วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พระประสิทธิสุตคุณ (น้อย อาจารยางกูร) แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร



   ขอขอบคุณภาพจากhttp://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=2&chap=8&page=t2-8-infodetail01.html


พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ขณะอุปสมบทอยู่ที่วัดสเกษ (วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร)
ขณะเป็นมหาน้อยเปรียญ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ปรับปรุงกุฎีใหม่ในวัด และในครั้งนั้นก็มีกุฎีมหาน้อย

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีกุฏิพระประสิทธิสุตคุณ อีกหลังหนึ่งด้วย ตามคำบอกเล่า

และนามของพระประสิทธิสุตคุณ ก็เป็นนามพระราชาคณะที่ปรากฎในการกล่าวถึงเจ้าอาวาสของวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปรากฎดังนี้


 
   ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.reurnthai.com/index.php?topic=1442.30


อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระราชาคณะที่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศมาแต่ก่อนนั้นที่มีจดหมายเหตุแลพอที่จะสืบทราบความได้มีลำดับดังนี้คือ

สมเด็จพระวันรัต (อาจ)
เป็นพระราชาคณะมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แต่จะเป็นตำแหน่งใดก่อนไม่ทราบปรากฏในบัญชีพระสงฆ์นั่งหัตถบาศ เมื่อกรมพระราชวังหลังทรงผนวช เมื่อ ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๖๔ พุทธศักราช ๒๓๔๕ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระพรหมมุนีอยู่แล้วถึงรัชกาลที่ได้เลื่อน เป็นพระพิมลธรรมแล้วได้เป็น สมเด็จพระวันรัตเมื่อปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๒๗๘ พุทธศักราช ๒๓๕๙ คราวเดียวกับเมื่อทรงตั้ง สมเด็จพระวันรัต (มี) วัดราชบูรณะ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาไม่ช้า เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ ในปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พุทธศักราช ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริ จะทรงตั้งสมเด็จพระวันรัต (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชโปรดให้แห่ไปอยู่วัด มหาธาตุแล้ว แต่เกิดอธิกรณ์ ต้องออกจากที่พระราชาคณะไปอยู่ที่วัดแหลม ( ปัจจุบันคือวัดเบญจมบพิตร)



สภาพเจดีย์ “ภูเขาทอง” เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ (ปี ๒๔๐๘)
ขอขอบคุณภาพจากhttp://tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?fid=25&tid=874&action=printable



สมเด็จพระวันรัต (ด่อน)
เห็นจะเป็นพระราชาคณะมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ เหมือนกันแต่จะเป็นที่ใดก่อนไม่ทราบปรากฏนามเป็นที่พระเทพโมฬี อยู่วัดหงส์ เมื่อในรัชกาลที ๒ ได้เลื่อนเป็นพระพรหมมุนี แล้วเลื่อนเป็นพระพิมลธรรมเมื่อปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ พุทธศักราช ๒๓๕๙ แต่อยู่วัดหงส์ ครั้นสมเด็จพระวันรัต (อาจ) ไปอยู่วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้ พระพิมลธรรม (ด่อน) ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ แล้วเลื่อนที่เป็นสมเด็จพระวันรัต เมื่อปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พุทธศักราช ๒๓๖๒ ครั้นเมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ศุขญาณสังวร) ซึ่งได้เป็นสมเด็จพระ สังฆราชต่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ เมื่อปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พุทธศักราช ๒๓๖๕ พระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้แห่สมเด็จพระวันรัต (ด่อน) ไปอยู่วัดมหาธาตุแล้วทรงตั้ง เป็นสมเด็จพระสังฆราช อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๓



ขอขอบคุณภาพจาก www.stambook.net

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์)
อยู่วัดสระเกศ มาแต่เดิม ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณวิริยะ เมื่อรัชกาลที่ ๒ จนถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่ พระพรหมมุนี แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระพุฒาจารย์ เมื่อปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ พุทธศักราช ๒๓๘๖ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลื่อนยศเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อปีกุญ ตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ พุทธศักราช ๒๓๙๔ อยู่มาจนปลายรัชกาลที่ ๔ ในเวลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) เป็นเจ้าอาวาสนั้น มีพระราชาคณะอีกองค์หนึ่ง คือ พระประสิทธิสุตคุณ (น้อย) เป็นเปรียญเอกอยู่วัดสระเกศมาแต่เดิมลาสิกขาเมื่อรัชกาลที่ ๔ ไปทำราชการในกรมพระอาลักษณ์ ได้เลื่อนยศโดยลำดับจนเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้เป็น อาจารย์ของเจ้านายแลข้าราชการเป็นอันมาก
(ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://watsrakesa.makewebeasy.com/customize-อดีตเจ้าอาวาส-4463-1.html




(“ภูเขาทอง” สมัยรัชกาลที่ ๕)
ขอขอบคุณภาพจากhttp://tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?fid=25&tid=874&action=printable


ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ -๒๕๒๖ นายสุเมธ สุริยจันทร์ ประธานสภาเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ในขณะนั้นกำลังรวบรวมและเรียบเรียง จัดทำหนังสือ “ศรีสุนทรานุสรณ์ “ รำลึกถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ได้ไปที่วัดสระเกศราชวรวิหาร

ได้ไปนมัสการกราบเรียนถามพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัด ( ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ) กับพระครูสุวรรณสิริธรรม เจ้าคณะ ๑๑ ท่านกรุณาพาไปดู และได้รับคำชี้แจงจากพระเดชพระคูณทั้ง ๒ องค์ เพิ่มเติมว่า จากคำบอกเล่าของพระภิกษุเก่าที่อยู่วัดนี้มาแต่เดิม เล่าให้พระเดชพระคุณฟังว่า กุฏิของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย ) สมัยบวชอยู่ที่วัดสระเกศราชวรวิหาร มี ๒ หลัง

หลังแรกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเมื่อสอบเปรียญอก ๕ ประโยคได้นั้น เป็นกุฏิแรกเรียกว่า กุฏิมหาน้อย

ส่วนกุฏิหลังใหญ่หลังคาทรงปั้นหยานั้นเรียกว่ากุฏิเจ้าคุณพระประสิทธิสุตคุณ เพราะเป็นกุฏิตึกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทานเมื่อทรงสถาปนาพระมหาน้อย เป็นที่พระประสิทธิสุตคุณ

กุฏิหลังนี้เป็นกุฏิหลังใหญ่กว้างขวางโอ่โถงสังเกตดูสมเป็นกุฏิดังเดิมที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จริง เมื่อเปรียบเทียบกับกุฏิของท่านสุนทรภู่ที่วัดเทพธิดา ซึ่งสร้างก่อนกุฏิที่วัดสระเกศราชวรวิหาร

(โดยสุเมธ สุริยจันทร์ ๒๕๒๖)







ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ พลอยโพยมได้พยายามไปสืบค้นตามข้อความข้างต้น
เป็นช่วงที่ยังมีการสวดพระภิธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ) มีพระคุณเจ้าองค์หนึ่งในวัดได้แนะนำให้ไปหา

