วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระราชพิธีมูรทาภิเษก



พระราชพิธีมูรธาภิเษก


คติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ถือว่าการยกผู้ใดให้เป็นใหญ่ ต้องทำพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์ และแม่น้ำ๗ สาย (สัปตสินธวะ)๑ ซึ่งคติไทยยึดตามคัมภีร์เวสสันดรชาดก คือถือเพียง ๕ สาย (ปัญจมหานที)
ความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคาตามคัมภีร์พระเวทและปุราณะถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาด และขลัง ถ้าได้รดชำระร่างกายจะเกิดมงคล พ้นมลทิน ถ้าได้อาบกินก่อนเสียชีวิต หรือได้เผาศพริมฝั่ง 'คงคา' แล้วทิ้งเถ้าถ่านลงในแม่น้ำ ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ และเชื่อกันว่าบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือจุฬาตรีคูณ๓ ประยาค (สังคัม) เมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตรประเทศ

เมื่อพราหมณ์เข้ามามีอำนาจปกครองอาณาจักรฟูนันและเจนละ (กัมพูชาปัจจุบัน) ในสุวรรณภูมิ ได้แผ่ลัทธิจารีตประเพณีเข้าไปยังดินแดนที่เป็นไทย ลาว และเวียดนามตอนใต้ในปัจจุบัน รวมทั้งได้นำพิธีมูรธาภิเษก๔ มาใช้ในการประกอบพิธียกย่องบุคคลให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ตั้งการพิธีเชิญขึ้นสู่มณฑปพระกระยาสนานสรงมูรธาภิเษกในการขึ้นครองแผ่นดิน เรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงอธิบายที่มาว่าเป็นพิธีพราหมณ์ปนพุทธ ได้ธรรมเนียมมาจากเขมรหรือมอญ เพราะเขมรโบราณถือลัทธิพราหมณ์ที่มีการอภิเษก ความสำคัญของพิธีจึงอยู่ที่การรับน้ำอภิเษกแสดงความเป็นใหญ่ในแคว้น ๘ ทิศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า หลักแห่งการราชาภิเษกมีรดน้ำ แล้วเถลิงราชอาสน์ เป็นเสร็จพิธี และที่ว่าปนกันนั้น คือการสรงมูรธาภิเษก กับขึ้นอัฐทิศรับน้ำ เป็นการรดเหมือนกัน มูรธาภิเษกจึงเป็นพระราชพิธีสำคัญเพื่อถวายความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกอบพระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษกตามโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุว่า "หลวงโลกทีปและพระมหาราชครูกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสรง เจ้าพนักงานชาวภูษามาลาถวายพระภูษาถอด๕ เสด็จเข้าสู่มณฑปพระกระยาสนาน๖ เสด็จเหนืออุทุมพรราชอาสน์...แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา หลวงวงศา (ภรณ์ภูษิต) ชาวภูษามาลา ไขสหัสธารา๗"

เหตุที่ต้องใช้วิธีไขสหัสธารา เพราะขัตติยราชประเพณี ผู้ใดจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือเทพมนตร์ที่พระศิรเจ้าขององค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ จะถวายก็ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์๘ หรือด้วยพระมหาสังข์ที่พระหัตถ์ ซึ่งทรงแบรับ แล้วทรงลูบไล้พระพักตร์และพระศิรเจ้า พิธีปฏิบัติเช่นนี้คือตอนเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศ๙ ประทับทรงรับน้ำอภิเษกจากพระมหาราชครูพิธีพราหมณ์และราชบัณฑิตทั้ง ๘ ทิศ ถวายความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดินตามราชประเพณีแต่โบราณ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เปลี่ยนการถวายน้ำอภิเษกให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย


น้ำสรงมูรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ่งสหัสธารา เจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ น้ำเบญจสุทธคงคา๑๐ และน้ำ ๔ สระ๑๑ ซึ่งเคยแต่งเป็นน้ำสรงมูรธาภิเษกสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชมาแต่โบราณกาล นอกจากนี้ ยังเจือด้วยน้ำอภิเษกซึ่งทำพิธีพลีกรรมจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และปนด้วยน้ำพระพุทธมนต์ปริตรที่พระสงฆ์ราชาคณะ ๑ รูป พระครูปริตร ๔ รูป พระสงฆ์ราชาคณะรามัญ ๑ รูป พระครูปริตรรามัญ ๔ รูป รวม ๑๐ รูป เจริญพุทธมนต์เสกทำน้ำพระพุทธปริตรสำหรับสรงน้ำมูรธาภิเษกนี้ ด้วยการเสกทำน้ำพระปริตร ตั้งพิธีที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง

การเสด็จประทับ ณ มณฑปพระกระยาสนาน สรงมูรธาภิเษกสำหรับการพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ พระมหากษัตริย์จะผินพระพักตร์สู่ทิศบูรพา เป็นราชประเพณีมาแต่โบราณเพื่อยังความผาสุกสวัสดิพิพัฒนมงคลแก่ทวยอาณาประชาราษฎรทุกหมู่เหล่า และความวัฒนามั่นคงของประเทศชาติ

นอกจากการพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติตามขัตติยราชประเพณีแล้ว

ยังมีการพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษกในการพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่เถลิงศก พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าจะเสด็จประทับพระมณฑปสรงมูรธาภิเษก แต่เป็นพระมณฑปสรงขนาดเล็ก มีทุ้งสหัสธาราเช่นกัน น้ำมูรธาภิเษกไม่มีปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ และไม่มีน้ำที่พลีกรรมตักมาจากแม่น้ำสำคัญและปูชนียสถานสำคัญในราชอาณาจักร ใช้น้ำเทพมนตร์ที่คณะพราหมณ์ประกอบพิธีตามลัทธิที่โบสถ์พราหมณ์อันเป็นเทวสถานของพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร ปนด้วยน้ำพระพุทธปริตรที่พระสงฆ์ไทย ๕ รูป รามัญ ๕ รูป ตั้งการพิธีเสก ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ แล้วเชิญไปรวมในทุ้งสหัสธาราสำหรับสรงพระมูรธาภิเษกวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ ประทับผินพระพักตร์ไปยังทิศบูรพา สรงเพื่อความสุขสวัสดีแก่ประชาชนและบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อพระองค์ เว้นแต่การสรงพระมูรธาภิเษกในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีฉัตรมงคล หรือรัชดาภิเษก จะทรงผินพระพักตร์ไปตามทิศมงคลประจำวันหรือการเปลี่ยนพระมหาทักษาตามที่โหรหลวงคำนวณถวาย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.econnews.org/487/ekw0487.html

น้ำมูรธาภิเษก
เป็นชื่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้รดพระเศียร ในพระราชพิธีราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ เรียกว่า น้ำมูรธาภิเษก ในคำว่า สรงน้ำมูรธาภิเษก หรือสรงมูรธาภิเษก แปลว่า การยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ

ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อถือกันมาว่า น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ได้แก่ น้ำในแม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์ และแม่น้ำที่นับเนื่องในแม่น้ำคงคา ซึ่งเรียกรวมว่า สัปตสินธวะ ได้แก่ แม่น้ำเจ็ดสายที่ไหลแยกออกจากแม่น้ำคงคา ตั้งแต่แรกเกิดแม่น้ำคงคาคือ ยมุนา สรัสวดี โคธาวรี นัมมทา สินธุ และกาเวรี แต่คติทางไทยซึ่งถือตามคัมภีร์เวสสันดรชาดก ถือว่าแม่น้ำที่ไหลแยกจากแม่น้ำคงคามีสี่สายคือ ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ เมื่อรวมกับแม่น้ำคงคา จึงเป็นห้าสายเรียกว่า ปัญจมหานที


น้ำสรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้น เจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศและน้ำเบญจสุทธคงคา ในแม่น้ำสำคัญทั้งห้าของราชอาณาจักรไทย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ ต.ท่าชัย แขวง จ.เพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี ตักที่ ต.ดาวดึงส์ แขวง จ.สมุทรสงคราม แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ ต.บางแก้ว แขวง จ.อ่างทอง แม่น้ำป่าสัก ตักที่ ต.ท่าราบ แขวง จ.สระบุรี แม่น้ำบางปะกง ตักที่ ต.บึงพระอาจารย์ แขวง จ.นครนายก
และน้ำสี่สระ คือ สระเกศ สระแก้ว สระคงคา สระยมุนา แขวง ต.สุพรรณบุรี ซึ่งเคยแต่งเป็นน้ำสรงมูรธาภิเษก สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชมาแต่โบราณกาล
นอกจากนี้ ยังเจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรม ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และปนด้วย น้ำพระพุทธปริต ที่พระสงฆ์ราชาคณะหนึ่งรูป พระครูปริตรสี่รูป พระสงฆ์ราชาคณะรามัญหนึ่งรูป พระครูปริตรรามัญสี่รูป รวมสิบรูป เจริญพระพุทธมนต์เสกทำน้ำพระพุทธปริตร

http://www.baanjomyut.com/library/knowledge_of_encyclopedias/650.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น