ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘
รายการกิจกรรมในวันนี้ มีดังนี้คือ
๐๘.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. ดูนก ชมป่าชายเลนโดยพี่พรชัย พี่ระ
๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ชมตลาดฟังเรื่องเล่า ตลาดสนาจันทร์ โดยป้าเปี่ยมจิต
๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. ร้อยเรียงเรื่องเล่า ระบายสีสร้างภาพ ขีดเขียนบทกวี
๑๕.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. วางแผนการจัดงานร่วมกัน (๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘)
เริ่มนัดพบกันเวลาเช้ากว่าเมื่อวาน อันที่จริงคุณพีระศักดิ์อยากนัดให้เช้ากว่านี้ เพราะหากยิ่งสายแสงแดดก็จะยิ่งแผดกล้า แต่ก็มิสามารถจะนัดได้เช้ากว่านี้ได้ด้วยเหตุผลบางประการ
แต่เดิมนั้น คุณพรชัย วิสุทธาจารย์ จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดจะมาร่วมงานด้วยหากแต่ติดภารกิจกระทันหัน แต่ก็ได้รับความกรุณาจากคุณวิชา นรังสี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญเรื่องนกในเมืองไทย สละเวลามาพาค่ายเยาวชนลำพูบ้านโพธิ์ไปดูนกแทนคุณพรชัย ทั้งนี้คุณพีระศักดิ๋เป็นผู้นำทางไปยังพื้นที่ที่มีนกมาอาศัยอยู่เป็นบริเวณพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์
คณะนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาได้รับเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดเกาะชัน ในเรื่องอาหารเช้าอีกมื้อหนึ่งด้วย
คุณวิชา นรังสี มาแต่เช้าเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ๋กล้องส่องดูนก
สำหรับคุณพรชัย วิสุทธาจารย์ แม้จะมาร่วมกิจกรรมไม่ได้ แต่ก็ได้ส่งหนังสือ นกเมืองไทย (สำหรับใช้เป็นคู่มือในการศึกษาความเป็นมาของนกที่จะพบเห็นในวันนี้ )รวมทั้งอุปกรณ์กล้องส่องดูนก จำนวน รวมกันมา ๑ ลัง
หลังจากคุณวิชาอธิบายขั้นตอน วิธีการ และคำแนะนำต่าง ๆ เสร็จ
ทุกคนขึ้นรถจากหอประชุมตรงไปยังสถานที่ ซึ่งต้องจอดรถและลงเดินเท้า
คุณตั้มและเยาวชนตัวน้อยที่สนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมดูนก
เป็นถนนลาดยางที่เดินสบายตามแนวร่มไม้ หากแต่แสงแดดส่องจ้าลงมาในทิศทางที่อาศัยเงาของร่มไม้ไม่ได้เลย
นกตัวแรกที่ได้เห็นนกกระจาบทองเกาะและทำรังบนต้นมะขามเทศ
คุณวิชาชี้ให้ดู ตั้งกล้องแล้วเรียกเบาวชนให้มาดูนกด้วยกล้อง และให้คำอธิบายลักษณะทั่วไป แหล่งอาศัย อาหาร การสร้างรัง สถานที่ทำรังการวางไข่ อาหาร และลักษณะนิสัย
ซึ่งพลอยโพยมไ่ม่มีความสามารถถ่ายภาพได้
คุณวิชาเล่าว่า
นกกระจาบทองตัวไม่ใหญ่นัก ลำตัวจะโตกว่านกกระจอกเล็กน้อย ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย
แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้และตัวเมีย สีจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ตัวผู้หน้าอกจะมีสีเหลือง เข้มสดใส ใต้แก้มและลำคอใต้ตาจะมีสีดำเข้ม หลังและปีกด้านบนจะมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนหางทั้งล่างและบนจะมีสีดำ สวยงามมาก จงอยปาก สีดำเข้ม ซึ่งคุณวิชาใช้คำว่าในฤดูผสมพันธ์นกกระจาบทองตัวผู้ มีความพิเศษในการแต่งองค์ทรงเครื่องไว้ล่อตาล่อใจ ดึงดูดสายตานกกระจาบทองตัวเมีย
นกกระจาบทองตัวผู้
นกกระจาบทองตัวเมีย
