วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒ ตอน บ้านเรา บ้านโพธิ์ บ้านแสนสุข ตอนที่ ๑



ในเช้าวันที่ ๒๓ พฤษภาคม สุภาพบุรุษทีมงาน ก็ขนต้นไม้ป่าชายเลนที่ปลูกอยู่ในกระถาง เช่น ต้นจาก คลัก (ขลัก ประสัก พังกาหัวสุม )ทั้งดอกแดงและดอกขาว โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน รุ่ย ไปตั้งแสดงในบริเวณงาน อุปกรณ์การประมงพื้นบ้าน ภาพนิทรรศการ ภาพสารดคีแม่น้ำบางปะกง ถ่ายทำโดย 10 FOTOS เครื่องเสียง เครื่องไฟ



ติดตั้งเครื่องมือประมงพื้นบ้านให้รู้ว่าคนริมแม่น้ำหาสัตว์น้ำกินกันอย่างไร ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ล้วนเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ



แนวใต้ต้นไทรใหญ่ เป็นโต๊ะวางอาหารมื้อกลางวันต่อด้วยมื้อเย็นเป็นอาหารหลัก เว้นช่องกลางทางเดิน อีกด้านของทางเดินนี้จัดวางโต๊ะไว้สำหรับเป็นที่วางอาหารพื้นบ้านผลิตพันธุ๋ไม้ป่าชายเลนชายทุ่งของลุ่มน้ำบางปะกง
(ตั้งใจใช้คำว่าผลืตพันธุ์ มิได้เขียนผิดแต่ประการใด)

นอกจากทีมงานชมรมลำพูบ้านโพธิ์แล้ว ต้องขอขอบคุณนิสิตจากมหาวิทยาลัยบูรพาที่มาช่วยงานตั้งแต่ช่วงสาย ๆ ของวัน )



ปลากะพงขาวทำเค็มตากแดด ฝีมือคุณพีระศักดิ์ได้รับเกียรติโชว์สรีระสัดส่วนซึ่งหากไม่ถูกทำเค็มตากแดด ก็นับว่าเป็นปลาอ้วนพี   ส่วนบรรดาพี่น้องปลาอีกหลาย ๆ ตระกูล  หลาย ๆ สกุลวงศ์ อื่น ๆ ที่คลาคล่ำในลำน้ำบางปะกง เพียงเป็นภาพในแผ่นกระดาษเท่านั้น

เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคุณพีระศักดิ์ แถมปลาเค็มห้าตัวนี้ก็ฝีมือของคุณพีระศักดิ์ด้วย

แนวใต้ต้นไทรใหญ่เป็นบริเวณแสดงนิทรรศการอาหารพื้นบ้าน เริ่มจัดวางอาหารแล้วส่วนใหญ่คือผลไม้ชายป่าชายเลน ชายทุ่งที่อยู่ริมแหล่งน้ำ


ปลากะพงขาวหรือที่ชาวจีนเรียกกันว่าปลาโจ้โล้ เป็นปลาที่มีชุกชุมมากในลำน้ำและมีมาเนิ่นนาน จนแถบบางคล้าบริเวณที่คลองท่าลาดไหลมาบรรจบแม่น้ำบางปะกง เรียกกันว่าปากน้ำโจ้โล้ เพราะมีปลากะพงชุกชุมนั้่นเอง

และเป็นสถานที่พม่าได้ยกทัพมาตั้งค่ายที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้เพื่อติดตามพระยาวชิรปราการและไพร่พลราว ๕๐๐ คน ซึ่งพระยาวชิรปราการรบชนะทหารพม่ามีทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก และเลิกยกทัพติดตามอีกต่อไป

ครั้นรบชนะพม่าข้าศึกแล้ว พระยาวชิรปราการ ได้สั่งให้ไพร่พลพักทัพ และสั่งให้ทหารสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสู้รบกับพม่าจนมีชัยชนะตรงบริเวณ ปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหลมที่มีกระแสน้ำจากคลองท่าลาดไหลบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะจนบริเวณแหลมปากน้ำอันที่ตั้งของ พระเจดีย์พระเจ้าตากสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) พังทลายลงเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ และมีการก่อสร้างทดแทน ณ ตรงที่เดิม

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช และเหล่าบรรพชน ได้ทำการสู้รบกับอริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง เพื่อกอบกู้ และปกป้องชาติแผ่นดิน ให้ลูกหลานเหลนไทยได้อยู่อาศัยสืบต่อกันมา ณ บริเวณที่แห่งนี้

เมื่อเห็นปลาโจ้โล้ ก็ควรที่ชาวแปดริ้วจะน้อมรำลึกถึงพระองค์และเหล่าบรรพชนในครั้งนั้น

สิ่งที่อยู่ข้างใต้ด้านซ้ายมือที่หันหน้าหาภาพคือปลากะตัก  ส่วนด้านขวามือคือเคยหรือกุ้งกะปิ ที่ลุงสายยันนำมาแปรสภาพเป็นกุ้งกะปิในโหลหรือขวด (ตามแต่ผู้คนจะเรียกขาน) วางข้าง ๆ มะนาวโห่แช่อิ่มนั่นเอง


ภาพบรรดาปลาเพื่อนพ้องน้องพี่ ลุง ป้า น้า อา  และเพื่อนบ้านของพระเอกปลากะพงขาวที่มีอยู่มากมาย สองร้อยกว่าชนิด ปลาเหล่านี้เคยเวียนว่ายกระฉอกฉานทั่วธารบางปะกงมาแล้ว และที่ลี้ลับหายไปก็หลายพันธุ์ มีมาเพิ่มเติมก็หลายพันธุ์จากการที่น้ำทะเลหนุนลึกเข้ามาในแม่น้ำมากขึ้นและกินเวลายาวนานยิ่งขึ้น




ติดตั้งภาพโปสเตอร์ กับขาตั้งภาพที่ประดิษฐ๋จากไม้ไผ่ ไอเดียคุณบุญเก็ง คนเก่งบางคล้า เจ๋งจริง ๆ คุณบุญเก็งไม่สงวนลิขสิทธิ์ ซึ่งขาตั้งนี้ใช้งานมาหลายครั้งแล้ว




ภาพโปสเตอร๋จากสารคดีแม่น้ำบางปะกงโดยฝีมือถ่ายทำของช่างภาพสารคดีระดับแถวหน้าของเมืองไทย คือกลุ่มฃ่างภาพ 10 FOTOS








เหล่าเยาวชนคนบ้านโพธิ์ และ พี่ ๆ นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา มาพร้อมหน้ากันฝึกซ้อมเพลงที่ช่วยกันแต่งขึ้นมาและจะใช้ร้องร่วมกันในการเปิดงาน

บทเพลงที่ร่วมกันแต่งมีเนื้อร้องว่า

“แม่น้ำบางปะกงที่ใสสะอาด
มีปลามากมาย มีต้นไม้ เรือผีหลอก
ลมเย็นๆ น้ำใส ๆ ทำให้เราสุขใจ...”

ร้องคลอกับกีตาร์  ซักซ้อมกันหลายรอบเพราะต้องใช้ออกงานเย็นนี้



พอตะวันคล้อยลอยลงต่ำผู้คนก็เริ่มทยอยเข้ามาในบริเวณงาน ในงานนี้มีกลุ่มทหารหลายนายมาช่วยดูแลความเรียบร้อยปลอดภัย ให้ผู้มาร่วมงานอบอุ่นใจอย่างไรเสียไม่มีภัยมาสู่ตนแน่นอน



เวลาบ่ายสองโมงกว่า ศึกษานิเทศก์เปี่ยมจิตก็ไปกำกับดูแลคณะกลองยาวโดยนักเรียนโรงเรียนวิทยาราษฏร์  ให้ตั้งขบวน รอความพร้อมและเวลา  แล้วก็นำขบวนกลองยาวเดินผ่านเข้าไปในตลาดสนามจันทร์ (ก็คือตลาดที่ตัวอำเภอบ้านโพธิ์นี้เอง)   สุดถนนแล้วจึงวกออกมาด้านท่าน้ำเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน มีชาวเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์และประชาชนเข้าร่วมขบวน


งานนี้มิได้ดำเนินการโดยชมรมลำพูบ้านโพธิ์กลุ่มเดียว แต่มีภาคีบางปะกงสายน้ำแห่งชีวิตร่วมแรงร่วมใจช่วยกันจัดงานในครั้งนี้

และทีมคณะกลองยาวนี่เองทำให้ปริมาณคนเริ่มมากขึ้นในบริเวณงาน


ตะวันรอนอ่อนแสงแล้ว น้องเกื้อ  ทัตติยกุล ที่มาเป็นกำลังใจให้คุณพ่อกัญจน์ คุณแม่กอบมณี ก็หมดแรง ต้องปูเสื่อกลางลาน  ดูท่านอนก็บ่งบอกว่าหมดแรงจริง ๆ เพราะเป็นวันที่อากาศร้อนมาก ดีที่ไม่มีฝน  ซึ่งทีมงานก็ขอแสงแดดแผดกล้า ดีกว่าฝนตก (งานนี้ไม่มีการปักต้นตะไคร้ อาศัยใจใสซื่อถือว่าจัดงานให้แม่ของเรา แม่น้ำบางปะกง นั้นเอง  แม่คงคาก็คงเจรจากับพระพิรุณให้คณะจัดงานเอง เราชาวบ้านมิต้องอนาทรร้อนใจ)

คุณพ่อกัญจน์ เก็บภาพไว้ทันที มิมีบ่อยที่ลูกน้อยจะมาหลับกลางลานซีเมนต์ริมฝั่งแม่น้ำแบบนี้ ไม่มีแม้ร่มไม้ใบบัง



