วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สายน้ำแหล่งชีวิต ๔.






ขอขอบคุณภาพจาก
http://khunmaebook.tarad.com/product.detail_837761_th_4554849


๓.  พระราชพิธีลงสรง

เป็นพระราชพิธีที่พระราชโอรสและราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายลงสรงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อชำระล้างพระวรกายให้สะอาด ปราศจากความมัวหมอง ทั้งกายและจิตใจ โดยใช้น้ำเป็นสิ่งชำระล้างความสกปรกเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งกระทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


ขอขอบคุณภาพจาก
http://emuseum.treasury.go.th/article/557-24-09-2013.html


พระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธย
พระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระราชพิธีสำคัญที่มีมาตั้งแต่โบราณอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชกุมารที่ดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า และสืบทอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย เนื่องจากพิธีนะหานะดิตถมงคลซึ่งเป็นพิธีสอนให้เด็กว่ายน้ำได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ที่กล่าวถึงพิธีมงคลของเด็กซึ่งมีอยู่ ๑๐ พิธีด้วยกัน

ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธยขึ้น ครั้งแรกเมื่อใด แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงการสมโภชพระราชกุมาร พระราชโอรส และพระราชธิดา ซึ่งพระราชพิธีลงสรงถือเป็นพิธีอย่างหนึ่งในพิธีสมโภชลูกหลวง ๑๐ อย่าง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พิธีสมโภชลูกหลวง 10 อย่างซึ่งปรากฏอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่า โดยกล่าวถึงการสมโภชเมื่อพระกุมารมีพระชันษา ล่วง ๓ ขวบแล้ว และลงสรงน้ำได้ โปรดให้มีการสมโภชขึ้นครั้ง ๑
นอกจากนี้ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้กล่าวถึงพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพรบวรราชกุมาร ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธย ด้วยกัน ๒ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑
 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ด้วยทรงเกรงว่าพระราชพิธีนี้จะเสื่อมสูญไปจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธย พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ จารึกพระนามลงพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทววงศ์พงศ์อิศวร กษัตริย์วรขัตติยราชกุมาร” เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศขัตติยราชประเพณี พระราชพิธีลงสรงในครั้งนั้น ประกอบขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ อาศัยแบบแผนที่มีมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นองค์อำนวยการ




สมเด็จพระจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://theesotericcuriosa.blogspot.com/2011/05/blog-post_13.html


ครั้งที่ ๒
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธยตามแบบโบราณราชประเพณีพระราชทานแก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คือ สมเด็จพระจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมุติเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูรยขัตติยสันตติวงศ์ อุกฤษษฐพงศ์วโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาสวิบูลยสวัสดิ์ สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ ครบ ๙ พรรษา พระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ – ๒๐ มกราคม ๒๔๒๙ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขธรรมเนียมการสถาปนาองค์รัชทายาท เพื่อเสถียรภาพแห่งราชบัลลังก์ ดังเช่นประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ในยุโรปจะมีการสถาปนาตำแหน่งพระยุพราช (Crown Prince) เอาไว้อย่างชัดเจน โดยหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกายกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๒๘ และสถาปนาตำแหน่งรัชทายาทขึ้นใหม่ คือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://emuseum.treasury.go.th/article/557-24-09-2013.html


การประกอบพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธย

พระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธยจัดทำเป็นสองส่วน คือ พระราชพิธีลงสรง และพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย แต่โดยโบราณราชประเพณีแล้วมิได้กำหนดบังคับให้ต้องจัดพระราชพิธีทั้งสองในคราวเดียวกันทุกครั้ง อาจจะงดเว้นพระราชพิธีลงสรง จัดแต่พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยก็ได้ หรือจะเพิ่มพิธีแต่งตั้งพระอิสริยยศให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดเพิ่มก็ได้ โดยการพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธยนี้มิได้พระราชทานแก่พระราชกุมารที่มีพระราชอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าทุกพระองค์

การเตรียมพระราชพิธี
การสร้างแพลงสรงและลักษณะของแพลงสรง
การสร้างแพลงสรงในพระราชพิธีครั้งนี้ ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์ วรเดช องค์อำนวยการจัดงานพระราชพิธี โดยมีหม่อมเจ้าอลังการ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เป็นนายช่างการก่อสร้างแพลงสรง



ขอขอบคุณภาพจาก
http://emuseum.treasury.go.th/article/557-24-09-2013.html


แพลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร จัดสร้างขึ้น ณ พระที่นั่งชลังคพิมาน (พระตำหนักแพ) บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใต้ฐานแพใส่ไม้ไผ่และไม้ไผ่นี้รองรับด้วยโครงไม้วางสลับเป็นรูปตาราง เว้นช่องว่างบริเวณกึ่งกลางแพเพื่อเป็นที่ลงสรงรอบๆฐานแพปิดด้วยไม้ไผ่สานเป็นแผงตาชะลอม เข้าขอบบุด้วยผ้าแดง แล้วใช้ลวดตาข่ายสังกะสีบุทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อความเรียบร้อย

ด้านตะวันออกของแพลงสรงเป็นที่ตั้งของพลับพลาทองจัตุรมุขซึ่งมีพระที่นั่งโธรนตั้งอยู่เพื่อเป็นที่ประทับ บริเวณกลางแพเป็นที่ตั้งของมณฑปทำด้วยไม้มะเดื่อ กลางมณฑปเจาะช่องที่พื้น สำหรับเสด็จลงสรง โดยทำเป็นกรงบุผ้าขาวเนื้อละเอียด แล้วใช้ตาข่ายสังกะสีตาละเอียด ปิดทองบุทับผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง ในกรง มีรูปกุ้งทอง กุ้งนาก กุ้งเงิน ปลาทอง ปลานาก ปลาเงิน มีมะพร้าวปิดทอง ๑ คู่ มะพร้าวปิดเงิน ๑ คู่ ทางด้านตะวันตกมีมณฑปตั้งพระแท่นแว่นฟ้า ๗ ชั้น มีตั้งไม้มะเดื่อสำหรับประทับรับน้ำพระพุทธมนต์พระกระยาสนานหลังจากเสด็จขึ้นจากที่สรง

แพลงสรงดังกล่าวเปรียบเสมือนรูปจำลองภูมิจักรวาล อันประกอบด้วยเขาไกรลาส (หรือเขา พระสุเมรุ) ซึ่งมีน้ำล้อมรอบอยู่อย่างแท้จริง และแพลงสรงนี้ก็เปรียบเสมือนรูปจำลองภูมิจักรวาลที่สามารถลอยเคลื่อนที่ได้นั่นเอง
พิธีสวดมนต์ตั้งน้ำวงด้ายและพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันแรกของพระราชพิธี พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ๒๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ตั้งน้ำวงด้ายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีการวงด้ายสายสิญจน์รอบพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย
ในวันอังคาร ที่ ๑๑ – พฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงประกอบพิธีสงฆ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นเวลา ๓ วัน
พิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธย

ในวันศุกร์ ที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทรงรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ จากพระราชยาน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงเปลี่ยน พระภูษาฉลองพระองค์ เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงรับพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอไปประทับที่พลับพลาหน้าพระที่นั่งชลังคพิมาน ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการเสร็จแล้วสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ถวายศีล จากนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จลงยังแพยังพระที่นั่งโธรน พราหมณ์ลอยกุ้งทอง กุ้งเงิน กุ้งนาก ปลาทอง ปลาเงิน ปลานาก มะพร้าวงอกทอง มะพร้าวงอกเงิน ที่มุมกรงสำหรับสรงสนาน แล้วจุดเทียนบูชาอวยชัย โหรบูชา พระฤกษ์และลอยบัตร์ตามกระแสน้ำ เรือเจ้าพนักงานตรวจตราความเรียบร้อย



ขอขอบคุณภาพจาก
http://topicstock.pantip.com/isolate/topicstock/2008/04/M6492652/M6492652.html

เมื่อถึงเวลาพระมหามงคลฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระกรสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอฯ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช รับพระกรต่อจากพระหัตถ์นำเสด็จลงจุ่มพระองค์ในกรงสรงสนานพร้อมด้วยมะพร้าว คู่ปิดเงิน ปิดทองถวายให้ทรงโผไปมา ๓ ครั้ง ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานประโคมดนตรี พระราชาคณะสวดถวายไชยมงคล กรมพระแสงปืนต้นยิงปืนสัญญาณขึ้นพร้อมกัน เจ้าพนักงานประจำเรือทอดทุ่นล้อมวงยิงปืนใหญ่น้อยขึ้นผลัดเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะสิ้นเวลาสรงสนาน ปืนใหญ่ยิงสลุตถวายพระเกียรติแห่งละ ๒๑ นัด การละเล่นสมโภช ก็เล่นขึ้นพร้อมกัน


ครั้นลงสรงสนานพอสมควรแล้วก็เชิญเสด็จขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอดพระธำมรงค์นพรัตน์แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ และพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรตและพระเต้าเบญจครรภ์ พระมหาสังข์ ๕ พระมหาสังข์ ๓ และพระเต้า จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และเสนาบดี ถวายน้ำพระพุทธมนต์ พราหมณ์ถวายน้ำกลศ น้ำสังข์ เสร็จแล้วทรงผลัดพระภูษาและแต่งพระองค์ด้วยฉลองภูษาครุย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ประทับบนพระราชยาน ตั้งกระบวนแห่กลับ เสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เจ้ากรมอาลักษณ์ อ่านประกาศยอพระเกียรติเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสุริย์ขัตติยสันตติวงษ์ อุกฤษฐพงษ วโรกโตสุชาติ ธัญญลักษณ์วิลาศวิบูลย์สวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรต ทรงเจิมแล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏและคำประกาศรับพระปรมาภิไธยแล้วพระราชทานเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ประกอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลพระนพน้อย พระแสงญี่ปุ่นฝักถมราชาวดี พระแสงกระบี่สันปรุคร่ำทอง ฝักทองคำลงยาและด้ามศีรษะนาคสามเศียรลงยาราชาวดีประดับพลอย พระแสงกั้นหยั่นลงยาราชาวดีประดับพลอยแดง พานหมากเสวยลงยาราชาวดี พระเต้าลงยาราชาวดี บ้วนพระโอษฐ์ลงยาราชาวดี หีบหมากเสวยลงยาราชาวดี ที่พระสุธารสทองคำ กาน้ำเสวยทองคำ พระประคำทองสาย พระสายดิ่ง พระธำมรงค์นพเก้า พระธำมรงค์ประจำวันทองคำรูปหนู พระธำมรงค์มรกตเป็นพระลัญจกรประทับครั่ง พระลัญจกรประทับครั่



เวลาบ่ายสามโมงเศษ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์ วรเดช ซึ่งเป็นองค์แทนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย ราชทูตกรุงอังกฤษ ตัวแทนเสนาบดีและข้าราชการอ่าน คำถวายพระพร ในวันเสาร์ ๑๕ - วันอาทิตย์ ที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๒๙ ได้มีการจัดกระบวนแห่สมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ถวายทรงเจิมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในเวลาสมโภช จึงเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระปรมาภิไธย



ขอขอบคุณภาพจาก
http://theesotericcuriosa.blogspot.com/2011/05/blog-post_13.html


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://emuseum.treasury.go.th/article/557-24-09-2013.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น