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
คุณวิชาได้อธิบายถึงนกกระจาบอีกพันธ์ุหนึ่งซึ่งสร้างรังคนละลักษณะ เป็นนกกระจาบที่แต่งองค์ทรงเครื่องไม่ได้ แต่ใช้วิธีการสร้างรังที่สวยงามวิจิตรเท่าที่สติปัญญานกจะทำได้ เป็นรังที่สวยงามและปลอดภัยสำหรับนกกระจาบสาวและลูกน้อยที่จะอยู่ในรังได้อย่างอบอุ่นปลอดภัย เรียนรู้ที่จะสร้างทางเจ้าออกรังจากใต้รังเพื่อมิให้งูหรือสัตว์ร้ายอื่น ๆ เข้ามาทำร้ายได้
หากแต่เมื่อสร้างรังเสร็จกระจาบสาวที่พึงใจไม่ยินยอมโผผินบินสู่เป็นคู่สอง นกกระจาบหนุ่มจะสร่้างรังใหม่ ส่วนรังเก่าก็จะมีกระจาบสาวตัวอื่นเข้ามาอยู่๋เป็นคู่สองแทนกับกระจาบหนุ่ม แต่กระจาบหนุ่มก็ไม่เลิกหวังกระจาบสาวตัวแรกที่พึงใจจึงสร้างรังใหม่ ซึ่งบางครั้งนกกระจาบหนุ่มจะต้องสร้างรังมากมายนับสิบก็มีหากกระจาบสาวตัวแรกที่พึงใจแบบแรกพบประสบรักยังไม่ปลงใจด้วยสักที นกกระจาบหนุ่มก็จะมีฮาเร็มนกกระจาบมีภรรยานกกระจาบมากมายตราบเท่าที่นกกระจาบสาวตัวแรกจะยอมอยู่เป็นคู่ด้วย กระจาบหนุ่มจึงจะหยุดสร้างรัง
นอกจากนี้พลอยโพยมยังอ่านพบในhttp://www.oknation.net/blog/rantang/2010/08/05/entry-1 ว่า
ในช่วงเดือนแห่งความรักของนกกระจาบ ใครไปเจอรังนกกระจาบที่คล้ายจะเป็นรังร้าง ก็ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า รังนกเหล่านั้นยังไม่ร้าง แต่อยู่ระหว่างการโชว์เรือนหอของนกกระจาบ หากเราไปปลดรังของมันลงมาก็ขอให้นึกถึงใจเขาใจเรา คือให้นึกว่า หากเราสร้างบ้านเสร็จและไปชวน สาวคนที่ตนรักมาดูบ้าน พอมาถึงก็พบแต่ที่ดินว่างเปล่า ไม่มีบ้านปรากฏในสายตา
คนโบราณบอกว่า ใครปลดรังนกในฤดูจีบนกสาว เกิดชาติหน้าจะหาเมียยาก ทุกอย่างมีพร้อม แต่จะมีคนมาคนยุแหย่และพูดใส่หูสาวคนรักให้เอาใจออกห่าง และเลิกราไปในที่สุด คนที่รื้อรังรักของนกกระจาบ จะเกิดเป็นชายหรือสาวทึนทึกในชาติต่อไป
แล้วก็พาเดินไปดูนกในสถานที่อื่นต่อไป คุณวิชาและคุณพีระศักดิ์ จะตาไวมาก เห็นนกและรู้จักชื่อนก แม้อยู่ในระยะไกล หรือมองจากสถานที่ที่นกอยู่ เช่น
นกที่เกาะตามเสาไฟคือนกตะขาบทุ่ง
นกที่บินเหนือพื้นดินคือ กระแตแต้แว๊ด
แถวหนองน้ำ คือนกเป็ดผี
จากภาพบน ทั้งคู่ (คุณวิชา และคุณพีระศักดิ๋) บอกว่ามีรังนกกระแตแต้แว๊ดอยู่กลางทุ่งหญ้า เมื่อตั้งกล้องส่องไปยังบริเวณที่มีรังนกอยู่ ก็จะเรียกเยาวชนให้มาดู และพาเดินไปดูรังในระยะใกล้
คุณวิชาเล่าถึงกุศโลบาย ที่นกกระแตแต้แว๊ดจะนำมาใช้ในการล่อให้ผู้คนที่มาใกล้รังหันไปสนใจอย่างอื่นไม่เข้าใกล้รังที่มีลูกน้อยด้วยสารพัดกลวิธี
นี่คือลูกนกกระแตแต้แว๊ดที่แม่นกทำรังกับพื้นทุ่ง พอเราเข้าไปใกล้ แม่นกก็บินห่างจากรังส่งเสียงเรียกดังแสบแก้วหู เป็นทำนองว่า มาตรงหาฉันตรงนี้ ตรงนี้มีของดี แล้วแม่นกก็บินโฉบไปโฉบมาบริเวณที่ห่างรังออกไป เหมือนว่าตัวเองกำลังดูแลปกป้องรังตัวเองตรงที่ห่างออกไป ช่างเจ้าเล่ห็แสนกลมากดังที่ คุณวิชาเล่าให้ฟัง เป็นหนึ่งในมารยาร้อยเล่มเกวียนของแม่นกกระแตแต้แว๊ด ที่เรียกร้องให้เราถอยห่างรังนกจริง ไปสนใจบริเวณที่แม่นกทำท่าปกป้องคุ้มครอง
เราดูรังและลูกนกเสร็จ คุณวิชาขอให้เราถอยออกมาจากรังนกที่มีลูกนกจริงเร็วหน่อย (คงสงสารแม่นกจะอกแตกตายเสียก่อนที่พวกเราไม่หลงกลมารยา )
และไปสถานที่อื่นต่อไป
แดดเริ่มร้อนจัดเลยพยายามหาที่ใต้ร่มต้นไม้
