วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ๑๒ ..อดีตกาลที่ผ่านมา ๘




ขอขอบคุณภาพจากwww.thaikasetsart.com



ทั้งเร่วและอ้อย ซึ่งเคยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในลุ่มน้ำบางปะกงหรือมณฑลปราจีนบุรีมาก่อน สรุปได้ว่า เมืองในลุ่มน้ำบางปะกง  เคยมีความสำคัญในการส่่งสินค้าออกที่ทำรายได้ให้ประเทศ
ตามเอกสารของจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ระบุแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณเมืองบางปลาสร้อย (เมืองชลบุรี) นครไชยศรี และบางปะกง (เมืองฉะเชิงเทรา)


ขอขอบคุณภาพจากhttp://haab.catholic.or.th/


ซึ่งก็สอดคล้องกับเอกสารของบาทหลวงปาลเลกัวซ์ ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า
..ข้าพเจ้าได้แวะขึ้นที่บางปลาสร้อย..... มีการเพาะปลูกอุดมสมบูรณ?มาก มีข้าว น้ำตาล ยาสูบชนิดดี ผลไม้เอนกอนันต์...
ถึงเมืองแปดริ้ว... ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบใหญ่ อุดมด้วยนาข้าว สวนผลไม้และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อย ไม่ต่ำกว่า ๒๐ โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน...


ขอขอบคุณภาพจากth.wikipedia.org

ต่อมาเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาต่ำลงและยังถูกฟิลิปปินส์แย่งตลาดน้ำตาลไปได้ โดยเสนอราคาที่ต่ำกว่าของไทย ประกอบกับไทยเริ่มส่งข้าวเป็นสินค้าออก ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาบราวริ่ง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ จึงทำให้การค้าข้าว เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจของไทย แทนน้ำตาลและเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น

ในแถบเมืองฉะเชิงเทราและชลบุรี เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของไทยในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อความสำคัญของน้ำตาลได้ลดน้อยลงนั้น ในบริเวณดังกล่าวก็ยังผลิตน้ำตาลอยู่แต่พอใช้ในเขตหัวเมืองและภายในประเทศเท่านั้น และเมื่อข้าวมีบทบาทมากขึ้นรัฐบาลของไทยในระยะต่อมาก็ได้ส่งเสริมการผลิตข้าวมากกว่าน้ำตาล ทำให้ราษฎรหันไปทำการเพาะปลูกข้าวมากว่าการปลูกอ้อย ดังนั้นพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อยก็กลายสภาพเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย การผลิตข้าวของคนไทยในอดีตส่วนใหญ่สำหรับบริโภคในครอบครัว จะมีข้าวเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเก็บไว้ในยามเดือดร้อนหรือเกิดสงคราม สภาพภูมิอากาศในเขตหัวเมืองปราจีนบุรี มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ

และพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ทำให้เหมาะกับการเพาะปลูกข้าวได้ดี





แต่ปรากฏว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้าวมิได้เป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับรัฐบาลมากนัก เพราะมีหลักฐานบางประการที่แสดงให้เห็นว่ามีผลผลิตบางอย่างมีความสำคัญกว่าและทำรายได้ดีกว่าข้าว ดังที่บาทหลวงปาลเลกัวซ์ได้ประมาณรายได้ของรัฐไว้ว่า ภาษีข้าวเก็บได้เพียง ๒ ล้าน แต่ภาษีพืชสวนเก็บได้ถึง ๕,๕๔๕,๐๐๐ บาท ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นว่า พืชผลสำคัญกว่าข้าว สาเหตุอาจมาจากทุกครอบครัวต้องผลิตข้าวพอกินอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องซื้อขายก็ได้

แต่หลังจากที่ไทยทำสัญญาบราวริ่งแล้วในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ข้าวได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย และเพิ่มความสำคัญมากขี้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก จนในที่สุดกลายเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศแทนน้ำตาลที่เคยมีบทบาทมาก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้มีการขุดคลองเพิ่มขึ้นเพื่อการเพาะปลูกข้าว เป็นการเปิดที่นาระหว่างสองฟากคลอง ราษฎรเข้าไปจับจองที่ดินในการเพาะปลูกต่อไป และหัวเมืองในมณฑลปราจีนบุรีก็เป็นแหล่งที่ผลิตข้าวสำคัญแห่งหนึ่งในขณะนั้นและในเวลาต่อมา





การส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกโดยรัฐได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในเขตเมืองนครนายก นอกเหนือไปจากที่รัฐได้ทำอยู่แล้ว คือโครงการขุดคลองคูนาสยามในทุ่งหลวงรังสิต และโครงการขุดคลองทุ่งดงละครของบริษัท ขุดคลองคูนาสยาม จำกัด
ดังมีปรากฏหลักฐานในหนังสือแบบเรียนภูมิศาสตร์ประเทศสยาม ของกรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพิมพ์ในปี พ. ศ. ๒๔๖๘ ว่า จำนวนเนื้อที่นาที่ปลูกข้าวได้มากที่สุดคือ มณฑลอยุธยา มณฑลนครชัยศรี และมณฑลปราจีนบุรี



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มณฑลปราจีนบุรี สมัยเริ่มแรกถึงสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
ปริญญานิพนธ์ของ สุดใจ พงศ์กล่ำ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น