วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ลุ่มน้ำบางปะกง ในครั้งกรุงศรีอยุธยา



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=81170


ก่อนที่จะมาถึงวัดเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้ข้ามสาระสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองฉะเชิงเทราอันเป็นเรื่องราวในครั้งกรุงศรีอยุธยาไปหลายช่วงสมัย ขอย้อนกลับไปยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีดังนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ของ เมืองฉะเชิงเทรา


ลุุ่มน้ำบางปะกงเมืองฉะเชิงเทรา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

“ฉะเชิงเทรา”  ในช่วงเวลา ๔๑๗ ปี ของกรุงศรีอยุธยา

๑..ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. ๑๙๙๑- ๒๐๓๑ )

ชื่อ “ฉะเชิงเทรา” ปรากฏอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองฉะเชิงเทรามีฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวาที่อยู่ใกล้ราชธานีของประเทศ เช่นเดียวกับราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม นครไชยศรี นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก
มีผู้ว่าราชการเมืองซึ่งเรียกว่าผู้รั้งเมือง ไม่เป็นเจ้าเมือง ไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง
ซึ่งมีข้อสังเกตุ คือชื่อเจ้าเมืองฉะเชิงเทรามีราชทินนามเฉพาะคือพระวิเศษฤาไชย และเลื่อนเป็นพระยาวิเศษฤาชัยในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในขณะที่ เจ้าเมืองนครนายก เจ้าเมืองปราจีนบุรี เจ้าเมืองสระบุรี ก็คือ พระยานครนายก พระยาปราจีนบุรี พระยาสระบุรี



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=81170


๒.สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชาฐาธิราช (พ.ศ ๒๐๓๔ - ๒๐๗๒ )

เป็นช่วงเวลาที่สงบสุชของกรุงศรีอยุธยาไม่มีการสงครามทั้งภายในและนอกราชอาณาจักร บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ทรงโปรดให้ขุดคลองสำโรง ในตำบลศรีษะจระเข้กับคลองทับนา ออกไปยังปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งขณะนั้นชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย คลองที่ขุดเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการปกครองในสมัยนั้น การค้าจะได้ขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ

๓. สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. ๒๐๙๑- ๒๑๑๑ )

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเมืองฉะเชิงเทรา เข้าร่วมมีบทบาทในการสงครามดังนี้
" การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงจัดการป้องกันพระนครศรีอยุธยาครั้งนั้น นอกจากการก่อสร้างยังให้ตรวจบัญชีสำมะโนครัวราษฏรทั่วไป เพื่อให้รู้จำนวนชายฉกรรจ์อันจะเป็นกำลังต่อสู้ข้าศึก ปรากฎมีชายฉกรรจ์ในมณฑลราชธานีมีแสนเศษ แล้วจัดระเบียบการเรียกระดมพลให้สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ในการนี้ทรงให้ตั้งเมืองชั้นในเพิ่มขึ้นหลายเมืองคือตั้ง บ้านตลาดแก้ว เมืองนนทบุรีเมืองหนึ่ง ตั้งบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี เมืองหนึ่ง ตัดท้องที่เขตต์เมืองสุพรรณบุรีทางด้านใต้ กับท้องที่เขตต์เมืองราชบุรีทางข้างตะวันตกรวมกันตั้งเมืองนครไชยศรี เมืองหนึ่ง สันนิษฐานว่าตัดท้องที่เขตเมืองชลบุรีข้างเหนือกับท้องที่เมืองปราจีนบุรีข้างใต้เมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง..."



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=81170


๔.สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. ๒๑๑๒ - ๒๑๓๓)
เนื่องจากช่วงต้นของแผ่นดินนี้ กรุงศรีอยุธยากำลังอ่อนแอเนื่องจากเพิ่งแพ้สงครามพม่าเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระยาละแวก ถือโอกาสยกกองทัพมาทั้งยกทัพมาเองและแต่งตั้งแม่ทัพยกทัพมาไทย เมื่อถอยทัพกลับจะกวาดต้อนชาวเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมือง ฉะเชิงเทรา ไปด้วยเป็นจำนวนมาก
...ในขณะนั้น พระยาละแวกแต่งพลมาลาดตระเวนทั้งทางบกทางเรือเป็นหลายครั้ง และเสียชาวจันทบูร ชาวระยอง ชาวฉะเชิงเทรา ชาวนาเริงไปแก่่ข้าศึกละแวกเป็นอันมาก..
(พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา.



