วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สายน้ำแหล่งอารยธรรม ๔




ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.gotoknow.org/posts/178265

ความเป็นมาของเมืองธนบุรี

เมืองธนบุรี หรือ บางกอกในอดีต คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นแผ่นดินเดียวกันมาก่อน
เป็นที่ราบสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยาที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ
ดังนั้นจึงมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่า “บางกอก” นั้นอาจจะเพี้ยนมาจากเดิมว่า “บางเกาะ” ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ

เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเคี้ยวมากตั้งแต่นนทบุรี ลงมายังพระนคร

กล่าวคือ แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลจากทางเหนือ ผ่านเขตเมืองนนทบุรีลงมาถึงสะพานปิ่นเกล้า แล้วไหลวกไปทางตะวันตกเข้ามาทางคลองบางกอกน้อย อ้อมผ่านตลิ่งชัน บางระมาดแล้ววกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่ (หรือคลองบางหลวง) แล้วไหลลงทางใต้ไปออกทะเลอ่าวไทย เป็นลักษณะรูปเกือกม้า
ซึ่งความคดเคี้ยวของแม่น้ำนี้ ทำให้สองฟากฝั่งของแม่น้ำกลายเป็นที่ดอนซึ่งเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “ย่านบางกอก” แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไปมา ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองชายทะเลตะวันออก




ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.gotoknow.org/posts/178265



ดังนั้นในสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙ ) จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้น เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ที่ไหลอ้อมเข้าไปทางคลองบางกอกน้อย ออกคลองบางกอกใหญ่ (คือขุดตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย จนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน)
การขุดคลองลัดดังกล่าวทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ จึงไหลไปทางคลองขุดใหม่ และเซาะตลิ่งสองข้างจนกว้างขึ้น กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ (บริเวณที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันนี้)



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.infoforthai.com/forum/topic/8561

ส่วนลำน้ำเดิมก็ค่อยๆ ตื้นเขินขึ้นลดขนาดลงเป็นลำคลอง ได้แก่ คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ (คลองตลิ่งชัน) คลองบางขุนศรี คลองบางเชือกหนัง คลองวัดประดู่ และคลองบางกอกใหญ่ ดังที่เห็นในปัจจุบัน




คลองบางกอกน้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttps://sites.google.com/site/taesunday/prawati-khlxng-bangkxknxy


เมื่อขุดคลองลัดสำเร็จ เมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรีจึงถือกำเนิดขึ้น ทางฝั่งตะวันตก หัวมุมคลองบางกอกใหญ่ กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และได้รับการยกฐานะขึ้น เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งตรวจตราจัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านเข้าออก

โดยปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑ ) ว่า
“เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ เพียง “ธนบุรี”

ส่วนชื่อ “เมืองบางกอก” นั้นคงเป็นชื่อสามัญ ที่ชาวบ้านและชาวต่างประเทศนิยมเรียก ดังปรากฏชื่อบางกอกในแผนที่และเอกสารของชาวต่างชาติ



ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://suppanutclub.wordpress.com/2013/09/22//ภูมิหลังทางประวัติศารต-2/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น