธรตัดใหม่ ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

๒. ในคำขวัญประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการกล่าวถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ไว้ในวรรคที่ ๓ ว่า “...พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย...”

๓. นามโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรามีชื่อว่า “โรงเรียน เทศบาล ๒ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)




๔. นามสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

๕. นามถนนเชื่อมระหว่างถนนศรีโสธรตัดใหม่ และถนนสิริโสธร (ถนนบางปะกง – ฉะเชิงเทรา)




แม้ว่าในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ผลจากการศึกษาพระธรรม ต่าง ๆ ก็นับเนื่องได้ว่าท่านเป็นปราชญ์ในทางธรรม ทั้งยังมีความรู้แตกฉาน ใน หนังสือไทย หนังสือขอม และภาษามคธ

เมื่อลาสิกขาบทแล้ว เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องภาษาไทย ภาษาขอม

และในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับยกย่องจากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีนามปากกาว่า น.ม.ส. โดยทรงนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือ ปกีระณำพจนาดถ์ ว่า

 “...พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ผู้แต่งหนังสือนี้เป็นใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือไทย... เป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” เมื่อตัดสินว่ากระไร ก็เป็นคำพิพากษาสุดท้าย ใครจะเถียงว่ากระไรก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น”

ท่านยังเป็นครู อาจารย์ พระอาจารย์ ให้กับ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชนชาวสยามมากมาย
คำกล่าวขวัญว่า ท่านเป็นปราชญ์สยามสามสมัย จึงควรคู่ ควรค่า อย่างยิ่ง สำหรับ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น