วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สายน้ำแหล่งชีวิต ๕

๔. พระราชพิธีโสกันต์




งานโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาท (รัชกาลที่ ๕) พ.ศ.๒๔๐๘
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=21-12-2007&group=17&gblog=4

พระราชพิธีโสกันต์

พระราชพิธีโสกันต์ คือ พระราชพิธีโกนจุก ของพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป

ในหนังสือเรื่อง ‘ประเพณีเนื่องในการเกิด’ ของพระยาอนุมานราชธน ระบุว่า คติเกี่ยวกับการไว้จุกนั้นเริ่มหลังจากที่มีพิธีโกนผมไฟโดยจะเว้นผมไว้ตรงส่วนกระหม่อม เพราะถือเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดบนศีรษะ แต่ก็มีการพัฒนาเกี่ยวกับการไว้ผมในหลายยุคหลายสมัย เท่าที่พอจะทราบและเชื่อกันว่าประเทศไทยนั้นน่าจะได้รับคติการไว้ผมจุกนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับคติการบูชาเทพเจ้า เนื่องด้วยเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้นมีผมยาวและขมวดมุ่นเป็นมวยไว้กลางศีรษะ อาจมีการนำคติดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นทรงผมเด็ก ด้วยมีความเชื่อว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า




พระราชพิธีโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวารวดี (รัชกาลที่ ๖) โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๕

ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=21-12-2007&group=17&gblog=4


สมัยโบราณจะนิยมให้บุตรธิดาไว้ผมจุกจนโตอายุประมาณ ๑๑-๑๓ ปี ก็จะทำพิธีโกนจุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกกับทั้งตัวเด็กและคนรอบข้างว่า บัดนี้ตนเองหาใช่เด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว หากแต่กำลังก้าวข้ามสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ พิธีโกนจุกนี้หากเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปจะเรียกว่า “พระราชพิธีโสกันต์” ส่วนพระอนุวงศ์ระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า “พิธีเกศากันต์” โดยโหรหลวงจะดูฤกษ์ยามเพื่อกำหนดวันเวลาที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งจะมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์พร้อมกัน ส่วนใหญ่มักจะประกอบ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน ๔) ซึ่งต่อมาจะประกอบร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า)



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.artbangkok.com/?p=30848


อาจารย์บุหลง ศรีกนก นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร ให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของพระราชพิธีโสกันต์ในราชสำนักสยาม โดยสันนิษฐานว่าในสมัยกรุงสุโขทัยยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้ กระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงได้มีการกล่าวถึงการโสกันต์ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ณ บ้านเกาะเลน พ.ศ. ๒๑๗๕ เป็นการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์อินทร์ หลังการโสกันต์พระราชทานพระนามว่า เจ้าฟ้าชัย ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒๕ แห่งกรุงศรีอยุธยา


จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญอย่าง คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้มีการกล่าวถึงรูปแบบพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า และพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าตามอย่างโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ยังมีเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่งยังดำรงพระชนม์ชีพ มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี พระองค์ทรงเป็นพระเชษฐภคินีในพระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศ สันนิษฐานว่าครั้งเสียกรุงคงจะเชิญเสด็จลงมาที่กรุงธนบุรีด้วยกัน ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้ประทับในพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี และทรงอุปการะยกย่องเป็นอันดี เจ้าฟ้าหญิงพินทวดีจึงทรงเป็นผู้แนะนำเรื่องราชประเพณี และการในรั้ววังต่างๆ จนกระทั่งหมดสมัยกรุงธนบุรี



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.artbangkok.com/?p=30848

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเชิญเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีโสกันต์แบบเต็มตำรา ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาอีกครั้ง โดยสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระมหากรุณาให้มีการพระราชพิธีโสกันต์แบบเต็มตามตำรา และได้มีการสืบทอดแบบแผนการพระราชพิธีโสกันต์ต่อเนื่องกันมาอีกหลายยุคหลายสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนครั้งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มีพิธีเกศากันต์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ก่อนที่พระราชพิธีนี้จะถูกยกเลิกไป หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕




ภาพเขียนเขาไกรลาส ในงานโสกัณฑ์ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เขียนโดยพระวรรณวาดวิจิตร(ทอง)
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=21-12-2007&group=17&gblog=4






อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า

“เด็กแรกเกิดจะมีชิ้นส่วนกะโหลกมากมายที่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ประสานให้เป็นชิ้นเดียว ดังนั้นเมื่อเป็นทารกกะโหลกจะมีช่องว่างอยู่บริเวณค่อนมาทางด้านหน้าของศีรษะ เรียกว่า กระหม่อม ซึ่งเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดในชีวิต และจะปิดสนิทตั้งแต่อายุ ๒ ขวบ ถึง ๒ ขวบครึ่ง ถึงจะพ้นขีดอันตรายของชีวิต ดังนั้นการไว้จุกตั้งแต่แรกเกิด โดยเส้นผมในบริเวณที่ไว้จุกจะช่วยทำให้บริเวณกระหม่อมมีความอบอุ่น และป้องกันให้ปลอดภัยจากการกระทบกระเทือน อันที่จริงการไว้จุกเป็นเรื่องสรีระของมนุษย์ แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นพิธีกรรม และกลายเป็นเรื่องของคติความเชื่อในภายหลัง”


“การเกล้าพระโมลี (เกล้าจุก) ของพระบรมวงศานุวงศ์ในแบบราชสำนักโบราณจะเกล้าอย่างสวยงามประดับประดาด้วยดอกไม้และเครื่องประดับผมที่สวยงามมาก โดยจะมีการกันไรพระเกศาเป็นขอบขาวรอบบริเวณพระโมลี เมื่อหลังจากเกศากันต์ (โกนจุก) แล้ว บริเวณของไรพระเกศาที่กันไว้จะปล่อยยาวเป็นทรงผมต่างๆ

“สำหรับเครื่องแต่งกายที่ใช้ในพระราชพิธีโสกันต์ ในส่วนของ “ภูษาพัสตราภรณ์” ประกอบด้วย ฉลองพระองค์พระกรน้อย เป็นเสื้อแขนยาวที่เป็นการแต่งลำลองอย่างไม่เต็มยศ สำหรับพิธีฟังพระสวดในวันแรก โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) โปรดให้สร้างฉลองพระองค์พระกรน้อย สำหรับพระราชทานเจ้านายระดับชั้นเจ้าฟ้า เป็นผ้าแพรเขียนทองซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในราชสำนักทุกชิ้น มีกระดุมเป็นนพเก้าล้อมเพชร



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.artbangkok.com/?p=30848

“จากนั้นจะเป็นพิธีสรงน้ำ ก็จะเป็นฉลองพระองค์ที่ทำด้วยผ้าขาว ขลิบทองคำ เรียกว่า ฉลองพระองค์ถอด จากนั้นจึงจรดพระกรรไกร กรรบิด (กรรไกรและมีดโกน) ตัดพระเกศา สรงน้ำ โดยยังทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ครบ หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็น ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระภูษาจีบหน้า ส่วนผ้าอีกชิ้นหนึ่งที่นำมาใช้ คือ เจียระบาด (ผ้าคาดเอว มีชายห้อยลงที่หน้าขา) สำหรับเจ้านายจะเป็นผ้าชั้นดี มีการประดับตกแต่งด้วยวัสดุมีค่า ไม่ว่าจะเป็นตาบปักด้วยทองแล่ง และเลื่อมอย่างงดงาม สำหรับภูษาที่ใช้นุ่งเป็นแบบจีบโจงไว้หางหงส์

“ต่อมา คือ สนับเพลา หรือ กางเกง ซึ่งสมัยก่อนอาจใช้เป็นการพันผ้า แต่ต่อมาทำสำเร็จรูปเย็บเป็นรูปกางเกง ส่วน ฉลองพระบาท เป็นรองพระบาทเชิงงอน หรือรองพระบาทธรรมดาแบบรองเท้าแตะ โดยราชสำนักจะออกแบบและใช้วัสดุตามระดับพระยศ อาทิ ฉลองพระบาทที่ทำจากผ้ากำมะหยี่ สลักดุนทองคำ พื้นเป็นหนังแล้วลงยาลวดลายต่างๆ หรือฉลองพระบาท ที่สั่งมาจากต่างประเทศแล้วนำมาตกแต่งใหม่ให้สวยงามยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมี “ถนิมพิมพาภรณ์” ประกอบไปด้วย ข้อพระกร แหวนรอบ (หรือในราชสำนักเรียกว่า พระธำมรงค์ร้อยผูกข้อพระกร) แหวนตะแคง (หรือในราชสำนักเรียกว่า พระธำมรงค์ข้อมะขาม ผูกข้อพระกร) กำไล ข้อพระกรเถา สังวาลย์ สายรัดพระองค์ และข้อพระบาท”