หลวงพ่อบุญมี ที่คณะ ๒ ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารมานาน

หลวงพ่อบุญมีเล่าว่าเมื่อก่อน ตำหนักสมเด็จมี กุฏิ ที่แยก ปลูก เดี่ยว ๆ หลังหนึ่ง ถูกรื้อไป แล้วสร้าง ตำหนักสมเด็จขึ้นมา ไม่ทราบว่าจะเป็นกุฏิที่ กำลังตามหาหรือไม่ ท่านบอกว่า พระครูสุวรรณสิริธรรม เจ้าคณะ ๑๑ ที่ถูกกล่าวถึง เป็นพระชาวแปดริ้ว อยู่ แถบตำบลเทพราช ขณะนี้ยังมีศิษย์ท่านชื่อ มหาบุญชู อยู่คณะ ๑๑ อาจจะพอรู้เรื่อง

พระมหาบุญชู (เกิดชูชื่น) คือพระครูธรรมธร สิทธิปุญโญ ท่านเป็นคนคลองสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านเล่าว่า พระอาจารย์ (พระครูสุวรรณสิริธรรม) ไม่เคยเล่าอะไรเกี่ยวกับพระยาศรี(น้อย) ให้ฟัง    แต่เมื่อพระคุณเจ้าอ่านข้อความที่คุณสุเมธ เขียนไว้ พระมหาบุญชู ก็เลยพาไปที่กุฎิ หลังหนึ่ง ซึ่งเป็นกุฎิของ พระประสิทธิสุตคุณ-สวัสดิ์ แสงเพ็ง พระประสิทธิสุตคุณ องค์หลังเรื่องราวพระยาศรี สุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ขณะนี้อยู่วัดที่ประเทศเนเทอร์แลนด์ ว่า น่าจะเป็นกุฎที่คุณสุเมธกล่าวถึง เป็นที่น่าเสียดายที่กุฎิปิดกุญแจเข้าไปข้างในไม่ได้


กุฏิหลังนี้อยู่แนวกุฏิกุฏิพระทั่วไป แต่โอ่โถงกว้างขวางเป็นสองหลังแฝดเป็นที่เรียกขานกันว่า กุฎิท่านเจ้าคุณประสิทธิสุตคุณ


พระมหาบุญชูบอกว่า ข้างในกุฏิโอ่โถงกว้างขวาง เสาต้นใหญ่ เป็นกุฎิทรงปั้นหยาหลังเดียวในวัดนี้ และเป็นกุฎิพิเศษไม่ใช่กุฎิพระทั่ว ๆ ไป ก่อนที่จะเป็นพระประสิทธิสุตคุณองค์ปัจจุบัน ท่านเป็นพระครู อรรถเมธี เจ้าคณะ ๑๖ มาก่อน แต่ก็พักที่กุฎินี้มายาวนาน พระมหาบุญชูบอกว่า ท่านเป็นพระคงแก่เรียน ต่อมา เลื่อนเป็นพระประสิทธิสุตคุณ พระมหาบุญชูเลยสันนิษฐานว่า ทินนามของท่านน่าจะได้มาจากการที่ได้ครองกุฎิชื่อ กุฏิเจ้าคุณของพระประสิทธิสุตคุณองค์ก่อน คือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) กระมังฟังดูเหมือนจะลงตัวดี เพราะกุฏิหลังนี้ ดูจะเป็นกุฏิพิเศษ เพราะ

๑ เป็นกุฏิอยู่ตรงข้าม (มีถนนคั่น) กับกุฎิ (ตำหนัก ) เจ้าอาวาสเดิม แต่ตอนนี้กลายเป็นศาลา มีจารึก ชื่อสามีภรรยา คนจีน ตำหนักเจ้าอาวาสก็กลายเป็นตำหนักสมเด็จใหม่อยู่คนละด้านกัน

๒ กุฏิหลังนี้อยู่แนว กุฏิพระทั่วไป แต่ รูปทรงสวยงามมีลวดลาย งามกว่ากุฏทั่วไป กว้างขวาง แปลกพิเศษ

๓ ปัจจุบัน หลวงพ่อบุญมีบอกว่า ไม่มีใครครองกุฎิหลังนี้ ใช้เป็นเรือนรับรองเพราะกว้างขวาง ( ซึ่งพลอยโพยมเห็นด้วยเพราะกว้างขวางเกินพระทั่วไป องค์เดียวจะพักอยู่ ต้องเป็นพระองค์สำคัญจึงจะสมควรได้ครองกุฎินี้)




ภายในกุฏิ


แม้ว่าที่หน้าจั่ว กุฎิ ที่มีลวดลาย มีตัวอักษร ว่า ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕ ) ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านอยู่ที่วัดนี้แค่ ปี พ.ศ. ๒๓๙๖ เอง และถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ. ๒๔๓๔ คือ ร.ศ. ๑๑๐

พระมหาบุญชู บอกว่าบางครั้งการซ่อมแซม วัตถุต่าง ๆ ในวัด ก็มีการเปลี่ยนนามผู้ซ่อมแซม (วิธีนี้วัดบ้านเราใช้กันมาก การสลักรายชื่อเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามเจ้าของเงินที่บริจาคซ่อมแซม)
แต่ ถ้าคำนวณ เวลา ๖๐ ปี ก็ยังไม่น่าต้องมีการซ่อมแซม หรือกุฎินี้จะสร้างในสมัย รัชกาลที่หก ใครสร้างสร้างเพื่อใคร ใช่กุฏิที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ) และพระครูสุวรรณสิริธรรมบอกหรือเปล่า ใช่กุฏิที่คุณสุเมธถ่ายรูปมาหรือไม่

น่าแปลกที่พระในวัดสระเกศราชวรมหาวิหารรุ่นปัจจุบัน แม้แต่ พระมหาบุญชู ไม่รู้จัก พระประสิทธิสุตคุณในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งคือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )

สำหรับประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นอกจากมีผลงานประพันธ์เรื่อง มหาสุปัสสีชาดก บทธรรมเทศน์ ๑ บท บทนมัสการคุณานุคุณ ในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ท่านได้บริจาคทรัพย์สร้างสะพานและส้วมที่วัดชุมพลนิกายาราม ที่เกาะบางปะอิน และได้สร้างถนนและสะพานตั้งแต่ประตูพฤฒิบาศตลอดไปจนถึงวัดโสมนัสวิหาร (ศรีสุนทราณุประวัต โดยหลวงมหาสิทธิโวหาร)

นี่เป็นเรื่องราวของปราชญ์สยามสามสมัยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ นามพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) แห่งลุ่มน้ำบางปะกง เมืองฉะเชิงเทรา ที่ผู้คนส่วนใหญ่แม้ชาวแปดริ้วเองก็ลืมเลือนเรื่องราวของท่านไปแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ปราชญ์สยามสามสมัย




วัดสระเกศในสมัยรัชกาลที่ ๔
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net


อันที่จริงแล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดในปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ส่วนพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดในปี พ.ศ. ๒๓๖๕