ถัดมาทางด้านติดริมน้ำมีโต๊ะลงทะเบียนแขกที่มาร่วมงาน ยังไม่ถึงเวลานัดหมายก็เริ่มมีประชาชนที่สนใจมางาน มาถึงบริเวณงานกันแล้ว




อาหารพื้นบ้านต่าง ๆ ทยอยกันมาจัดวางบนโต็ะบริเวณแนวต้นไม้ เพราะฉากหลังจะเป็นภาพบอกเล่าถึงวิธีการทำอาหาร ชื่อพรรณไม้ป่าชายเลนได้รับคัดเลือกนำมาแสดง ทั้งต้นจริงบ้าง ผลของพรรณไม้ที่ถูกนำมาประกอบอยู่ในรายการอาหารบ้าง

ในภาพที่อยู่ใต้ฝาชีอันใหญ่ คือน้ำพริกกะปิ น้ำพริกเผา กะปิคั่ว
ถัดมาเป็นโหม่งจาก  ลูกลำแพน ขนมจาก  ตะโกสุก  ลูกพลับไทย  มะขวิด ดอกลำพูอ่อน  ยอดของต้นรากสามสิบ (ซึ่งใช้ได้ไม่กี่ยอด)

ทางด้านซ้ายสุดใต้ร่มต้นไทร ที่มีใบหนารากยาวย้อยระย้า และมีกลุ่มคนยืนอยู่ค่อนข้างมากมีการปูเสื่อใต้ต้น เนื้อที่กว้างขวาง จัดให้เป็นทีเรียนรู้ สนุกสนานสนานเพลิดเพลินกับกิจกรรม อันประกอบด้วย การคว้านเมล็ดมะนาวโห่ การลอกเปลือกและดึงไส้รากต้นรากสามสิบ การต่อจิกซอว์ผลตะบูนที่แกะออกมาแล้วให้ประกอบกลับคืนให้ได้รูปทรงเดิม  การแกะผล คลัก (ขลัก ,ประสัก ,พังกาหัวสุม ) เป็นตุ๊กตา  การม้วนและเป่าปี่ใบถอบแถบน้ำ หรือทับแถบ


ผลตะบูนบนต้นตะบูน


ผลตะบูนจะแบ่งเป็นพูสี่พู


เมื่อเอามีดกรีดผลตะบูนสดตามรอยพูจะได้ภาพดังนี้




แกะเปลือกออกภายในเป็นดังภาพ

แกะตามรอยธรรมธาติจะได้ชื้นส่วนย่อยภายในดังภาพมีจำนวนชิ้นส่วนมากมาย



ถ้าเป็นตะบูนแห้งบนต้นเมื่อหล่นลงสู่พื้นดินก็จะแยกชิ้นส่วนกระจายกันออกไป แต่ละชิ้นส่วนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็จะงอกต้นใหม่ได้เหมือนกัน ถ้าอยู่ริมน้ำผลก็ลอยไปตามน้ำ ได้เวลาก็จะแตกออกเช่นกัน  ในเวลาน้ำขึ้นชิ้นส่วนที่กระจายออกอาจลอยเข้าไปชิดตลิ่ง เมื่อน้ำลงก็อาจค้างบนชายตลิ่ง หรือค้างตามป่าจากชั้นในที่มีดินค่อนข้างไม่เหลวนักแบบแนวที่เป็นเลน

ชิ้นส่วนก็จะเติบโตเป็นต้นได้  และตะบูนจะเป็นพรรณไม้ชั้นในจากต้นแสม ลำพู จาก และสามารถเติบโตแทรกอยู่ในป่าจากขั้นในได้

คุณพีระศักดิ์จึงหาผลตะบูนแห้งมาเป็นเกมให้ผุู้มาร่วมงานต่อจิ๊กซอว์ผลตะบูน



ผลตะบูนของจริงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ที่นำมาให้ผู้มางานลองเล่นดู


ตุ๊กตาลูกคลัก (ขลัก,ประสัก ,พังกาหัวสุม) ดอกขาว เพียงแกะหัวสุมที่คล้ายสุ่มออกจะได้ผลออกมาดังลููกคลักที่อยู่ในวงล้อม





ที่ต้องระวังคือแกะแล้วส่วนเป็นคอตุ๊กตาหัก และจุดดำ ๆ ที่มองคล้ายตาสองตาและจมูกหลุดหายไป จึงต้องค่อยๆ แกะอย่างเบามือ



ใบถอบแถบน้ำหรือทับแถบ สามารถนำมาเป่าปี่ได้ โดยเด็ดเป็นใบ ๆ แล้วม้วนจากปลายใบมาหาโคนใบ ม้วนไม่ให้แน่นนักคือม้วนให้มีช่องกลวง แล้วบีบปลายกลวงด้านหนึ่งให้แบนใช้ปากเป่าตรงที่บีบให้แบนนั้น เสียงจะดังคล้ายปี เสียงจะค่อยหรือดัง แหลมหรือทุ้ม ขึ้นกับจังหวะการเป่า ต้องค่อย ๆ ใช้ลมปากเป่า
บางคนก็เป่าแล้วไม่ดัง เพราะม้วนใบแน่นเกินไปและปล่อยจังหวะลมเข้าสู่ใบไม้ไม่ดีพอ



มะนาวโห่








รากของต้นรากสามสิบ


หม้อแกงส้มใบหัวลิงและรุ่ยแกงบวดมาถึงแล้ว รวมทั้งกะปิของลุงสายยัน ที่จะจำหน่ายให้ผู้สนใจซื้อหาเอากลับบ้าน

บริเวณแนวร่มไม้เป็นที่วางโต๊ะแสดงอาหารพื้นบ้านที่ทำมาโชว์และเชิญชวนชิมฟรี

ด้านหลังของการวางอาหารพื้นบ้านจะมีภาพบอกขั้นตอนวิธีการทำ  มีภาพบอกชื่อพันธุ์ไม้ (ส่วนใหญ่คือไม้ชายเลน) ที่นำมาเป็นวัตถุดิบการประกอบอาหาร



แขกมางานและคนที่ยืนด้านหลังขับรถตรงมาจากกรุงเทพมหานครเป็นคณะ จึงเชิญให้ชิมลำแพนกะปิหวานได้เลยไม่รอเปิดงานตอบแทนที่ขับรถมาไกล มาให้กำลังใจคนลุ่มน้ำบางปะกง มาถึงแบบบึ่งมาเพราะรอพลพรรคพร้อมหน้า มาถึงที่ก็บ่ายสามโมงแล้ว

เป็นกลุ่มแรกที่ให้ความสนใจกับลำแพนกะปิหวาน ซึ่งคุณพีระศักดิ์เก็บมาแบบสด ๆ จากต้น ผจญมดแดงแผลงฤทธิ์มาตั้งแต่เช้า
กับฝีมือกะปิหวานของคุณครูบังอร รัตนโยธิน โฉมตรูสาวงาม (แบบ ส.ว. คือสวยสมวัย) ของชมรมลำพูบ่้านโพธิ์
ซึ่งคุณครูบังอร ทำน้ำปลาหวานกินกับมะม่่วงอร่อยมาก พอคุณพีระศักดิ์บอกว่าลูกลำแพนต้องจิ้มกะปิหวานเท่านั้น
กะปิหวานหม้อนี้จึงเป็นผลงานกะปิหวานครั้งแรกของคุณครูบังอร พวกทีมงานได้ชิมแล้วชมเปาะว่าอร่อยสมฝีมือคุณครู (เฟอร๋นิเจอร๋ที่ประดับความอร่อยของกะปิหวานหม้อนี้เลิศหรู)

คนชิมยิ้มแฉล้มผู้นี้หากชิมแล้วมีคำชม ถือว่าของนั้นอร่อยสมจริงแน่นอน เธอเป็นคนสรรหาของอร่อยมาแต่ไหนแต่ไร ปูจากเกาะฮอกไกโดราคาแพงเธอก็ไม่สน เมื่อสามสิบปีที่แล้วไปกินกันที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในโรงแรมเอราวัณสองคนกับเพื่อนซี้ ทั้งที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่กี่ปี  ขณะมีเงินเดือนเพียงสองพันห้าร้อยบาท แต่ราคาอาหารมื้อนั้นสามพันกว่าบาท วันที่ไปเพราะโบนัสออกจึงไม่ขายหน้าร้านอาหารที่เข้าไปกิน ก็เวลานั้นยังไม่มีผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตไว้ติดตัวเหมือนสมัยนี้
ที่ทำงานอยู่ราชประสงค์ เดินผ่านร้านในโรงแรม ร้านจัดสวยงามมีน้ำตกรินไหล  เห็นมีลายเซนต์คนใหญ๋คนโตเซนต์กันไว้หลายคน เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ร้านนี้ต้องอร่อยแน่จึงเข้าไปอย่างมั่นใจว่าไม่ผิดหวัง

อีกทั้งคนที่ยืนถัดไป แม้ไม่เห็นหน้า แต่ขอเอ่ยถึงว่าเป็นผู้สรรหาของกินต้นตำรับในกลุ่มเพื่อน เช่นโรตีต้นตำรับถนนพระอาทิตย์ ใกล้ป้อมพระสุเมรุ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  ทั้งโรตีมะตะบะ หรือโรตี โรยน้ำตาลทราย นมข้นหวาน  (เก่าแก่กว่าร้านโรตีที่พาหุรัด ) หรือขนมเบื้องต้นตำรับหน้าวัดมหรรณพารามวรวิหาร ชิ้นใหญ่ไม่เหมือนใคร แถมเป็นขนมเบื้องทรงเครื่อง ที่จำได้มีลูกพลับแห้งซอยชิ้นบาง ๆ อย่างหนึ่งละ รวมทั้งของต้นตำรับอื่น ๆ ที่ถูกระบุว่า เป็นร้านต้นตำรับอาหารหรือขนมที่เข้ามาเมืองไทย เขาไปแทบทุกที่
คราวนี้ก็มาชิมของพื้นบ้านที่ไม่แน่ใจว่าใครเป็นต้นตำรับสรุปได้แต่เพียงว่า กินกันมาแต่โบราณแล้วกัน