นกกระแตแต้แว้ด (Red-wattled Lapwing)
เป็นนกที่สีสวยน่าดูมาก พบได้ง่าย ตามพื้นที่โล่งเกือบทุกสภาพทั่วประเทศ
เสียงของนกดัง “กระแตแต้แว้ด” สมชื่อ จึง ป็นที่มาให้คนเรียกนกในวงศ์นี้ทั้งหมดว่านกกระแต คนโบราณบางทีเรียกว่านกต้อยตีวิด หรือนกกระต้อยตีวิด ซึ่งก็เรียกตามเสียงร้องเหมือนกันนั่นเอง
หมอบุญส่งเคยเรียกนกนี้ว่า นกต้อยตีวิดหวาดฟ้า
ด้วยชีวิตหากินบนพื้น นกกระแตแต้แว้ดจึงลดรูปนิ้วเท้าหลังจนหายไปเกือบหมด จับคอนกิ่งไม้ไม่ได้ ต้องยืนและนอนบนพื้นตลอดกาล เวลานอนก็หมอบบนพื้นราบไปธรรมดา บางคืนไม่นอนก็มี ตาโตออกหากิน คืนเดือนหงายบางครั้งจะพบนกนี้กลางทุ่งตอนกลางคืนหลายฝูง
เวลาทำรังก็ทำบนพื้น แม่นกวางไข่โดยพรางตาคนโดยวางรังไปกับพื้นดินเลอะ ๆ ในช่วงนี้พ่อแม่ของลูกนกมีมารยามากมาย บางทีหากใครเข้าใกล้พ่อแม่จะทำท่าดิ้นชักไปมาเหมือนบาดเจ็บหนัก เพื่อล่อให้คนเดินตามพ่อแม่นกไป จะได้ห่างจากลูกหรือไข่ของตนที่นอนอยู่กับพื้น ลูกนกเองหากหนีไม่พ้นก็จะเล่นแกล้งตาย นอนตัวแข็งทื่อหลอกศัตรูก็มี
นิสัยของนกนี้ปากเปราะ เวลาเจอคนหรืออะไรน่าสงสัย ก็จะร้องเตือนภัยทันที เสียงดังแสบแก้วหู บางตัวลีลามาก เมื่อคนเดินไปแล้วนกจะค่อยย่อง ๆ ตามหลังมาชะเง้อดูคนว่าไปถึงไหน บางตัวบินฉวัดเฉวียนไล่อยู่เหนือหัวคนเลยก็มี บางที่ก็แกล้งขี้ลงมาบนหัวคนที่ไปใกลรังเสียเลย
สัตว์ป่าทั้งหลายได้ประโยชน์จากเสียงเตือนภัยนี้ให้ทราบภยันตรายล่วงหน้า จึงควรมอบฉายา “ยามประจำป่า” ให้เลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/NorthernThaiBirds/posts/523230461096906
ดูนกเป็ดผี
แดดแรงมากขึ้นหลาย ๆ คนเริ่มกระหายน้ำจึงเดินกลับไปที่รถ ซึ่งคุณพีระศักดิ์ก็ขับรถเข้ามารับให้เดินขา กลับถึงรถๆ ได้เร็วกว่าขาเดินมา
นกกระแตแต้แว๊ด
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.op.mahidol.ac.th/oppe/bird_insalaya.html
นกตะขาบทุ่ง
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
นกเป็ดผี
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
เมื่อกลับมาที่หอประชุม
ของว่างสายนี้คือขนมไข่โบราณ 200 ชิ้น
คุณวิชา สรุปสาระสำคัญอีกครั้งถึงคุณประโยชน์ของนกทั้งหลายที่ช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศวิทยา และมีภารกิจจึงไม่ได้อยู่รับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งรายการในคือ แกงเขียวหวานไก่และไข่เจียว คุญกัญจน์ ได้เตรียมมะม่วงหงสาวดี จากสวนลุงสอิ้ง คลองเขื่อน มามอบให้คุณวิชา
มะม่วงหงสาวดี
พลอยโพยมไม่ได้ไปร่วมการเดินตลาดสนามจันทร์ โดยคุณป้าเปี่ยมจิต เมธาวศิน ซึ่งเกิดและเติบโตที่ตลาดสนามจันทร์นี้ เป็นผู้นำเหล่าเยาวชนเข้าไปเก็บข้อมูล
เพราะมีนัดหมายเรื่องการแสดงละครร้องเวนิชวานิช ในงานวันเกิด คุณครู ดร.สอิ้ง กานยะคามิน ซึ่งจะแสดงในเดือน กันยายน ๒๕๕๘ ชองศิษย์เก่า ม.ศ.๓ ก.รุ่น ปี ๒๕๑๒
เมื่อกลับมา ก็พบว่าเหล่าเยาวชนกำลัง ระบายสีสร้างภาพ ร้อยเรียงเรื่องเล่า ขีดเขียนบทกวี
ของว่างสำหรับบ่ายวันนี้คือขนมชั้นเจ้าอร่อยเป็นของดีบ้านโพธิ์อีกชนิดหนึ่ง
จนเวลา ๑๕.๐๐ น. เยาวชนแต่ละคนจึงออกมาเล่าเรื่องที่ร้อยเรียงไว้ในการเดินตลาดสนามจันทร์ โดยบอกเล่าเป็นภาพแผนที่ และเล่าเรื่องขยายความในบ้านหรือร้านค้าที่ตนเองได้ไปสัมผัสมา จนถึงเวลา ๑๗.๐๐ น.