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.artbangkok.com/?p=30848


นับเป็นพระราชพิธีโบราณที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม และประเพณีอันงดงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และถือเป็นมรดกของชาติที่ควรสืบสานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.artbangkok.com/?p=30848





เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิ์เดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่๗)ทรงฉลองพระองค์ก่อนโสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๔๘

ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.facebook.com/note.php?note_id=155294697833049



ในระหว่างพระราชพิธีโสกันต์ จะมีขบวนแห่เสด็จไปฟังสวด โดยมีโหรหลวง คอยรับเสด็จส่งเสด็จ ๔ คน ภายในขบวนแห่ นำหน้าด้วยพวกขับไม้บัณเฑาะว์ ๔ คน พวกเชิญเครื่องสูง พระแสงต่างๆ ข้าทูลละอองที่คัดมาเดินเคียง พระราชยาน หรือเสลี่ยงองค์ละ ๔ คน และจะปิดท้าย ด้วยขบวนพวกเชิญเครื่องสูงและพระแสง

หากเจ้านายที่โสกันต์ เป็นพระเจ้าลูกเธอ จะได้พระราชยาน หรือเสลี่ยงงารับเสด็จ ใช้เกณ์หลวงหรือไพร่ ๑๐ คนหาม ส่วนพระจ้าหลานเธอ จะใช้เสลี่ยงรับเสด็จ ใช้เกณฑ์หลวงหรือไพร่ ๘ คนหาม โดยเจ้านายที่เข้าพระราชพิธีโสกันต์ในวัน งานจะแต่งองค์แบบพระราชกุมาร อย่างงดงาม ซึ่งจะต้องทำไรไว้ขอบรอบจุก ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำหมาดๆ และชุบเขม่าทารอบจุก โดยจะโกนพระเกศสรอบจุก ล้างศรีษะให้สะอาด อาบน้ำทาขมิ้นบางๆ เกล้าจุกปักปิ่น แล้วใส่มาลัยรอบจุก หรือเกี้ยวแบบต่างๆ ตามลำดับพระยศ ผัดพักตร์และองค์ให้ขาวนวล ฉลององค์ชุดใหม่ ประดับเพชรนิลจินดาที่เหมาะกับฐานะ และขึ้นพระราชยานเข้าขบวนแห่ เพื่อไปประกอบพระราชพิธี

ระหว่างที่เสด็จ จะมีพราหมณ์ ๔ คน รดน้ำกลศ น้ำสังข์ และโปรยข้าวตอกดอกไม้ และมีโหรโปรยข้าวเปลือก ข้าวสาร ซึ่งใส่อยู่ในขันทอง พร้อมพานรองนำหน้า เมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนฟังพระสวดพระพุทธมนต์ ตรงที่ประทับฟังสวด ที่อยู่ในพระฉากปูพรม และมีเขนยรองกรนั้น เบื้องหน้าจะมีโต๊ะ สำหรับวางพานมงคล ที่ทำไว้ด้วยสายสิญจน์ ๑๐๘ เส้น ขนาดพอดีกับศรีษะ โดยประธานในพิธี ซึ่งมักจะเป็นพระมหากษัตริย์ จะทรงจุดเทียนหน้าพระรับศีล พระสวดมนต์ แล้วก็สวมมงคลให้ ซึ่งสายสิญจน์โยงไปยังที่บูชาพระ จนพระสวดจบจึงจะปลดสายสิญจน์ออกจากมงคล

ต่อมาในวันโสกันต์ช่วงเช้า จะประกอบพระราชพิธี บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเช่นเคย โดยโหรจะเป็นผู้ถวายพระฤกษ์ จรดพระกรรบิด (กรรไกร) ซึ่งเจ้านายที่โสกันต์ จะฉลองพระองค์ถอด ด้วยชุดขาว มีผ้านุ่งและเสื้อประดับขอบริมด้วยสีทอง พร้อมทั้งตกแต่งพระองค์ ด้วยเครื่องประดับเหมือน เมื่อครั้งทรงเสด็จมาฟังพระสวดพระพุทธมนต์ แต่จะไม่ทรงถุงเท้ารองเท้า หลังจากนั้นจะเสด็จ มาถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อได้ฤกษ์จะประทับบนพระแท่นที่เตรียมไว้ และหันพระพักตร์ไปทางทิศ ที่เป็นมงคลตามที่โหรกำหนดไว้ เพื่อจรดพระกรรบิด

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในเครื่องทรงในพระราชพิธีโสกันต์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.vcharkarn.com/forum/view?id=4663&section=forum&ForumReply_page=4



เมื่อโสกันต์แล้ว จะเสเด็จไปถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ถวายสบง และเครื่องไทยทาน พร้อมทั้งถวายข้าวสาร โดยใส่ลงในกระจาดตามจำนวนพระสงฆ์ ซึ่งกระจาดจะมีขนาดที่กำหนดไว้ คือ ก้นลึก ๑ ศอก หรือ ๑ ศอก ๓ นิ้ว หากโสกันต์พระเจ้าลูกเธอร่วมอยู่ด้วย กระจาดจะต้องเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ และใช้หวายมัด ปิดกระดาษสีอย่างเรียบร้อย ข้าวสารที่ใส่นั้น ใส่กระจาดละ 5 ทะนาน (ทะนาน เป็นเครื่องตวงอย่างหนึ่ง ทำด้วยกะลามะพร้าว โดยที่ ๒๐ ทะนานเป็น ๑ ถัง ส่วน ทะนานหลวง จะเท่ากับ ๑ ลิตรในระบบเมตริก) ถวายพระสงฆ์ รวมทั้งอังคาสเภสัชด้วย

ภายหลังจากถวายเครื่องไทยทานแล้ว จะเสด็จกลับเข้าไปที่ทรงบาตร ที่ชานชาลาท้ายพระมหาปราสาท ซึ่งมีม่านกั้นตั้งแต่กำแพงแก้ว มาจนถึงพระมหาปราสาทตรงเข้าในพระราชวัง และทรงบาตร ที่ชาลาริมพระราชมณเฑียร

เมื่อทรงบาตรเสร็จสิ้น จะเสด็จขึ้นพระเสลี่ยง ด้วยขับไม้ และพราหมณ์นำเสด็จ เสนาบดี ๔ คน ซึ่งรับสมมุติเป็นจตุโลกบาล เดินเคียงพระเสลี่ยงไปสรงน้ำ ถ้าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า จะสร้างเขาไกรลาส เพื่อประกอบพิธีสรงน้ำ แต่ถ้าพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ที่ไม่ได้ดำรงพระยศเจ้าฟ้า รวมถึงพระเจ้าหลานเธอ และบุตรธิดาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์ จะโสกันต์ให้ จะสร้างพระแท่นสรง ขึ้นบนลานมุมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท




เขาไกรลาศสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีโสกัณฑ์ มีสิงสาราสัตว์จำลองจากป่าหิมพานต์จำนวนมาก

ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.postjung.com/764263.html



ณ พระแท่นสรงเชิงเขาไกรลาส เชิงเขาจะเป็นสระน้ำอโนดาตน้อยๆ มีน้ำออกจากปากสิงห์ การสรงน้ำนี้จะมีการสมมุติ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ที่นับถือเป็นพระอิศวร เสด็จขึ้นไปทรงเครื่อง อยู่บนเขาไกรลาสชั้นท่านบุษบก ชาววังจะเอาม่านลายทอง แผ่ลวดพื้นสักหลาดผูกบังรอบทั้ง ๔ ด้าน แล้วเอาม่านพื้นทองดาพุ่ม ข้าวบิณฑ์บนบุษบกไขทั้ง 4 ด้าน โดยจะคอยชักไขข้างละคนเอาเสื่ออ่อน พรม พระยี่ภู่ผืนใหญ่ พระเขนยลายกระบวน แต่งที่บุษบก พื้นชั้นแท่นบุษบกปูเสื่อ ตั้งเตียง สนมพลเรือนปูพรม ขับไม้พราหมณ์อยู่ในที่สรง พราหมณ์จะถวายน้ำกลศ และน้ำสังข์ โดยเสด็จเข้าในพลับพลาเปลื้อง เครื่องทรง ผลัดพระภูษา แล้วจึงเสด็จขึ้นบนยอดเขา พระอิศวร(สมมุติ) จะเสด็จลงมารับถึงกลางบันไดนาค ขึ้นไปถึงชั้นพระแท่น เมื่อเสด็จเข้าไปในบุษบก ชาววังชักม่านไขปิด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จะเสด็จเลี้ยวไปทรงเครื่องที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ เสร็จแล้วจึงเสด็จไปเฝ้าพระอิศวร ชาววังชักม่านไขเปิดทั้ง ๔ ด้าน พระอิศวรประทานพร แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็เสด็จ กลับลงไปด้านทิศตะวันออก

ตกบ่ายจึงมีการประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภช ณ พระที่นังจักรพรรดิพิมาน (พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในปัจจุบัน) ซึ่งจะมีการตั้งข้าวขันพานรอง สำหรับแว่นเวียนเทียน แว่นนี้จะติดเทียนแว่นละ ๓ เล่ม พานน้ำวักแว่นเวียนเทียน บายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน และมีบายศรีตอง ๓ ชั้น ใส่เครื่องกระยาบวดไปบูชาเทวดา เมื่อได้ฤกษ์โหรจะลั่นฆ้องเป่าสังข์ พราหมณ์จะเบิกแว่นเวียนเทียน เวียนไปครบ ๓ รอบ ก็เปลี่ยนผ้าคลุมบายศรี ให้ผู้จะโสกันต์ ถือไว้แล้วเวียนเทียนต่ออีก ๒ รอบ รวม ๕ รอบ จึงทำพิธีดับเทียน ขณะที่เวียนนั้นพราหมณ์ จะร่ายพระเวทไปด้วย เมื่อสมโภชเสร็จก็เป็นเสร็จพิธี วันรุ่งขึ้นก็อัญเชิญพระเกศาไปลอยแม่น้ำ

ภายหลังจากประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชเสร็จแล้ว จะมีการละเล่นสมโภชในงานด้วย ซึ่งการละเล่นที่มักจะเล่นกันอยู่เสมอคือกุลาตีไม้ และโมงครุ่ม

ตามประวัติศาสตร์แล้ว ในกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชพิธีโสกันต์หลายครั้ง แต่พระราชพิธีโสกันต์ใหญ่เจ้าฟ้า และมีเขาไกรลาศ รวมทั้งพระราชพิธีครบถ้วน เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในพระราชพิธีโสกันต์ "สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี" พระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา เจ้าทองสุก ธิดาเจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต เจ้าประเทศราช

( ที่มา เว็บไซต์ ปากเซ.คอม )

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.facebook.com/note.php?note_id=155294697833049



สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีโสกันต์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://writer.dek-d.com/bird711/story/viewlongc.php?id=887306&chapter=323



งานพระราชพิธีโสกันต์ มีการสรงน้ำ จากปากสัตว์หิมพาน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K2912659/K2912659.html


เมื่อพระองค์มีพระชันษาครบ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์อย่างใหญ่ โดยโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นอธิบดีดำเนินการสร้างเขาไกรลาศบริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชพิธีโสกันต์จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘-๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๓ จากนั้นได้ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร




ขอขอบคุณภาพจากhttp://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K2912659/K2912659.html



สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ในเครื่องทรงในพระราชพิธีโสกันต์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.vcharkarn.com/forum/view?id=4663&section=forum&ForumReply_page=4




ในกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีโสกันต์ใหญ่เจ้าฟ้า มีเขาไกรลาส และมีพระราชพิธีครบถ้วนเป็นครั้งแรก ดังเช่นในกรุงศรีอยุธยา คือ พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก ธิดาเจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต เจ้าประเทศราช