๕. ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓ -๒๑๔๘)

เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญยิ่ง ในฐานะกองเสบียงที่ติดตามกองทัพของพระองค์ในการทำศึกพระยาละแวกของเขมร ดังพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า

" พ.ศ. ๒๑๓๖ การที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองเขมรครั้งนี้ดำรัสสั่งให้เกณฑ์พล เมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองสระบุรีเข้าเป็นกองทัพ...
พ.ศ. ๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกำหนด...ให้พระวิเศษ (เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา)...ตั้งขึ้นเป็นกองเสบียงทางบกยกไปตั้งยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารเตรียมไว้ที่ตำบลทำนบ (คงอยู่ใกล้ชายแดนเขมร) เพื่อคอยจ่ายเสบียงให้แก่กองทัพหลวงที่ผ่านไปทางตำบลนั้นเป็นการล่วงหน้า...เมื่อทรงตีเมืองบริบูรณ์ได้แล้วจึงโปรดให้เลื่อนพระวิเศษเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ที่ปฎิบัติราชการเป็นผลดียิ่งตลอดมา ขึ้นเป็น "พระยาวิเศษ" และให้คุมกำลังกองเสบียงส่งไปสนับสนุนกองทัพที่จะเข้าตีเมืองละแวกอันเป็นเป้าหมายสุดท้าย.."

แสดงให้เห็นว่า เมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองสำคัญและอุดมสมบูรณ์สามารถจัดกองเสบียงสนับสนุนกองทัพหลวง พระวิเศษเจ้าเมืองได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวิเศษ" ในระหว่างราชการทัพ



ขอขอบคุณภาพจากhttp://jamaneepura.blogspot.com/2012/08/blog-post_24.html


๖. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)

มีหลักฐานอ้างถึงเมืองฉะเชิงเทรา ในหนังสือสยามและคณะมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศส หนังสือเล่มนี้มีแผนที่ของมิสซังสยาม ระบุชื่อ "แปดริ้ว" (Petrue) ที่เข้ามาสำรวจพื้นที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ (คาธอลิค) ในเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งเข้ารีต (ส่วนใหญ่อยู่บริเวณ ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา)
ซึ่่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอง ทรงถูกทูลเชิญให้ทรงเปลี่ยนศาสนา แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทำให้ทรงปฏิเสธโดยสามารถดำรงสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสไว้ได้
อนึ่งเมื่อถึงสมัยพระเภทราชา ทรงกวาดล้างจับบาทหลวงต่าง ๆ ทั้งปวง ไปขังไว้เป็นตัวประกันกับกองทหารฝรั่งเศส




เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.space.mict.go.th/knowledge.php?id=kingnarai


๗.สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. ๒๓๐๑ - ๒๓๑๐)

ก่อนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองฉะเชิงเทรามีบทบาทในการสู้รบกับพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๙ กรมหมื่นเทพพิพิธทรงวิเคราะห์ว่ากรุงศรีอยุธยาคงเสียทีแก่พม่าที่ยกทัพมาล้อมกรุงอยู่ในขณะนั้น จึงชักชวนผู้คนชาวเมือง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เข้าไปตั้งมั่นที่ปราจีนบุรี แล้วส่งกองกำลังส่วนหนึ่งไปรักษาด่านที่ปากน้ำโยทะกา

แต่ในที่สุด ด่่านนี้ก็ถูกตีแตก ทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธ และพรรคพวกหลบหนีต่อไปยังเมืองนครราชสีมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียทีแก่พม่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์จึงตั้งขุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองนครราชสีมา นั่นเอง





เรือรบพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง
ขอขอบคุณภาพจากth.wikipedia.org


เมืองฉะเชิงเทรา แห่งลุ่มน้ำบางปะกง ได้มีส่วนร่วม ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ร่วมสมัย ๔๑๗ ปี แห่งศรีอยุธยา พอเป็นสังเขปดังนี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น