วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

งานแห่หลวงพ่อพุทธโสธร ๔






เรื่องราวที่เล่าขานกันเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรนั้น กล่าวกันว่า “ที่ชุมชนประตูน้ำท่าถั่ว เคยมีปัญหาเด็กตกน้ำตายทุกปีชาวชุมชนจึงอาราธนาหลวงพ่อโสธรให้แผ่เมตตาบารมีแก้ปัญหาที่เกิดซ้ำซาก หลังจากชาวชุมชนท่าถั่วจัดพิธีต้อนรับหลวงพ่อโสธร ประชาชนมาร่วมงานบุญกราบไหว้นมัสการปิดทององค์พระพุทธรูปหลวงพ่อ ปัญหาเด็กตกน้ำตายทุกปีไม่ปรากฏอีกเลยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน” ดังนั้นประเพณีการจัดงานต้อนรับ “ขบวนแห่หลวงพ่อโสธร” ที่ท่าถั่วจึงเอิกเกริกเป็นอย่างมาก ในบริเวณที่จัดงานอาคารบ้านเรือน ต่าง ๆ จะมีการประดับธงทิว, มีมหรสพฉลองทั้ง ลิเก, ภาพยนตร์, ดนตรี รวมทั้งการร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกันของชาวท่าถั่ว ในวันก่อนวันรับขบวนแห่หลวงพ่อโสธรก่อน ๑ วัน เมื่อถึงวันจริงประชาชนจะร่วมกันถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งถึงเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ประธานกรรมการจัดงานจะเตรียมพานดอกไม้, ธูปเทียนและปัจจัยทำบุญ ลงเรือเล็กเพื่อไปอัญเชิญองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อโสธรที่ตลาดโรงสีล่าง ตำบลท่าพลับ มาประตูน้ำท่าถั่ว เพื่อให้ชาวท่าถั่วได้จุดธูปเทียนนมัสการหลวงพ่อโสธร ๑ ชั่วโมง





หลังจากนั้นขบวนแห่หลวงพ่อโสธรก็จะเดินทางต่อไปที่ตำบลบ้านโพธิ์ ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ขบวนแห่หลวงพ่อโสธรได้ประดิษฐานค้างคืน ๑ คืน ณ ตำบลบ้านโพธิ์ ซึ่งคณะกรรมการจัดงานต้อนรับจะอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากเรือและประดิษฐานบนบก เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ โดยมีลิเกแสดงฉลองสมโภชด้วย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยหยุดการแสดงมหรสพในช่วงกลางคืนเหลือเพียงแค่งานต้อนรับในช่วงกลางวันเท่านั้น ที่ตำบลบ้านโพธิ์นี้จะมีการจุดประทัด ๑,๐๐๐ นัด เพื่อเป็นการถวายการต้อนรับหลวงพ่อโสธร ในบางปีก็มีประชาชน นำพลุและตะไล จุดถวายต้อนรับด้วย




จุดสุดท้ายของการแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำในปัจจุบันก็คือ สนามกอล์ฟบางปะกงริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ยานพาหนะทางน้ำในขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ เช่นพาหนะประดิษฐานหลวงพ่อโสธร เรือยนต์ลากจูง เรือใหญ่ ๒ ชั้น สำหรับวงมโหรีบรรเลงตามขบวนแห่ พร้อมเจ้าหน้าที่ในเรือ และการจัดเตรียมอาหารเย็นต้อนรับเจ้าหน้าที่ในขบวนแห่หลวงพ่อ จะมีการจัดตั้งปะรำพิธี บริเวณท่าน้ำจะตกแต่งประดับประดาให้สวยงาม พร้อมทั้งจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาและผลไม้ เมื่อขบวนแห่หลวงพ่อโสธรมาถึงก็จะมีการจุดประทัดเพื่อเป็นการต้อนรับ ขบวนแห่หลวงพ่อจะอยู่ที่ชุมชนนี้ประมาณ ๒ ชั่วโมง จึงเดินทางกลับวัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นอันเสร็จพิธีแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ สำหรับวันแรก ส่วนในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ขบวนแห่หลวงพ่อ จะล่องขึ้นไปยังอำเภอบางคล้า และมีรูปแบบการต้อนรับที่คล้ายคลึงกัน





การแห่หลวงพ่อโสธรในช่วงกลางเดือนสิบสอง ตลอดแนวริมฝั่งมาน้ำบางปะกง ยามค่ำคืนจะมีแสงไฟสว่างไสว ประดับธงทิว ตามแหล่งชุมชน มีมหรสพบันเทิง สนุกสนาน ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มเอิบด้วยความศรัทธา งานบุญที่ได้ร่วมกันถวายหลวงพ่อต้อนรับหลวงพ่อโสธร นับได้ว่าเป็นประเพณีที่ได้ทำสืบต่อกันมาเช่นนี้เป็นระยะเวลานับร้อยปีแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นร่องรอยแห่งความทรงจำของชาวแปดริ้วตั้งแต่ครั้งโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประเพณีท้องถิ่นของ “การแห่หลวงพ่อโสธร” นี้เปรียบได้ดั่ง “มุขยาภรณ์แห่งลุ่มน้ำบางปะกง” ที่จักอยู่คู่กันไปกับชาวฉะเชิงเทราตราบชั่วกาลนานสืบไป...



















หมายเหตุ

ปัจจุบันการแห่หลวงพ่อทางน้ำแห่ลงไปถึงอำเภอบางปะกงแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น