ในสมัยรัชกาลที่ ๓
เมื่อท่านได้อุปสมบทที่วัดสเกษและสอบได้เปรียญธรรม ๕ ได้ในพรรษาที่ ๓ ก็เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดสเกษปลูกกุฎีตึก สร้างภูเขาทอง และยังมีการสร้าง“เมรุปูนวัดสระเกศ”

“เมรุปูนวัดสระเกศ” เป็นเมรุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายช่างสร้างเมรุด้วยการก่ออิฐถือปูน

เมรุปูนวัดสระเกศ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นนี้ เพื่อใช้สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีการก่อสร้างอย่างปราณีตสมบูรณ์ยิ่งกว่าเมรุปูนของวัดอรุณราชวราราม และวัดสุวรรณาราม ที่ได้สร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว เมรุปูนวัดสระเกศ มีสิ่งก่อสร้างบริเวณรอบเมรุ เช่น พลับพลา โรงธรรม โรงครัว โรงมหรสพ ตลอดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ และระทา (หอสี่เหลี่ยมทรงยอดเกี้ยว ใช้สำหรับจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ในพิธี) ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนทำด้วยการก่ออิฐถือปูนทั้งสิ้น





“เมรุปูน” ถือได้ว่าเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับเมรุราชอิศริยาภรณ์ ที่ตั้งอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสปัจจุบัน




ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนบำรุงเมือง โดยการตัดผ่านของถนนเส้นนี้ ทำให้กุฎีวัดสระเกศกับบริเวณ เมรุปูน แยกออกจากกันคนละฝั่งถนน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการแก้ไขบริเวณเมรุปูนนี้ให้เหมาะสมกับถนนที่ตัดขึ้นใหม่


สภาพของ เมรุปูน มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอยู่ติดกับถนน และมีอาคารบ้านเรือน อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น จึงไม่เหมาะที่จะทำการฌาปนกิจศพ จึงได้ยุบเลิก เมรุปูน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และทางวัดสระเกศก็ได้มอบสถานที่นั้นให้เป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ” และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงมอบพิ้นที่นี้ต่อให้กับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งขึ้นเป็น ”โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร” และยกวิทยฐานะเป็น “วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร” จนปัจจุบัน


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/208625
http://krooair.blogspot.com/2011/05/blog-post.html



ขอขอบคุณภาพจากftpmirror.your.org


วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณ เดิมมีชื่อว่าวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕ มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ ๑๑ ว่า

"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่าๆกันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ'



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.taradnud24.com/ProductDetail.aspx?pid=6744&storeNo=424


แต่เอกสารในสมัยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เขียน วัดสระเกศ ว่า วัดสเกษ

โดยเฉพาะที่วัดสระเกศเอง ตามคำบอกเล่าของ มีกุฎิของมหาน้อยที่สร้างในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมหาน้อยยังได้กราบบังคมทูลเรื่องโยมพี่ชาย ที่รับราชการอยู่หัวเมืองและได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

และเมื่อมหาน้อยไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะทรงผนวช ก็ทรงรับไว้เป็นศิษย์ที่เรียกว่าอันเตวาสิก ทั้งที่ทรงเป็นพระภิกษุธรรมยุติ ส่วนมหาน้อยเป็นพระภิกษุมหานิกาย
เมื่ออุปสมบทได้ ๖ พรรษา มหาน้อยก็สอบเปรียญธรรมเอก ๗ ได้

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต




ในสมัยรัชกาลที่ ๔

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ ก็ทรงโปรดการถวายพระธรรมเทศนาของมหาน้อยและทรงพระเมตตานับมหาน้อยเข้าในสานุศิษย์ข้าหลวงเดิม 

มหาน้อยได้รับการสถาปนาเป็นพระประสิทธิสุตคุณ เป็นพระราชาคณะ(ชั้นสามัญ) อยู่ในวัดสเกษ พระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ มีฐานานุกรม ๓ องค์คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕


เป็นที่กล่าวขวัญว่ามหาน้อยหรือพระประสิทธิสุตคุณ มีกิริยาอัธยาศัยสุภาพเรียบร้อย ได้เทศนาวาการมีโวหารอันไพเราะ เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธา และถูกอัธยาศัย แห่งท่านทายกทั้งปวง เป็นที่ปิติยินดีแก่ผู้ที่ได้สดับตรับฟังรสพระธรรมเทศนาแห่งท่านเป็นอันมาก มีผู้มานิมนต์ไปเทศน์ตามวังเจ้า บ้านขุนนางมิใคร่ขาด กิติศัพท์กิติคุณของท่านเฟื่องฟุ้งไปในหมู่เศรษฐี คฤหบดี ลูกค้าวานิชที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหกลายน ได้พากันนำบุตรหลานมาฝากเป็นสานุศิษย์เป็นอันมาก

เมื่อพระประสิทธิสุตคุณถวายพระพรลาสิกขาบท ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทรงเมตตามีพระราชประสงค์ให้ท่านดำรงสมณะศักดิ๋ต่อไป จึงได้ทรงทัดทานห้ามปรามไว้ ต่่อมาภายหลังได้กราบทูลอ้อนวอนหลายครั้ง จึงทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบท ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ที่วัดสระเกศ


กุฎีพระประสิทธิสุตคุณ ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

เมื่อท่านลาสิกขาบทแล้ว ท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง ครั้งยังเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดีหัวหมื่นมหาดเล็ก ได้นำท่านเข้าไปถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ ทรงได้ใช้สอยการหนังสือไทยหนังสือขอม แคล่วคล่องต้องตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าจะติดขัดในประการใดก็ช่วยเหลือพระองค์ได้เสมอ ท่านรับราชการ ๑ ปี ก็ได้เลื่อนตำแหน่ง


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นขุนประสิทธิอักษรศาสตร์ ผู้ช่วยกรมพระอาลักษณ์ และให้ว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมการที่ว่างอยู่ เป็นที่ทรงพระเมตตาโปรดปรานได้รับพระราชทานรางวัล อยู่เนือง ๆ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เข้าไปรักษาอุโบสถเมื่อเวลาทรงศีลที่หอพระสิหิงค์ โดยเปป็นที่ทรงไว้วางพระราชฟฤทัยในตัวท่าน มิได้ทรงรังเกียจสิ่งหนึ่งสื่งใดเสมอกับศิษย์ กับอาจารย์เหมือนกัน

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ครั้งนั้น ก็ได้ทรงพระกรูณาโปรดเกล้าให้ตามเสด็จด้วย




ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท


ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับดังในประวัติของท่าน เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ได้นำช้างเผือกมาถวายในคราวแรกเป็นช้างสำคัญที่ ๑ ในแผ่นดินรัชกาลนี้ คือพระเสวตรวรวรรณ ทรงโปรดเกล้าให้แต่วฉันท์สำหรับให้พราหมณ์ขับกล่อมเมื่อเวลาสมโภช ท่านก็แต่งขึ้นทูลเกล้าถวายทันพระราชประสงค์ เป็นความชอบในครั้งนั้น ภายหลังมีช้างสำคัญมาสู่พระบรมโพธิสมภารอีกหลายช้าง ท่านได้เป็นผู้ขานนามช้างและแต่งฉันท์กล่อมเสมอทุกครั้ง และทุก ๆ ช้างมา

ความโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อ พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ปรากฎชัดในความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสมยามมกถฎราชกุมาร ทั้ง สองพระองค์ รวมทั้งภาระหน้าที่พิเศษจากงานประจำของกรมพระอาลักษณ์

ท่านเป็นคนมักน้อยถือสันโดษ
พ.ศ. ๒๔๑๘ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงสารประเสริฐขึ้นเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐ (จะทรงตั้งให้เป็นที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ แต่หลวงสารประเสริฐ กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานศักดินาเพียง ๓๐๐๐ เท่านั้น จึงเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร”) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐
จนเมื่อท่านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาก็ยังคงศักดินาเท่าเดืม

เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานไปพระราชวังปะอิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ รับสั่งชวนเจ้านายให้ทรงแต่งโคลงเล่นในเวลาว่าง และพระราชทานกระทู้ความให้แต่ง โคลงที่แต่งเป็นโคลงสุภาษิตซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนิพนธ์ของเจ้านาย นอกจากเจ้านายมีแต่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) คนเดียวที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แต่งด้วย โดยฐานที่เป็นอาจารย์ โคลงสุภาษิตมีจำนวนรวม ๒๐ กระทู้ รวมโคลงทั้งสิ้น ๓๙๘ บท เรียกกันว่าโคลงสุภาษิตใหม่ภายหลังเรียกเป็นโคลงสุภาษิตเจ้านาย






ขอขอบคุณภาพจาก www.webganzter.com

มีข้อความตอนหนึ่งในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ทรงได้รับการสถาปนา เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙)


วันเสาร์ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๘
เราตื่นนอนเช้า ลงมากินข้าวแล้วไปบน เห็นป้าโสมนอนอยู่ข้างสมเด็จแม่ เราดีใจ แล้วเราไปอาบน้ำที่ชาลา กินข้าวแล้วไปเรียนหนังสือ กลับจากเรียนหนังสือเที่ยงนาน เล่นตุ๊กตาในหลังแดง บ่ายไปบนเฝ้าในที่ ทูลหม่อมบนทรงเครื่องแล้วเสด็จออกพระที่นั่งจักรี เจ้านครจัมปาศักดิ์เฝ้าถวายต้นไม้ทองเงิน เสด็จขึ้นแล้วประทับเสวยที่สวนสวรรค์ เราเข้าถ้ำเล่นสนุก ทูลหม่อมบนกับสมเด็จแม่รับสั่งชมพระยาศรีสุนทรมาก สองทุ่มนานเรากลับมาเรือนนอน

ทูลหม่อมบนคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จแม่คือสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูล) มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโต๊ะทอง และพระยาพานทอง


พระยาโต๊ะทอง คือ ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานโต๊ะทอง (พานก้นตื้น) เป็น เครื่องสำหรับยศ, ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีบรรดาศักดิเสมอตำแหน่งที่ได้รับโต๊ะทอง

พระยาพานทอง คือ ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้รับพระราชทานพานทอง เป็นเครื่องสำหรับ ยศ, ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป มีบรรดาศักดิ์เสมอตำแหน่งที่ได้รับพานทอง


จะเห็นได้ว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์ หากท่านมีชีวิตยืนยาวต่อมา ก็เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่งด้วย


สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

มงคลอนุสรณ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ชาวฉะเชิงเทราได้สร้างมงคลอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของท่านไว้ ดังนี้
๑. อนุสาวรีย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งอยู่บนถนนศรีโสธรตัดใหม่ ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

๒. ในคำขวัญประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการกล่าวถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ไว้ในวรรคที่ ๓ ว่า “...พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย...”

๓. นามโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรามีชื่อว่า “โรงเรียน เทศบาล ๒ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)




๔. นามสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

๕. นามถนนเชื่อมระหว่างถนนศรีโสธรตัดใหม่ และถนนสิริโสธร (ถนนบางปะกง – ฉะเชิงเทรา)




แม้ว่าในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ผลจากการศึกษาพระธรรม ต่าง ๆ ก็นับเนื่องได้ว่าท่านเป็นปราชญ์ในทางธรรม ทั้งยังมีความรู้แตกฉาน ใน หนังสือไทย หนังสือขอม และภาษามคธ

เมื่อลาสิกขาบทแล้ว เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องภาษาไทย ภาษาขอม

และในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับยกย่องจากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีนามปากกาว่า น.ม.ส. โดยทรงนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือ ปกีระณำพจนาดถ์ ว่า

 “...พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ผู้แต่งหนังสือนี้เป็นใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือไทย... เป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” เมื่อตัดสินว่ากระไร ก็เป็นคำพิพากษาสุดท้าย ใครจะเถียงว่ากระไรก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น”

ท่านยังเป็นครู อาจารย์ พระอาจารย์ ให้กับ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชนชาวสยามมากมาย
คำกล่าวขวัญว่า ท่านเป็นปราชญ์สยามสามสมัย จึงควรคู่ ควรค่า อย่างยิ่ง สำหรับ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๔


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.actdee.com/



๔. งานในหน้าที่ราชการ


พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้แตกฉาน ทั้ง ภาษาไทย ภาษาขอม ภาษามคธ มีความรอบรู้ในฉันทลักษณ์ มีความสามารถด้านการประพันธ์บทร้อยกรองต่าง ๆ
ดังนั้น ท่านจึงมีงานสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านการประพันธ์ งานแต่งหนังสือเรียน รวมทั้งงานประจำในหน้าที่ของกรมพระอาลักษณ์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ภาระหน้าที่ของท่านจึงมีมาก ที่รวบรวมได้ มีดังนี้





ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท

๑. งานในตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์อันเป็นหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือและหนังสือราชการ ทั้งปวง
๒. ดูแลงานกิจการโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวังเป็นอีกภาระหนึ่งมาตั้งแต่ปี ๒๔๑๒
๓. งานในหน้าที่ครูสอนหนังสือไทยที่กรมทหารมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ และงานในตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง
๔. งานในหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการในโรงเรียนหลวง



ภาพโรงเรียนในสยาม
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.reurnthai.com/index.php?topic=5138.30

๕. งานแต่งแบบเรียนภาษาไทยต่าง ๆ เป็นแบบเรียนหลวง
๖. งานเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๒ พระองค์ อีกทั้ง พระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายพระองค์
๗. งานในองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
๘. งานเลขานุการของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
๙. งานเลขานุการองคมนตรีสภา รวมทั้งมีหน้าที่ในการเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาประชุมตามที่มีพระบรมราชโองการ
๑๐.งานกรรมการจัดการโรงเรียนที่สวนนันทอุทยาน
๑๑.เป็นกรรมการสอบไล่หนังสือไทยชั้นสูง
๑๒.เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ
๑๓.เป็นกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก
๑๔.เป็นแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการแต่งทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งท่านก็ร่วมแต่งถวายด้วย
๑๕.เป็นแม่กองในการรวบรวมโคลงภาพพระราชพงศาวดารในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ และเป็นผู้เขียนร่ายนำตอนต้นเรื่อง ร่ายประชุมโคลงและร่ายแถลงนามผู้แต่งโคลงตอนท้ายเรื่อง สำหรับเนื้อเรื่องท่านก็ร่วมแต่งในส่วนเนื้อเรื่องด้วย



