วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๒




๔. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)เป็นผู้มีความจงรักภักดียิ่งต่อพระมหากษัตริย์

จากราชทินนาม คือนามที่ได้รับพระราชทานว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยะพาหะ

เป็นนามที่บ่งบอกตัวตนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )ได้ชัดเจนที่สุด ในความรู้ความสามารถ ความจงรักภักดี ความวิริยะอุตสาหะของท่าน นอกจากเป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยประวัติของท่านในการดำรงชีวิตใต้เบื้องพระยุคลบาทแล้ว ความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏอยู่ในผลงานนิพนธ์ของท่าน เช่น ในลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในร่ายประชุมโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และในท้ายเล่มของหนังสือ “สยามสาธก วรรณสาทิศ” ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) ได้คิดคัดศัพท์ภาษามคธ ต่าง ๆ รวมเป็นพวกไว้ เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เฉลิมปัญญาบารมี มีความดังนี้




“...ศัพท์ภาษามคธอย่างนี้ ในพระคัมภีร์มีมาก ข้าพระพุทธเข้าคิดรวบรวมแต่ที่จำได้ในเวลา เล่าเรียนมาจัดเป็นหมวดๆ เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นเครื่องอบรมพระญาณปรีชา ประดับพระปัญญาบารมี โดยสังเขปเท่านี้ ขอเดชะ

ต่อไปนี้เป็น คาถาประณิธานของข้าพระพุทธเจ้า
ปจิจุปฺปนฺเน ยถา ทานิ ตุมฺหํ ราชาธิราชิโน
สมฺมาว ปาทมูลิโก โหมิ ธมฺเมน ปาลิโก
ตถา นานาสุ ชาจีสุ นิพฺพติสฺสํ ปุนพฺภเว
ตุยฺเห วทาสโก โหมิ ยาว ชาติ ปริกฺขยา
อิทํ เม มนสา สจฺจํ สุทฺธํ วาจาย ภาสิตํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน สทา ภทฺรานิ ปสฺสตูติ ฯ

ในคาถาปณิธานของข้าพระพุทธเจ้าว่า ในชาติปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าใน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาธิราช ผู้ดำรงสุจริตยุติธรรม พระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ เลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าฉันใด ข้าพระพุทธเจ้าจะเกิดต่อไปในภพชาติต่าง ๆ ภายน่า ถ้ายังไม่สิ้นชาติ ยังต้องเกิดอยู่ตราบใด ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าบำเรอพระบรมบาทจงทุก ๆ ชาติ เทอญ ข้อนี้เป็นความสัตย์บริสุทธิ์ผุดจากดวงจิตของข้าพระพุทธเจ้า เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงประสบแต่ การ,สิ่ง ที่เจริญทุกเมื่อ การสิ่งใดพัสดุ สิ่งใด ซึ่งไม่เป็นที่เจริญพระกมลราชหฤไทยขออย่าได้มีมาเกี่ยวข้องในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย

“สิทฺธิรสฺตุ สิทฺธํ ผลํ รตนตฺยเตชสา”



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น