หากสองคนนี้บอกว่าอร่อย แม้ไม่ใช่ ม.ร.ว. ถนัดศรี หรือแม่ช้อยนางรำ รับรองคำชมได้ไม่แพ้กัน

ไม่ว่ากินแกงอะไร น้ำพริกอะไร เขาบอกได้ว่าขาดอะไร อ่อนอะไร แม้แต่กระชาย อ่อนกระชาย อ่อนข่า ทำนองนั้นเลยทีเดียว

กะปิหวานคุณครูบังอร อร่อยจริงแท้แน่นอน หม้อขนาดนี้ไม่มีเหลือ ทั้งที่พลอยโพยมหมายตาไว้ว่าจะแบ่งเอากลับมาบ้าน แต่ไม่่ทันการหมดเสียก่อน


มิใช่เพียงระดับผู้จัดการสาขาธนาคาร แต่ยังมี ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการอาวุโส และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทในเครือธนาคาร มาร่วมรับรองคุณภาพอาหารพื้นบ้านป่าชายเลนทุกหม้อ ทั้งคาวหวานทุกรายการไม่เว้น มะขวิด ตะโกสุก เอากลับไปเล่าขานกับคนที่ตกขบวนมาร่วมชิมคราวนี้ไม่ได้ มีแต่คำบอกเล่าว่าคราวหน้าถ้ามีอีกไม่พลาดขบวนแน่นอน


แม้จะเปรี้ยวจี๊ดจนเข็ดฟัน แต่นั่นคือความอร่อยไม่รู้ลืมจนต้องหยิบซ้ำอีกหลายรอบ


แถมยังทันการกับก๋วยเตี๋ยวผัดไทยโบราณ กะทะแรก ๆ แบบไม่ต้องรอนาน ที่คุณบุญโปรด จำรัสพันธุ์ นำมาร่วมรายการ ท่านอื่นชิมคนละคำสองคำ แล้ววางตะเกียบ ท่านผ.อ.  สินเชื่อบ้าน ถือตะเกียบไม่วางมือ
สีหน้าบอกความอิ่มเอมโอษฐ์โภชนาอย่างแท้จริง

ภาพที่นำมาสื่อนี้ บอกเล่าความเบิกบานใจ อิ่มอร่อย ได้สาระ ได้รู้คุณค่าของแม่น้ำบางปะกง คณะนี้อยู่จนมืดค่ำได้ฟัง บางปะกงส่งเสียง ครบทุกท่าน
ได้รับรู้ว่า ยังมีกลุ่มชนลุ่มน้ำบางปะกง ร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์แม่น้ำ และสืบทอดคนรุ่นผู้ใหญ่ไปสู่รุ่นเยาวชนคนรุ่นใหม่ไว้แล้ว ในงานบางปะกงส่งเสียงครั้งที่ ๒  บ้านเรา บ้านโพธิ๋ บ้านแสนสุข

ต่างชื่นชมผลงานในภาพรวมทั้งหมดของการจัดงานในครั้งนี้ จัดได้ดีประทับใจ ทั้งสถานที่และเนื้อหาของงาน  ทุกคนที่มางานล้วนแต่ต้องมีการจัดงานอีเว้นท์ของหน่วยงานมาหลายปี

อาหารพื้นบ้านที่นำมาให้ชิมในวันนี้แม้มีภาพไม่ครบถ้วน เพราะทุกคนในทีมงานล้วนมีภารกิจล้นมือจนถือกล้องไปเก็บภาพเองไม่ได้ อาศัยได้ภาพจากผู้มาร่วมงานส่งภาพลงในไลน์บ้าง โซเชียลมีเดียบ้าง



น้ำพริกกะปิ
เนื่องจากคนที่ต้องการไปว่าจ้างให้ตำให้เกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์ล้ม กระดูกก้นกบอักเสบ เราจึงแก้ปัญหาด้วยการ ช่วยกัน ตำมา
คุณโอ๊ต เบญจวรรณ รับตำมาสองครก แถมกะปิคั่วฝีมือคุณแม่คุณสนธยา มณีรัตน์ หนึ่งถ้วยใหญ่ น้องชายพลอยโพยม สามครก พี่สามีพลอยโพยม สามครก น้ำพริกกะปิรวมเป็นแปดครก และกะปิคั่วหนึ่งชาม และน้ำพริกเผา จีงปรากฎตามภาพ
ส่วนผักที่กินกับน้ำพริก ไม่มีผู้ใดถ่ายภาพ เพราะช่วงถ่ายภาพนั้นยังไม่แล้วเสร็จนำมาวาง อันประกอบด้วย ผักต้มราดกะทิดังนี้
ใบชะคราม ยอดขลู่ ยอดต้นรากสามสิบ ดอกลำพูอ่อน ดอกจาก ผักกระเฉด แต่เดิมกำหนดมีใบอ่อนเสม็ดแดงและลูกหัวลิงซึ่งหาของไม่ได้

สำหรับน้ำพริกเผาที่จัดเตรียมไว้สำหรับกินกับดอกจากต้มราดกะทิ เพราะจะเข้ากันได้ดีกว่าน้ำพริกกะปิ
นอกจากนี้ยังมีกุ้งต้มเค็ม (เป็นกุ้งแม่น้ำขนาดเล็ก เช่น กุ้งตะเข็บกุ้งตะกาด) ต้มแบบเค็มหวาน อีก ๓ กิโลกรัมกินแนมกับน้ำพริกด้วย

และคุณเบญจวรรณเก็บยอดใบมะกอกฝรั่งสดมาเพิ่มเป็นผักสด





แกงส้มใบหัวลิง และแกงบวดรุ่ย ฝีมือของคุณทองหยิบ โรจนพร


แกงคั่วลูกจากอ่อนฝีมือของคุณมาลัย นันทพานิช ซึ่งมีโหม่งจากตั้งแสดงให้เห็นด้วย และมีปลากะตักทอด (จากอวนรอในแม่น้ำบางปะกง) มีปลาอีกงแดดเดียวอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย เป็นหมู่เดียวกัน เพื่อบอกกล่าวเล่าว่า เป็นเครื่องเคียงของกินกับแกงคั่วด้วยนั่นเอง



เนื่องจากปริมาณการทำแกงส้มใบหัวลิง และแกงคั่วลูกจากอ่อนมีปริมาณจำกัด ดังนั้นทีมงานจึงใช้วิธิการกลัดกระทงใบตองขนาดแค่พอชิมรู้รสชาติ มาเป็นภาชนะใส่แทนถ้วย สำหรับอาหารสองชนิดนี้

ขอขอบคุณทีมงานที่ช่วยทำกระทง  ตั้งแต่คุณกัญจน์จัดหาใบตองมาให้ คุณครูสมนึกตัดใบตองที่บ้านเสริม คุณครูเปี่ยมจิตช่วยเช็ดใบตองที่เจียนกลมแล้วให้สะอาดพร้อมกลัดกระทง

คุณพีระศักดิ์ที่ลงทุนตัดต้นไผ่ที่บ้าน ตัดเป็นท่อน แล้วผ่าใช้แต่บริเวณผิว จักซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ  ทำไม้กลัดขนาดเล็กและบาง (มาก) แต่ปริมาณไม่พอคุณครูสมนึก คุณน้อย (ลาวัลย์) ช่วยกันทำต่อทั้งเหลาและต้ดจนนิ้วมือพอง
และพลอยโพยมได้มีโอกาสนำมีดจักตอกของคุณยายที่เก็บไว้หลังคุณยายจากลูกหลานไปสามสิบกว่าปีที่ไม่เคยได้นำมาใช้งานอีกเลย ได้ใช้งานกันคราวนี้

มีคนแนะนำว่าให้ใช้ Max ขนาดเล็ก แต่อาจารย์หมอกุลธิดา เมธาวศิน คัดค้านเต็มที่สนับสนุนการทำกระทงใบตองด้วยไม้กลัด


คุณครูสมนึกนำมาลับใหม่จนคมกริบ  รูปบนสุดเป็นมีดจักตอกที่มีขายในปัจจุบัน ส่วนสองเล่มล่างเป็นของคุณยาย เวลาใช้งานจะเข้าโค้งช่วงใต้รักแร้พอดี  ที่นิ้วชี้ข้างขวาต้องพันผ้ารองรับคมมีดและไม้ไผ่ที่ใช้การเหลาแบบสาวรูดเส้นไม้ไผ่

 เพราะความเล็กของกระทงที่จะต้องกลัดเป็นกระทงแล้วต้องสามารถใส่ของน้ำไม่รั่วเลอะเทอะ กระทง สองร้อยใบนี้จึงใช้เวลาทำสองวันสองคืนเลยทีเดียว ไม้กลัดเป็นตัวปัญหาใหญ่ ต้องเล็กและบาง
เพราะกระทงขนาดเล็กและต้องไม่รั่ว กระทงที่ทำต้องตรวจสอบใส่น้ำก่อนทุกใบ

คุณน้อย ลาวัลย์ จิรเสาวภาคย์ นอกจากช่วยทำไม้กลัด ช่วยกลัดกระทงเองแล้ว ยังต้องเชิญ คุณสมจิตร ทานวด  มาร่วมด้วยช่วยกันกลัดกระทง