ขอขอบคุณภาพจากlibrary.stou.ac.th

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๓





ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.postjung.com/691709.html

๕. ชีวิตการเป็นครู

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เริ่มชีวิตการเป็นครูตั้งแต่เป็นพระภิกษุ มีบรรดาเศรษฐี คหบดี ลูกค้าวาณิช ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย พากันนำบุตรหลานมาฝากให้เป็นสานุศิษย์ในการเล่าเรียนหนังสือขอม หนังสือไทย มากมาย

ที่สำคัญเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๒ พระองค์ และพระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายพระองค์
ซึ่งก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นอาจารย์สอนพระบรมวงศานุวงศ์ คือพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอที่ยังทรงพระเยาว์ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการทั่วไป

จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๖ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เลิกจากการสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนหลวงมาเป็นพระอาจารย์ถวายอักษร เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เจ้าฟ้าวชิราวุธ และพระราชโอรส พระราชธิดาอีกหลายพระองค์


เมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มีพระชนมายุครบ ๕ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสมุดบันทึกให้เป็นของขวัญวันประสูติ (ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑)
จากนั้นมาพระองค์ ก็ทรงบันทึกเรื่องราวส่วนพระองค์ในสมุดบันทึกนี้ การบันทึกในช่วงแรก ทำโดยทรงเล่าคำที่จะบันทึกถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา
ซึ่งทรงเรียกว่าป้าโสมเป็นผู้จดบันทึกตาม “คำบอกเล่า” ของพระองค์

กระทั่งทรงเจริญพระชนมายุได้ ๘ พรรษา จึงทรงบันทึกด้วยพระองค์เองนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ตัวอย่างเช่น
วันอังคาร วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖เราตื่นนอนเช้า กินข้าวแล้วไปเรียนหนังสือ วันนี้พระยาศรีสุนทรมา เราได้ให้ดุมมุกมีอักษรพระนามแกสำรับหนึ่ง ห้าโมงนานกลับมาตำหนัก บ่ายไปบน...




กระดุมที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชริรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระราชทานให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ขอขอบคุณทายาทของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) คุณอรรถดา คอมันตร์


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชริรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ทรงเรียกขานพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ว่า ท่านอาจารย์ และบางครั้งเรียกว่าอาจารย์เรา


วันเสาร์ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๘

เราตื่นนอนเช้าก่อนโมง กลับลงมากินข้าวที่เรือน สามโมงนานแต่งตัวไปบน ใส่เสื้อเยียรบับ ถึงบนแม่แสบอกว่าทูลหม่อมบนจะทรงเครื่องจักรี เราได้ให้ไปตามป้าโสมมาแต่งตัวใหม่
ห้าโมงทูลหม่อมเสด็จทรงพระราชยาน เราตามเสด็จไปบนพระราชยานด้วย ถึงวังเสด็จตา
พอได้เวลาพระฤกษ์สรงแล้วพระยาศรีสุนทรอาจารย์เราอ่านประกาศ.....



สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สอง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.postjung.com/691709.html

ขณะเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยาสงกูร) ป่วยอยู่นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร ได้มาทรงรับบิณฑบาต ถึงบ้านท่าน ๒ ครั้ง และโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่าจะทรงเป็นธุระเป็นเจ้าภาพจัดการปลงศพเอง หลังจากทรงลาผนวชแล้ว ต่อมาอีก ๓ ปี พระองค์ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ด้วยพระชันษาเพียง ๑๖ ปี ๖ เดือน ๗ วัน การพระราชทานเพลิงศพพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) จึงค้างมาหลายปี

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๒




๔. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)เป็นผู้มีความจงรักภักดียิ่งต่อพระมหากษัตริย์

จากราชทินนาม คือนามที่ได้รับพระราชทานว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยะพาหะ

เป็นนามที่บ่งบอกตัวตนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )ได้ชัดเจนที่สุด ในความรู้ความสามารถ ความจงรักภักดี ความวิริยะอุตสาหะของท่าน นอกจากเป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยประวัติของท่านในการดำรงชีวิตใต้เบื้องพระยุคลบาทแล้ว ความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏอยู่ในผลงานนิพนธ์ของท่าน เช่น ในลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในร่ายประชุมโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และในท้ายเล่มของหนังสือ “สยามสาธก วรรณสาทิศ” ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) ได้คิดคัดศัพท์ภาษามคธ ต่าง ๆ รวมเป็นพวกไว้ เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เฉลิมปัญญาบารมี มีความดังนี้




“...ศัพท์ภาษามคธอย่างนี้ ในพระคัมภีร์มีมาก ข้าพระพุทธเข้าคิดรวบรวมแต่ที่จำได้ในเวลา เล่าเรียนมาจัดเป็นหมวดๆ เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นเครื่องอบรมพระญาณปรีชา ประดับพระปัญญาบารมี โดยสังเขปเท่านี้ ขอเดชะ

ต่อไปนี้เป็น คาถาประณิธานของข้าพระพุทธเจ้า
ปจิจุปฺปนฺเน ยถา ทานิ ตุมฺหํ ราชาธิราชิโน
สมฺมาว ปาทมูลิโก โหมิ ธมฺเมน ปาลิโก
ตถา นานาสุ ชาจีสุ นิพฺพติสฺสํ ปุนพฺภเว
ตุยฺเห วทาสโก โหมิ ยาว ชาติ ปริกฺขยา
อิทํ เม มนสา สจฺจํ สุทฺธํ วาจาย ภาสิตํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน สทา ภทฺรานิ ปสฺสตูติ ฯ

ในคาถาปณิธานของข้าพระพุทธเจ้าว่า ในชาติปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าใน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาธิราช ผู้ดำรงสุจริตยุติธรรม พระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ เลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าฉันใด ข้าพระพุทธเจ้าจะเกิดต่อไปในภพชาติต่าง ๆ ภายน่า ถ้ายังไม่สิ้นชาติ ยังต้องเกิดอยู่ตราบใด ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าบำเรอพระบรมบาทจงทุก ๆ ชาติ เทอญ ข้อนี้เป็นความสัตย์บริสุทธิ์ผุดจากดวงจิตของข้าพระพุทธเจ้า เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงประสบแต่ การ,สิ่ง ที่เจริญทุกเมื่อ การสิ่งใดพัสดุ สิ่งใด ซึ่งไม่เป็นที่เจริญพระกมลราชหฤไทยขออย่าได้มีมาเกี่ยวข้องในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย

“สิทฺธิรสฺตุ สิทฺธํ ผลํ รตนตฺยเตชสา”



วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๑.





๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางหูร) เป็นผู้กตัญญููรู้คุณผู้มีอุปการะคุณ

จากข้อความในหนังสือศรีสุนทราณุประวัติ ซึ่งเขียนโดย น.ห.หลวงมหาสิทธิโวหาร บุตรชายคนโตของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พิมพ์แจกในการพระทานเพลิงศพพระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร)เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๔๓๘ (จ.ศ ๑๒๕๗ ร.ศ.๑๑๔)
ตอนหนึ่งมีใจความว่า
ในขณะที่พระน้อย (พระยาศรีสุนทรโวหาร) สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ขณะอุปสมบทอยู่ที่วัดสเกษนั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ทรงโสมนัศยินดีเปนที่ยิ่ง ด้วยเดิมที่วัดสเกษในสมัยนั้นขาดเปรียญมาหลายสิบปีแล้ว ครั้งนี้ท่านมาเป็นเปรียญขึ้นในวัดสเกษ แลมีอาจารยะมารยาตรอันสุภาพเรียบร้อย เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาจึงได้เปนที่ทรงยินดี ให้ถาปนาวัดสเกษรื้อกุฎีเก่าอันที่รกรุงรังด้วบฝาจากฝาไม้ไผ่นั้นเสีย แล้วก่อสร้างกุฎีตึกใหม่ ให้เป็นที่เสนาศนอันงดงาม แลก่อภูเขาทองในปีนั้นด้วย


ครั้งนั้นท่านได้ถวายพระพรขอโยมผู้ชายของท่าน ซึ่งยังต้องรับราชการอยู่ที่เมืองฉเชิงเทรา ให้พ้นจากราชการหัวเมืองโดยความกตัญญูกัตะเวที ที่ท่านจะสนองคุณโยมผู้ชายของท่าน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายตามประสงค์

(ใช้ตัวสะกดตามอักขระเดิมตามต้นฉบับ)




ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เนท

ครั้งนั้นท่านได้ถวายพระพรขอโยมผู้ชายของท่าน ซึ่งยังต้องรับราชการอยู่ที่เมืองฉเชิงเทรา ให้พ้นจากราชการหัวเมืองโดยความกตัญญูกัตะเวที ที่ท่านจะสนองคุณโยมผู้ชายของท่าน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายตามประสงค์

(ใช้ตัวสะกดตามอักขระเดิมตามต้นฉบับ)


โยมผู้ชายของท่านคือ หลวงบันเทาทุกขราษฎร์ (ไทย) กรมการเมืองฉเชิงเทรา พี่ชายใหญ่ของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ต่อมาหลวงบันเทาทุกขราาฎร์ (ไทย)มีภรรยา ๒ คน ชื่อ คล้าย และชื่อสร้อย มีบุตรธิดา รวม ๑๐ คน โดยธิดา คนที่ ๓ เป็นหญิงชื่อเอี่ยม ได้สมรสกับหลวงจ่าเมือง (อ้น ) มีบุตรธิดา ๗ คน คนที่ ๑ เป็นหญิงชื่อเล็ก ต่อมาคือคุณหญิงเล็กปลีหจินดาสวัสดิ์ โดยหลวงจ่าเมือง (อ้น) เป็นพระยาปลีหจินดาสวัสดิ์ นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา คนที่ ๑
และมีบุตรธิดา ๒ คน โดยธิดา ชื่อ ปุย
ธิดา ที่ชื่อปุย ได้สมรสกกับพระอินทรสา (ตรอง อินทรวสุ) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา คนที่ ๔
ต่อมาลูกหลานของหลวงบันเทาทุกขราษฏร์ ได้แตกสายตระกูลเป็นศีิริโวหาร ศิริสุนทร

พลอยโพยมได้ ติดต่อกับสายตระกูล อินทรวสุ ได้รับทราบข้อมูลจาก หนึ่งสี่ของผู้จัดการมรดกตระกูลอินทรวสุ ว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ยกที่ดินแปลงหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราให้กับรุ่นหลานของหลวงบันเทาทุกขราษฏร์
ซึ่งพลอยโพยมนำมาเล่าสู่เพื่อประกอบเรื่องความกตัญญูของพระยาศรีสุนทรโวหารที่มีต่อพี่ชายคนโตของท่าน ทั้งที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)เองก็มีบุตรธิดา ถึง ๖ คน


“เมรุปูนวัดสระเกศ” เป็นเมรุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายช่างสร้างเมรุด้วยการก่ออิฐถือปูน

“เมรุปูน” ถือได้ว่าเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับเมรุราชอิศริยาภรณ์ ที่ตั้งอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสปัจจุบัน

เมรุปูนวัดสระเกศ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นนี้ เพื่อใช้สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีการก่อสร้างอย่างปราณีตสมบูรณ์ยิ่งกว่าเมรุปูนของวัดอรุณราชวราราม และวัดสุวรรณาราม ที่ได้สร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว เมรุปูนวัดสระเกศ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/208625



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tartoh.com

๒.  สายตระกูลพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) สมรสกับคุณหญิงศรีสุนทรโวหาร (แย้ม) มีบุตรธิดาตามคำบอกเล่า ๖ คน
๑. บุตรชายคนโตชื่อ ห่วง ได้เข้ารับราชการ เป็น ขุนวิทยานุกูลกวี หลวงมหาสิทธิโวหาร
๒. เป็นหญิงชื่อสุ่น สมรส
๓. เป็นชายชื่อชุบ อาจารยางกูร
๔. เป็นหญิงชื่อเยื้อน (คุณหญิงเยื้อน สมรสเป็นภรรยาคนแรกของนายพลเรือตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล ) ไม่มีบุตรธิดา ก่อนสิ้นชีวิต
๕. เป็นชายชื่อหลวงศุภนัย
๖. เป็นหญิงชื่อเล็ก สมรส เป็นภรรยาคนแรกของนายโป๋ คอมันตร์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย ตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และ ในรัชกาลที่ ๗ ก่อนสิ้นชีวิตมีบุตรชาย ๑ คน คือนายอาบ คอมันตร์





ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.postjung.com/653996.html

๓.นามสกุล อาจารยางกูร เป็นนามสกุลที่ได้ขอพระราชทานนามสกุลดังนี้

บุตรชายคนโตของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูรฉ ชื่อ ห่วง ได้เข้ารับราชการเป็น ขุนวิทยานุกูลกวี ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร
ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ หลวงมหาสิทธิโวหารมีตำแหน่งปลัดนั่งศาล กรมพระอาลักษณ์ และผู้ช่วยราชการในกรมไปรษณีย์ ซึ่งจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งงาน สูงขึ้นไปเพียงใด ไม่ปรากฏหลักฐาน

หลวงมหาสิทธิโวหาร มีบุตรชาย ชื่อหวน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ นายร้อยโทหวน ผู้บังคับกองตำรวจภูธรเมืองปราณบุรี ได้ขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามสกุลในลำดับที่ ๑๔๕๗ ว่า อาจารยางกูร Acha^rya^nkura ต่อมานายร้อยโทหวน ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ร.ต.อ. ขุนประทุมคามพิทักษ์ ผู้กำกับการตำรวจเมืองร้อยเอ็ด (ข้อมูลจากพ.ต.ต. ชำนาญ ฉายะบุตร หลาน ร.ต.อ.ขุนประทุมคามพิทักษ์)