ช่วยกันเขียนช่วยกันระบายสีเป็นกลุ่มตามสถานที่ตนเองเข้าไปพบปะพูดคุย
แล้วจึงนำมาเรียงต่อเป็นแผนที่ใหญ่บอกกล่าวเล่าเรื่องในภาพไปด้วย
เยาวชนมาบอกกล่าวเล่าเรื่องที่ลงในแผ่นกระดาษแบบสร้างสรรค์เรื่องเล่า ทั้งนี้พี่รุ่นโตเป็นตัวอย่างก่อนโดยสรุปเล่าเรื่องที่กลุ่มของตนเข้าไปทำความรู้จัก ร้านค้าและบ้านเรือนต่าง ๆ ในตลาดสนามจันทร์
อดีตศึกษานิเทศก์หลายจังหวัด เปี่ยมจิต เมธาวศิน บอกกล่าวเล่าเสริมความที่เยาวชนนำมาเล่าสู่ ทั้งเรื่องราวศาลเจ้าพ่อโหราเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม และตลาดสนามจันทร์ในวันที่ ๓ พฤษภาคม
รวมทั้งสาเหตุที่ตลาดในตัวอำเภอบ้านโพธิ์ถูกเรียกกันว่าตลาดสนามจันทร์
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีน เป็นผู้จัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ โดยแยกออกมาจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้านและตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรกคือขุนประจำจันทเขตต์
เหตุที่ชื่อบ้านสนามจันทร์ มีประวัติเล่ากันว่า สมัยที่ท้องที่ยังเป็นป่าอยู่ มีเสือชุกชุม มีพระยา ๓ ท่าน ออกมาตั้งจั่นดักเสือที่หนองน้ำ ราษฎรเรียกว่า "หนองสามพระยา" และเรียกหมู่บ้านว่า "สนามจั่น" เรียกขานกันนานเข้าจึงเพี้ยนเป็นบ้านสนามจันทร์ ส่วนหนองสามพระยาได้ตื้นเขินเป็นพื้นนา ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบแบบเสือป่าเพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกันประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเขาดิน
เขาดินอยู่ต่อแดนกับอำเภอบางปะกง เป็นเนินหินแกรนิต สูงประมาณ ๑๕ เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาดิน ภายในวัดมีมณฑปร้างเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เหตุที่เอาเขาดินมาตั้งเป็นชื่ออำเภอแทนสนามจันทร์ คงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสวัดเขาดิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ซึ่งถือเป็นความปีติและเป็นสิริมงคล จึงเอาชื่อเขาดินมาเป็นชื่ออำเภอ
ต่อมาปรากฏว่าเขาดินไปอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จึงเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่งจากเขาดินมาเป็น อำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบลที่ตั้งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
หลังจากนั้นก็ถึงกระบวนการสร้างสรรค์เรื่องเล่า เป็นการแสดงประกอบการบอกเล่าเรื่องราวเป็นกลุ่ม
เยาวชนมาบอกกล่าวเล่าเรื่องที่ลงในแผ่นกระดาษแบบสร้างสรรค์เรื่องเล่า มีทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง (บทกลอนตามใจฉัน)
และในที่สุด งานเลี้ยงก็เลิกรา ละครก็ลาโรง นักแสดงต่างแยกย้ายกันกลับตามเวลา
เหลือทีมงานนั่งประชุมวางแผนการจัดงานวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ต่อจนโพล้เพล้สายัณห๋ตะวันลับฟ้า จึงอำลาจากกันกลับคืนสู่เคหสถานบ้านช่องของตน
ขอขอบคุณภาพจากhttps://www.facebook.com/bangpakongriver
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น