วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สายน้ำแหล่งชิวิต ๖



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.lek-prapai.org/watch.php?id=843

๕. พระราชพิธีหลวงที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกี่ยวข้องกับน้ำ


ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งยึดถือในรอบปีอย่างชัดเจน เช่นการแข่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสี่ยงทายเรื่องน้ำ พิธีกรรมที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และพิธีกรรมที่สร้างความมั่นใจให้เกิดขวัญกำลังใจในการทำการเกษตร
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมทุ่ง บางปีที่มีน้ำมากน้ำลดไม่ทันก็จะเกิดความเสียหายในไร่นา พระมหากษัตรืย์จึงมีพระราชพิธีเพื่อกำกับน้ำให้พอเหมาะกับการเกษตร ดังในกฎมณเฑียรบาลกล่าวถึง
เดือน ๑๑ อาสยุชแข่งเรือ
เดือน ๑๒ พิทธิจองเปรียงลดชุดโคมลอย
เดือน ๑ ไล่เรือ เถลิงพิทธตรียำหวาย


ประเพณีหลวงที่จัดขึ้นในรอบปีซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับน้ำของอาณาจักรในช่วงเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ และเดือนอ้าย (เดือน ๑) มี ๓ พิธี คือ อาสยุชพิธี หรือการแข่งเรือเสี่ยงทาย พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม และพิธีไล่น้ำ




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.lek-prapai.org/watch.php?id=843


๕.๑ อาสยุชพิธี หรือการแข่งเรือเสี่ยงทาย


พิธีที่จัดขึ้นในเดือน ๑๑ เรียกอาสยุชพิธี คำว่า อาสยุช หมายถึง เดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นพิธีแรกที่เกี่ยวข้องกับน้ำและดิน ซึ่งเป็นเรื่องของการเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ปรากฏข้อความในกฎมณเฑียรบาลเมื่อครั้งต้นกรุงศรีอยุธยาระบุสาระสำคัญดังนี้

“เดือน ๑๑ การอาสยุชพิทธี มีหม่งครุ่มซ้ายขวา ระบำหรทึกอินทเภรีดนตรี เช้าธรงพระมหามงกุฎราชาประโภค กลางวันธรงพระสุพรรณมาลา เอย็นธรงพระมาลาสุกหร่ำสภกชมภู สมเดจ์พระอรรคมเหษีพระภรรยาธรงพระสุวรรณมาลา นุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรคชายาธรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอธรงศิรเพศมวยธรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้น สรมุขเรือสมเดจ์พระอรรค มเหษีสมรรถไชยไกรสรมุขนั้นเปนเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้ เข้าเหลือเกลืออี่มศุกขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชำนะไซ้จะมียุข”

ข้อความตามกฎมณเฑียรบาลระบุว่าเป็นการแข่งเรือเสี่ยงทาย ถ้าเรือของพระเจ้าแผ่นดินคือ สมรรถไชยเป็นฝ่ายแพ้ ไกรสรมุข ซึ่งเป็นเรือของพระอัครมเหสี บ้านเมืองจะ “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” หากเรือของพระอัครมเหสีแพ้บ้านเมือง “จะมียุข” (ยุค) อันเป็นภาวะที่ราษฎรเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีพขาดแคลนข้าวปลาอาหารอย่างแสนสาหัส

อาสยุชพิธี หรือการแข่งเรือเสี่ยงทาย ได้กระทำสืบเนื่องมาจนถึงช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังมีพรรณนาไว้ในนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ความว่า

          เดือนสิบเบ็ดเสร็จสำแดง       เรือกิ่งแข่งตามพิธี

พายงามตามชลธี                            พี่แลเจ้าเปล่าเปนดายฯ

            อาสุชดลมาศแคว้น              กรุงไกร

เรือกิ่งกะพรหมไชย                          ชื่นสู้

กิ่งไกรสรจักรไคล                            เทียบท่า

ทองอร่ามงามแข่งขู้                        พี่นี้คนเดียวฯ


ธรรมเนียมแข่งเรือของหลวงได้เริ่มคลี่คลายไปสู่ราษฎร จนกลายเป็นการละเล่นช่วงฤดูน้ำหลาก เช่น บันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส ในข้างต้นครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พิธีแข่งเรือเสี่ยงทายมิได้กระทำอีกต่อไปคงเหลือแต่เพียงการแข่งเรือของราษฎรเพื่อความสนุกสนาน และการพนันขันต่อซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลทอดกฐินอันเป็นระยะเวลาเดียวกับการแข่งเรือเสี่ยงทายที่มีมาก่อนหน้านี้