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๕


ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

คำนมัสการพระมหากษัตริย์





    







โลกานุปาลโก ราชาสพฺพภูตานุกมฺปโก

กาพย์ฉบัง ๑๖


          อนึ่ง ข้าขอถวายบังคม                    พระบาทบรม
นรินทรราชเรืองนาม

         เป็นปิ่นพื้นภพภูมิสยาม                     ทุกเทศเขตรคาม
นิคมเสมามณฑล

        พระเดชแผ่ทั่วภูวดล                           พระคุณอนนต์
อเนกและเหลือคณนา

         เลี้ยงโลกบำรุงประชา                       เพียงดังดวงภา
ณุมาศจรัสธาษตรี

          พระญาณส่องทั่วธรณี                      ใครกอบการดี
และร้ายก็ทราบโดยญาณ

          โดยราชดำริพิจารณ์                         จึงทรงกอบการ
นิเคราะห์ประเคราะห์ตามควร

           คนร้ายลงราชทัณฑ์ทวน                 ทบเท่าจวบจวน
มละร้ายที่กลายดี

           ผู้ประพฤติสัมจารี                             ย่อมโปรดปราณี
นุกูลและกูลบำนาญ

            ทั่วอาณาจักรไพศาล                      เกษมสำราญ
สำเร็จด้วยพระบารมี

             ขาดเข็ญเย็นทั่วธาตรี                     การใดจักมี
ประโยชน์แก่ราชประชา

            ทรงตริโดยทรงพระกรุณา                เพื่อเกิดโภคา
สมบัติสมบูรณฺพูลผล

             บำรุงพิภพมณฑล                           เสพย์สุขสากล
เกษตรบุเรศรมย์สถาน

              อุปถัมภ์ชีพราหมณาจารย์            ให้อิ่มด้วยทาน
และการนุเคราะห์นานา

              เลี้ยงโลกเลื้ยงพุทธศาสนา          ภูลเพิ่มพระบา
รเมศพิเศษสบสรรพ์

               พระองค์ดำรงยุตืธรรม์                ประชาสามัญ
มโนบรรเทิงเริงรมย์
   
                ข้าบาทอภิวาทบังคม                พระคุณอุดม
พระเดชประดุจสุริยัน

                 แผดแผ่ทุกทิศไกวัล                พระฤทธิ์อนันต์
ริปูสยอนหย่อนแรง

                   พระเกียรติ์เกริกทั่วทุกแขวง   เด่นดวงสำแดง
ประดุจจรวิจันทรา

                  พระยศยืนทั่วกัลปา               สูญสิ้นดินอา
กาศและราชสิงขร

                 พระยศอย่าสูญสถาวร             กำจายขจร
พระยศภิยโยยืนยาว

ตสฺส คุโณ อนนฺโตว ตสฺส คุเณ นมามิหํ

ขอขอบคุณภาพจาก
วิกิพีเดีย
scw.science.cmu.ac.th
http://pantip.com/topic/31026549


คำนมัสการเหล่าเทวา



ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย




ขอขอบคุณภาพจากwww.plazathai.com




ขอขอบคุณภาพจากwww.tumnandd.com


คำนมัสการเหล่าเทวา

เทวา เทวิทฺธิสมฺปนฺนา ภูตหิโตปหารกา

ยานี ๑๑

              ขออัญชุลีกร                             อมรเทพทุกแห่งหน
เสื้อเมืองอันเรืองรน                               พระทรงเมืองอันเรืองฉาย

               พระกาฬไชยศรี                        บริรักษ์ บ เว้นวาย
ล้วนฤทธิ์ขจรขจาย                                  จังหวัดขัณฑสีมา

              อีกเทพทรงนาม                        พระสยามเทวา
ธิราชอันเรืองอา                                     นุภาพพ้นพหลหาญ

              หนึ่งคือพระทรงหงษ์                 อีกพระทรงถนิมกาฬ
ทรงพฤศภทยาน                                     อีกพระทรงเอราวัณ

               เอกองค์มยุรอาศน์                   เทวราชฤทธานันต์
มีทิพเนตรกรรณ                                     อาจมลักมแลไกล

               ขอเดชะอำนาจ                       เทวราชอันเรืองไชย
จงช่วยขจัดไภ                                       ยภิบัติอย่าพึงเบือน

               บริรักษรักษา                          แก่เหล่าข้าผู้นักเรียน
อันสู้บำเพ็ญเพียร                                  ให้สมพองดังปองหมาย

               เล่าบ่นยุคลใด                       ให้จำไดสดวกดาย
สัพสรรพอันตราย                                 จงบำราศพินาศสูญ

              สรวมสิ่งศิริสวัส                      ดิพิพัฒน์เพิ่มพูล
ทพย์ช่วยให้สมบูรณ์                             สติเติมปรีชาเชาวน์                
                                           
             สรวมพรสุรารักษ์                     ซึ่งสำนักทุกลำเนา
กิจเกื้อจงเอื้อเอา                                  ธุระทุกทิวาวาร

สกฺกจฺจนฺเต นมสฺสามิ ปูเชมิ เจว สาทรํ.



ด้วยผลงานอันทรงคุณค่าและเกียรติประวัติอันงดงาม ดีเด่น พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของจังหวัดเชิงเทราและของชาติไทย

ชาวฉะเชิงเทรามีความภาคภูมิใจที่จังหวัดของเราเป็นถิ่นกำเนิดของปราชญ์ทางภาษาไทย ผู้มีคุณูปการยิ่งต่อการศึกษาของชาติ ผู้เป็นปูชนียบุคคล ต้นแบบผู้มีความขยันหมั่นเพียร ใฝ่เรียนรู้ ต้นแบบข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที และมีความจงรักภักดีเป็นเลิศต่อพระมหากษัตริย์

ท่านจึงเป็นบุคคลอันทรงคุณค่าสุด ประดุจ “เพชรพระมหามงกุฎ”


สำหรับท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)   สำหรับชาวเมืองฉะเชิงเทรา ท่านคือ
"ปราชญ์สยามนามจรัสจังหวัดฉะเชิงเทรา"

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๔


ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)

๘.๓  คำนมัสการคุณานุคุณ
ซึ่งประกอบด้วย
คำนมัสการพระพุทธคุณ
คำนมัสการพระธรรมคุณ
คำนมัสการพระสังฆคุณ
คำนมัสการมาตาปิตุคุณ
คำนมัสการอาจริยคุณ
คำนมัสการพระมหากษัตริย์
คำนมัสการเหล่าเทวา



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm

คำนมัสการพระพุทธคุณ

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา.

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑


            องค์ใดพระสัมพุทธ          สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลกิเลสมาร                            บ มิหม่นมิหมองมัว

            หนึ่งนัยพระทัยท่าน         ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคี บ พันพัว                              สุวคนธกำจร

            องค์ใดประกอบด้วย         พระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร                        มละโอฆกันดาร

            ชี้ทางบรรเทาทุกข์          และชี้สุขเกษมศานต์
ชี้ทางพระนฤพาน                       อันพ้นโศกวิโยคภัย

           พร้อมเบญจพิธจัก-          ษุจรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล                     ก็เจนจบประจักษ์จริง

           กำจัดน้ำใจหยาบ            สันดานบาปแห่งชายหญิง
สัตว์โลกได้พึ่งพิง                      มละบาปบำเพ็ญบุญ

            ข้าฯ ขอประณตน้อม      ศิระเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุญ                           ญ ภาพนั้นนิรันดร ฯ

พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ.



