วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บรรยากาศการถ่ายทำรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ๒


พอจอดรถและหยิบขนมลงมา คุณสตังค์ก็ร้องทัก พร้อมกับทำเสียงร้องต้อนรับว่า โห่ ฮัิวโห่ ฮิ้วโห่ หิวๆๆๆๆๆๆๆๆ  สัญญลักษณ์เสียงเพลงส่วนท้าย ๆ ของรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง พลอยโพยมจึงตอบกลับว่า เดี๋ยวก็หายหิว เพราะหิ้วของแก้หิวมาให้พอดีเลย

เมื่อเข้าไปกราบสวัสดีคุณป้าสมจิตรเจ้าของบ้าน คุณครูเปี่ยมจิตต์ คุณครูสมนึก พี่ทองหยิบแล้ว และขึ้นไปบนบ้านนั้นเป็นเวลาที่คุณสตังค์และน้องผู้ชายอีกคนกำลังถ่ายภาพ เครื่องปรุงและส่วนประกอบของรายการอาหารที่จะถ่ายทำคือ รุ่ยแกงบวด และ แกงคั่วรุ่ยและดอกจาก





ส่วนบริเวณชั้นล่างจะเป็นที่ประกอบอาหารนั้นก็คือลานปูนเอนกประสงค์ของคุณป้า ซึ่งด้านในสุดของลานนี้จะมี แท็งค์น้ำ ตุ่มใส่น้ำฝน เป็นจำนวนมาก และคุณป้ายังสร้างถังกลม (โดยซื้อปลอกปูนกลม มาวางซ้อนกันแล้วฉาบปูนเชื่อมกันประกอบเป็นตัวถัง มาตั้งไว้ทั้งบริเวณบันไดขึ้นบ้าน และบริเวณด้านข้างของตัวบ้านสุดทางเดินรอบบ้านด้านขวามือสุดปลายหัวราง

ซึ่งใช้วิธีการรองน้ำฝนจากหลังคาบ้านให้ตกสู่ตัวถัง สรุปว่า ถังน้ำจะสร้างตรงหัวรางน้ำฝนจากหลังคาบ้านนั่นเอง

ในส่วนนี้คุณป้าสมจิตร ทำพะไล ยื่นออกจากตัวบ้านไว้ จะเห็นแนวกระถางต้นไม้ใกล้ๆ ตุ่มปูนสีขาวขนาดใหญ่






บ้านคุณป้าสมจิตรนี้เมื่อมองภาพเลยแนวตุ่มน้ำไปจะเห็นแนวต้นจากปลูกอยู่

ลักษณะภูมิประเทศอย่างนี้แสดงว่าบ้านคุณป้าสมจิตรตั้งอยู่ฝั่งแหลมแหลมของแม่น้ำคือเป็นฝั่งแผ่นดินงอก บริเวณที่ตั้งของบ้านและลานบ้านที่มีแนงอิฐเรียงไปสู่แม่น้ำ น่าจะเป็นแผ่นดินที่งอกมาจากชายฝั่งเดิมที่ผ่านกาลเวลาที่ยาวนานเป็นร้อยปี เพราะมีช่วงเวลาหนึ่งที่คุณสตังค์ถามคุณป้าสมจิตรว่าบ้านนี้ปลูกมานานเท่าไร แล้ว คุณป้าสมจิตรตอบมา เจ็ดแปดสิบปีแล้ว คือตั้งแต่คุณป้าสมจิตรยังเป็นเด็กเล็กอยู่่นั่นเอง






พะไล คำแปล   น. เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน พาไล ก็ว่า.