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.lek-prapai.org/watch.php?id=851

๕.๒ พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม

พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม ปรากฏหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์จะลงเรือพระที่นั่งกระทำพิธีลอยโคมลงน้ำ และเฉลิมฉลองบริเวณหน้าวัดพุทไธสวรรย์ ดังนี้

“เดือน ๑๒ การพิทธีตรองเปรียง ลดชุดลอยโคมลงน้ำ ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ์ ๔ ระทา หนัง ๒ โรง เสดจ์ลงเรือเบญจา ๕ ชั้น พระธี่นั่งชั้น ๔ ชั้น สมเดจ์พระอรรคมเหษีแม่หยัวเจ้าเมืองชั้น ๓ ลูกเธอชั้น ๒ หลานเธอชั้นหนึ่ง พระสนมห่มชมภุใส่สุกหร่ำประธีบทัง ๕ ชั้น เรือปลาลูกขุนเฝ้าหน้าเรือเบญจา เรือตะเข้แนมทังสองข้าง ซ้ายดนตรี ขวามโหรี ตั้งเรือเอนเปนตั้งแพนโคมทุกลำ ถ้าเสดจ์ลงเป่าแตโห่ ๓ ลา เล่นหนังระบำ เลี้ยงลูกขุนแลฝ่ายในครั้นเลี้ยงแล้วตัดถมอแก้เอนโห่ ๓ ลา เรือเอนตั้งแพนเห่ตัดถมอลอบเรือพระธี่นั่งล่องลงไปส่งน้ำ ครั้นถึงวัดพุทไธสวรรค จุดดอกไม้เล่นหนัง เส ดจ์ลงเรือสมรรถไชย กับสมเดจ์พระภรรยาเจ้าทัง ๔ ลูกเธอหลานเธอพระสนม ลงเรือประเทียบขึ้นมาข้างเกาะแก้ว”

นอกจากการลอยประทีปในแม่น้ำแล้ว ยังมีการตามประทีปโคมไฟประดับประดาพระราชวัง เพื่อเป็นเครื่องบูชาอย่างงดงามปรากฏหลักฐานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จากบันทึกของ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ความว่า

“ครั้งที่พวกเราไปถึงเมืองละโว้นั้นเป็นเวลากลางคืน พอดีกับคราวตามประทีปนั้น และเราได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟ สว่างไสวเรียงราย อยู่เป็นระยะๆ แต่ภายในพระบรมมหาราชวังนั้นยังงดงามยิ่งขึ้นไปอีก ในกำแพงแก้วที่ล้อมพระราชฐานนั้นมีช่องกุฏิ ๓ แถวโดยรอบ แต่ละช่องมีประทีปดวงหนึ่งตามไฟไว้บัญชร และทวารทั้งนั้นก็ประดับดวงประทีปด้วยเหมือนกัน มีโคมประทีปใหญ่ และย่อมตกแต่งเป็นรูปแปลกๆ กัน ปิดกระดาหรือหุ้มผ้าแก้วโปร่งใส ระบายสีต่างๆ แขวนไว้อย่างเป็นระเบียบ ตามกิ่งไม้หรือตามเสาโคม”

ความสำคัญของพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม เห็นได้จากความใส่พระทัยจากพระมหากษัตริย์ที่เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลดังที่กล่าวมา ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีเรื่องราวเล่าว่ารัชกาลที่ ๓ จะทรงกริ้วขุนนางคนใดก็ตามที่ใส่เ สื้อเข้าเฝ้าในช่วงที่พิธีจองเปรียงยังไม่เสร็จ หรือยังไม่ลดโคมลงจากเสา แม้ว่าอากาศจะหนาวเพียงใดก็ตาม พระองค์ทรงถือว่าเป็นการแช่งให้น้ำลดลงก่อนกำหนด ขุนนางผู้นั้นจะถูกลงโทษให้ไปวิดน้ำเข้าท้องสนามหลวง ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์เสด็จเป็นประธานประกอบพิธี และบริกรรมคาถาด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ พร้อมทั้งโปรดให้ประดับโคมในพระราชฐานนอกเมืองทุกแห่งที่เสด็จไปประทับ


๕. ๓ พระราชพิธีพิธีไล่น้ำ หรือไล่เรือ




กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พิธีกรรมทางน้ำฝีมือชาวยุโรปที่เข้ามาสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://haab.catholic.or.th/history/suwannapoom02/suwan30/suwan30.html

เป็นพระราชพิธีที่กระทำในปีที่มีน้ำมากหลากท่วมไร่นามากเกินไปจนเสียหาย เป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงทำให้น้ำลด โดยพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ทรงลงเรือพระที่นั่งแล้วเสดฺจออกประทับยืน ทรงพัชนีบังคับให้น้ำลด
พระราชพิธีไล่น้ำและฟันน้ำกระทำในเดือนอ้าย (เดือน ๑) ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา ดังนี้

“พระราชพิทธีไล่เรือธรงพระมาลาสุกหร่ำ สมเดจ์พระอรรคมเหษีธรงสุกหร่ำนั่งบนพระธี่นั่งลูกเธอหลานเธอใส่เศียรเพศมวยพระสนมใส่สนองเกล้า นั่งหน้าสองนั่งหลังสอง ม่านพันเสาพนักเพียงอก สภักสใบสอง บ่าเชีงทอง พญามหาเสนาตีฆ้องครั้นถึงท้ายบ้านรุน เสดจ์ออกยืนธรงพัชนี ครั้นถึงประตูไชยธรงส้าว”

พิธีไล่น้ำ หรือไล่เรือ เป็นพิธีที่กระทำในช่วงเวลาที่ข้าวสุกเต็มที่ใกล้เก็บเกี่ยว หากระดับน้ำยังไม่ลดจากเดือนที่ผ่านมาอาจเกิดความเสียหายได้

ตามกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า พิธีไล่เรือ พระมหากษัตริย์เสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในครั้นถึงบริเวณ “ท้ายบ้านรุน” ทรงถือพัชนี (พัด) และกระทุ้งส้าว (ไม้มีพู่ประดับสำหรับกระทุ้งให้สัญญาณในเรือพระราชพิธี) สันนิษฐานว่าใช้พัดและกระทุ้งให้น้ำลดระดับลง นอกจากนี้ โคลงทวาทศมาส เรียก พิธีไล่ชล พร้อมทั้งระบุสถานที่ประกอบพิธีว่ากระทำที่บางขดาน ดังนี้


             ชลธีปละปลั่งค้าง      ทางสินธุ์

นาเวศนาวาวาง                     วาดน้ำ

ตกบางขดานดิน                    สดือแม่

ดลฤดูสั่งล้ำ                           ไล่ชล

บริเวณบางขดาน ถือเป็น “ดินสะดือ” หมายถึง บริเวณที่มีน้ำวนเกลียวลึกลงไปเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำ เป็นทางลงไปถึงเมืองบาดาลของนาค จึงต้องทำพิธีเพื่อที่ “ผี” หรือนาคจะกระทำให้น้ำลดระดับลง

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีการประกอบพิธีอีกอย่างหนึ่งที่มีความหมายของพิธีคล้ายคลึงกันคือ พิธีฟันน้ำ เพื่อเป็นการควบคุมระดับ น้ำ ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า

“พระองค์ก็เสด็จลงทรงเรือเอกไชยแล้วจึงพายลงไปจนถึงท่าเกาะพระ แล้วจึงเอาพระขรรค์ชัยศรีนั้นตีลงที่ในคงคา แล้วไล่น้ำขึ้นมาจนถึงหน้าฉนวนใหญ่ ด้วยพระเดชของพระองค์นั้น อันน้ำที่ในแม่น้ำนั้นก็ขึ้นตามพระทัยปราร์ถนา ถ้าน้ำนั้นขึ้นมาเหลือกำหนดไปนัก พระองค์ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยแล้วพายเสด็จขึ้นไปเหนือน้ำ ถึงบ้านหลวงพร้อมกันแล้ว จึงพายเสด็จต้อนน้ำลงมาจนถึงหน้าฉนวนใหญ่ อันน้ำที่ในแม่น้ำก็ลงตามพระทัย”

อย่างไรก็ดี พิธีฟันน้ำ จัดเป็นพิธี “เฉพาะกิจ” มิได้กระทำทุกปีและได้ยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เห็นได้จากบันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส ระบุว่า

“มีอยู่วันหนึ่งเหมือนกันในรอบปีที่ประชาชนพลเมือง จะแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินของตนได้ คือ ในวันแข่งเรืออันถือกันว่าเป็นงานเอิกเกริกยิ่ง เมื่อก่อนนี้ยังมีอีกโอกาสหนึ่งที่จะได้เห็นพระองค์ คือ ในวันเสด็จไปประกอบพระราชพิธีฟันน้ำ เพื่อมิให้มันท่วมขึ้นมา แต่ปัจจุบันนี้ได้ยุบเลิกขนบประเพณีที่ว่านี้เสียแล้ว”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ นนทพร อยู่มั่งมีจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หน้า ๙๒-๑๐๓. นำเสนอโดย
http://haab.catholic.or.th/article/articleart1/art11/art11.html





กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พิธีกรรมทางน้ำฝีมือชาวยุโรปที่เข้ามาสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ขอขอบคุณภาพจากhttp://haab.catholic.or.th/history/suwannapoom02/suwan30/suwan30.html

สำหรับพระราชพิธีไล่เรือยังมีบทความที่กล่าวถึงอีกดังนี้


พระราชพิธีไล่เรือในเดือนอ้ายนั้นมีมาตั่งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบขึ้นเพื่อต้องการให้น้ำลดเร็ว ๆ เพราะในเดือนต่อไปถือว่าเป็นการเข้าฤดูเพราะปลูก เป็นที่ทราบกันว่า สภาพทางภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบถึง ๓ สายด้วยกัน แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำทั้ง ๓ นี้ให้คุณให้ให้โทษพร้อมกันกล่าวคือ เมื่อเกิดศึกสงครามล้อมกรุง ชาวกรุงศรีอยุธยาจะใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโดยการใช้ต้านข้าศึกครั้งล้อมกรุง เมื่อน้ำขึ้นมาข้าศึกต้องหนีน้ำกลับไปยังกรุงของตนเพื่อรอน้ำลดในครั้งต่อไป นับว่าเป็นปราการธรรมชาติที่สำคัญในการป้องกันกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสำคัญในการคมนาคมขนส่ง ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคนี้ ที่ให้โทษคือ ถ้าฤดูน้ำหลากครั้งไหนมีน้ำมากจนไม่สามารถระบายออกได้ จะสร้างความเสียหายให้แก่การเก็บเกี่ยว ดังนั้นในสมัยอยุธยาจึงได้มีพิธีกรรมไล่เรือขึ้นมาเพื่อให้น้ำลดเร็ว ๆ

พระราชพิธีไล่เรือมิได้ประกอบขึ้นทุกปี เพราะถ้าปีไหนน้ำไม่มากก็ไม่ต้องประกอบพิธี มีกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าในการประกอบพิธีนั้น พระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระเจ้าลูกยาเธอ หลานเธอและพระสนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง มีพระยามหาเสนาตีฆ้อง เสด็จไปตามลำน้ำ โดยสมมติพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทพยาดา โดยขอให้น้ำถอยลงไป แล้วทำการเชิญพระพุทธปฏิมากรลงเรือพระที่นั่ง แล้วมีเรือสำหรับพระสงฆ์ตามหลัง เรือรำหนึ่งมีพระราชาคณะ ๑ รูป มีฐานที่นั่ง ๒ ข้าง ตรงกลางตั้งเครื่องนมัสการทำการสวดคาถาหล่อพระชัยเป็นคาถาไล่น้ำ (บางครั้งจึงเรียกพิธีไล่เรือว่าเป็นพิธีไล่น้ำด้วย) ในขณะล่องเรือกลับมายังประตูชัยกระทำพิธี เมื่อเสร็จพิธีไล่เรือ จะประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย อันพิธีเกี่ยวเนื่องกันมา กล่าวคือ พิธีไล่เรือกระทำเพื่อน้ำลด พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย เป็นพิธีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ การเก็บเกี่ยว และการเตรียมตัวเพาะปลูกต่อไป

ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้กระทำพิธีนี้เพียง ๒ ครั้ง คือรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ การทำพิธีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปประชุมกันที่วัดท้ายเมือง แขวงเมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิฐาน นมัสการพระรัตนตรัย เทพยาดารวมทั้งพระเจ้าแผ่นดิน (สมมติเทพ) แล้วอ้างความสัตย์ ซึ่งได้นับถือต่อเทพยาดาทั้งสามคือ วิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา และสมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดลงไปตามประสงค์ พระพุทธรูปที่ใช้ในพระราชพิธีเดิมมีแต่ชื่อพระชัย พระคันธาราษฎร์ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นพระห้ามสมุทร การทำพิธีคล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน

พิธีนี้ล้มเลิกไปครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นการถาวร จะประกอบแต่พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะชัยภูมิของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นอยู่สูงกว่าระดับน้ำพอสมควรจึงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.gotoknow.org/posts/449358


๕.๔ พระราชพิธีพิรุณศาสตร์




พระพุทธรูปคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์ สร้างขึ้นเป็นพระขอฝน
สำหรับใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ และงานพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อความเป็นมงคลในการพระราชพิธีอำนวยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดม พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.madchima.org/forum/index.php?topic=9480.0

เป็นพระราชพิธีสมัยแต่โบราณการของสยาม มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย
ซึ่งเป็น พิธีขอฝน เพื่อเป็นการบูชาขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกลงมา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่พสกนิกร ในการทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพแต่ดั้งแต่เดิมของคนไทย และใช้ประโยชน์จากน้ำฝนที่ตกลงมา ในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า พระเจ้าแผ่นดิน เปรียบประดุจดัง สมมติเทพที่ทรงอวตารมาเพื่อปกครองมวลมนุษย์ และยังเชื่ออีกว่าฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลนั้นขึ้นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินอีกด้วย การขอฝนจึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่มีความสำคัญต่อพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะทำเพื่อราษฎรด้วย ในหลักฐานตามประวัติศาสตร์ได้บันทึกลงไว้ใน หนังสือนางนพมาศ แต่งโดย ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และ พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหัวข้อ “ว่าด้วยพิธีพิรุณศาสตร์”


ครั้นจะกล่าวถึงพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระราชพิธีพรุณศาตร์มหาเมฆบูชา ประกอบกับมีการอ่านโองการขอฝน โดยพราหมณ์จะเชิญรูปฤษีกไลยโกฏินั่ง ๑ ยืน ๒ ตั้งกลางแจ้งหน้าหอพระราชพิธี ขุนหมื่นพราหมณ์อ่านเทพชุมนุม ๑ จบ เป่าสังข์ ๒ คน อ่านวันละ ๓ จบทุกวัน โดยตั้งรูปฤษีไว้กลางแดดตลอดพิธี และมี พระสุภูติ ที่สร้างขึ้นในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์หรือพิธีขอฝนทำเป็นรูปพระภิกษุมีกายอ้วนใหญ่ มีผิวสีนิล นั่งขัดสมาธิแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า มือหนึ่งทำกริยากวักเรียกฝน นิยมสร้างขึ้นเป็นรูปปั้นหรือหล่อ ปรากฏหลักฐานในการพระราชพิธีพิรุณศาสตร์สืบมาแต่ครั้งพระเจ้าบรมโกษฐ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังรับสืบทอดพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ตามแบบอยุธยาโดยตั้งโรงพิธีที่ท้องสนามหลวง ทำเฉพาะในปีที่ฝนแล้ง ไม่ได้ทำเป็นประจำทุกปีและจัดทำในเดือนเก้าเท่านั้น หากพ้นเดือนเก้าไปแล้วแม้ฝนแล้งก็ไม่ทำ และในช่วงราวต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีนี้ได้ก็ได้เลิกร้างไปในที่สุด

อ้างอิงข้อมูลจาก สารานุกรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย - ภูมิปัญญาข้าวไทย จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.oknation.net/blog/addjeeink/2012/08/07/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น