วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา



หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี


ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.gotoknow.org/posts/255447

หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

หลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีที่ประชาชนคนไทยเคารพเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุสัมฤทธิ์ปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๑ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว ศิลปะเชียงแสน

คำประพันธ์นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่


"ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะเคราสวาท
มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
พอจวนพลพักร้อนผ่อนสำราญ

กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
ขึ้นไปไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลือมาแต่บุราณ
ใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อน..."



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=1838

ประวัติความเป็นมา

ตำนานเดิมกล่าวว่าชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรีได้พากันมาตีอวนจับปลาในทะเลในขณะที่ลากอวนจับปลาอยู่นั้น ได้ลากพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา ๑ องค์จึงได้อาราธนาพระพุทธรูปนั้นขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับจากทะเลในระหว่างทาง ได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปลอยปริ่ม ๆ น้ำ อีก ๑ องค์ ได้อาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่งแล้วพากันแล่นเรือกลับ เกิดมีฝนตกหนักลมพายุพัดจัด เรือลำที่หลวงพ่อบ้านแหลมประดิษฐานอยู่เอียงวูบไป หลวงพ่อที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายลงไปในแม่น้ำแม่กลอง

ได้ระดมคนลงงมค้นหาไม่พบองค์จึงนำพระพุทธรูปองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตนและนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา *เป็นต้นมา





ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=1838

ชื่อใหม่ของหลวงพ่อ

หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ "หลวงพ่อ(ทอง) เขาตะเครา"

สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อแต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะ เดิมช่างภาพคนนี้จึงไปลอกผิวเปลวทองที่ติดหน้าพระพักตร์หลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพคนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวงพ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ทองที่ปิดองค์พระนั้นหนามาก จนทำให้ไม่เห็นองค์เดิมว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือปูนปั้น ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า"ทอง" ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็นหลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา




วัดเขาตะเครา

สำหรับ วัดเขาตะเครา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เดิมพระอุโบสถอยู่บนยอดเขา ต่อมาย้ายพระอุโบสถลงมาเชิงเขา เพื่อความสะดวกเวลาปฏิบัติศาสนกิจ แล้วอัญเชิญองค์หลวงพ่อทอง ลงมาประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบสักการะ

 ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://www.danpranipparn.com/web/praput/praput161.html


หมายเหตุ จากหนังสืออนุสรณ์ ผ้าป่า ๘๔,๐๐๐ กอง วัดเขาตะเครา เพชรบุรี และหนังสือหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ที่มาของข้อมูลตาม เวปไซต์ข้างต้น (*ซึ่งปี พ.ศ. ที่อาราธนาหลวงพ่อ ในหนังสือนี้ ใช้ ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ ซึ่งไม่ตรงตาม ประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ซึ่งอ้างปี พ.ศ. ๒๓๐๗ และน่าจะเป็นปีเดียวกัน จึงไม่ระบุปี พ.ศ ๒๓๐๒ ไว้ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น