กระทงใบตอง จะทำไว้ก่อนหลายวันก็ไม่ได้ จึงต้องทำก่อนวันงานเพียงสองวัน และกระทงสองร้อยใบเสร็จทันการตอนตีสามของวันที่ ๒๓  พฤษภาคม นั่นเอง



เพียงไม่นานแกงคั่วลูกจากอ่อนแม้ตักใส่กระทงใบตองเล็ก ๆ ก็เหลือปริมาณเพียงแค่นี้



ปลากะตักทอด ปลาอีกงแดดเดียว ผลที่ได้จากการกางอวนรอเคย หรือกุ้งกะปิในลำน้ำบางปะกงช่วงหน้าแล้งน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำบางปะกง

นอกจากนี้ยังมีไข่เจียวเสริมเข้ามาด้วย

ถัดไปคือกะปิ ผลงานของลุงสายยัน เป็นสิ่งเดียวที่จำหน่ายในงานนี้

ต่อมาเป็นรายการของหวานและผลไม้ชายป่าเลน ชายทุ่ง





รากสามสิบแช่อิ่ม เวลาจะกินต้องเอาขึ้นจากน้ำเชื่อมให้สะเด็ดน้ำเขื่อมก่อน เราจะไม่กินแบบแฉะน้ำเชื่อม








ต้นรากสามสิบ และรากต้นรากสามสิบที่นำมาแช่อิ่ม แต่ที่เห็นในภาพนี้แก่เกินไปใช้การไม่ได้แล้ว


มีวิธีการทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ ติดอยู่กับผลิตภัณฑ์ นอกจากโปสเตอร์แผ่นใหญ่ด้านหลัง



มะนาวโห่แช่อิ่ม และขั้นตอนการทำ มีกิ่งสดของมะนาวโห่ที่ด้านหลังแขวนไว้ และที่จัดกระเช้าบนโต๊ะ



นี่เป็นแค่การชิมนะ ไม่ใช่กินจริง ๆ  มะนาวโห่น่ะ ส่วนแกงในกระทงหมดเกลี้ยงเพราะได้มาแค่ให้ชิมเท่านั้น


ลำแพน กะปิหวาน
กะปิหวานลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว



ลำแพนสองกระจาด และะปิหวานหม้อนี้ ไม่มีเหลือ จะปอกไว้นานก็เกรงจะดำ จึงต้องปอกไปกินไป

ถัดไปเป็นขนมจาก ซึ่งทีมงานตั้งใจจะย่างไปกินไป แต่จะทำให้ช้าไม่ทันใจผู้อยากชิมรสชาติ จึงย่างมาเสร็จเรียบร้อย จัดใส่ในกระบุงถัดจาก ลำแพนกะปิหวาน

เหตุที่เรียกขนมชนิดนี้ว่าขนมจาก นอกจากใช้ใบจากห่อแล้ว คนโบราณจะใส่ลูกจากลงไปด้วย ถ้าลูกจากอ่อนก็ใส่ผสมได้เลย ถ้าลูกจากแก่ก็ต้องตำเสียก่อน  จึงเรียกว่าขนมจาก  ปัจจุบันบางแห่งก็ติดป้ายขนมชนิดนี้ว่าขนมใบจากก็มี



ผลตะโกสุกเต็มกระจาด สวยเหลืองอร่ามเรืองรองมองน่ากิน เป็นของกินวัยเด็ก ที่หันไปหันมาของกินในส่วนอย่างอื่นก็หมดฤดูกาลวายไปหมดแล้ว ก็พากันปีนต้นตะโกนี่ละ  ถ้ามือเอื้อมเด็ดไม่ถึง ก็ดึงด้วยไม้ขอไม่ใช่ของยาก

ฝีมือจัดเรียงตะโกโดยน้องนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา จัดเรียงอย่างตั้งอกตั้งใจ


ไม่ช้านานก็เหลือเพียงแค่นี้

ตะโก เป็นไม้ที่ชอบอยู่ใกล้น้ำ คนโบราณจะใช้ตะโกดิบตำพอแหลก เอาน้ำใส่ต้มไฟใช้ย้อมแห สวิง อวน หรืออื่น ๆ ยางของตะโกดิบจะจับเส้นด้ายให้เหนียวแน่น คงทน ไม่เปื่อยง่ายขาดง่าย

ตะโกเป็นต้นไม้คู่กับต้นพลับไทย หรือบางคนเรียกมะพลับ ลำต้นคล้ายคลึงกันมากแต่รูปทรงของผลจะต่างกัน จึงมีคำพังเพยสำหรับใช้กับคนบางจำพวกที่ไม่น่าคบหาแบบสนิทชิดเชื้อนัก  นอกจากคำว่า "หน้าไหว้หลังหลอก "แล้ว ก็คือคำว่า "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก" คำพังเพยนี้แปลความว่า มะพลับน่าจะดีกว่าตะโก


ผลพลับหรือมะพลับ

ผลตะโกและผลพลับไทยหรือมะพลับจะยังคล้ายกันมากอีก แต่ผลพลับจะกลมแป้นคล้ายพลับจีน ส่วนผลตะโกกลมรีคล้ายไข่ ที่สังเกตุอีกที่ขั้ว ที่มีกลีบเลี้ยงแตกต่างกันชัดเจน





ต้นพลับ
สำหรับลำต้นและรูปทรงของต้นพลับและตะโกก็คล้ายกัน แต่ผิวต้นพลับออกเป็นสีเทา ส่วนต้นตะโกจะออกเป็นสีเทาดำ จึงมีคำเปรียบเปรยว่า "ดำเหมือนตอตะโก"  ทั้งนี้มิได้หมายถึงตอตะโกถูกเผาไฟจนดำ แต่เป็นสีผิวของต้นตะโก ตอตะโก ดำกว่าต้นไม้ในพันธุ์เดียวกัน หรือไม้พันธุ์อื่น ๆ ด้วย



ต้นตะโก



มะขวิด

มะขวิดเป็นผลไม้โบราณที่ไม่นิยมปลูกตามบ้านเรือน เพราะชื่อนั้นเอง มักปลูกตามวัด  และต้องรอผล
ร่วงลงจากต้นเท่านั้นถึงจะกินได้และได้กิน ด้วยว่าส่วนใหญ่แล้วต้นจะสูงใหญ่มาก การสอยเองยากลำบาก และจะดูไม่ค่อยออกว่า มะขวิดลูกที่จะสอยนั้นสุกหรือยัง ต้องรอให้ธรรมชาติจัดสรรให้ว่ารอฉันร่วงนะจ๊ะเธอถึงจะกินอร่อยจ้า...

 คุณพีระศักดิ๋บอกว่า ต้องร่วงใหม่ ๆ ด้วยจึงจะกินอร่อย  คือร่วงตอนเช้าแล้วกินภายในเย็นวันนั้น ถ้าข้ามคืนหรือถ้าร่วงหลายวันจะงอมเกินไป สีดำ เละ ๆ คล้ายมะขามเปียกและจะมีกลิ่นฉุนด้วย  รวมทั้งมีรสชาติเปรี้ยวไม่กลมกล่อมแปลกลิ้นแบบกินภายในวัน

มะขวิดที่นำมาจึงต่้องไปเก็บแต่เช้ามืดของวันที่ ๒๓ พฤษภาคม  รับรองรสชาติอร่อยแปลกลิ้นสำหรับผู้ไม่เคยกินมาก่อน และของหายากแบบนี้มีไม่มาก เพราะหมดฤดูกาลมะขวิดสุกไปแล้ว มีเพียงสามผลเท่านั้นที่กินได้  ทั้งที่ข้างล่างโต๊ะมีมะขวิดใส่วางหน้าลังผลตะบูนอีกส่วนหนึ่ง

มะขวิดที่เก็บมาผลที่ผิวเป็นสีเขียวออกนวล ๆ ก็กินได้โดยกินกับกะปิหวาน  ซึ่งคนจัดจัดผิดที่ ควรต้องมาวางใกล้ลำแพนจึงจะถูกต้อง แต่เนื่องจากมีความชุลมุนเกิดขึ้นตรงที่แขกมางานขอชิมอาหารก่อนท่านประธานกล่าวเปิดงาน จึงไม่สะดวกในการสลับที่วาง เลยตามเลย


ความสูงของต้นมะขวิด (ต้นที่สูงที่สุดในภาพ) มีคนตาไวเห็นมีมะขวิดร่วงอยู่ จึงไม่ชักช้าไปโคนต้นมะขวิดทันที


มะขวิดเพิ่งหล่นจากต้นในตอนเช้า ต่อยออกเป็นสองซีก ราว ๆ ๑๐ โมงครึ่ง ในวันไปสำรวจต้นหงอนไก่ทะเลต้นใหญ่ที่สุดที่เคยพบ


ทั้งสี่คนในภาพกำลังตรวจสอบความอร่อยของมะขวิดร่วง ทุกคนบอกเหมือนว่ากันอร่อยมาก มะขวิดกำลังดี พอคนถ่ายภาพขอเข้าไปพิสูจน์ว่าอร่อยเหมือนทุกคนพูดจริงไหม แต่ว่า..มะขวิดหมดลูกแล้วคร๊าบ...


มีรุ่ยแกงบวดมาเพิ่มเติมอีกสองหม้อสองแหล่งสองฝีมือ มาตั้งต่อท้ายรายการดังกล่าว ถัดไปเป็นไอศครีมที่เราจะเรียกกันว่าไอติม ๑ ถัง

ขอขอบคุณภาพจาก
https://www.facebook.com/bangpakongriver
คุณลาวัลย์ จิรเสาวภาตย์
คุณมณฑณี นิสภวาณิชย์
ไลน์จากห้องปฏิบัติธรรมอินเดีย