การพระราชพิธีนั้น จดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด เริ่มแต่โปรดฯให้เจ้าพนักงานก่อตั้งเขาไกรลาส ณ ชาลาในพระบรมมหาราชวัง




ภาพเขียนเขาไกรลาส ในงานโสกัณฑ์ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เขียนโดยพระวรรณวาดวิจิตร(ทอง)
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=21-12-2007&group=17&gblog=4



“มีพระมณฑปใหญ่อยู่ท่ามกลางยอดเขาไกรลาส แลมณฑปน้อยในทิศเหนือแลทิศใต้ ภายในพระมณฑปใหญ่ ตั้งบุษบกน้อย เชิญพระพุทธรูปและพระบรมธาตุประดิษฐานเป็นที่สักการบูชา...

ในพระมณฑปทิศเหนือตั้งรูปพระอิศวร พระอุมาพระมหาพิฆเนศวร ในพระมณฑปทิศใต้ตั้งรูปพระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี ตามไสยศาสตร์ แลชานพระมณฑปเป็นกำแพงแก้ว เนื่องกับซุ้มประตู มีฉัตรทอง ฉัตรเงิน ฉัตรนาค เจ็ดชั้น พื้นไหมปักทองแล่ง แลมีที่สรงธารหลังออกจากปากสัตว์ทั้ง ๔ คือ ราชสีห์ แลช้าง แลม้า แลโค ซึ่งสมมติว่าสระอโนดาษ แลมีรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ รูปเทวดาทั้ง ๘ ทิศ ฤษีสิทธิวิทยาธรกินร แลสุบรรณนาคราช ช้างตระกูลอัฐทิศคชาพงศ์ ซึ่งบังเกิดในป่าหิมพานต์ แลรูปสัตว์จตุบาททวิบาท มีพรรณต่างๆ ประดับตามช่องชั้นเขาไกรลาส จนถึงชั้นชาลาพื้นล่าง”

เหล่านี้เป็นการพรรณนาบรรยายถึงเขาไกรลาส ส่วนกระบวนแห่เมื่อเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงแห่ฟังสวด แห่โสกันต์ และ แห่สรงน้ำเขาไกรลาสนั้น ก็มโหฬารยิ่งนัก

เขาไกรลาสมีบทบาทสำคัญ ก็เมื่อสรงเสร็จแล้ว

“แล้วเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาส จึ่งกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวร เสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาสทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค จูงขึ้นไปบนเขาไกรลาส ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาด้านตะวันออก”

เขาไกรลาสและกระบวนแห่ครั้งนั้นเป็นอย่างไร พินิจพิเคราะห์ดูได้จากภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพวาดโดยช่างเขียนในสมัยนั้น...


พระราชพิธีโสกัณต์ และ เขาไกรลาส
จุลลดา ภักดีภูมินทร์
ขอบคุณเนื้อหาจาก นิตยสารกุลสตรี ฉบับที่ 2506 ปีที่ 48


http://www.siamganesh.com/sakulthai-01.html




ตามประวัติศาสตร์แล้ว ในกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชพิธีโสกันต์หลายครั้ง แต่พระราชพิธีโสกันต์ครั้งยิ่งใหญ่ครบถ้วนทุกอย่างเหมือนกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คือในพระราชพิธีโสกันต์ "สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี" พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่เจ้าหญิงทองสุก ธิดาพระเจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต


ราชสำนักในปัจจุบันก็ไม่นิยมที่จะให้เจ้านายองค์น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าลูกเธอจนถึงหม่อมเจ้าไว้จุกกันอีกแล้ว พระราชพิธีนี้จึงเป็นเพียงพระราชพิธีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ไม่มีวันจะหวนคืนกลับมาอีกในราชสำนัก โดยงานโสกันต์ครั้งสุดท้ายในราชสำนักก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ พิธีโสกันต์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

คลังประวัติศาสตร์ไทย
ที่มา: https://m.facebook.com/photo.php?fbid=443562365787389&id=119437984866497&set=a.120142734796022.30235.119437984866497

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://board.postjung.com/764263.html

หมายเหตุ โสกันต์ และโสกัณฑ์ นั้นมีความหมายเดียวกัน และใช้ตามที่มาของข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น