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm


คำนมัสการพระธรรมคุณ

สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม

กาพย์ฉบัง ๑๖

              ธรรมะคือคุณากร                   ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล

             แห่งองค์พระศาสดาจารย์      ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมล

             ธรรมใดนับโดยมรรคผล       เป็นแปดพึงยล
และเก้ากับทั้งนฤพาน

             สมญาโลกอุดรพิศดาร           อันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใส

              อีกธรรมต้นทางครรไล         นามขนานขานไข
ปฏิบัติปฏิยัติเป็นสอง

             คือทางดำเนินดุจคลอง       ให้ล่วงลุปอง
ยังโลกอุดรโดยตรง

            ข้าฯ ขอโอนอ่อนอุตมงค์      นบธรรมจำนง
ด้วยจิตและกายวาจาฯ

ธมฺมํ นมสฺสามิ



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm


คำนมัสการพระสังฆคุณ

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสง์โฆ

กาพย์ฉบัง ๑๖
          สงฆ์ใดสาวกศาสดา        รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์

          เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร-   ลุทางที่อัน
ระงับและดับทุกข์ภัย

         โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร      ปัญญาผ่องใส
สะอาดและปราศมัวหมอง

         เหินห่างทางข้าศึกปอง       บ มิลำพอง
ด้วยกายและวาจาใจ

         เป็นเนื้อนาบุญอันไพ-         ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผล

          สมญาเอารสทศพล           มีคุณอนนต์
อเนกจะนับเหลือตรา

           ข้าขอนบหมู่พระศรา         พกทรงคุณา-
นุคุณประดุจรำพัน

           ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์    พระไตรรัตน์อัน
อุดมดิเรกนิรัติศัย

           จงช่วยขจัดโพยภัย          อันตรายใดใด
จงดับและกลับเสื่อมสูญฯ

สงฺฆํ นมามิ.



ขอขอบคุณภาพจากscoop.mthai.com

คำนมัสการมาตาปิตุคุณ

อนนฺตคุณสมฺปนฺนา ฃเนตฺติ ชนกา อุโก

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑


            ข้าขอนบชนกคุณ       ชนนีเป็นเค้ามูล
ผู้กอบนุกูลพูน                         ผ ดุงจวบเจริญวัย

            ฟูมฟักทะนุถนอม        บ บำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไรไร                    บ  คิดยากลำบากกาย

             ตรากทนระคนทุกข์    ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
ปกป้องซึ่งอันตราย                จนได้รอดเป็นกายา

            ปรียบหนักชนกคุณ     ชนนีคือภูผา
ใหญ่พื้นพสุนธรา                    ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน

            เหลือที่จะแทนทด       จะสนองคุณานันต์
แท้บูชไนยอัน                          อุดมเลิศประเสริฐคุณ

มยฺหํ มาตาปิตุนํว ปาเท วนฺทามิ สาหรํ




คำนมัสการอาจริยคุณ

ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตตรา นุสสาสกา

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

          อนึ่งข้าคำนับน้อม                      ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน                              อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

          บ ทราบก็ได้ทราบ                       ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน                                  ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน

           จิตมากด้วยเมตตา                      และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์                    ให้ฉลาดและแหลมคม

           ขจัดเขลาบรรเทาโม-                  หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์                                    ก็สว่างกระจ่างใจ

            คุณส่วนนี้ควรนับ                        ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน                                   จิตน้อมนิยมชม


ปญฺญา วุฑฺฒิ กเรเตเต ทินฺโนวาเท นมามิหํ



วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ๓

ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)


๔. ประเภทคำประกาศพระราชพิธี


๕. ประเภทคำฉันท์
๕. ๑ คำฉันท์กล่อมช้าง

๕.๒ ฉันทวิภาค





๖. ประเภทลิลิต
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้แต่งลิลิตไว้เรื่องหนึ่ง คือลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


๗.บทเสภาเรื่องอาบูหะซัน ตอนที่ ๗



๘. ประเภทหนังสือศาสนา
๘.๑ เรื่อง มหาสุปัสสีชาดก
๘.๒ บทธรรมเทศน์ ๑ บท
๘.๓ บทนมัสการคุณานุคุณ ซึ่งประกอบด้วย คำนมัสการพระพุทธคุณ คำนมัสการพระธรรมคุณ คำนมัสการพระสังฆคุณ คำนมัสการมาตาปิตุคุณ คำนมัสการอาจริยคุณ คำนมัสการพระมหากษัตริย์ คำนมัสการเหล่าเทวา


๙. เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงแรกของประเทศไทย

๑๐. ผลงานร่วม ใน หนังสือ “คำฤษฎี”

คำฤษฎี เป็นหนังสืออธิบายความหมายศัพท์แบบพจนานุกรม โดยแยกหมวดอักษรอย่างคร่าว ๆ ศัพท์ที่รวบรวมไว้ มีทั้งคำภาษาบาลี คำบาลีแผลงเป็นสันสกฤต คำเขมร ลาว ไทย และ คำโบราณจากหนังสือต่าง ๆ สำหรับผู้แต่งร้อยกรองได้ใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็นสองเล่ม

เล่มที่หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)ได้เพิ่มเติมคำและตรวจแก้ในส่วนที่บกพร่อง
ส่วนเล่มที่สอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้า-
บรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงร่วมกันรวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย

๑๑. ประเภทโคลงเบ็ดเตล็ด และโคลงเฉลิมพระเกียรติเจ้านาย

ได้มีการแต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติเจ้านาย คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เพื่อทำเครื่องประดับพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์
ในโคลงเฉลิมพระเกียรตินี้ มีทั้งพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการได้ร่วมกันแต่งขึ้น รวมทั้งงานนิพนธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) รวมอยู่ด้วย


จากผลงานการแต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้มีการนำบางบทบางตอนของหนังสือมาเป็นแบบเรียนท่องจำ หรือบทอาขยาน เช่น


บทกลอนนิติสารสาธก ๑ ซึ่งท่านแต่งขึ้นสอนเด็ก


อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์          มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน
จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน                     ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน

อันความรู้รู้กระจ่างถึงอย่างเดียว             แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์                            ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี

เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย                หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดสี
ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี                     ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล

จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า                        จะชักพายศลาภให้สาบสูญ
ทั้งขายหน้าญาติวงศ์พงศ์ประยูร               จะเพิ่มพูนติฉินคำนินทา ฯ

แม้ว่าปัจจุบันแบบเรียนหลวงได้ถูกยกเลิกไป บทท่องจำก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่บทที่ยังคงได้ยินกันชินหูและยังคงใช้อยู่คือ บทสวดนมัสการคุณานุคุณ