ขอขอบคุณ http://dictionary.sanook.com/search/พะไล

ขอขอบคุณภาพจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

(แทรกเรื่อง) ตุ่มปูนปั้นสีขาว

ตุ่มปูนสีขาวที่วางเรียงรายอยู่นั้นเป็นตุ่มปูนขนาดใหญ่ บ้านเรือนในแปดริ้วตามนอกเมืองต่าง ๆ  เมื่อก่อนโน้นจะต้องสำรองน้ำฝนไว้อุปโภคบริโภค จะรอใช้การอุปโภคน้ำจากแม่น้ำเพียงแห่งเดียวมิได้ เพราะในหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำจะเป็นน้ำกร่อยถึงระดับน้ำเค็มในช่วงปลาย ๆ ของลำน้ำ คือ อำเภอบ้านโพธิ์ ต่อถึงอำเภอบางปะกง  ไม่เว้นว่าจะเป็นบ้านริมแม่น้ำหรือบ้านบนทีดอนห่างไกลแม่น้ำ

ในสมัยเด็กของพลอยโพยม
ตุ่มปูนสีขาวนี้หากเป็นบ้านที่อยู่ริมน้ำคนขายตุ่มจะใช้เชือกผูกโยงตุ่มแต่ละใบ เว้นช่วงห่างพอสมควรเพื่อมิให้ตุ่มกระแทกกันเองในแม่่น้ำ ผูกโยงมาตามจำนวนที่คนซื้อสั่งซื้อ และใช้เรือที่ติดเครื่องยนต์ท้ายเรือค่อย ๆ วิ่งนำขบวนตุ่มเหล่านี้มาส่งยังบ้านจุดหมายปลายทาง  หากเป็นเรือพาย เรือแจว คงไม่มีเรี่ยวแรงนำพาขบวนตุ่มน้ำปูนปั้นเหล่านี้มาส่งถึงที่หมายได้เป็นแน่แท้  เมื่อมาถึงที่หมายเจ้าของสถานที่ต้องเตรียมทางลาด กลิ้งตุ่มขึ้นจากน้ำ ไปยังสถานที่ตั้ง วิธีการขยับหลังขึ้นจากฝั่งแม่น้ำแล้ว คือการกลิ้งตุ่ม




ต่อมาเมื่อพลอยโพยมโตขึ้น ก็มีพัฒนาการวงการปั้นตุ่มปูนสีขาวโดยผู้รับจ้างปั้นตุ่มน้ำเหล่านี้ มาปั้นสถานที่ที่สั่งปั้นตุ่มเลย จะให้ตั้งตรงไหนมุมไหนก็สั่งการได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนหลายคนมาช่วยกันกลิ้งตุ่มอีกแล้ว








บ้านเก่าหน้าวัดบางกรูดริมแม่น้ำบางปะกง ของคุณยายพลอยโพยมก็เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง เวลาน้ำขึ้นน้ำจะท่วมใต้ถุนบ้าน ขนาดนำเรือเข้าใต้ถุนบ้านได้ในเฉพาะเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง บันไดท่าน้ำที่ทอดลงสู่พื้นเลน เป็นบันได ๙ ขั้น แค่เพียงชั่วช่วงชิวิตของพลอยโพยมเอง พื้นดินใต้ถุนบ้านถูกดินทับถม สูงขึ้นจากสมัยเด็ก ในลักษณะนี้นำเรือเข้าใต้ถุนบ้านไม่ได้แล้ว และหากยังมีบันไดท่าน้ำ ก็จะเหลือแค่ สามสี่ขั้นเท่านั้น

บ้านหลังนี้ก็เป็นบ้านที่ปลูกบนพื้นที่ที่งอกยื่นลงในลำน้ำ เป็นเวลา นับร้อย ๆ ปี เช่นกัน  บรรพบุรุษต้นตระกูลของพลอยโพยมเข้ามาตั้งรกรากที่บริเวณนี้ปลายกรุงศรีอยุธยาจวนแจที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกนั่นเอง


บ้านหลังเดียวกันกับภาพบนแต่อยู่ในวัยเด็กของพลอยโพยม
บ้านหลังนี้จะมองเห็นอรุณรางสร่างแสงอโณทัยได้ทุกวันที่ขอบฟ้าริมฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม

จากตำบลแสนภูดาษ พลอยโพยมพากลับไปตำบลบางกรูดเสียแล้ว

1 ความคิดเห็น: